AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

อุทาหรณ์จากหมอ! ตัดเล็บทารก ตัดผิดลูกติดเชื้อในกระแสเลือด

ตัดเล็บทารก ไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ เพราะนิ้วมือที่ยังเล็ก และเนื้อของลูกก็ยังบอบบาง การจะใช้กรรไกรตัดแต่ละทีก็ทำเอาคุณพ่อคุณแม่แทบลืมหายใจ เพราะต้องใช้ความระมัดระวังอย่างที่สุด วันนี้ ทีมงาน Amarin Baby & Kids มีอุทาหรณ์จากเพจ เรื่องเล่าจากโรงหมอ เกี่ยวกับการ ตัดเล็บทารก พลาด จนทำให้ลูกวัย 10 เดือนติดเชื้อในกระแสเลือด ดังนี้ค่ะ

อุทาหรณ์จากหมอ! ตัดเล็บทารก ตัดผิดลูกติดเชื้อในกระแสเลือด

ตัดเล็บลูก…เรื่องไม่เล็ก…

เมื่อวาน… น้องหมอเด็กส่งเบบี๋วัยสิบเดือนมาปรึกษา… ประวัติว่าพ่อกับแม่ พึ่งพากลับไปเยี่ยมคุณยายต่างจังหวัด…
สองสามวันก่อน.. .คุณยายเห็นหลานเล็บยาว… จะข่วนหน้า… เลยตัดให้ จากนั้นนิ้วโป้งเท้าเริ่มบวม แดง อักเสบ มีไข้สูง… พามาพบคุณหมอเด็ก… ตรวจร่างกาย เจาะเลือด… จำนวนเม็ดเลือดขาวต่ำเตี้ย วินิจฉัยว่า นิ้วอักเสบ และติดเชื้อในกระแสเลือด… ได้ยาปฏิชีวนะมาหนึ่งคืน บริเวณข้างนิ้วเท้าบวมขึ้น เปลี่ยนเป็นสีดำ ไข้สูงลอย 40 องศา ไม่ลดลงเลย Dx periungual cellulitis+necrosis c sepsis

ที่ห้องตรวจนรีเวช… ตรวจดูแล้วนิ้วมีเนื้อเน่าตายด้านข้าง ๆ จริง เท้าบวม เด็กซึมมาก… ทำการผ่าตัดถอดเล็บบางส่วน
เลาะเนื้อตาย มีหนองไม่มาก กรีดระบายหนองและเลือดออก… ระหว่างทำ… ซึ่งน่าจะเจ็บสุด ๆ … แต่คนไข้ซึม นิ่งจนแทบไม่มีเสียงร้อง น่าเป็นห่วง…

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

อ่านต่อ อุทาหรณ์จากหมอ! ตัดเล็บทารก ตัดผิดลูกติดเชื้อในกระแสเลือด

อุทาหรณ์จากหมอ! ตัดเล็บทารก ตัดผิดลูกติดเชื้อในกระแสเลือด

วันนี้ไปเยี่ยมเมื่อเช้า… พ่อหนุ่มไข้หายวับ เท้ายุบบวม แผลสีแดงสวย… เริ่มมีฤทธิ์เดชต่อต้านโวยวายหมอตอนเปิดแผลแล้ว เป็นสัญญาณที่ดีมาก ขออนุญาตคุณพ่อคุณแม่และคุณอาที่ดูแล… นำรูปมาโพสเตือนให้พ่อแม่ทุก ๆ คนระวังกันนะครับ…

แค่ตัดเล็บผิด ก็ลุกลามจนติดเชื้อในกระแสเลือด อันตรายถึงชีวิตได้นะเอ้อ…

หมายเหตุ…
เล็บของทารก เริ่มปรากฏให้เห็นมาตั้งแต่ในท้องช่วงต้นไตรมาสสอง แล้วพัฒนาต่อมาเรื่อย ๆ … มีองค์ประกอบหลักคือเคราติน

ช่วงเดือนแรกของชีวิต เล็บทารกจะยังอ่อนนุ่ม แล้วค่อยๆหนาขึ้น แข็งขึ้นตามการเจริญเติบโต.. คุณแม่คุณพ่อมักกังวลว่า… เล็บลูกจะยาว และคมจนไปข่วนผิวหนัง จิ้มตา… การดูแลเล็บให้ไม่ยาวและแหลมคมจึงมีความสำคัญ โดยเฉลี่ยเล็บมือทารกจะงอกยาวขึ้นวันละ 0.1 มม. ส่วนเล็บเท้าจะช้ากว่านั้น เด็กจึงควรได้รับการดูแลเล็บมือเฉลี่ย 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ และเล็บเท้า 2-3 ครั้งต่อเดือน… ช่วงเดือนแรก เนื่องจากเล็บยังนิ่ม/เปราะ… จึงแนะนำให้ใช้การตะไบ มากกว่าการตัด
แต่หลังจากนั้น เล็บจะแข็งแรงขึ้น อาจใช้วิธีการตัดเล็มด้วยกรรไกรตัดเล็บเฉพาะของทารก การตัดแต่งเล็บให้ยึดหลักว่า
เล็บมือให้ตัดตามความโค้งของเล็บ ส่วนเล็บเท้าให้ตัดเป็นเส้นตรงระหว่างจมูกเล็บทั้งสองข้าง และอาจตะไบมุมเพื่อลบคม
ห้ามตัดชิดเข้ามาลึกเกินไป ควรเว้นขอบเล็บด้านนอกสีขาวๆ ห่างจากเนื้อด้านใน 1-2 มม.เสมอนะครับ

