วิธีสร้างวินัยเชิงบวก ที่ดีให้ลูก เป็นการที่คุณพ่อคุณแม่สามารถใช้เพื่อตอบสนองความต้องการพื้นฐานทางจิตใจของลูก และในขณะเดียวกันก็ใช้เป็นเครื่องมือในการสอนพฤติกรรมที่เหมาะสมด้วยเช่นกัน
แล้วพูดอย่างไรให้ลูกฟัง! ทำอย่างไรให้ลูกเชื่อ? …เป็นคำถามยอดฮิตของคุณพ่อคุณแม่ในทุกยุคทุกสมัย
ซึ่งสาเหตุหลักที่ลูกไม่ค่อยเชื่อฟัง มีอยู่ 2 สาเหตุ ได้แก่ พัฒนาการ และวิธีการสื่อสารของคุณพ่อคุณแม่ กล่าวคือ ยิ่งลูกโตขึ้น มีพัฒนาการมากขึ้น ความรู้สึกนึกคิด และความเป็นตัวของตัวเองก็จะมีเพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้นการแสดงความคิดเห็น และการแสดงความรู้สึกของลูก ที่แตกต่างไปจากความต้องการของคุณพ่อคุณแม่ จึงเป็นเรื่องธรรมดา
สิ่งสำคัญคือ เราจะมีวิธีการสื่อสารอย่างไร ที่จะไม่ไปกระตุ้นต่อมต่อต้าน ต่อมดื้อรั้น และต่อมก้าวร้าวของลูก ซึ่งหลายๆครั้งวิธีการสื่อสารของเรานี้เอง ที่เป็นตัวกระตุ้นให้เด็กไม่เชื่อฟัง
10 เทคนิคแสนง่าย วิธีสร้างวินัยเชิงบวก
โดยไม่ให้ลูกต่อต้าน!
เทคนิคการสร้างวินัยเชิงบวก จึงถูกพัฒนาขึ้นเพื่อเป็นวิธีการสื่อสารกับลูกอย่างมีประสิทธิภาพ ปราศจากความรุนแรง และการทำร้ายร่างกายและจิตใจของเด็ก เป็นเครื่องมือการสื่อสาร ที่คุณพ่อคุณแม่สามารถใช้ในการตอบสนองความต้องการพื้นฐานทางจิตใจของลูก และในขณะเดียวกันก็ใช้เป็นเครื่องมือในการการสอนพฤติกรรมที่เหมาะสมด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ เทคนิคการสร้างวินัยเชิงบวกยังเป็นเครื่องมือสำคัญ ที่ช่วยสร้างและรักษาสัมพันธภาพที่ดี ระหว่างคุณพ่อคุณแม่กับลูกอีกด้วย โดยเป้าหมายสูงสุดของการใช้เทคนิคการสร้างวินัยเชิงบวก คือ การสอนให้ลูกมีวินัยในตนเอง และเห็นอกเห็นใจผู้อื่น สามารถรับผิดชอบหน้าที่ตนเอง และอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างปกติสุข …เทคนิคการสร้างวินัยเชิงบวก 10 เทคนิค ที่คุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องมีติดตัวไว้ ได้แก่
1. เทคนิคการชม
คือการชมเชยลูกเมื่อลูกกำลังมีพฤติกรรมที่ถูกต้อง เหมาะสม โดยการชมที่มีประสิทธิภาพ จะเป็นการชมถึงพฤติกรรมเจาะจง และตามด้วยคุณลักษณะที่สอดคล้องกับพฤติกรรม
ตัวอย่างที่ 1 : แม่ภูมิใจมาก ที่หนูเล่นแล้วเก็บ หนูเป็นเด็กที่มีความรับผิดชอบมากเลย (คำชม) + (พฤติกรรมเจาะจง) + (คุณลักษณะ) ตัวอย่างที่ 2 : เก่งมาก ที่หนูพับขากางเกงขึ้นไม่ให้เปียกน้ำ หนูเป็นเด็กที่รู้จักแก้ไขปัญหา (คำชม) + (พฤติกรรมเจาะจง) + (คุณลักษณะ)
