สอนลูกให้เป็นคนดี ง่ายๆ เพียงพ่อแม่เตรียมพร้อมลูกน้อย เติบโตอย่างมีคุณภาพ เข้มแข็งและมีความสุขด้วยหลักธรรมะ
ด้วยสภาพสังคมอันวุ่นวายและซับซ้อนในปัจจุบันคงทำให้คุณพ่อคุณแม่หลายครอบครัวกลับมาตั้งคำถามว่า ‘เราจะเลี้ยงลูกให้เติบโตขึ้นไปอย่างเข้มแข็งและมีความสุขได้อย่างไร?’ เพราะการเลี้ยงลูกในยุคนี้ ดูเหมือนจะใช้ความรักเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงอย่างเดียวคงไม่พอ ต้องมี ‘ธรรมะ’ เป็นหลักปฏิบัติ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทางใจให้ลูกพร้อมรับมือกับทุกความเปลี่ยนแปลงของชีวิตและปรับตัวเข้ากับสังคมรอบด้าน
Amarin Baby&Kids จึงขอรวบรวม 10 ทักษะเด็กดีที่พ่อแม่ควรปลูกฝังให้ลูก เพื่อให้ลูกน้อยเติบโตขึ้นไปเป็นคนดีที่ถึงพร้อมด้วยปัญญาและมีความสุขอย่างแท้จริง
10 ทักษะ สอนลูกให้เป็นคนดี มีศีลธรรม
สอนลูกให้เป็นคนดี ทักษะที่ 1 ทางสายกลาง จัดสมดุล
“ปัจจุบันหลายครอบครัวประสบปัญหา ‘การทำหน้าที่อย่างไม่สมดุล’ มีทั้งที่เกิดจากความขาดบกพร่อง ละเลย, ให้มากเกิน หรือเข้มงวดเกินไป ซึ่งส่งผลกระทบต่อเด็กโดยตรง”
รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อํานวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อพัฒนาเด็กและครอบครัวมหาวิทยาลัยมหิดลให้ความเห็น พร้อมเสริมว่า ความต้องการพื้นฐานของมนุษย์นั้นมีอยู่ 3 ข้อ ได้แก่ ความต้องการทางกายภาพ คือปัจจัยสี่และความปลอดภัย , ความต้องการทางจิตใจ คือการได้ความรัก การเอาใจใส่ การสนับสนุน, และความต้องการทางสังคม คือการมีปฏิสัมพันธ์ภายในบ้านและสังคมภายนอก
ความต้องการเหล่านี้หากได้รับการตอบสนองอย่างพอดี เด็กก็จะเป็นสุข แต่หากได้รับอย่างไม่สมดุล บางอย่างมากเกินไป หรือบางอย่างน้อยเกินไป ก็ย่อมทำให้เกิดปัญหา ยกตัวอย่างเช่น หากพ่อแม่มุ่งให้แต่ความต้องการทางกายภาพ แต่ไม่มีเวลาให้ความรักความเอาใจใส่ ก็อาจทำให้ลูกกลายเป็นคนที่สนใจในวัตถุ ขาดพร่องเรื่องของความอบอุ่น แต่ถ้าทุ่มเทความรักมากแบบเข้มข้นจนกลายเป็นตามใจและปกป้องลูกมากเกินไป เด็กก็จะอ่อนแอ ไม่สามารถอดทนต่อความยากลำบากใดๆ ได้ หรืออีกกรณีหนึ่ง มีการดูแลอย่างเข้มงวดกวดขัน ทุกอย่างต้องเป็นตามกฎระเบียบ ไม่มีความยืดหยุ่น ลูกก็จะกลายเป็นคนเคร่งเครียด กดดัน และขาดอิสระในการตัดสินใจจนกลายเป็นคนไม่กล้าคิดนอกกรอบ
ทางสายกลาง จึงเป็นทางออกที่เหมาะสมสำหรับการเลี้ยงลูกในทุกยุคสมัย และเป็นคุณธรรมที่ควรปลูกผังให้ลูกติดตัวไปจนเติบโต
นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์ โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ แนะนำว่า การเลี้ยงลูกแบบสายกลางจะต้องอิงความเป็นธรรมชาติ ผสมผสานหลายวิธี มากบ้างน้อยบ้างตามสถานการณ์ บางครั้งต้องเข้มงวดและคาดหวัง บางครั้งต้องปล่อย บางครั้งต้องปกป้องภยันตรายให้ และบางครั้งก็ต้องทําไม่รู้ไม่เห็นบ้าง เพื่อให้ลูกเติบโตได้ด้วยตนเอง
รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ให้คำแนะนำเกี่ยวกับประเด็นนี้ว่า พ่อแม่ควรประพฤติตนเป็นตัวอย่าง ใช้สติพิจารณาว่าในเวลานี้เด็กควรได้รับความรักและการอบรมแบบใดจึงเหมาะสม สร้างวินัยให้ลูกโดยตั้งอยู่บนฐานเมตตาธรรม หรือที่รู้จักกันดีว่า วินัยเชิงบวก ไม่ต้องเลี้ยงลูกอวดใคร ไม่ต้องเลี้ยงให้สมบูรณ์แบบ ขาดตกบกพร่องไม่ได้ หรือขาดจนลูกโหยหา
♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠
สอนลูกให้เป็นคนดี ทักษะที่ 2 รู้จักตนเอง
ความตระหนักในตน (Self-Awareness) นั้นถือเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของความฉลาดทางอารมณ์ของมนุษย์ หมายถึงความสามารถในการรับรู้อารมณ์ ความรู้สึกของตนเอง มีความเชื่อมั่นในตนเอง และตัดสินใจได้ตามวัย พ่อแม่ควรฝึกฝนให้ลูกรู้จักตนเอง เห็นคุณค่าและเชื่อมั่นในตัวเอง หมั่นสังเกตว่าลูกมีความสนใจด้านไหนหรือทำสิ่งใดได้ดีและสนับสนุนให้ลูกทำสิ่งที่ตนถนัด โดยไม่คาดหวังหรือผลักดันมากจนเกินไป
กำลังใจและคำพูดเชิงบวก เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างภาคภูมิใจในตัวเองให้กับลูก พ่อแม่ต้องหลีกเลี่ยงคำพูดซ้ำเติม รวมถึงคำพูดและความคิดเห็นด้านลบ ชื่นชมความพยายามของลูกมากกว่าผลสำเร็จของสิ่งที่ลูกทำ ขณะเดียวกันก็ต้องปล่อยให้ลูกพบกับความผิดหวังบ้าง เพื่อให้ลูกรู้ข้อด้อยของตนเองและปรับปรุงพัฒนา
♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠
สอนลูกให้เป็นคนดี ทักษะที่ 3 เข้าใจโลก เข้าใจความจริงของชีวิต
ทุกสิ่งในโลกล้วนเกิดมาจากธรรมชาติและสุดท้ายก็ต้องกลับคืนสู่ธรรมชาติ ไม่มีสิ่งใดยั่งยืน เป็นความเที่ยงแท้ของชีวิต มนุษย์ทุกคนมีเกิดแล้วก็ต้องมีดับ ท้ายสุดไม่สามารถนำสิ่งใดติดตัวไปได้ พ่อแม่อาจคิดว่าเรื่องนี้เป็นธรรมะขั้นสูง แต่ความจริงแล้วเป็นสิ่งที่เด็กสามารถพบเจอได้ตั้งแต่อายุยังน้อย ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องปลูกผังให้ลูกพร้อมรับกับความจริงของชีวิตและเผชิญหน้าความเปลี่ยนแปลงอย่างเข้มแข็ง
ทั้งนี้ศาสนาพุทธมีคำสอนเรื่องของ อริยสัจ 4 หรือ ความจริงแห่งชีวิต 4 ประการ ได้แก่
- ทุกข์ คือ ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ ความไม่สมหวังทั้งปวง รวมไปถึงความสูญเสีย เมื่อลูกรู้สึกโกรธ ผิดหวัง เศร้าเสียใจ พ่อแม่ไม่ควรลงโทษ หรือใช้อารมณ์รุนแรงตอบโต้ แต่ให้ลูกได้มีเวลาพิจารณาอารมณ์เหล่านั้น เช่น การลงโทษด้วยการ time out ให้ลูกได้สงบสติอารมณ์ เมื่ออารมณ์เย็นลงแล้ว จึงค่อยพูดคุยกับลูกว่า อารมณ์แง่ลบที่ลูกแสดงออกนั้น เกิดจากความรู้สึกอย่างไร
- สมุทัย คือ เหตุแห่งทุกข์ พ่อแม่ควรสอนให้ลูกรู้ว่า เมื่อมีความทุกข์แล้ว ความทุกข์นั้นเกิดจากอะไร ให้ลูกลองพิจารณาด้วยเหตุผล เช่น หากลูกผิดหวังเพราะทำคะแนนสอบได้ไม่ดี ควรมาช่วยกันแก้ไขว่าที่ทำข้อสอบไม่ได้นั้นเกิดจากอะไร
- นิโรธ คือ ความดับทุกข์ เมื่อรู้ต้นเหตุของความทุกข์แล้วก็ต้องหาทางกำจัดเสีย ทุกข์ก็จะไม่เกิดขึ้นอีกหรือเกิดก็น้อยลง โดยการทำความเข้าใจ หากเป็นทุกข์ที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลง เช่น การสูญเสียสิ่งที่รักที่ผูกพัน ก็ต้องทำใจและยอมรับความจริงของชีวิต
- มรรค คือ ทางดับทุกข์ หนทางนำไปสู่ความดับทุกข์ คือการใช้ชีวิตอย่างมีสติ เพื่อให้เกิดปัญญา ที่จะชี้นำไปสู่หนทางของการพ้นทุกข์
อ่านต่อ >> “ทักษะสอนลูกให้เป็นคนดี มีศีลธรรม” คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
สอนลูกให้เป็นคนดี ทักษะที่ 4 ความซื่อสัตย์ คุณธรรมพื้นฐานของการเป็นคนดี
ความซื่อสัตย์เป็นคุณธรรมที่แสดงถึงความจริงใจ ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ความตรงไปตรงมา ไม่โกหก ไม่คดโกง ไม่ลักขโมย ซึ่งเป็นคุณธรรมพื้นฐานของการเป็นผู้ประพฤติดีประพฤติชอบ ทำให้ลูกเป็นคนที่น่าเชื่อถือและได้รับความเคารพ
วิธีการที่จะสอนเรื่องความซื่อสัตย์ให้ได้ผล พ่อแม่ต้องเป็นแบบอย่าง แสดงความซื่อสัตย์ให้ลูกเห็น ทั้งในเรื่องของคำพูด คือไม่พูดจาโกหก เมื่อสัญญาหรือรับปากว่าจะทำสิ่งใดก็ทำตามนั้น ไม่ประพฤติผิดในการคดโกงยักยอกทรัพย์สินของผู้อื่น หรืออยากได้ของผู้อื่นมาเป็นของตน อีกทั้งพ่อแม่ควรมีความรักที่ซื่อสัตย์ต่อกันและกัน
ความซื่อสัตย์มีจุดเริ่มต้นจากจิตใจที่เข้มแข็ง เด็กส่วนใหญ่มักเริ่มพูดโกหกเพราะกลัวถูกลงโทษ หรือกลัวโดนดูถูก ดังนั้นพ่อแม่ควรสอนให้ลูกรู้ว่า เมื่อทำผิดต้องยอมรับ การลงโทษจะต้องลงโทษอย่างสมเหตุสมผล ไม่ใช้อารมณ์ และควรหลีกเลี่ยงความรุนแรงเพื่อไม่ให้ลูกกลัวที่จะถูกลงโทษ ที่สำคัญต้องแสดงให้ลูกรู้ว่า แม้ลูกจะทำผิด แต่พ่อแม่ก็ยังรักและไม่ทอดทิ้ง
