อยากรู้ว่า พัฒนาการทารก 11 เดือน เป็นอย่างไร แล้วต้องเสริมด้วยกิจกรรมแบบไหน ที่นี่มีคำตอบค่ะ
ใกล้เข้ามากอีกนิดแล้วนะคะ กับการเข้าสู่วัยขวบปีแรกของลูก แต่ก่อนที่จะถึงวันนั้น วันนี้เรามาดูกันก่อนดีกว่าค่ะว่า พัฒนาการทารก 11 เดือน นั้นมีอะไรเปลี่ยนแปลงมากน้อยเพียงใด
สำหรับทารก 11 เดือนนั้นเป็นวัยแห่งการเริ่มฝึกกฎระเบียบ ชอบที่จะเป็นนักเลียนแบบ และติดแม่มากกว่าเดิม แต่จะมีอะไรมากไปกว่านี้อีกนั้นเราไปดูพร้อม ๆ กันเลยดีกว่าค่ะ
พัฒนาการทารก 11 เดือนโดยทั่วไป
- พัฒนาการทางด้านร่างกาย
- ด้วยความที่ลูกเริ่มยืน และลุกนั่งด้วยตัวเองได้แล้ว การจับให้ลูกนั่งหรือนอนก็กลายเป็นเรื่องที่น่าเบื่อสำหรับลูก จึงไม่แปลกที่คุณพ่อคุณแม่จะเห็นลูก ๆ เอาแต่ยืนและเดินจับสิ่งของหรือโต้ะเก้าอี้ได้ทั้งวัน อย่าเผลอไปจับให้เขานั่งเลยทีเดียวเชียว เพราะมีหวังร้องไห้งอแงแน่นอน
- นอกจากนี้ลูกน้อยของคุณพ่อคุณแม่เริ่มเดินได้แล้วด้วยนะคะ จริงอยู่ที่ลูกก็เริ่มเดินได้สองถึงสามเก้าตอนมีอายุได้ 10 เดือน แต่สำหรับทารก 12 เดือนนั้น หากคุณพ่อคุณแม่จับและจูงมือลูกข้างนึง ลูกก็สามารถเดินไปได้มากขึ้นแล้วละค่ะ
- อย่าแปลกใจนะคะ ถ้าคุณพ่อคุณแม่จะเห็นรอยเลอะเทอะของปากกาหรือดินสอสีตามกำแพงหรือโต้ะ เพราะลูกเริ่มมีอยากที่จะจับดินสอขีดเขียนเหมือนพี่ ๆ หรือแม้แต่คุณพ่อคุณแม่แล้วละค่ะ (อย่าลืมหาสมุดให้ลูกสักเล่มนะคะ มิเช่นนั้นละก็ บ้านเลอะเทอะแน่)
- สามารถใช้ช้อนตักข้าวเข้าปากเองได้แล้วละค่ะ (ปล่อยให้ลูกทำเองนะคะ จะได้เป็นการกระตุ้นพัฒนาการให้กับลูกได้)
- พัฒนาการทางด้านภาษา
- ถึงแม้ว่าลูกจะพูดยังไม่รู้เรื่องนัก แต่ก็มีบางคำที่ลูกพูดได้ชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น หม่ำ ไป มา เป็นต้น
- เป็นนักเลียนแบบประจำบ้านเลยละค่ะ ชอบที่จะเลียนแบบทั้งหน้าตา ท่าทาง น้ำเสียง ของคุณพ่อคุณแม่หรือคนในบ้าน เอาเป็นว่า สามารถเรียกเสียงหัวเราะของคนทั้งบ้านได้เป็นอย่างดี
- นอกจากลูกจะเริ่มพูดและฟังคำสั่งง่าย ๆ ได้แล้ว ลูกเริ่มที่จะเข้าใจด้วยแล้วนะคะว่า คำแต่ละคำนั้นมีความหมายที่แตกต่างกัน
- ลูกเริ่มเข้าใจคำเรียกสิ่งของหรือสิ่งมีชีวิต พร้อมกับชี้ไปยังสิ่งนั้นได้ถูก ยกตัวอย่างเช่น เครื่องบิน (ลูกก็จะเอานิ้วชี้ขึ้นไปบนท้องฟ้า) สุนัขหรือหมา (ก็จะชี้ไปที่สุนัขที่เลี้ยงไว้หรือที่เห็น) พูดถึงปลา ก็สามารถชี้ไปที่น้ำและปลาได้ เป็นต้น
- พัฒนาการทางด้านจิตใจ
- ลูกชอบที่จะมองตัวเองในกระจก รวมถึงสิ่งของที่อยู่ในกระจกด้วย จึงไม่แปลกที่เห็นลูกชอบทุบกระจก หรือตีกระจกบ่อย ๆ เพราะพวกเขาพยายามที่จะเอาของที่อยู่ในกระจกนั้นออกมานั่นเอง
- สามารถเอาของที่มีรูปทรง ยกตัวอย่างเช่น บล็อกหรือไม่บล็อกใส่ภาชนะหรือกล่องได้แล้ว
- ชอบอ่านหนังสือที่มีรูปภาพ หากเห็นเป็นรูปภาพ แมวก็อาจจะพยายามส่งเสียงเมี้ยวออกมา เห็นปลาก็จะบอก ปลา เป็นต้น
- พัฒนาการทางด้านสังคม
- ชอบอยู่กับกลุ่มพวกพี่ ๆ มากกว่าเล่นลำพัง และพยายามทำตามเท่าที่จะสามารถทำได้
- ติดแม่มาก ไม่ว่าคุณแม่จะทำอะไรไปไหน ก็จะร้องเรียกหา ยิ่งไม่เห็นหน้าคุณแม่ด้วยยิ่งส่งเสียงดังใหญ่
