พัฒนาการทารก 2 เดือน ไม่ใช่เรื่องยาก ถ้าคุณพ่อคุณแม่รู้จริง รู้จังเรื่อง “เล่น” กับลูก!
วันเวลาผ่านไปไวเหมือนโกหก เผลอแพล็บเดียวมาถึงลูกน้อย 2 เดือนแล้วหรือนี่?! มาถึงวัยนี้ ลูกของคุณแม่เริ่มมีพัฒนาการที่เด่นชัดและแตกต่างจากแรกเกิดมากขึ้น จะมีอะไรบ้าง เราจะไปไขคำตอบนั้น พร้อม ๆ กันค่ะ พร้อมกับเสริมความรู้ของกิจกรรมด้าน พัฒนาการทารก 2 เดือน
ดีใจไหมคะ ตอนนี้ลูกเริ่มจำคุณแม่ได้แล้วน๊า … แถมยังเริ่มเห็นหน้าคุณแม่ได้ชัดมากขึ้นอีกด้วย ว่าแต่เอ … ยังมีพัฒนาการด้านไหนอีกบ้างนะ ที่ลุกทำได้มากขึ้นในเดือนนี้ อยากรู้ไปหาคำตอบพร้อม ๆ กันเลยค่ะ
พัฒนาการทารก 2 เดือน มีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง?
อย่างที่ได้เกริ่นไปในตอนต้นถึง พัฒนาการทารก 2 เดือน ว่า เริ่มมีความเปลี่ยนแปลงจนคุณแม่สังเกตเห็นบ้างแล้ว จะมีอะไรบางนั้น ไปดูพร้อม ๆ กันเลยค่ะ
- จากที่ลูกต้องปรับตัวภายหลังจากที่ลืมตาดูโลกแล้วนั้น มาถึงตอนนี้ลูกเริ่มมีความคุ้นเคยกับโลกใบใหม่เพิ่มมากขึ้นแล้วละค่ะ ไม่ว่าจะเป็น การจดจำกลิ่นกายและน้ำเสียงของคุณแม่
- สามารถมองเห็นหน้าตาของคุณแม่ได้ชัดเจน และมองเห็นภาพที่อยู่ไกลได้มากขึ้นในระยะประมาณ 8 – 9 นิ้ว
- คุณแม่และคนรอบข้างจะสังเกตได้ทันทีเลยว่า ลูกจะไม่ชอบให้คนอื่นที่ไม่ใช่คุณแม่อุ้ม และเวลาที่พวกเขาไม่พอใจ และจะเห็นได้ว่า ลูกเริ่มชอบที่จะอมนิ้วบ้างด้วยแล้ว โดยเฉพาะนิ้วหัวแม่มือ
- ถ้าที่ผ่านมาเดือนแรกลูกยังไม่มีอาการร้องโคลิก ละก็ จะเห็นได้ชัดเลยละค่ะว่า ลูกเริ่มที่จะมีอาการบ้างแล้ว และจะต้องติดต่อกันนานในช่วงเวลาหนึ่งเป็นประจำทุกวัน โดยที่คุณแม่เองก็หาสาเหตุไม่เจอ
- ร่างกายของลูกเริ่มแข็งแรงและสามารถยืดตรงได้มากขึ้น หากคุณแม่จับลูกน้อยนอนคว่ำ ไม่นานลูกก็จะสามารถยกศีรษะขึ้นเองได้จากเบาะ ได้ช่วงเวลาสั้น ๆ
- เริ่มสนใจกับอวัยวะของตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “มือ” ลูกจะไม่สนใจอะไรเท่าไร เพราะวัน ๆ จะเล่นแต่มือของตัวเอง เดี๋ยวเอาเข้าปากบ้างละ จับมือชูโยกไปมาบ้างละ ประหนึ่งว่าได้เจอขุมทรัพย์ระดับโลก จนยากที่จะถอนตัวได้