 

ชมคลิปวิธีตัดเล็บทารกอย่างถูกวิธี

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

อ่านต่อ ทำอย่างไรเมื่อตัดเล็บโดนเนื้อลูก และวิธีป้องกัน

ทำอย่างไรเมื่อตัดเล็บโดนเนื้อลูก

เป็นธรรมดาที่คุณพ่อคุณแม่ทุกคนเห็นเลือดของลูกแล้วจะตกใจทำอะไรไม่ถูก ดังนั้น ก่อนอื่นต้องตั้งสติก่อนค่ะ เพราะเรายังมีหน้าที่ปฐมพยาบาลให้ลูกก่อน จึงควรทำตามขั้นตอนต่อไปนี้ค่ะ

  1. กอดและปลอบลูก แน่นอนว่าคนที่เจ็บกว่าลูกคือคุณพ่อคุณแม่ แต่เมื่อไรที่คุณพ่อคุณแม่แสดงอาการตกใจ เสียใจ หรือ กังวลใจออกมา ยิ่งทำให้ลูกรู้สึกแย่ไปด้วยนะคะ
  2. กดบริเวณที่เลือดออกเบา ๆ ด้วยผ้าสะอาด หรือ ผ้าก๊อซ เพื่อให้เลือดหยุดไหลหรือไหลน้อยลง
  3. เมื่อเลือดหยุดไหลหรือไหลน้อยลงแล้ว ให้ล้างแผลด้วยน้ำสะอาด
  4. หากเลือดยังไม่หยุดไหลดี ให้ใช้ผ้าก๊อซปิดแผลไว้ก่อน
  5. พยายามอย่าให้ลูกเอามือเข้าปาก เพื่อป้องกันเชื้อโรคจากปากเข้าไปบริเวณแผล
  6. ไม่จำเป็นต้องใช้แอลกอฮอลล์ล้างแผล เพราะอาจทำให้ลูกแสบได้
  7. ห้ามใช้ยาสมุนไพรที่ไม่ได้รับการรับรอง ทาบริเวณแผลเด็ดขาด
  8. ไม่ตัดเล็บซ้ำที่เดิมที่เป็นแผล เพราะจะยิ่งทำให้แผลสมานตัวได้ช้าลง
  9. หากมีอาการปวดบวมแดง หรือ เลือดไม่หยุดไหล ควรรีบไปพบแพทย์

วิธีป้องกันไม่ให้ตัดเล็บโดนเนื้อลูก

  1. เลือกกรรไกร ตัดเล็บทารก ที่เหมาะสมกับช่วงวัยของลูก (อ่านต่อ กรรไกรตัดเล็บเด็ก ใช้แบบไหนดี? เมื่อต้องตัดเล็บลูก)
  2. ตัดเล็บลูกในช่วงเวลาที่ลูกสามารถอยู่นิ่ง ๆ ได้ เช่น ช่วงที่ลูกหลับ ช่วงที่ลูกกำลังอารมณ์ดี
  3. ไม่จำเป็นต้องตัดเล็บให้ติดเนื้อ ให้ใช้ตะไบเล็บลบความคมแทน

เหตุการณ์การตัดเล็บโดนเนื้อลูก ไม่มีคุณพ่อคุณแม่ที่ไหนอยากเจอหรอกค่ะ แต่หากเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นมาแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือสติค่ะ รีบปฐมพยาบาลและปลอบลูกให้เร็วที่สุด และไม่ควรโทษตัวเองนะคะ

อ่านต่อบทความดี ๆ ได้ที่นี่

ใส่ถุงมือถุงเท้าให้ลูกน้อย เสี่ยงปิดกั้นพัฒนาการลูก จริงหรือ?

เทคนิคง่ายๆ ในการ “อาบน้ำเด็กแรกเกิด” สำหรับพ่อแม่มือใหม่

แม่อยากรู้ ลูกนอนหนุนหมอน ได้เมื่อไร?

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : เพจเรื่องเล่าจากโรงหมอ, trimestertalk.com

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids