AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

รวม 12 เรื่องของ เด็กแรกเกิด ที่แม่มือใหม่ต้องรู้!

เรื่องของ เด็กแรกเกิด ที่แม่มือใหม่ต้องรู้! …มีคุณแม่หลายคนที่คลอดลูกออกมาใหม่ๆ คงอาจมีความสงสัยและสับสนเกี่ยวกับเรื่องบางอย่างที่เกิดขึ้นกับตัวของลูกน้อย ไม่ว่าจะเป็นเสียงร้อง หรือท่าทางอาการและพฤติกรรมต่างๆ ที่พบเห็น Amarin Baby & Kids จึงขออาสามาคลายข้อข้องใจต่างๆ ให้แม่ๆ ได้ทราบกันค่ะ

สัญชาตญาณและอาการ ของ เด็กแรกเกิด

สำหรับเด็กทารกที่เพิ่งเกิดมาลืมตาดูโลก จะพกสัญชาตญาณเพื่อการอยู่รอดในสภาพแวดล้อมนอกท้องแม่มาด้วยทุกคน และสิ่งแรกที่ทารกแรกเกิด ต้องใช้ คือ ทักษะเรื่องในการหายใจ จากนั้นประสาทสัมผัสทั้ง 5 ก็จะเริ่มทำงานทันที

แนะนำบทความน่าสนใจ ♥สัญชาตญาณการดูดนมแม่ของทารก

โดยเด็กจะสามารถได้ยินเสียงสิ่งแวดล้อมรอบด้านได้ก่อน ทั้งนี้เนื่องจากเมื่อตอนอยู่ในท้องแม่ช่วงอายุครรภ์เข้าเดือนที่ 7 พัฒนาการของหู และการได้ยินของทารกสมบูรณ์ดีแล้วตั้งแต่ในครรภ์ อีกทั้งยังมีความรู้สึกร้อน หนาว รวมถึงได้กลิ่น โดยจะร้องไห้เป็นสัญญาณบอกให้คุณแม่ทราบว่ารู้สึกไม่สบายตัวเมื่อเกิดความเปียก แฉะ หรือรู้สึกหิวนม

แนะนำบทความน่าสนใจ ♥จัดกระเป๋าเตรียมคลอด และเตรียมของใช้เด็กแรกเกิด
แนะนำบทความน่าสนใจ ♥เกิดอะไรขึ้นบ้างกับลูกน้อยหลังคลอด (มีคลิป)

ทั้งนี้เรื่องราวของ เด็กแรกเกิด ยังมีอีกหลายอาการที่คุณแม่ควรรู้ เพื่อพร้อมที่จะรับมือ จะมีอาการอะไรบ้าง ไปดูกันค่ะ

1. มีจุดนิ่มๆ บนหัวของลูกน้อย

สำหรับคุณแม่มือใหม่อาจตกใจ เมื่อเห็นจุดตรงกลางหัว ซึ่งอยู่เลยหน้าผาก ขึ้นไปมีลักษณะนิ่มๆ บุ๋มโบ๋วลงไป นั้นเรียกว่า กระหม่อม โดยเด็กทารกแรกเกิดจะเป็นทุกคน ซึ่งสาเหตุที่กระหม่อมลูกยังนิ่มอยู่นั้นก็เพราะก่อนคลอด ศีรษะของทารก จะมีลักษณะเป็นแผ่นกระดูกหุ้มสมอง สามารถหดชิดยืดหยุ่นเข้ามาหากันได้ ทำให้ศีรษะของทารกผ่านช่องคลอดออกมาได้ง่ายในระหว่างที่แม่เบ่งคลอดนั้นเอง แล้วกระหม่อมนิ่มๆ ของลูกน้อยนั้นจะปิดและกลายเป็นกระดูกของกะโหลกศีรษะได้ภายในช่วงอายุ 2 ขวบปีแรก

 >> ไขทารก มีประโยชน์กับลูกหรือไม่ ทำไมต้องกำจัด?

