AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

14 เทคนิค ฝึกลูกพูด ให้มีทักษะการพูดที่ดี..ไปจนโต!

การ ฝึกลูกพูด ฝึกลูกใช้ภาษานั้นเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเป็นสิ่งที่เด็กใช้ในการติดต่อสื่อสารกับผู้อื่น และเป็นการทำให้เด็กคิดโดยตนเอง เป็นหลักสำคัญในการเรียนรู้และการสร้างสรรค์

เทคนิค ฝึกลูกพูด ให้มีทักษะการพูดที่ดีไปจนโต

ตั้งแต่เล็ก เด็กใช้การร้องโดยลักษณะต่างกันไปในการที่จะสื่อให้คุณพ่อคุณแม่ทราบถึงความต้องการพื้นฐานของเขา ได้แก่การที่เขาหิว, ฉี่เปียก, อยากให้อุ้ม, หรือง่วงนอนโยเย ซึ่งสำหรับคุณแม่มือใหม่กว่าจะรู้ได้ว่าลูกต้องการอะไรในตอนนั้นก็ต้องใช้เวลาอยู่สักพักหนึ่ง

และเมื่อลูกโตขึ้น เขาเริ่มมีความต้องการอย่างอื่นมากขึ้น เด็กก็จะเริ่มทำเสียงเรียก อือออ หรือแอ้ะแอ้ะ เมื่อเรียกร้องความสนใจพร้อมทั้งทำหน้า หรือทำท่าบอกความต้องการของเขาให้เราพอรู้ได้ ซึ่งเมื่อเด็กโตขึ้นอีกความสามารถในการสื่อสารก็จะดีขึ้น ทำให้เขาเริ่มเปลี่ยนจากการทำเสียงธรรมดามาเป็นเสียงที่เริ่มมีความหมายเป็นคำ เช่น มะมะ, หม่ำหม่ำ, จ๋าจ๊ะ

⇒ Must read : วิธีสอน baby sign วิจัยชี้! ช่วยเสริมพัฒนาการลูกได้เป็นอย่างดี

ซึ่งจะอยู่ในช่วงอายุประมาณ 1-2 ปี ลูกอาจมีการออกเสียงที่เลียนเสียงภาษาพูด แต่อาจฟังไม่ได้เป็นคำที่มีความหมาย เหมือนบ่นพึมพำ (word-like jargon)

การ ฝึกลูกพูด หรือการพัฒนาการทางด้านภาษานี้จะเป็นไปตามธรรมชาติ และขึ้นอยู่กับเด็กแต่ละคน บางคนอาจจะเป็นเด็กที่ชอบสังคมและมีคนรอบข้างช่วยสอนพูดคุยด้วย ก็จะพูดได้เร็วกว่าเด็กอื่นบ้าง

 

ขณะที่บางคนอาจจะยังไม่ค่อยพูดนักเอาแต่เล่นซนวิ่งเล่น หรือปีนป่าย ไปตามใจ ก็จะดูเป็นเด็กพูดช้ากว่าคนอื่นบ้างในช่วงอายุ ขวบเศษๆ แต่ก็จะมามีการพูดได้มากขึ้นในช่วงอายุ 2-3 ขวบ ไม่ว่าลูกของคุณพ่อคุณแม่จะอยู่ในกลุ่มที่พูดเร็วหรือพูดช้า การช่วยฝึกพูดให้ลูกจะช่วยเสริมทักษะการพูดและการสื่อสารให้แก่ลูกได้ ซึ่งมีข้อแนะนำดังนี้

1. พูดคุยกับลูกน้อยอย่างสม่ำเสมอ

ยิ่งเริ่มพูดกับลูกเร็วเท่าไร ก็จะยิ่งเป็นผลดีเท่านั้น แม้จะเจ้าตัวเล็กจะยังไม่เข้าใจในสิ่งที่เราพูด แต่หากเราพูดคุยกับเขามากเท่าใด สมองส่วนที่ใช้ในการเรียนรู้ภาษาจะยิ่งพัฒนามากขึ้นเท่านั้น และเมื่อเด็กได้ยินคำศัพท์มากๆ เขาจะเรียนรู้คำศัพท์ต่าง ๆ ได้เร็วขึ้น

นักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโกในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าทารกที่แม่พูดคุยด้วยบ่อยๆ จะรู้คำศัพท์มากกว่าเด็กที่แม่ไม่ค่อยได้พูดด้วยถึง 131 คำ และเมื่อเด็กอายุได้ 24 เดือน เด็กที่แม่พูดคุยด้วยบ่อยๆ จะรู้คำศัพท์มากกว่าเด็กที่แม่ไม่ค่อยได้พูดด้วยถึง 295 คำ

2. จ้องตาลูกเมื่อพูดคุยกับเขา

การมองหน้าลูกเมื่อพูดคุยกับเขา จะช่วยสอนให้ลูกน้อยเรียนรู้การแสดงออกทางสีหน้า ซึ่งจะช่วยเพิ่มพูนทักษะในการสื่อสารของเขา สิ่งสำคัญเป็นอย่างยิ่งคือ ควรมองหน้าลูกเมื่อคุยกับเขาตั้งแต่เมื่อเขายังเป็นทารก และเมื่อเขาโตขึ้น ก็ควรที่จะพูดต่อหน้าเขา เวลาที่ต้องการจะสั่งให้เขาทำอะไรก็ตาม

นอกจากนี้ยังควรสังเกตท่าทีของลูกที่อยู่ในวัยทารกว่าเขากำลังตั้งใจฟังอยู่หรือไม่ โดยเด็กทารกจะขยับแขนขาเพื่อตอบสนองกับจังหวะคำพูดที่เขาได้ยิน การเคลื่อนไหวของทารกเป็นการช่วยให้เขาเรียนรู้จังหวะของภาษา และช่วยให้เขาเข้าใจความหมายของคำต่างๆ ได้เร็วขึ้น หากลูกไม่มองหน้าคุณเมื่อคุณพยายามพูดคุยกับเขา ลองหยุดพูด เชยเขาขึ้นเบาๆ แล้วเรียกให้เขามองหน้าคุณ แล้วจึงค่อยพูดกับเขา

อ่านต่อ >> เทคนิคฝึกลูกพูด ให้มีทักษะการพูดที่ดีไปจนโต” คลิกหน้า 2

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

3. อย่าอายที่จะพูดเสียงสูง เสียงเล็ก กับลูก

โดยธรรมชาติแล้วพ่อแม่มักจะทำเสียงสูงๆ เหมือนกับกำลังร้องเพลงเวลาที่คุยกับเด็กทารก ซึ่งอันที่จริงแล้ว เด็กทารกจะตอบสนองได้ดีขึ้นและสนใจมากขึ้น หากคุณคุยกับเขาด้วยประโยคสั้นๆ และเสียงสูง ๆ แทนที่จะพูดด้วยเสียงที่ราบเรียบ

 

4. พูดทีละคน

สำหรับเด็กเล็กๆ นั้น คำพูดของคุณจะต้องแย่งความสนใจจากเสียงแบคกราวน์ และสิ่งล่อตาล่อใจอื่นๆ ที่อยู่รอบตัวเรา ดังนั้น เมื่อคุณจะคุยกับลูก คุณควรลดเสียงแบคกราวน์ลงให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ และเวลาที่คุยกับลูก คุณควรพูดทีละคน เพื่อที่จะให้เขาสามารถฟังตามคำพูดของคุณได้ แม้ว่าเขาจะยังไม่เข้าใจสิ่งที่เขาได้ยินทั้งหมดก็ตาม

5. ชวนพูดคุยกับลูกเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำวัน

เมื่อถึงเวลาป้อนอาหาร อาบน้ำ หรืออุ้มลูก พูดกับเขาอธิบายให้เขารู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ พูดถึงอุณหภูมิ กลิ่นผิวสัมผัส และการกระตุ้นทางประสาทสัมผัสอื่นๆ เรียกชื่ออวัยวะที่เขาสนใจ วัตถุสิ่งของในชีวิตประจำวัน อวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกาย ของใช้ในบ้านหรือของเล่นของเขา

นักวิจัยได้วิเคราะห์การสนทนาของแม่ลูก 24 คู่ โดยลูกมีอายุระหว่าง 15-21 เดือน พบว่าการใช้เวลากับลูกเพื่อพูดคุยกับเขาถึงของที่เขากำลังเล่น จะมีผลต่อพัฒนาการทางภาษาของเด็กได้ดีกว่าการพูดถึงสิ่งที่ยากๆ เนื่องจากเด็กมีความสนใจของเล่นเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว คำศัพท์ที่เกี่ยวกับการเล่นและของเล่นจึงเป็นสิ่งที่เขาจดจำได้ง่าย