- ตอนนี้ลูกน้อยของคุณแม่เริ่มแสดงอารมณ์เป็นแล้วนะคะ และแน่นอนว่า ตอนนี้คุณแม่เริ่มจะจับโทนเสียงร้องของลูกได้แล้วด้วยค่ะ ยกตัวอย่างเช่น เวลาลูกเจ็บ ลูกจะร้องเสียงแหลม เวลาลูกหิว ก็จะร้องไห้เสียงดัง และแน่นอน เวลาลูกแกล้งร้อง … ประมาณว่าร้องนะ แต่น้ำตาไม่มี พอแม่หันมาเท่านั้นแหละ เงียบและยิ้มแก้มปริ ราวกับสะใจว่า เย้! หลอกแม่ได้สะใจจัง
- เริ่มหัดพูดแล้วนะคะ … พัฒนาการทารก 2 เดือน นั้น เริ่มที่จะส่งเสียงอ้อแอ้ ตามเวลาที่คุณแม่พูดแล้วละค่ะ พยายามพูดคุยกับลูกไปเรื่อย ๆ นะคะ จะได้เป็นการฝึกพัฒนาการทางด้านการพูดให้กับลูกไปในตัวด้วย
14 กิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการลูก
อยากให้ลูกมีพัฒนการที่ดี ต้องเริ่มต้นด้วยกิจกรรมที่ถูกต้อง และเหมาะสมตามวัย สำหรับเด็กวัยสองเดือนนั้น กิจกรรมที่เหมาะสมได้แก่
- ร้องเพลงให้ลูกฟังด้วยเพลงง่าย ๆ และสนุก ยกตัวอย่างเช่น มดตัวน้อยตัวนิด เพลงเอบีซี หรือจะฮัมเพลงก็ได้นะคะ แล้วคอยดูสิคะว่า ลูกจะเริ่มพยายามออกเสียงตามเราไปด้วย เรียกได้ว่านอกจากจะดีต่อภาวะทางอารมณ์ของลูกแล้ว ยังช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านการฟังและการพูดไปได้ด้วยในตัว
- พัฒนาการด้านการเรียนรู้ด้วยของเล่นมีเสียง ยกตัวอย่างเช่น ของถือเล่นของเด็กที่มีเสียงกรุ้งกริ้ง ให้คุณแม่ถือสิ่งนั้นเขย่า ๆ ให้ห่างจากสายตาของลูกในระดับหนึ่ง หรือให้ลูกได้ถือและเขย่าไปได้เองด้วยก็ได้ค่ะ อย่าลืมเลือกชิ้นที่มีสีสันสดใสด้วยนะคะ
- เต้นรำ ลองเปิดเพลงสนุก ๆ แล้วเต้นให้ลูกดู หรืออุ้มลูกเต้นไปด้วยก็สนุกไปอีกแบบนะคะ แต่เวลาอุ้มต้องอุ้มลูกแนบชิดตัวและอกด้วยนะคะ อย่าลืมว่าลูกยังเล็ก ศีรษะยังคงเป็นสิ่งที่ต้องระวังอยู่ และนอกจากความสนุกจะได้รับก็คือ สัมพันธ์ที่ดีระหว่างคุณแม่กับคุณลูกนั่นเอง
- นวด การนวดทารกนั้น นอกจากจะช่วยให้ทารกรู้สึกผ่อนคลายแล้ว ยังทำให้ทารกมีสุขภาพที่ดีได้ด้วยค่ะ
- แจกรอยยิ้ม การที่คุณแม่จับมือลูกน้อย พร้อมกับยิ้มและพูดคุยไปกับลูกนั้น จะช่วยพัฒนาด้านการเข้าสังคมให้ลูกได้ทางหนึ่ง
- บอกรักลูก ลูกทราบอยู่แล้วละค่ะว่า คุณแม่รักเขา และพวกเขาก็รักคุณแม่มากด้วยเช่นกัน และเวลาที่พูด อย่าลืมกอดหรือสัมผัสลูกไปด้วยนะคะ ถึงแม้ลูกจะยังไม่เข้าใจเป็นคำพูด แต่อย่างน้อยไออุ่นและการกระทำของคุณแม่ก็ทำให้ลูกเข้าใจได้
