พัฒนาการทารก 7 เดือน กับการเรียนรู้ที่มาคู่กับความซนแบบไม่หยุดยั้ง!
ไวเหมือนโกหก กับพัฒนาการอันไร้ขีดจำกัดของลูกน้อย จะมีอะไรบ้างนั้น บอกเลยว่า เสียงหัวเราะของทั้งคุณพ่อคุณแม่และลูกน้อยนั้น ต้องดังลั่นบ้านแน่ ๆ
พัฒนาการทารก 7 เดือน เปรียบเสมือนนักสำรวจตัวน้อย ที่พร้อมจะค้นหาและสำรวจสิ่งต่าง ๆ รอบข้าง อยากที่จะรู้ อยากที่จะเห็นและสัมผัส เพราะทุกอย่างดูน่าสนใจไปเสียหมด พร้อมแล้วเรามาดูกันเลยดีกว่านะคะว่า พัฒนาการทารก 7 เดือน นั้นจะมีอะไรคืบหน้ากันบ้าง แล้วจะต้องส่งเสริมแบบไหน ถึงจะถูกต้อง และมีพัฒนาการที่ดีกว่าเดิม
พัฒนาการทารก 7 เดือน โดยทั่วไป
มาเกินครึ่งทางกันแล้วนะคะ ในช่วงครึ่งปีหลังนั้น ลูกเริ่มมีพัฒนาการต่าง ๆ ที่ดีมากกว่าเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ค่ะ
- พัฒนาทางด้านร่างกาย
- กล้ามเนื้อมัดใหญ่ของลูกนั้น เริ่มดีขึ้นมาก สามารถประคับประคองศีรษะของตัวเองได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญสามารถใช้มือยันตัวขึ้นในท่าคลานได้ เผลอ ๆ เด็กบางคนเริ่มคืบหรือคลานได้ด้วยค่ะ แล้วถ้าหากคุณพ่อคุณแม่ช่วยประคองหรือพยุงลูกละก็ ลูกน้อยก็จะสามารถยืนทรงตัวพร้อมกับก้าวขาได้ด้วยแล้วละค่ะ
- ลูกเริ่มนั่งได้นานมากขึ้นโดยไม่ต้องมีคุณพ่อคุณแม่คอยพยุง แถมยังสามารถหยิบของเล่นได้อย่างง่ายดายด้วยการใช้นิ้วโป้งและนิ้วอื่น ๆ ควบคู่กันไป ไม่ใช่แค่นั้นนะคะ ยังสามารถเอาของเล่นที่ถืออยู่ทั้งสองข้างมาจับตีกันให้เสียงดัง ๆ ได้อีกด้วย
- พัฒนาการทางด้านภาษา
- สามารถส่งเสียงเจื้อยแจ้วได้ทั้งวัน ส่งเสียงสระและพยัญชนะได้ดีขึ้น แถมเริ่มพูดคำเฉพาะตัวได้ ยกตัวอย่างเช่น แมะ (แม่) เป็นต้น
- เด็กทารกวัยนี้ยังคงชอบที่จะจดจำและพยายามเลียนแบบเสียงที่ตัวเองได้ยินเหมือนที่ผ่านมา
- พัฒนาการทางด้านจิตใจ
- สนใจรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ของสิ่งของ ชอบเล่นของเล่นที่มีเสียงดัง
- สามารถเริ่มจำและลำดับเหตุการณ์ได้
- มีปฏิกิริยาตอบโต้กับเงาของตัวเองในกระจก
- พัฒนาการทางสังคม
- เห็นกระจกไม่ได้ ต้องรีบคลานเข้าไปมองและนั่งเล่น
- ชอบสำรวจร่างกายของตัวเองด้วยการใช้ปากและมือ
- เริ่มกลัวคนแปลกหน้าแล้วนะคะ
- ทารกวัยนี้ชอบทำตัวเองให้เป็นส่วนหนึ่งของสังคม เวลาใครไม่สนใจ ก็จะส่งเสียงดัง ๆ ให้ทุกคนหันมามองตัวเอง
22 กิจกรรมส่งเสริม พัฒนาการทารก 7 เดือน