6. ตอบลูกให้มากกว่า สิ่งที่ลูกถาม

เมื่อลูกชี้ไปที่สุนัขในบ้านและพูดว่า “หมา หมา” แทนที่จะตอบลูกเพียงว่า “ใช่จ๊ะ  นั่นคือหมา” ก็ควรเพิ่มข้อมูลแก่เขา เช่น “ใช่จ๊ะ นั่นคือหมาพันธ์ุโกลเดนรีทริฟเวอร์มีขนยาวๆ สีทองๆ ” แม้ว่าลูกของคุณอาจไม่เข้าใจหรือไม่สามารถจดจำทุกถ้อยคำที่คุณพูด แต่ข้อมูลเหล่านี้จะซึมเข้าไปในระบบการเรียนรู้ของเขา

7. ใช้ภาษาที่ถูกต้อง

ลูกจะเรียนรู้ภาษาได้อย่างถูกต้องและชัดเจน หากเราคอยช่วยแก้ไขคำศัพท์ที่เขาพูดผิดให้ถูกต้อง เช่น แทนที่จะปล่อยให้ลูกพูด “ไอติม” ซึ่งอาจฟังดูน่ารัก แต่ทางที่ดีควรสอนให้เขาพูด “ไอศกรีม” เพื่อที่เขาจะได้เรียนรู้คำที่ถูกต้อง และถ้าต้องจ้างพี่เลี้ยงเด็ก ก็ควรเลือกคนที่พูดภาษาได้ถูกต้องชัดเจนด้วย

8. พูดให้ถูกหลักไวยากรณ์

ก่อนที่ลูกจะมีอายุ 3 ขวบ จะเป็นช่วงที่เขาเรียนรู้ที่จะผสมประโยคได้ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ เด็กจะรู้จักเรียงคำให้เป็นประโยค โดยเรียนรู้จากบทสนทนาที่เขาได้ยินจากพ่อแม่หรือคนเลี้ยงทุกวัน ดังนั้นเราจึงควรพูดให้เป็นประโยคอย่างถูกต้อง แทนที่จะพูดเป็นภาษาเด็กๆ เป็นคำๆ

⇒ Must read : เริ่มสอนภาษาไทย ให้ลูกหัดพูด ด้วย 3 วิธีการเพิ่มคลังศัพท์ใหม่แบบง่ายๆ

9. แก้ไขคำพูดที่ผิดของลูกให้ถูกต้อง โดยทำอย่างนุ่มนวล

แทนที่จะชี้ให้ลูกเห็นว่าเขาพูดจาผิดหลักไวยากรณ์หรือออกเสียงไม่ถูกต้อง โดยต่อว่าเขาทันที ก็ควรใช้วิธีแก้คำพูดให้เขาอย่างนุ่มนวล เช่น หากลูกพูดว่า”หนูยินว่าพ่อกลับมา” ก็อาจจะตอบลูกให้เป็นประโยคที่สมบูรณ์ว่า “ใช่จ๊ะ หนูได้ยินว่าพ่อกลับมาบ้านแล้ว” เมื่อเวลาผ่านไปนานเข้า ลูกจะพยายามพูดตามประโยคที่ถูกต้องและรู้จักแก้ไขคำที่เขาพูดผิด

มีการศึกษาหลายชิ้นพบว่า เด็กที่พ่อแม่คอยแก้ไขและสอนคำพูด จะเข้าใจหลักของภาษาและไวยากรณ์ได้ดีกว่าเด็กคนอื่นๆ และเมื่อทำการทดสอบด้านความสามารถด้านภาษา พวกเขาก็มีแนวโน้มที่จะทำคะแนนได้ดีกว่าด้วย