การชมโดยการบอกพฤติกรรมเจาะจง และคุณลักษณะ จะช่วยให้ลูกเห็นภาพเป็นรูปธรรมชัดเจนว่า พฤติกรรมใดที่คุณพ่อคุณแม่คาดหวังให้เขาทำ นอกจากนี้ ยังช่วยส่งเสริมพัฒนาการทางอารมณ์จิตใจ ให้ลูกมองตนเองในทางที่ดี และมีความสามารถอีกด้วย
2. เทคนิคการแสดงความเข้าใจ
คือ การบอกอารมณ์ ความรู้สึก และพฤติกรรมของลูกที่กำลังเกิดขึ้น โดยการบอกว่าคุณพ่อคุณแม่เข้าใจ ว่าลูกรู้สึกอย่างไร เพราะอะไร ลูกจึงแสดงพฤติกรรมนั้น
ตัวอย่างที่ 1 : แม่เข้าใจว่า หนูไม่พอใจ ที่แม่ไม่ซื้อของเล่นให้ หนูจึงร้องไห้โวยวาย (แสดงความเข้าใจ + ความรู้สึก + สาเหตุ + พฤติกรรมที่แสดง) ตัวอย่างที่ 2 : พ่อเข้าใจว่า หนูโกรธ ที่น้องมาแย่งของเล่นหนูไป หนูเลยตีน้อง (แสดงความเข้าใจ + ความรู้สึก + สาเหตุ + พฤติกรรมที่แสดง)
การแสดงความเข้าใจ จะช่วยให้ลูกเรียนรู้และเข้าใจอารมณ์ของตัวเอง ซึ่งเป็นพื้นฐานของความสามารถในการจัดการกับอารมณ์ ที่สำคัญเทคนิคการแสดงความเข้าใจนี้ มีเป้าหมายเพื่อปลอบให้อารมณ์ลูกลดลงสู่ระดับปกติได้เร็ว เพื่อที่ว่าหลังจากเขาอารมณ์ปกติแล้ว เราจึงสามารถสอนพฤติกรรมที่เหมาะสมได้
อ่านต่อ >> “เทคนิคแสนง่าย วิธีสร้างวินัยเชิงบวกโดยไม่ให้ลูกต่อต้าน!” คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
3. เทคนิคการรอให้พร้อม
คือการรอให้ลูกอารมณ์พร้อม ที่จะทำพฤติกรรมที่เหมาะสมด้วยตัวเอง โดยการบอกให้ลูกทำเมื่อพร้อม แทนการสั่ง การควบคุมให้ลูกทำเดี๋ยวนี้ หรือการลงโทษลูกด้วยการ Time-out
กรณีที่ 1 : ลูกเกเร ไม่ยอมสวัสดีผู้ใหญ่ ให้บอกลูกว่า พร้อมเมื่อไหร่ หนูสวัสดีคุณปู่คุณย่านะคะ กรณีที่ 2 : ลูกกำลังโกรธ พูดจาไม่ดีกับคุณแม่ ให้บอกลูกว่า พร้อมเมื่อไหร่ หนูมาคุยกับคุณแม่นะคะแม่รอยู่ตรงนี้
เทคนิคการรอให้ลูกพร้อม สามารถใช้ได้ดีคู่กับเทคนิคการแสดงความเข้าใจ คือหลังจากแสดงความเข้าใจแล้ว คุณพ่อคุณแม่สามารถบอกลูกต่อได้เลย ว่าให้ลูกทำอะไรเมื่อพร้อม วิธีนี้เป็นการให้โอกาสลูกได้จัดการกับอารมณ์ และความรู้สึกของตัวเอง เพื่อให้สามารถกำกับตนเองได้
เทคนิคการรอให้ลูกพร้อม จะต่างกับการสั่ง การบังคับให้ทำ และ วิธีการ Time Out ตรงที่เทคนิคการรอให้พร้อม จะเน้นการส่งเสริมให้ลูกเกิดการควบคุมตนเอง แต่การสั่ง การบังคับให้ทำ และ วิธีการ Time Out ที่มีผู้ใหญ่เป็นผู้กำหนดเวลา เช่น ไปเข้ามุม 4 นาที ค่อยมาคุยกัน เน้นผู้ใหญ่เป็นผู้ควบคุมพฤติกรรมเด็ก ซึ่งนอกจากจะทำให้เด็กเกิดความกลัว โกรธ และต่อต้านแล้ว ยังไม่สร้างเสริมวินัยในตนเองได้อีกด้วย
⇒ Must read : ลงโทษ Time out!! วิธีการนี้ดีหรือไม่ลูกจะรู้สึกอย่างไร?
4. เทคนิคการให้ทางเลือกเชิงบวก
คือการเสนอทางเลือกให้เด็ก 2 ทาง เมื่อต้องการให้เด็กทำพฤติกรรมเหมาะสม โดยทั้งสองทางเลือกนั้นจะต้องไปให้ถึงเป้าหมาย และคุณพ่อคุณแม่ต้องรับได้ทั้ง 2 ทางเลือก
ตัวอย่างที่ 1 : เสนอทางเลือกว่า “หนูจะให้พ่ออาบให้ หรือ แม่อาบให้” เมื่อต้องการให้ลูกอาบน้ำ (ทางเลือกที่ 1 / ทางเลือกที่ 2 เป้าหมาย) ตัวอย่างที่ 2 : เสนอทางเลือกว่า “หนูจะเล่นอีก 3 นาที หรือ 4 นาที” เมื่อต้องการให้ลูกเก็บของเล่น (ทางเลือกที่ 1 / ทางเลือกที่ 2 เป้าหมาย)
เทคนิคการให้ทางเลือกเชิงบวก จะช่วยให้ลูกเกิดการตัดสินใจที่ดี เนื่องจากการให้โอกาสให้ลูกได้เลือก จะทำให้เขารู้สึกว่า เขาเป็นคนควบคุมสถานการณ์ และกำหนดชีวิตตัวเอง เทคนิคนี้ จึงสามารถนำมาใช้แทนการสั่ง การบ่น และการคอยบอกว่าลูกจะต้องทำอะไรๆ ในแต่ละวัน
ที่สำคัญ เมื่อลูกมีการตัดสินใจที่ดี และทำพฤติกรรมตามที่เลือก เช่นพอครบ 4 นาทีตามที่เลือกไว้ แล้วเก็บของเล่น ยังเป็นโอกาสที่ดี ที่คุณพ่อคุณแม่จะใช้เทคนิคการชม มาชมลูก เพื่อเน้นย้ำให้ลูกเห็นความสามารถของตนเองได้อีกด้วย
5. เทคนิคอะไรก็ “ได้”
คือการบอกลูกว่า “ได้” เมื่อลูกขอทำอะไร โดยการอธิบายเพิ่มเติมว่า ได้เมื่อไหร่ โดยสิ่งที่ลูกขอนั้น ต้องเป็นเรื่องที่ไม่ทำร้ายตัวเอง ทำร้ายผู้อื่น หรือ ทำลายสิ่งของ
กรณีที่ 1 : เมื่อลูกขอซื้อของเล่น ให้บอกลูกว่า “ได้ค่ะ ถึงวันเกิดแล้วซื้อให้เลย” (ได้ + เมื่อไหร่) กรณีที่ 2 : เมื่อลูกขอไปเล่น แต่การบ้านไม่เสร็จ ให้บอกลูกว่า “ได้ค่ะ ทำการบ้านเสร็จแล้วไปเล่นกัน” (ได้ + เมื่อไหร่)
เทคนิคอะไรก็ “ได้” จะลดแรงต่อต้านจากลูก และช่วยให้ลูกสามารถให้ความร่วมมือ กับคุณพ่อคุณแม่ได้ง่ายขึ้น เนื่องจากประโยคที่พูดแสดงถึงการอนุญาต และ เป็นประโยคที่เรียงลำดับ เป็นเหตุเป็นผล ทำให้ลูกเข้าใจง่าย และรักษาอารมณ์ของตนเองให้ปกติได้ง่ายขึ้น เทคนิคนี้ จึงเป็นวิธีการสื่อสารที่ดี ที่จะนำมาแทนการปฏิเสธลูกว่า “ไม่ได้” ก่อน และตามด้วยการสั่งให้ลูกทำสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องการ เช่น “ไม่ได้ ยังไม่ซื้อ ของเล่นเยอะแล้ว ซื้ออะไรบ่อยๆ!” หรือ “ไม่ได้ ไปทำการบ้านก่อนแล้วค่อยไปเล่น!”
6. เทคนิคสิทธิ และหน้าที่
คือการสอนเรื่องสิทธิและหน้าที่ โดยการบอกว่า ลูกมีสิทธิ์ทำอะไรได้บ้าง เมื่อลูกสามารถรับผิดชอบหน้าที่ ที่มากับสิทธิ์นั้น
ตัวอย่างที่ 1 : เมื่อลูกอยากเล่นแท็บเล็ต ให้ตกลงกับลูกว่า... ผู้ที่จะมีสิทธิ์เล่นแท็บเล็ตได้ จะต้องรับผิดชอบตัวเองให้เล่นได้ครั้งละไม่เกิน 10 นาที 2 ครั้งต่อวัน (สิทธิ + หน้าที่รับผิดชอบ) ตัวอย่างที่ 2: เมื่อลูกอยากเล่นของเล่น ให้ตกลงกับลูกว่า... ผู้ที่จะมีสิทธิ์เล่นของเล่นนี้ได้ จะต้องรับผิดชอบโดยการเล่นเบา และเล่นแล้วเก็บ (สิทธิ + หน้าที่รับผิดชอบ)
เมื่อลูกไม่ยอมทำตามที่ตกลงกันไว้ คุณพ่อคุณแม่สามารถถอนสิทธิ์จากลูกได้ จนกว่าลูกจะพร้อมแสดงให้เห็นว่า เขาสามารถรับผิดชอบสิทธิ์ของเขาได้ เช่น เก็บแท็บเล็ตขึ้นเมื่อลูกเล่นเกิน 10 นาที แล้วบอกลูกว่า “หนูพร้อมแสดงให้คุณพ่อคุณแม่เห็นว่า หนูสามารถรับผิดชอบสิทธิ์ในการเล่นแท็บเล็ตของหนูได้เมื่อไหร่ ให้หนูมาขอแท็บเล็ตอีกที”
เทคนิคสิทธิ และหน้าที่นี้ จะช่วยสอนและฝึกฝนให้ลูกรับผิดชอบตัวเอง และทำตามกฎกติกาได้อย่างเป็นเหตุ เป็นผล เข้าใจง่าย เนื่องจากลูกสามารถเรียนรู้ผลที่ตามมา จากการตัดสินใจ และพฤติกรรมของเขาเอง ซึ่งจะต่างจากการลงโทษที่ไม่เป็นเหตุ เป็นผลกัน เช่น ตีลูก เมื่อเล่นแท็ปเล็ตนานๆ หรือยึดเอาไว้ โดยไม่อธิบายว่าเขาจะเล่นได้เมื่อไหร่
อ่านต่อ >> “เทคนิคแสนง่าย วิธีสร้างวินัยเชิงบวกโดยไม่ให้ลูกต่อต้าน!” คลิกหน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
7. เทคนิคการมองตา
คือการพูดกับลูกในระดับสายตาลูก เทคนิคนี้สามารถใช้ควบคู่กับเทคนิคอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น การมองตาลูกเมื่อชม หรือ แสดงความเข้าใจ เพราะการมองตาลูกนี้ นอกจากจะได้รับความสนใจ และสมาธิจากลูกเพิ่มขึ้นแล้ว ยังเป็นการแสดงถึงความจริงใจของคุณพ่อคุณแม่ ที่ส่งไปถึงใจลูกได้อีกด้วย
8. เทคนิคการกอด
คือ การกอดลูกบ่อยๆ ทั้งวัน และทุกวัน การกอดนี้ สามารถใช้สำหรับทักทายลูก เมื่อตื่นพบเจอกันในตอนเช้า ก่อนแยกย้ายจากกันไปทำหน้าที่ และทักทายเมื่อกลับมาพบกันใหม่ หรือใช้การกอด เพื่อปลอบลูกให้ลดอารมณ์เศร้า เหงา โกรธ เสียใจ และกลับคืนสู่อารมณ์ปกติ คุณพ่อคุณแม่ยังสามารถกอดลูก เพื่อแสดงความดีใจกับลูก
หรือแม้แต่กอดลูกโดยไม่มีเหตุผล เช่น เมื่อเห็นลูกนั่งอยู่ ก็เข้าไปกอด เมื่อเห็นลูกเล่นอยู่ ก็เข้าไปกอดเพื่อเติมความรัก ความใส่ใจให้กับลูก นอกจากนี้ เมื่อคุณพ่อคุณแม่มีอารมณ์โกรธ เศร้า หรือท้อแท้ การกอดลูกก็ช่วยบรรเทาอารมณ์ไม่ดีของคุณพ่อ คุณแม่ได้ด้วยเช่นเดียวกัน
9. เทคนิค I – Message
คือการบอกอารมณ์ความรู้สึกของคุณพ่อคุณแม่ให้ลูกรู้ โดยการอธิบายถึง ความรู้สึกของพ่อแม่ ที่มีต่อพฤติกรรมของลูก และผลที่ตามมา และความต้องการว่าอยากให้ลูกทำอะไร เพื่อที่จะทำให้คุณพ่อคุณแม่รู้สึกดีขึ้น