การ พัฒนาการทารก 7 เดือน นั้น ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนค่ะว่า ทารกวัยนี้ เริ่มเรียนรู้ได้มากขึ้นแล้ว แถมยังเป็นเด็กที่เริ่มมีความเป็นตัวของตัวเอง ใครขัดใจก็จะเริ่มมีอาการไม่พอใจหรือโกรธให้คุณพ่อคุณแม่ได้เห็น แต่ไม่เป็นไรค่ะ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอารมณ์ของลูกนั้น สามารถดีขึ้นด้วยหนึ่งในกิจกรรมดังต่อไปนี้ด้วยเช่นกัน
- จ๊ะเอ๋ – การเล่นจ๊ะเอ๋ในครั้งนี้ จะแตกต่างกับการเล่นที่ผ่าน ๆ มานะคะ เนื่องจากคนที่จะเป็นฝ่ายแอบนั้นไม่ใช่คุณพ่อคุณแม่อีกต่อไป หากแต่เป็นลูกน้อยของเรานี่เองค่ะ วิธีการเล่นก็คือ ให้คุณแม่ให้ผ้าผืนเล็กให้ลูก แล้วให้ลูกเอาผ้านั้น ปกปิดใบหน้าหรือแอบคุณแม่ แล้วคุณแม่ก็อาจจะแกล้ง ๆ เรียกลูก และพยายามหาลูกค่ะ อย่าหาเจอไวเกินไปนะคะ เดี๋ยวจะไม่สนุก พอเจอก็ อ้าว! อยู่นี่เองเหรอจ้ะ เป็นต้น ซึ่งพัฒนาการที่ลูกจะได้ก็คือ ด้านประสาทสัมผัสต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น หู และกล้ามเนื้อ เป็นต้น
- โชว์อัลบั้มรูป – ให้คุณแม่หยิบอัลบั้มรูปขึ้นมาค่ะ แล้วโชว์ให้ลูกได้เห็นพร้อมกับชี้และบอกชื่อว่า คนนี้คือ คุณแม่ คุณพ่อ พี่ หรือคุณตาคุณยาย เป็นต้น สิ่งที่ลูกจะได้เรียนรู้จากรูปก็คือ การเรียนรู้ใบหน้า และการแสดงอารมณ์ของแต่ละคน อีกทั้งยังได้ในส่วนของความจำ จนบางทีคุณพ่อคุณแม่อาจจะแปลกใจเล็กน้อยว่า คนบางคนไม่เคยได้เจอ ลูกเคยเห็นแต่ในรูป แต่ลูกก็ดูสนิทและไม่รู้สึกกลัว ผิดกับคนแปลกหน้าคนอื่น ๆ
- เล่นต่อบล็อก – ให้คุณแม่หาบล็อกสี่เหลี่ยมที่ไม่มีน้ำหนักมาก สีสันสดใส อีกทั้งยังสะอาดและปลอดภัยมาให้กับลูกน้อยค่ะ วิธีแรกเริ่มเลย ให้คุณพ่อคุณแม่ต่อให้ลูกดูก่อนค่ะ เริ่มจากการต่อบล็อกให้สูงขึ้นไปเรื่อย ๆ อาจจะเป็นรูปลักษณ์ต่าง ๆ ก็ได้นะคะ หรืออาจจะเรียงตามสีให้ลูกเห็นก็ได้ค่ะ ไม่ว่ากัน หมั่นทำเป็นประจำทุกวัน สิ่งที่ลูกจะได้ก็คือ สมาธิ พยายามให้ลูกวางบล็อกที่ว่านี้เป็นประจำทุกวันนะคะ จะได้เป็นการฝึกสายตา และกล้ามเนื้อให้กับลูก
- เล่นเกมผ่านอาหารเสริม – ลูกน้อยเริ่มทานอาหารเสริมกันมาแล้วใช่ไหมคะตั้งแต่หกเดือนได้ แนะนำให้คุณแม่เปลี่ยนเมนูให้ลูกรับประทาน โดยแต่ละเมนูอาจจะมีสีสัน และรสชาติต่างกันบ้าง ไม่ซ้ำซากจำเจมากเกินไป เพราะนอกจากลูกจะไม่รับประทานด้วย เผลอ ๆ อาจจะเม้มปากสุดฤทธิ์ จนคุณพ่อคุณแม่ถอดใจก็เป็นได้ค่ะ กิจกรรมนี้นอกจากจะช่วยผลัดเปลี่ยนเมนูให้กับลูกแล้ว ลูกน้อยยังได้เรียนรู้ถึงรสชาติของอาหารที่ต่างกันด้วยเช่นกันค่ะ