- อ่านนิทานก่อนนอนให้ลูกฟัง การเลือกนิทานภาพที่ดูแแล้วเข้าใจง่าย และนำมาเล่าให้ลูกฟังเป็นประจำนั้น จะช่วยเป็นการฝึกและปลูกฝังให้ลูกมีนิสัยรักการอ่าน อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาด้านภาษาและการฟังให้กับลูกได้
- หาของเล่นที่มีสีสัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโมบายด์ห้อยไว้บนเพดาน หรือใกล้กับบริเวณที่ลูกนอนเล่นและมองเห็น จะช่วยเสริมพัฒนาการด้านสายตาให้ลูกได้
- ให้ลูกนอนคว่ำบ้าง การปล่อยให้ลูกนอนคว่ำ ในสายตาของคุณแม่บ้างเป็นจะช่วยฝึกกล้ามเนื้อให้กับลูกได้ค่ะ แต่บริเวณที่ลูกนอนเล่นนั้น จะต้องมั่นใจว่าปลอดภัย ผ้าปูเตียงตึง ไม่มีหมอนในจำนวนที่มากเกินไป และที่สำคัญอย่าปล่อยให้ลูกนอนท่านี้นานเกินไปนะคะ ลูกอาจจะเมื่อยและแสดงอาการหงุดหงิดได้
- พาเดินเล่น เคยพาลูกเดินเล่นแบบไหนตอนอายุเดือนนึง ก็ให้ทำตามตารางเดิม จัดทุกอย่างให้เป็นเหมือนกับชีวิตประจำวัน ลูกจะได้ทำความรู้จัก และเข้าใจกับธรรมชาติรอบตัวได้มากขึ้น
- ให้ลูกจับนิ้วมือ การให้ลูกจับนิ้วมือของคุณแม่เล่น จะช่วยเสริมพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อ และประสาทสัมผัส แต่ต้องล้างมือให้สะอาดก่อนนะคะ ที่สำคัญระวังอย่าให้ลูกเอานิ้วมือเราเข้าปากโดยเด็ดขาด
- พูดคุยกับลูก จะเป็นการช่วยกระตุ้นพัฒนาการทางด้านการพูด แม้ว่าลูกจะยังพูดไม่รู้เรื่อง แต่การแค่ได้พยายามออกเสียงตาม ก็ถือเป็นพัฒนาการที่ดีด้วย
- พาให้ลูกได้เจอญาติพี่น้องบ้าง การที่คุณแม่พาลูกไปพบะผู้คนหรือญาติพี่น้องบ้างนั้น จะช่วยสร้างความคุ้นเคยให้กับลูก ไม่ตื่นตระหนก หรือตกใจเวลาพบเห็นคนแปลกหน้า
- ปล่อยให้ลูกได้มีโอกาสสัมผัส หรือจับต้องของเล่น หรือนอนเล่นระหว่างวันบนพื้นผิวที่มีความต่างกันบ้าง เพื่อเป็นการกระตุ้นพัฒนาการด้านประสาทสัมผัส
เชื่อว่ากิจกรรมเหล่านี้ เป็นกิจกรรมที่คุณแม่ทำกันเป็นประจำอยู่แล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีมาก ๆ เลยละค่ะ แต่ถ้าอันไหนยังไม่ได้ทำ ลองดูนะคะ … เท่านี้ พัฒนาการทารก 2 เดือน ของลูกก็เติบโตได้อย่างถูกต้องและสมวัยแล้วละค่ะ
ขอบคุณที่มา: Momjunction
อ่านต่อเรื่องอื่นที่น่าสนใจ:
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่