ตัวอย่างที่ 1 : “แม่ไม่ชอบ ที่หนูเล่นแล้วไม่เก็บของเล่น ทำให้บ้านรก แม่ขอให้หนูเก็บของเล่นด้วยค่ะ” (ความรู้สึกของพ่อแม่ + พฤติกรรมของลูก + ผลที่ตามมา + อยากให้ลูกทำอะไร) ตัวอย่างที่ 2 : “แม่โกรธ ที่หนูเอาผ้าเปียกมาวางไว้บนเตียง ทำให้เตียงเปียก แม่ขอให้หนูเอาผ้าไปตากค่ะ” (ความรู้สึกของพ่อแม่ + พฤติกรรมของลูก + ผลที่ตามมา + อยากให้ลูกทำอะไร)
เทคนิค I – Message เป็นการสื่อสารอารมณ์ ความรู้สึก และความคาดหวังของคุณพ่อคุณแม่ ได้อย่างชัดเจน ช่วยให้ลูกสามารถเชื่อมโยงพฤติกรรมตนเองที่ส่งผลต่อความรู้สึกของผู้อื่นได้ง่าย ส่งผลให้ลูกระวังพฤติกรรมตนเองได้มากขึ้นน นอกจากนี้ ยังช่วยให้คุณพ่อคุณแม่ลดการบ่นที่ยืดยาว ยืดเยื้อ แต่จับประเด็นไม่ได้อีกด้วย
10. เทคนิคการติดตามจนสำเร็จ (Follow Through)
คือการติดตามดูผลงานลูก เมื่อลูกต้องรับผิดชอบทำอะไรก็ตาม โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ลูกทำงานที่รับผิดชอบจนเสร็จ วัตถุประสงค์ของเทคนิคนี้ คือ การให้กำลังใจเมื่อลูกต้องการ และการชมเชยเมื่อลูกทำจนสำเร็จ
เช่น เมื่อลูกเก็บของเล่น คุณพ่อคุณแม่ก็อยู่ใกล้ๆ คอยสังเกตการณ์ว่าลูกต้องการความช่วยเหลือ ระหว่างการเก็บของเล่นหรือไม่ หากลูกเริ่มงอแง ไม่อยากเก็บ คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถเลือกใช้ เทคนิคการแสดงความเข้าใจ หรือ เทคนิคการให้ทางเลือกเชิงบวก เพื่อช่วยเหลือให้ลูกสงบ และพร้อมที่จะเก็บของเล่นต่อจนเสร็จ และเมื่อลูกสามารถเก็บของเล่นเสร็จเรียบร้อยแล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถใช้เทคนิคการชม เพื่อเสริมพฤติกรรมเหมาะสมให้ติดจนเป็นนิสัยลูกได้
หนึ่งในสาเหตุหลักที่คุณพ่อคุณแม่มักจะทะเลาะกับลูก ก็คือการบอกให้ลูกทำ แล้วคุณพ่อคุณแม่ปล่อยให้ลูกทำคนเดียว ซึ่งเด็กเล็ก เป็นวัยที่สนใจสิ่งรอบตัว และเสียสมธิในระหว่างที่กำลังรับผิดชอบงานอยู่ได้ง่าย ดังนั้นลูกจึงต้องการคุณพ่อคุณแม่คอยให้ความช่วยเหลือให้เขาคืนสนใจสู่งานที่รับผิดชอบจนเสร็จ
เทคนิค วิธีสร้างวินัยเชิงบวก ทั้ง 10 ข้อนี้ เป็นการสื่อสารที่ช่วยให้ลูกน้อยปรับทั้งอารมณ์ และพฤติกรรม ให้เป็นไปตามความคาดหวังของคุณพ่อคุณแม่ได้ง่ายขึ้น เมื่อคุณพ่อคุณแม่ใช้ 10 เทคนิคนี้อย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกวันแล้ว ลูกจะสั่งสมทักษะการกำกับตนเอง จนกลายเป็นเด็กที่มีวินัยในตนเอง และเห็นอกเห็นใจผู้อื่น จนติดเป็นนิสัยได้ไม่ยากค่ะ
อ่านต่อ “บทความดี ๆ น่าสนใจ” คลิก!
- สร้างวินัยเชิงบวก ให้ลูก ป้องกันลูกดื้อ ด้วยเทคนิคง่ายๆ จากหมอ!
- [สร้างวินัยเชิงบวก] ขัดใจทำไม ตามใจดีกว่า!!
- [สร้างวินัยเชิงบวก] 3 เทคนิคเชิงบวก ฝึกลูกเล็กควบคุมอารมณ์ และความรู้สึกให้ได้ผล!
- [สร้างวินัยเชิงบวก] ชวนพ่อแม่สำรวจ เรา “สั่ง” หรือ “สอน” ลูกอยู่นะ
- ISSUE 150 : คู่มือ 100 ทักษะสร้างลูก ฉลาด ดี มีสุข