อ่านต่อ >> “เทคนิคฝึกลูกพูด ตั้งแต่เล็กๆ ให้มีทักษะการพูดที่ดีไปจนโต” คลิกหน้า 3

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

10. สนทนากับลูก เหมือนคุยกับผู้ใหญ่

แม้ว่าลูกจะยังไม่สามารถพูดเป็นคำๆ ได้แต่เขาก็จะเริ่มเรียนรู้ว่า ในบทสนทนาต้องประกอบด้วยการถามและการตอบ เมื่อคนหนึ่งพูด คู่สนทนาจะหยุดฟัง ดังนั้นเมื่อพูดคุยกับลูก ควรหยุดรอให้เขาตอบ ในช่วงแรกที่เขายังแบเบาะ อาจจะทำแค่ยิ้มให้กัน และส่งเสียงอ้อแอ้ไม่เป็นภาษา เมื่อเด็กอายุย่างเข้า 7 ถึง 8 เดือน เด็กส่วนใหญ่จะเรียนรู้ที่จะนิ่งเงียบถ้ามีคนมาคุยด้วย และเขาจะรอฟังจนกระทั่งอีกฝ่ายพูดจบ เขาจึงจะเปล่งเสียงออกมา

***กฎในการพูดที่สำคัญที่ว่า ไม่ควรพูดแทรกในขณะที่คนอื่นกำลังพูดอยู่ ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่เรียนรู้ได้ตั้งแต่เด็ก

เด็กที่คุยกับพ่อแม่เป็นประจำและคอยถามคำถามพ่อแม่ มีแนวโน้มที่จะเติบโตเป็นเด็กที่พูดถูกไวยากรณ์ และรู้จักคำศัพท์มากกว่าเด็กคนอื่นๆ อีกทั้งมีผลการเรียนที่สูงกว่าเด็กที่ไม่ค่อยพูด นอกจากนี้การได้มีบทสนทนาระหว่างพ่อแม่และลูกนั้นยังเป็นการทำให้เขาได้เรียนรู้การเป็นผู้ฟังที่ดีอีกด้วย เพราะการฟังและการพูดเป็นทักษะที่สำคัญอย่างหนึ่งในการเข้าสังคมเมื่อเขาเติบโตขึ้น เด็กที่ปรับตัวเข้ากับผู้อื่นไม่ค่อยได้ อาจเป็นเพราะเขาไม่ได้เรียนรู้ที่จะพยายามทำความเข้าใจในความคิดเห็นของผู้อื่น

11. อย่าด่วนแย่งลูกพูด

บ่อยครั้งที่เด็กเล็กอาจะต้องใช้เวลาที่จะคิดสรรหาคำศัพท์ที่ถูกต้องมาสื่อสารกับเรา ดังนั้นจึงไม่ควรขัดจังหวะเขาโดยการพูดแทรก หรือแย่งเขาพูด แม้ว่าคุณจะมั่นใจว่าคุณรู้ว่าเขากำลังจะพูดถึงอะไร พึงระลึกเสมอว่า เด็กจะเรียนรู้ได้เร็วขึ้น และมีความมั่นใจในการพูดมากขึ้น หากเขาไม่ถูกขัดจังหวะบ่อยๆ

12. เล่นเกมเพื่อเพิ่มพูนคำศัพท์

เมื่อลูกอายุได้ 2 ปี เขาจะเข้าใจและพูดรู้เรื่องมากขึ้น ควรสอนให้เขารู้จักคำศัพท์ที่เกี่ยวกับตำแหน่งต่างๆ เช่น ข้างบน ข้างล่าง ข้างใน เป็นต้น หรือคำเชื่อมต่อ เช่น  และ แต่ว่า หรือ เป็นต้น เช่น วางของเล่นไว้ใต้กล่อง วางนอกกล่อง วางในกล่อง โดยเล่นและสอนคำศัพท์ต่างๆ เป็นต้น

13. ให้ลูกได้ขีดเขียน

การเขียนเป็นกิจกรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งของผู้ใหญ่ เด็กอายุตั้งแต่ 1 ขวบขึ้นไป มักจะชอบขีดเขียน เลียนแบบการกระทำของผู้ใหญ่ อาจเผินๆ อาจไม่มีอะไรมากกว่าเปลืองกระดาษ แต่แท้จริงแล้ว มันแสดงให้เห็นว่าลูกมีความสนใจในการพัฒนาทักษะด้านภาษา การขีด การเขียน ช่วยให้เขาเข้าใจว่า การเขียนนั้นคู่กับการอ่าน และเขาจะรู้จักฝึกฝนวิธีการจับดินสอที่ถูกต้องสำหรับการฝึกหัดเขียนตัวหนังสือต่อไปในอนาคต