ส่วนการขโมยนั้น หากปรากฏในเด็กเล็กมักจะเกิดขึ้นเพราะเด็กยังไม่เข้าใจเรื่องความเป็นเจ้าของ และไม่รู้ว่าการขโมย (การเอาของของผู้อื่นมาเป็นของตนโดยไม่ได้รับอนุญาต) นั้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ หากไม่ได้รับการสั่งสอน เด็กก็จะเคยชิน และทำไปเรื่อยๆ พ่อแม่จึงต้องอบรมสั่งสอนและปลูกฝังในเรื่องนี้ตั้งแต่ยังเล็ก ให้ลูกได้เรียนรู้เรื่องการเป็นเจ้าของ และรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา หากนำของผู้อื่นมาจะทำให้เจ้าของเสียใจและรู้สึกไม่ดี
♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠
สอนลูกให้เป็นคนดี ทักษะที่ 5 พอเพียงก็เพียงพอ
ปัจจุบันท่ามกลางสังคมที่มีการแข่งขันและกระแสวัตถุนิยมอันเชี่ยวกราก หลักความพอเพียงอันเป็นพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ถือเป็นหลักปฏิบัติหนึ่งที่ทำให้ครอบครัวสามารถยืนหยัดอยู่อย่างมั่นคง รวมถึงช่วยกล่อมเกลาให้ลูกเติบโตขึ้นไปโดยไม่ไหลตามกระแสวัตถุ
การสอนลูกให้พอเพียงนั้นไม่ยาก เริ่มต้นจากพ่อแม่ต้องปฏิบัติตนเป็นตัวอย่าง ดูแลปัจจัยสี่อย่างพอดีตามฐานะ ใช้จ่ายโดยไม่เกินความสามารถของตนและไม่สร้างนิสัยฟุ้งเฟ้อให้เด็กด้วยการตามใจ หรือทุ่มเทให้ทุกอย่างที่ลูกต้องการ สอนให้ลูกรู้จักคุณค่าของเงิน เมื่อลูกโตขึ้น ควรหัดให้เขาดูแลค่าใช้จ่ายส่วนตัวของตัวเอง เพื่อให้ลูกฝึกฝนการใช้จ่ายเงินอย่างพอเพียงกับรายได้ที่ได้รับและการเก็บออม เพื่อสะสมทุนไว้สำหรับการใช้จ่ายในอนาคต
นอกจากนี้ควรสอนให้ลูกใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ เช่น ช่วยเหลืองานบ้าน เพื่อสร้างนิสัยให้มีความรับผิดชอบ เห็นคุณค่าของการทำงาน เด็กจะได้รู้ว่าการที่จะทำอย่างหนึ่งอย่างใดให้สำเร็จต้องลงมือทำด้วยตนเอง ไม่เช่นนั้นเขาจะไม่สามารถสร้างสรรค์สิ่งใดๆ ได้ และจะต้องพึ่งพาคนอื่นอยู่เรื่อยไป
♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠
สอนลูกให้เป็นคนดี ทักษะที่ 6 ขยันหมั่นเพียรอย่างสร้างสรรค์
ความขยันหมั่นเพียรนั้นคือเครื่องมือสำคัญในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้ประสบความสำเร็จ แต่เพียงแค่ความมุมานะนั้นยังไม่พอ จะต้องรู้จัก ‘ขยัน’ ให้ถูกทางด้วย ในทางพระพุทธศาสนามีหลักธรรมข้อหนึ่ง นั่นคือ อิทธิบาท 4 เป็นหลักธรรม 4 ข้อเพื่อความสำเร็จในชีวิต หากเด็กๆ ยึดหลักธรรมนี้ก็จะช่วยให้มีแนวทางในการเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างสร้างสรรค์