- เริ่มไม่ค่อยให้ความร่วมมือเหมือนเมื่อก่อน หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ เริ่มดื้อ นั่นเองละค่ะ ตรงนี้คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยสอน และแนะนำลูกนะคะ อย่าไปดุหรือตีค่ะ เพราะลูกเล็กเกินกว่าจะเข้าใจ
- ชอบแสดงความเป็นเจ้าเข้าเจ้าของ โดยเฉพาะอย่างยิ่งของเล่น อย่าริอาจไปย้ายของเขาเชียวนะคะ มิเช่นนั้น โวยวายแน่นอน
- ชอบแกล้งแม่ และดูว่าแม่จะมีปฏิกิริยาตอบกลับมาอย่างไร และก็จะหัวเราะชอบใจกับการกระทำของตัวเอง
- เริ่มเลียนแบบคนรอบข้างให้เห็น ไม่ว่าจะเป็นท่าทาง หน้าตา หรือน้ำเสียง
- เข้าใจคำว่า “ไม่” แล้วละค่ะ แถมยังรู้อีกด้วยนะคะว่า ถ้าได้ยินคำนี้เมื่อไรแสดงว่าตัวเองทำผิด
สำหรับกิจกรรมที่จะมาช่วยส่งเสริม พัฒนาการทารก 11 เดือน นั้น ก็ไม่ได้ต่างมากกับเมื่อเดือนก่อนค่ะ หากแต่ลูกอาจจะสามารถเล่น หยิบจับ รวมถึงเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ได้มากขึ้น และนี่คือกิจกรรมที่ทีมงาน Amarin Baby and Kids อยากจะมาแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ทุกท่านได้มีโอกาสเล่นกับลูกดูค่ะ
3 กิจกรรมเสริม พัฒนาการทารก 11 เดือน
- ปล่อยให้ลูกรับประทานอาหาร ขนม หรือของว่างด้วยตัวเอง ไม่ต้องกลัวว่าเสื้อผ้าหรือบ้านจะเลอะเทอะค่ะ แค่หาผ้ารองหรือผ้ากันเปื้อนก็พอ ซึ่งอาหารที่ว่านี้ ก็อาจจะเป็นอาหารหลัก ปล่อยให้ลูกใช้ช้อนป้อนเข้าปากเอง โดยมีคุณพ่อคุณแม่อยู่ใกล้ ๆ คอยช่วยหยิบจับเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือหากเป็นของว่าง ก็ไม่ต้องป้อนนะคะ ใส่จาน แล้วให้ลูกได้ถือทานเองได้เลยค่ะ เด็กวัยนี้เริ่มหยิบจับได้คล่อง เริ่มเรียนรู้รสชาติของอาหารที่แตกต่างกันไปได้แล้ว ทีนี้ละค่ะ ก็จะแสดงให้คุณพ่อคุณแม่ได้เห็นเลยว่า ลูกชอบหรือไม่ชอบทานอะไร เป็นพิเศษหรือไม่ด้วย
- สื่อสารพูดคุยกับลูกบ่อย ๆ หากคุณพ่อคุณแม่อยากให้ลูกพูดเป็นไว ๆ แนะนำให้พูดคุยกับลูกบ่อย ๆ นะคะ พูดเป็นประจำทุกวัน หากอยากเริ่มพูดภาษาที่สองก็สามารถทำได้ค่ะ ค่อย ๆ ไป ยกตัวอย่างเช่น Hair (แฮร์) เส้นผม (พร้อมกับชี้ไปที่ผมลูกด้วย นะคะ ทำแบบนี้เป็นประจำทุกวันซ้ำ ๆ ลูกก็จะค่อย ๆ เรียนรู้และเข้าใจว่า อ๋อ นี่เขาเรียกว่า Hair ผม นั่นเองค่ะ
- อ่านนิทาน อย่างที่ได้เกริ่นถึงโดยทั่วไปของ พัฒนาการทารก 11 เดือน อย่าลืมนะคะว่า ทารกวัยนี้อยู่ในช่วงของการเรียนรู้ ชอบฟัง ชอบดูภาพต่าง ๆ ดังนั้น หากคุณพ่อคุณแม่สามารถอ่านหนังสือภาพให้ลูกฟังได้ทุกคืน ลูกก็จะสามารถเรียนรู้ศัพท์ต่าง ๆ ได้เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย
ไม่ยากเลยใช่ไหมละคะ แน่ใจว่าคุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่ก็ทำกันเป็นประจำอยู่แล้ว แต่สำหรับใครที่ยังไม่ทราบละก็ ทีมงานอยากให้ได้ลองทำกันดูนะคะ แล้วจะได้เห็นพัฒนาการของลูกเลยละค่ะว่า ก้าวหน้ามากขึ้นเพียงใด
ขอบคุณที่มา: Momjunction
อ่านต่อเรื่องอื่นที่น่าสนใจ:
- คุณหมอขอบอก สอนลูกไม่ให้ฉีก กัด หนังสือนิทาน
- แชร์สูตรอร่อย! ข้าวตุ๋นไข่สามสหาย เมนูอาหารเด็ก 6 เดือน (มีคลิป)
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่