2. เสียงร้อง ฟังคล้ายกันหมด

ความจริงแล้วเสียงร้องของเด็กจะมีความแตกต่างกัน และบ่งบอกความต้องการของลูกได้ แต่ถ้าลูกร้องทีไรก็เสียงเดียวกันหมด นั่นเป็นเรื่องปกติที่ช่วงแรกๆ คุณพ่อคุณแม่จะรู้สึกแบบนั้น แต่อย่ากังวล เพราเวลาจะช่วยทำให้สามารถแยกแยะเสียงได้เอง ลองตอบสนองลูกขั้นพื้นฐานไปเรื่อยๆ สักพักก็รู้ใจกันเอง

ทั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า เสียงร้องหลักๆ ของทารกมีอยู่ 4 เสียง คือ เสียง เฮะ หมายถึงเปียกชื้นหรือไม่สบายตัว ♦ เสียง เอะ คือมีลมในท้อง ♦ เสียง อาว หมายถึงง่วงนอนอยากพักผ่อน ♦ เสียง อึน หมายความว่าหนูหิวนม หากพ่อแม่จะจับเสียงเหล่านี้ได้ต้องใช้เวลาและต้องสนใจที่จะเรียนรู้ด้วย

 >> ถอดรหัส เสริมพัฒนาการ 11 กระบวนท่าของทารกที่พ่อแม่มือใหม่ควรรู้!

3. มีหน้าตาตลก ไม่น่ารักเหมือนในหนังสือ

หน้าตาที่ดูแปลกและตลกของทารกแรกเกิดนั้น เป็นเพียงมายาคติ เพราะแท้ที่จริงแล้วเด็กแรกเกิดสัดส่วนจะดูแปลกตากว่าที่คุณเคยเห็น เพราะกว่าจะออกมาได้เด็กต้องเดินทางผ่านกระดูกเชิงกราน ซึ่งกระดูกตรงกะโหลกศีรษะที่ยังปิดไม่สนิท จะทำการเปลี่ยนรูปชั่วคราวเพื่อสะดวกต่อการคลอด และไม่เป็นอันตรายต่อสมองน้อยๆ ของทารกด้วย

อีกทั้งของเหลวในร่างกายยังทำให้ลูกตาดูบวมๆ จมูกบี้ๆ อีกต่างหาก แต่คุณแม่อย่าตกใจ เพราะลูกน้อยจะค่อยๆ เต่งตึง ดูน่ารักน่าชังได้ในอีก 1-2 สัปดาห์

 >> มองรูปเด็กน่ารักตอนท้อง ลูกจะออกมาน่ารัก จริงหรือไม่?

อ่านต่อ >> “เรื่องของเด็กแรกเกิด ที่แม่มือใหม่ต้องรู้” คลิกหน้า 2

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

4. ถีบเก่ง

ท่าทางยึกยัก ถีบแข้งถีบขาของทารกในช่วงแรกเกิด เป็นเพราะลูกจะมีพื้นที่ในการดิ้น หรือเคลื่อนไหวแขนขามากกว่าตอนอยู่ในท้องแม่ แต่ก็ยังบังคับกล้ามเนื้อแขนขาไม่ถนัดได้เมื่อคลอดออกมา จึงยกสะเปะสะปะไปเรื่อยอาจดูเหมือนกับลูกกระตุกหรือสะดุ้งตลอดเวลา แต่อาการนี้จะลดลงเองภายใน 2-3 สัปดาห์ และจะค่อยๆ หายไปภายใน 3 เดือน

5. อึเหลวออกมาทุกครั้ง

อาการถ่ายเหลวของทารกแรกเกิดหลังกินนมเสร็จ ซึ่งคุณแม่มือใหม่อาจกังวลว่า ลูกท้องเสียหรือไม่ แต่นั้นถือเป็นเรื่องปกติสำหรับเด็กที่กินนมแม่ โดยภายใน 1-2 วันแรก ลูกอาจจะถ่ายไม่บ่อยเพียงแค่วันละ 1-2 ครั้ง และอุจจาระจะเหนียวมีสีเขียวเข้มถึงดำคล้ายน้ำมันดิน หรือเรียกว่า ขี้เทา ซึ่งหากลูกขับถ่ายขี้เทาได้ดีในวันแรกๆ ก็จะเป็นตัวบ่งชี้ว่าทารกได้รับพลังงานจากน้ำนมแม่อย่างพอเพียงและลดความเสี่ยงที่จะเกิดตัวเหลือง

ทั้งนี้การที่ลูกมีอึเหลว เป็นเพราะในน้ำนมของแม่นั้น จะสามารถย่อยได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งถ้าเป็นนมผงสำหรับทารกแรกเกิดจะย่อยได้ช้ากว่าอาจทำให้มีอาการอึแข็ง ซึ่งลักษณะการถ่ายของทารกที่กินนมแม่จะเป็นสีเหลืองทองเหมือนน้ำเหลวๆ ที่เป็นเช่นนี้ เพราะอาหารที่ทารกได้รับมีแต่ของเหลวซึ่งคือน้ำนมของแม่ จึงไม่มีกากใยอะไรที่จะทำให้ทารกถ่ายเป็นก้อนได้นั้นเอง

แนะนำบทความน่าสนใจ ♥อึบอกสุขภาพ ลูกน้อยแรกเกิดมากกว่าที่คิด
แนะนำบทความน่าสนใจ ♥สี ปัสสาวะ บอก โรค ได้อย่างไร?