หลักอิทธิบาท 4 ประกอบด้วย
- ฉันทะ คือ ความพอใจ = ก่อนจะเริ่มทำสิ่งใดจะต้องมีความรู้สึกชอบ, พอใจ และมีความสุขที่ได้ทำสิ่งนั้นๆ เสียก่อน จะทำให้สามารถอดทนต่อความยากลำบากในการเรียนรู้และการฝึกฝนได้มากกว่าผู้ที่ฝืนใจตั้งแต่เริ่มต้น ในชีวิตคนล้วนมีทั้งสิ่งที่ชอบและสิ่งที่ไม่ชอบ หลายครั้งที่ลูกอาจต้องพยายามทำสิ่งที่ไม่ชอบ เช่น ในวัยเด็กเล็ก ก็คือ การกินอาหารที่ไม่ชอบ หรือการทำการบ้านในวัยเรียน ฯลฯ สิ่งที่พ่อแม่จะช่วยสร้างฉันทะให้ลูกได้ ก็คือ กำลังใจและคำชม รวมถึงชี้ให้ลูกเห็นข้อดีของการทำสิ่งที่ไม่ชอบ ที่สำคัญคือต้องหลีกเลี่ยงการบังคับฝืนใจลูก เพราะจะยิ่งทำให้เด็กมีความรู้สึกแง่ลบต่อสิ่งนั้นๆ
- วิริยะ คือ ความพากเพียร = ความอุตสาหะและมานะบากบั่น ไม่ย่อท้อแม้เมื่อพบกับอุปสรรค มองปัญหาและอุปสรรคเป็นความท้าทาย ไม่ย่อท้อง่ายๆ ข้อนี้พ่อแม่มีส่วนช่วยได้ด้วยการสนับสนุนและให้กำลังใจลูก คอยรับฟังเมื่อลูกมีปัญหา แม้บางครั้งพ่อแม่จะไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือได้ แต่อย่างน้อยลูกก็จะรู้ว่ามีผู้ที่พร้อมจะรับฟังและให้กำลังใจอยู่
อย่างไรก็ตาม การมุ่งมั่นมากเกินไปจนไม่สนใจสิ่งอื่น ก็อาจทำให้เกิดความเหน็ดเหนื่อยฟุ้งซ่าน และทำให้ชีวิตขาดสมดุลได้ พ่อแม่จึงควรหมั่นสังเกตลูก ไม่ให้จดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนกระทั่งไม่สนใจสิ่งอื่น เช่น หากลูกเป็นเด็กขยันเรียนก็เป็นเรื่องดี แต่ก็ไม่ควรให้เด็กนั่งติดโต๊ะทั้งวัน ต้องชักชวนให้ลูกทำกิจกรรมอื่น เช่น ออกกำลังกาย หรือพักผ่อนหย่อนใจบ้าง
- จิตตะ คือ ความเอาใจใส่ = การมีสมาธิจดจ่ออยู่กับสิ่งนั้น ไม่ปล่อยปละละเลยในงานที่ทำ ไม่ล้มเลิกความตั้งใจกลางคัน พ่อแม่ช่วยได้ด้วยการใส่ใจลูก คอยหมั่นสอบถามและกระตุ้นให้ลูกมีความมุ่งมั่นอย่างสร้างสรรค์
- วิมังสา คือ หมั่นใช้ปัญญาใคร่ครวญ = ตรวจหาเหตุผลและตรวจสอบสิ่งที่ทำ รู้จักวางแผนและปรับปรุงแก้ไข พัฒนาตนเองให้ดีขึ้น ให้ก้าวหน้าอยู่เสมอ การทำงานทุกอย่างต้องมีการวางแผน ใช้ปัญหา และเรียนรู้ หรือก็คือ การฝึกคิดอย่างเป็นระบบ รู้จักแยกแยะข้อดีข้อเสีย ซึ่งพ่อแม่สามารถสอนลูกได้ตั้งแต่เล็ก ด้วยการชี้ให้เขาเห็นข้อดีข้อเสียของสิ่งต่างๆ เมื่อลูกประสบปัญหาก็ไม่ลงไปแก้ไขให้ทันที แต่ลองชี้ให้ลูกเห็นและให้ลูกลองลงมือทำด้วยตนเองโดยมีพ่อแม่เป็นผู้ช่วย
♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠
สอนลูกให้เป็นคนดี ทักษะที่ 7 อยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมอย่างสันติสุข
การปรับเข้ากับสังคมภายนอกถือเป็นทักษะที่พ่อแม่ต้องปูพื้นฐานให้ลูกตั้งแต่วัยเด็กเล็ก เพราะลูกต้องเติบโตขึ้นและเข้าสังคมกับคนอื่นซึ่งไม่ได้มอบความรักให้เด็กอย่างไม่มีเงื่อนไขเหมือนคนในครอบครัว ลูกจึงควรเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างสันติ
ข้อนี้หลักพรหมวิหาร 4 ซึ่งเป็นหลักธรรมครองใจ 4 ประการ ที่บุคคลในสังคมพึงประพฤติปฏิบัติ เพื่อดำเนินสู่ทางอันประเสริฐทั้งต่อตนเองและผู้อื่น เป็นหลักธรรมที่ควรมุ่งสอนให้แก่ลูก หลักพรหมวิหาร 4 ประกอบด้วย
- เมตตา คือ ความประสงค์ที่จะให้ผู้อื่นมีความสุข = ความปรารถนาที่จะเห็นผู้อื่นเป็นสุขโดยไม่หวังผลประโยชน์ตอบแทน การที่ลูกมีเมตตาจะทำให้ไม่กลายเป็นคนเบียดเบียน รังแก หรือเอารัดเอาเปรียบผู้อื่น รวมถึงเป็นมิตรกับคนรอบข้าง ซึ่งพ่อแม่สามารถปลูกฝังความเมตตาให้ลูกได้ด้วยการสอนให้ลูกรู้จักการแบ่งปันในขอบเขตที่เหมาะสมและสมควรกับฐานะของตน
- กรุณา คือ ความประสงค์ที่จะช่วยให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ = ความปรารถนาที่จะช่วยให้ผู้อื่นพ้นจากความทุกข์ ทั้งทางกายและจิตใจ ทำให้เป็นคนมีน้ำใจ รวมถึงทำประโยชน์ต่อส่วนรวม พ่อแม่สามารถปลูกฝังได้ด้วยการทำตนให้เป็นตัวอย่างที่ดี ช่วยเหลือผู้อื่นอย่างเหมาะสม และชวนลูกไปทำสาธารณะประโยชน์
- มุทิตา คือ ความยินดีในความสุขที่ผู้อื่นได้รับ = ยินดีและยกย่องให้ความดี/ความสุขของผู้อื่น ทำให้จิตใจปลอดจากความอิจฉาริษยา ซึ่งจะบั่นทอนความดีของตนเอง พ่อแม่ควรประพฤติตนให้เป็นตัวอย่าง งดเว้นการนินทาหรือวิพากษ์วิจารณ์ผู้อื่นในทางเสียหาย รวมถึงยินดีต่อความสุขของผู้อื่นและชี้ให้ลูกเห็นว่า ผลของความสุขนั้นเกิดจากการกระทำที่สร้างสรรค์
- อุเบกขา คือ ความวางใจเป็นกลางต่อความสุขและความทุกข์ที่เกิดแก่ตนและผู้อื่น = ความสงบใจ ไม่อิจฉาริษยา เคารพความคิดและการแสดงออก ยอมรับในผลแห่งการกระทำของทั้งตนเองและผู้อื่น ไม่ซ้ำเติมผู้ที่ตกอับ พร้อมกับมีน้ำใจให้ความช่วยเหลือตามสมควร
อ่านต่อ >> “ทักษะสอนลูกให้เป็นคนดี มีศีลธรรม” คลิกหน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
สอนลูกให้เป็นคนดี ทักษะที่ 8 ผูกใจคนด้วยความดี