14. ระวังอย่าให้ลูกเป็นโรคหูอักเสบ

เด็กที่ป่วยเป็นโรคหูอักเสบบ่อยๆ ในช่วง 0-4 ขวบ อาจจะสูญเสียการได้ยินชั่วคราวได้ ซึ่งอาจเป็นปัญหาต่อการพัฒนาทักษะด้านภาษาของเขา เด็กๆ เหล่านี้อาจจะไม่สามารถแยกแยะระหว่างเสียงบางเสียง หากลูกของเรามีอาการของโรคหูอักเสบ ให้คอยสังเกตว่าเขามีปัญหาในการฟังหรือไม่ หากคุณมีความกังวลหรือสงสัยว่าลูกอาจมีปัญหาในการฟัง ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจและทดสอบได้ยินของลูก

โดยสรุป คือ การฝึกลูกพูด ให้มีทักษะการพูดที่ดีไปจนโต ซึ่งกระตุ้นการสื่อสาร 2 ทาง โดยเน้นที่การฟังอย่างเข้าใจและตอบสนองออกมาด้วยภาษาท่าทาง กระตุ้นลูกให้พูดตามเมื่อลูกรู้จังหวะการสื่อสารแล้ว(รู้ว่าสลับเงียบ สลับคุย) จะประสบความสำเร็จสูงกว่า อย่าบังคับพูด รวมทั้งมีการร้องเพลงหรือท่องอาขยานแล้วใช้เทคนิคลดคำก็เป็นอีกทางที่จะช่วยเพิ่มคำศัพท์ เพิ่มช่องทางสื่อสารแบบมีความสุขและสนุก

อย่างไรก็ตามการ ฝึกลูกพูด ถ้าคุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นว่าลูกมีปัญหาการพูดที่ช้าไปกว่าเด็กคนอื่นๆ ในรุ่นวัยเดียวกัน แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ ก็ขอให้อย่าได้กังวล และมีความตั้งใจที่จะฝึกลูกต่อไป อย่าได้รู้สึกผิดหวังหรือท้อถอย และขออย่าได้ใจร้อนจนเกินไป คอยบังคับให้ลูกต้องพูดให้ได้ เพราะถึงแม้ว่าการพัฒนาการเรื่องภาษาจะเป็นหลักอันหนึ่งในแง่ของสติปัญญาของเด็ก แต่ก็ไม่ใช่เป็นเพียงปัจจัยเดียวของการพัฒนาในเรื่องสติปัญญา

เด็กบางคนอาจจะพูดช้ากว่าเด็กคนอื่น เนื่องจากเป็นครอบครัวที่มีแนวโน้มที่พูดช้าอยู่แล้ว แต่ส่วนใหญ่จะเป็นจากการที่ขาดการกระตุ้นและสภาวะแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการพูดของเด็กมากกว่า ส่วนเรื่องความผิดปกติทางสมองหรือเรื่องการเจ็บป่วยด้วยโรคอื่นๆที่อาจมีผลกระทบต่อการพูด การใช้ภาษาของเด็กนั้นก็อาจจะมีได้ แต่ก็เป็นส่วนน้อย และสามารถปรึกษากุมารแพทย์ของท่านได้ ถ้าคุณคิดว่าลูกอาจจะมีปัญหาจริงๆในเรื่องการพูดและการใช้ภาษา การให้ early intervention ในเด็กที่พบว่ามีปัญหาเหล่านี้ตั้งแต่ระยะแรก จะช่วยแก้ไขจุดอ่อนของเด็กและช่วยให้เขาได้มีการพัฒนาได้ตามศักยภาพของเขา จะดีกว่าการมาแก้ไขทีหลังเมื่อเด็กอายุมากแล้ว ซึ่งบางรายก็จะมีปัญหาทางด้านพฤติกรรมอื่นๆ ตามมาได้

อ่านต่อ “บทความดี ๆ น่าสนใจ” คลิก!


ขอบคุณข้อมูลจาก : หนังสือวิธีฝึกเด็กให้ฉลาดและเก่ง ตั้งแต่แรกเกิดถึง 3 ขวบ ด้วยตัวเอง