- เล่นจ๊ะเอ๋ ผ่านกระจก – คุณพ่อคุณแม่อาจจะคิดว่าแปลกใช่ไหมละคะ ว่าทำไมเล่นกันตัวเป็น ๆ ไม่ได้ในเมื่อก็อยู่ใกล้กันนิดเดียว … ถามว่าได้ไหม … ได้ค่ะ แต่กิจกรรมนี้จะส่งผลให้ลูกได้เรียนรู้ถึงตัวเอง เรียนรู้ถึงความแตกต่างระหว่างตัวตนจริง ๆ กับกระจกได้อีกด้วย
- เปิดเพลงอนุบาลให้ลูกฟังบ้าง – เพื่อที่จะได้เป็นการสร้างความคุ้นเคยกับเพลง และช่วยพัฒนาทางด้านสมอง และการฟังให้กับลูกได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญเลยละค่ะ เสียงเพลงจะทำให้ลูกอารมณ์ดีได้ทั้งวัน
- หุ่นกระบอกมือ – อีกหนึ่งกิจกรรมที่ทารกวัยนี้ควรเล่นก็คือ การหาหุ่นกระบอกมือสักตัวหรือสองตัวมาเล่นให้ลูกดูค่ะ สิ่งที่ลูกได้รับการพัฒนาก็คือ สมองและสายตา ที่เชื่อมและประสานกันอย่างเห็นได้ชัด
- ตามเก็บของเล่น แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่หาของเล่นที่เคลื่อนไหวได้ ยกตัวอย่างเช่น ลูกบอล หรือตุ๊กตาไขลานที่เคลื่อนไหวได้ เชื่อเถอะค่ะว่า นี่จะเป็นหนึ่งในกิจกรรมโปรดของลูก ที่คุณพ่อคุณแม่จะเล่นได้ไม่มีเบื่อเลย พัฒนาการทารก 7 เดือนที่จะได้รับจากข้อนี้ก็คือ การเรียนรู้ความเคลื่อนไหวได้ เป็นต้น
- ปล่อยให้ลูกมีอิสระในการเล่น – ซึ่งการเล่นของเด็กวัยนี้ก็คือ การเสริมสร้างความมั่นใจ และยังสามารถพัฒนาการกล้ามเนื้อของลูกได้ทุกส่วนอีกด้วยค่ะ
- เล่นปรบมือ – การเล่นปรบมือ สามารถส่งเสริม พัฒนาการทารก 7 เดือน ได้โดยการส่งเสริมความคิด การแสดงออก และการทำงานร่วมกันระหว่างมือ กับสมอง รู้ว่าควรปรบตอนไหน ยกตัวอย่างเช่น ตอนที่ดีใจ หรือตอนที่รู้สึกสนุก เป็นต้น
- เล่นเกมหาของ – วิธีการก็คือ การหาขวดน้ำหรือแก้วน้ำมาสามใบค่ะ เสร็จแล้วให้ใช้ลูกบอลลูกเล็ก ๆ หรือตุ๊กตา ซ่อนไว้ใต้แก้ว และคว่ำแก้วทั้งหมดลง ค่อย ๆ สับไปซ้ายทีขวาที โดยให้ลูกเห็น แล้วถามลูกว่า ลูกบอลอยู่ไหนนะ หนูหาให้แม่หน่อยได้ไหมลูก แล้วลูกก็จะเริ่มนึกและหาบอลภายในแก้วที่คว่ำอยู่ค่ะ กิจกรรมที่ลูกจะได้ก็คือ การเรียนรู้ความเคลื่อนไหว และจะกลายเป็นเด็กที่ช่างสังเกตและจดจำค่ะ