6. สะอึกตลอดเวลา

คุณแม่อาจสังเกตว่า ทำไมลูกน้อยถึงมีอาการสะอึกบ่อย และเป็นเวลานาน ซึ่งเรื่องนี้คุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญเองก็ยังไม่สามารถให้เหตุผลได้ แต่ก็มีข้อสันนิษฐานที่เป็นไปได้ คือน่าจะมาจากการที่สมองของลูกน้อย และกล้ามเนื้อกระบังลมยังทำงานร่วมกันได้ไม่ดีเท่าที่ควรนัก โดยการสะอึกมักพบหลังจากลูกอิ่มนม และเมื่อเด็กสะอึกไปซักพักก็จะหยุดหายไปเอง ไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด และเมื่อลูกทารกโตขึ้นถึงอายุประมาณ 4-5 เดือน อาการสะอึกบ่อยๆ นั้นก็จะค่อยๆ หายไป

>> เบบี๋สะอึก อันตรายไหม? แก้อย่างไรดี?

7. ร้องไห้ไม่หยุด หรือร้องไห้นานในช่วงเวลาหนึ่ง

การร้องไห้ของทารกเป็นการสื่อสารทางเดียวที่ทารกจะบอกกับแม่ได้ว่าเขาต้องการอะไร ทั้งนี้สาเหตุของการร้องไห้อาจเกิดจากเพราะความไม่คุ้นกับการอยู่ในที่โล่งๆ หลังจากอยู่ในครรภ์มานาน

ทั้งนี้เด็กทารกบางคนก็อาจจะไม่ร้องไห้เลยก็เป็นได้ หรือบางคนอาจมีอาการร้องไห้ติดต่อกันมากกว่าสามชั่วโมงต่อวัน นานมากกว่าสามวันในหนึ่งสัปดาห์ นั้นอาจเป็นไปได้ว่าทารกกำลังอยู่ในภาวะ โคลิค (colic) ซึ่งก็ไม่ได้เป็นอันตรายต่อทารกแต่อย่างใด คุณแม่จึงไม่ควรกังวล

แนะนำบทความน่าสนใจ ♥ลูกร้องโคลิค สาเหตุ และวิธีแก้ไข

อ่านต่อ >> “เรื่องของเด็กแรกเกิด ที่แม่มือใหม่ต้องรู้” คลิกหน้า 3

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

8. มีสิวเม็ดเล็กๆ และผื่นขึ้น ทั้งหน้า ทั้งตัวเต็มไปหมด

เม็ดผดเล็กๆ ที่คุณแม่เห็นเป็นเรื่องธรรมดาที่ทารกต้องมี โดยลักษณะผื่นจะเป็นตุ่มขาวๆ ซึ่งเกิดจากฮอร์โมนที่ตกค้างของแม่ หรือบางครั้งคุณแม่อาจเห็นเป็นลักษณะคล้ายสิวซึ่งเกิดจากสาเหตุเดียวกัน แต่มีการอักเสบมากกว่า โดยผื่นทั้ง 2 ประเภทนี้มักจะขึ้นที่ใบหย้าของทารก บริเวณแก้ม จมูก และหน้าผาก และจะหายไปเองตอนลูกน้อยอายุราว 6 สัปดาห์

ระหว่างนี้ให้คุณแม่ใช้น้ำอุ่นและสบู่อ่อนๆ ทำความสะอาดตรงบริเวณที่ขึ้นผื่น แต่ไม่ควรทาครีมที่ใช้รักษาสิวในวัยรุ่น เพราะตัวยาแรงเกินไปสำหรับผิวหน้าอันบอบบางของลูกน้อย

 >> 7 ปัญหาผดผื่นในเด็กแรกเกิด ที่พ่อแม่ควรรู้!