นอกจากจะต้องมีทักษะการอยู่รวมกับผู้อื่นแล้ว หากเด็กได้ฝึกฝนทักษะการผูกใจคนอย่างสร้างสรรค์ด้วยความดี จะยิ่งเป็นเครื่องมือส่งเสริมความสุขให้ชีวิตประจำวันของลูก ทำให้ลูกเป็นเด็กน่ารักและน่าคบหา มีความเอื้อเฟื้อเพื่อแผ่ ชอบช่วยเหลือและมีน้ำใจ ซึ่งพ่อแม่ควรปลูกฝังให้ลูกตั้งแต่เล็ก เมื่อลูกเข้าวัยอนุบาลก็พร้อมที่จะเข้าสังคมและผูกมิตรกับเพื่อนใหม่
ธรรมะข้อนี้ในศาสนาพุทธก็คือ สังคหวัตถุ 4 หรือหลักธรรมครองใจคน 4 ประการ ประกอบด้วย
- ทาน คือ การให้ การเสียสละ เอื้อเฟื้อแบ่งปัน ซึ่งจะช่วยปลูกฝังให้ลูกเติบโตขึ้นไปเป็นคนที่ไม่ยึดติดกับวัตถุ
- ปิยวาจา คือ การพูดจาไพเราะอ่อนหวาน ไม่พูดจาก้าวร้าว พูดความจริง พูดเรื่องเป็นประโยชน์เหมาะกับกาลเทศะ เป็นบันไดขึ้นแรกในการสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่น
- อัตถจริยา คือ การทำตนให้เป็นประโยชน์ ไม่เห็นแก่ตัว
- สมานัตตา คือ การปฏิบัติตนเป็นกันเอง เสมอต้นเสมอปลาย รู้จักวางตนอย่างเหมาะสม ช่วยให้เป็นคนจิตใจหนักแน่น ไม่โลเล เป็นที่ไว้วางใจของผู้อื่น
♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠
สอนลูกให้เป็นคนดี ทักษะที่ 9 สติ คือเกราะกำบังภัยที่ดีที่สุด
สติเป็นทักษะการควบคุมอารมณ์ (Managing Emotion) ที่สำคัญ หมายถึงความสามารถในการควบคุมความกลัว ความกังวล ความโกรธ ฯลฯ ของตนเองได้ และแสดงออกอย่างเหมาะสมกับสถานการณ์
ทพญ.จีรภา ประพาศพงษ์ เจ้าของเพจหมอภา/Jeerapa prapaspong ได้อธิบายถึงทักษะข้อนี้ว่า ทักษะการควบคุมตนเอง เป็นอุปนิสัยที่ควรฝึกฝนให้เด็กๆ เพราะเด็กที่มีทักษะการเป็นเจ้านายอารมณ์จะควบคุมตัวเองได้ดีในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมตนต่อแรงกระตุ้นของเทคโนโลยี (เช่น การเอาแต่ดูมือถือ หรือเล่นเกมทั้งวัน) ความอยากได้สิ่งของต่างๆ หรือการควบคุมอารมณ์เมื่อมีสิ่งภายนอกมากระทบ ไปจนถึงการรู้จักอดทนรอคอย
พ่อแม่ควรเป็นตัวอย่างในการใช้สติควบคุมตนเองให้ลูกเห็น ไม่ตอบโต้อารมณ์แง่ลบของลูกด้วยความเกรี้ยวกราด หากลูกกำลังโมโห ไม่ควรเติมเชื้อไฟด้วยการลงโทษด้วยวาจาหรือการใช้ความรุนแรง แต่ควรพูดคุยด้วยสติ หลังจากลูกอารมณ์เย็นลงแล้วจึงค่อยเข้าไปพูดคุยและรับฟังความรู้สึกของลูก แสดงให้ลูกเห็นว่า นี่คือความโกรธ และให้เขาหาสาเหตุว่าทำไมเขาถึงโกรธ บอกเล่าถึงเหตุผลถ้าสิ่งที่เขาทำไม่ถูกต้อง และให้วิธีทางในการตอบโต้ที่ดีกว่า ทำซ้ำไปเรื่อยๆ ลูกจะค่อยๆ ปรับอารมณ์ตัวเองให้ดีขึ้นได้
♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠♠
สอนลูกให้เป็นคนดี ทักษะที่ 10 สมาธิ+ปัญญา พาจิตใจผ่องใส
ทักษาสุดท้ายที่จำเป็นสำหรับชีวิตมนุษย์ก็คือ การมีสมาธิและปัญญา ซึ่งเป็นความรู้ความเข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง จิตใจเป็นอิสระ ไม่ตกอยู่ในอำนาจกิเลส พ้นทุกข์ พ้นปัญหา
การสอนให้เด็กเป็นคนมีปัญญา คือ การรู้ว่าควรทำอะไร ไม่ควรทำอะไร ควรพูดอะไร ไม่ควรพูดอะไร ควรคิดอะไร ไม่ควรคิดอะไร สอนเด็กให้รู้จักคิด พิจารณาทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิต เพราะแท้จริงแล้ว ชีวิตทั้งชีวิตคือการศึกษา ศึกษาและปฏิบัติในสิ่งที่ดีงาม
ปัญญาจะเกิดขึ้นสำหรับคนที่มีจิตสงบ ไม่วอกแวก วุ่นวาย ความสงบจะเกิดขึ้นกับคนที่มีศีล มีความระมัดระวังในการทำ ในการพูด มีความอดทน มีความพากเพียรพยายามในการทำความดี
เทคนิคการฝึกสมาธิและปัญญาที่ได้ผลชัดเจน คือ การสวดมนต์และนั่งสมาธิ เพราะจะช่วยให้มีสมาธิ ใจสงบ และยังเป็นการแผ่ส่วนบุญส่วนกุศลให้กับเพื่อนมนุษย์ หรือสรรพสัตว์ต่างๆ บนโลก เป็นกิจกรรมก่อนนอนที่ควรทำพร้อมกันทั้งครอบครัว เมื่อเรามีสมาธิ จิตใจเย็นลง จะทำให้เรานอนหลับสบาย ตื่นเช้ามาจะรู้สึกสดใส สมองโล่งปลอดโปร่ง เด็กๆ ก็จะไปเรียนหนังสือกันอย่างมีความสุข ส่วนพ่อ แม่ ผู้ใหญ่ก็พร้อมที่จะสู้ไปกับการทำงานได้อย่างราบรื่น
ธรรมะเปรียบเสมือนสะพานให้ผู้ใหญ่และเด็กได้เดินทางเข้าไปสู่ความดีงาม การมีธรรมะอยู่ในใจจะช่วยให้ทุกคนมีสติ ได้คิด ได้ไตร่ตรอง การที่จะลงมือทำ หรือก่อนจะพูด ซึ่งจะช่วยลดความผิดพลาด และความขัดแย้งในเรื่องต่างๆ ลงได้มาก หากพ่อแม่สอนให้ผ้าขาวผืนน้อยๆ ของครอบครัวได้รู้จักและสัมผัสกับธรรมะก็จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางจิตใจให้กับลูก ทั้งยังเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันทางใจ ให้ลูกเติบโตและก้าวสู่สังคม พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของโลกและใช้ชีวิตอย่างมีความสุข
อ่านต่อ “บทความดี ๆ น่าสนใจ” คลิก!
- 8 ข้อควรสอนหาก อยากให้ลูกเป็นคนดี โตอย่างมีคุณภาพ
- ลักษณะบุตร 3 ประเภท ในศาสนาพุทธ และวิธีเลี้ยงลูกให้เป็นคนดี
- 7 วิธีสอนลูกให้เป็นคนดีมีคุณค่า
- 37 แนวทาง เลี้ยงลูกให้ถูกธรรม!! ตามคำสอนพุทธ เพื่อให้ลูกเป็นคนดีและมีสุข
บทความโดยกองนิตยสาร Amarin Baby & Kids ฉบับธันวาคม 60- มกราคม 61 / 100 ทักษะสร้างลูกฉลาดดีมีสุข / เรียบเรียง : พิมพ์ภัทร / ภาพ : Shutterstock