- เล่นแสงและเงา – แนะนำให้คุณแม่หาไฟฉายมาสักอัน แล้วปิดไฟในห้องนอนให้มืด หากกำแพงหรือเพดานก็ได้นะคะ ทำเป็นฉาก แล้วเอามือของคุณแม่นี่ละค่ะ ทำเป็นตัวสัตว์ ยกตัวอย่างเช่น ผีเสื้อ หรือสุนัข ก็ได้ พร้อมกับบอกชื่อเรียกว่า นี่คืออะไร ส่งเสียงแบบไหน สิ่งนี้จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านประสาทสัมผัส เป็นต้น
- กล่องที่มีเสียงดัง – กล่องที่ว่าอาจจะเป็นกล่องพลาสติก กล่องขนมหรือกล่องกระดาษก็ได้นะคะ แล้วใส่ของเล่นเข้าไปให้ลูกเขย่าเล่น และต้องให้ลูกน้อยเปิดหยิบออกมาดูได้ด้วยนะคะ ลูกจะได้เรียนรู้ด้านเสียง และทำความเข้าใจว่า เวลาที่เขาเขย่าสิ่งนี้ จะเกิดเสียงดังขึ้นนั่นเองค่ะ
- ออกกำลังกายบริหาร – ให้ลูกนอนหงายลงบนขาของคุณแม่ค่ะ แล้วให้ลูกจับมือของคุณแม่ พร้อมกับแกว่งช้า ๆ พร้อมกับร้องเพลง ช่วงจังหวะนี้อย่าลืมสบตาพร้อมกับชวนลูกคุยไปด้วยนะคะ นอกจากลูกจะได้ออกกำลังกายแล้ว ยังสามารถสร้างกระชับความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูกได้อีกด้วยค่ะ
- ซ่อนของเล่นชิ้นโปรดไว้ด้านหลัง – ให้คุณแม่หยิบของเล่นชิ้นโปรดของลูกมาหนึ่งชิ้น และอุ้มให้ลูกนั่ง พร้อมกับเอาของเล่นนี้ไปวางไว้ด้านหลังของลูก ลองดูสิคะว่า ลูกจะสามารถหันกลับมามองและเอื้อมหยิบเอง หรือจะให้ลูกนอนแล้วเอาของเล่นไปอยู่ด้านหลังหรือเหนือศีรษะลูกค่ะ โดยสลับข้างซ้ายขวา พัฒนาการที่ลูกจะได้คือ การพัฒนากล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย และเชื่อมประสาทการทำงานระหว่างมือ และสมองไปด้วย
- ของเล่นในน้ำ – ขณะที่ลูกอาบน้ำนั้น ให้คุณแม่หาลูกบอลใบเล็กมาให้ลูกเล่นโดยมีสีที่หลากหลายและถือได้ สิ่งที่ลูกจะได้ก็คือ การเรียนรู้ผลของการกระทำนั่นเอง ยกตัวอย่างเช่น ถือลูกบอลและตีบนน้ำ ก็จะส่งผลให้น้ำกระเด็นและมีเสียง เป็นต้น
- ให้ลูกเล่นสี – สีที่ว่านี้แนะนำให้ใช้สีผสมอาหารผสมนะคะ เพราะแน่นอนว่า ลูกจะต้องมีเผลอเอามือเข้าปากแน่นอน หลังจากที่คุณแม่ผสมสีเสร็จแล้ว ก็ให้อุ้มลูกนั่งบนเก้าอี้ พร้อมกับเอาสีที่ผสมเตรียมไว้มาวางให้ลูกค่ะ ลูกก็จะเริ่มอยากรู้ และใช้มือของพวกเขา แตะสีเหล่านั้นเล่น อาจจะมีบ้างค่ะ ที่จะไปป้ายโต๊ะ ผม หรือใบหน้า ของตัวเองแน่นอน แนะนำให้คุณแม่หากระดาษหนังสือพิมพ์หรือพลาสติกมาปูรองไว้ใต้เก้าอี้ด้วยนะคะ มิเช่นนั้นละก็พื้นบ้านของคุณแม่ต้องเลอะเทอะแน่ ๆ การปล่อยให้ลูกได้เรียนรู้การเล่นสีนั้น จะช่วยส่งเสริมด้านสายตา และการมองเห็นนั่นเอง