9. จามบ่อย

การจาม โดยปกติเกิดจากการเป็นหวัด แต่สำหรับการจามบ่อยๆ ในทารกแรกเกิดเป็นเพราะเด็กกำลังทำให้ทางเดินหายใจของตัวเองโล่ง ซึ่งหลังจากที่คุณแม่ให้นมลูกเสร็จแล้ว อาจสังเกตเห็นว่าลูกมักมีอาการจามออกมา นั้นเป็นเพราะทารกไม่สามารถหายใจทางปากได้ และมีรูจมูกที่เล็กนิดเดียว เมื่อต้องดูดนมก็ต้องกลั้นหายใจเป็นจังหวะ ทำไมต้องจามออกมาเพื่อให้หายใจสบาย ซึ่งหากคุณแม่สังเกตเห็นการจามของทารกว่าไม่มีอาการอื่นร่วมด้วยอย่างน้ำมูกหรือไข้ขึ้น ก็คงไม่มีอะไรที่ต้องกังวล

10. ผิวหนังลอก

อาการผิวหนังลอกของเด็กทารกแรกเกิด เป็นเพราะเมื่อคลอดออกมา ไขมันที่เคลือบอยู่ที่ผิวหนังตอนที่ลูกอยู่ในท้องจะหลุดออกด้วย ทำให้ผิวหนังชั้นนอกแห้งและเริ่มลอก เมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมภายนอกท้องแม่ และในช่วง 1-2 สัปดาห์ ผิวหนังเก่าของลูกนั้นก็จะหลุดลอกออกมาพร้อมกับมีผิวหนังใหม่ที่ใสกว่า เต่งตึงกว่า ขึ้นมาแทนที่ ทั้งนี้คุณแม่ต้องระวังอย่าเผลอไปแกะ ดึง หรือขัด ผิวที่กำลังลอกของลูกน้อยเด็ดขาด ควรปล่อยให้ลอกออกมาเอง โดยจะหายได้ใน 2-3 วัน คุณแม่ไม่ต้องไปทำอะไรกับผิวของลูกเลย

11. สำหรับเด็กผู้ชาย อาจมีลูกอัณฑะใหญ่เกินตัว

ลักษณะลูกอัณฑะที่ดูใหญ่เกินตัวลูกไป ทั้งนี้เป็นเพราะฮอร์โมนจากแม่ ซึ่งอยู่ในร่างกายและเนื้อเยื่อของเด็กยังถูกขับออกมาไม่หมด จึงทำให้เด็กผู้ชายมีอัณฑะที่ดูใหญ่ ส่วนเด็กผู้หญิงก็อาจมีลักณะอวัยวะเพศดูบวมๆ เต่งออกมาในช่วง 2-3 วันแรก ซึ่งถ้าลูกไม่ร้อง ไม่เจ็บหรือมีอาการอักเสบ คุณแม่ก็สามารถสบายใจได้

12. มีบางเวลา เหมือนลูกหยุดหายใจ!

คุณแม่อาจสังเกตเห็นในขณะที่ลูกนอน บางครั้งเหมือนลูกหยุดหายใจ นั้นเป็นเพราะกล้ามเนื้อในระบบทางเดินหายใจของทารกยังไม่แข็งแรงเต็มที่ การกระเพื่อมของทรวงอกจึงมีน้อย และเมื่ออายุประมาณ 6 สัปดาห์ การหายใจของลูกจะชัดขึ้นเอง แต่หากคุณแม่สังเกตเห็นอีกว่าลูกหยุดหายใจเกิน 20 วินาที นั่นอาจเป็นสัญญาณอันตราย คุณแม่ต้องรีบพาไปพบหมอด่วน

 >> SIDS หรือไหลตายในเด็ก ภัยเงียบของลูกน้อย

จากอาการทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นนั้น เพราะตั้งแต่เด็กทารกคลอดออกมา สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องทำในการดูแลลูกน้อย คือ คอยสังเกตและตรวจพัฒนาการทางร่างกายของลูก ก่อนว่ามีอะไรบกพร่องหรือไม่ ซึ่งเด็กทารกแรกคลอดจะใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการนอน และไม่ต้องตกใจหากลูกนอนหลับยาวๆ ตลอด 24 ชั่วโมงโดยไม่กินอะไรเลย นั้นเป็นเรื่องปกติตามธรรมชาติ เพราะภายในร่างกายของทารกยังคงมีการสะสมอาหารจากสายสะดือของคุณแม่เอาไว้อยู่

สำหรับคุณแม่ลูกอ่อนมือใหม่ ก็อาจจะได้พบกับพฤติกรรมที่ไม่คุ้นชินของลูกน้อยแตกต่างจากในช่วงที่ตัวเองเป็นคนท้อง ซึ่งพฤติกรมหลังที่ทารกคลอดออกมานั้น เป็นสิ่งที่คุณแม่ควรรู้และเตรียมพร้อมรับมือไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ ก็จะช่วยลดความเหนื่อยในการเลี้ยงดูพวกเขาในช่วงแรกได้เพียงแค่ให้เข้าใจถึงสัญญาณ อาการที่เด็กพยายามสื่อสารกลับมาเท่านั้นเองค่ะ

อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก!


ขอบคุณข้อมูลจาก : www.pstip.com , women.sanook.com