- ให้ลูกได้ก้าวขา (หัดเดิน) ผ่านเท้าของคุณพ่อคุณแม่ – ให้คุณพ่อคุณแม่นำลูกน้อยมายืนบนเท้าของตัวเองด้านหน้า พร้อมกับจับมือลูกก้าวเดินไปพร้อม ๆ กัน พยายามทำเป็นประจำทุกวัน จะช่วยเสริมกล้ามเนื้อและยืดเส้นยืดสาย ที่สำคัญ ยังเป็นการหัดให้ลูกสามารถยืนทรงตัวได้ด้วยตัวเอง ได้ไวขึ้น เป็นต้น
- เปิดเพลงให้ลูกเต้น – แม้ว่าลูกของคุณพ่อคุณแม่ยังยืนเต้นไม่ได้ แต่การนั่งเต้น หรือการมีที่เกาะจับให้กับลูก ๆ ก็จะพยายามจับและยืดตัวเองขึ้น พร้อมกับขย่มขาของตัวเองให้เป็นไปตามจังหวะของเสียงเพลง การฝึกลูกด้วยวิธีนี้จะช่วยให้ลูกได้ออกกำลังกาย พร้อมกับอารมณ์ดี และรักในเสียงเพลง
- ให้ลูกเล่นน้ำแข็ง – น้ำแข็งที่ว่าที่จะให้ลูกเล่นนั้น จะต้องมั่นใจว่าสะอาดและปลอดภัยสำหรับกับลูก แนะนำให้เป็นก้อนสี่เหลี่ยมที่คุณแม่แช่แข็งไว้ เอาให้ลูกเล่นสักก้อนถึงสองก้อนนะคะ พอเล็กลงแนะนำให้เปลี่ยนก้อนใหม่ค่ะ มิเช่นนั้น ลูกอาจจะเอาน้ำแข็งเข้าปากจนทำให้ติดหลอดลมได้ เท่านี้ลูกของคุณแม่ก็สามารถฝึก พัฒนาการทารก 7 เดือน ได้แล้วค่ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสริมการเรียนรู้จากการสัมผัส และการช่างสังเกต เป็นต้น
- เล่นลูกบอล – ลูกบอลที่ว่านี้ควรจะเป็นลูกบอลพลาสติกนะคะ คล้าย ๆ กับลูกบอลชายหาด และจะต้องไม่บาดคมกับนิ้วมือและผิวหนังของลูก วิธีการเล่นคือ ให้ลูกนั่งและเอาลูกบอลวางไว้ตรงหน้า หรือไม่ก็ให้ลูกนอนหงายแล้วเอาลูกบอลวางไว้บนท้องของลูก การเล่นด้วยวิธีนี้จะช่วยทำให้ลูกได้เข้าใจถึงความแข็งแรงของวัตถุและกล้ามเนื้อได้
- ปล่อยให้ลูกได้นอนคว่ำ – การปล่อยให้ลูกได้นอนคว่ำเล่นบ้างวันละครั้งถึงสองครั้ง จะช่วยพัฒนการกล้ามเนื้อท้องให้ลูก พร้อมกับเข้าใจว่า เวลาที่เขาเคลื่อนไหว ร่างกายของเขาจะสามารถขยับได้ เวลาที่ให้ลูกเล่น อย่าลืมเอาของเล่นมาวางไว้ตรงหน้าให้กับลูกด้วยนะคะ
เห็นไหมคะว่า การ พัฒนาการทารก 7 เดือน นั้นมีเยอะมาก ๆ และของเล่นแต่ละอย่างที่จะมาช่วยเสริมนั้น ไม่ได้มีราคาแพงเลย แถมยังเป็นของเล่นใกล้ตัวอีกเสียด้วยนะคะ และคนที่จะมาช่วยส่งเสริมพัฒนาการให้กับลูกได้ดีที่สุดก็คงจะไม่มีใคร นอกจากคุณพ่อคุณแม่นั่นเอง
ขอบคุณที่มา: Momjunction
อ่านต่อเรื่องอื่นที่น่าสนใจ:
- 5 กิจกรรมและวิธีการเสริม พัฒนาการทารก 6 เดือน
- อยากให้ลูกมีพัฒนาการดี พ่อแม่ต้องทำ 5 สิ่งนี้ให้กับลูก!
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่