AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

10 ทักษะสร้างหลักคิดเพื่อพัฒนาอารมณ์ EQ ของลูกน้อย

แม้ว่าแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องของการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ หรือ EQ นั้นจะถูกพูดถึงมายาวนานเกือบจะ 30 ปีแล้ว แต่ก็ต้องยอมรับว่าการพัฒนา EQ นั้นก็ยังคงเป็นหลักการหนึ่งที่สำคัญในการส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก

เพื่อที่จะเพิ่มโอกาสในการประสบความสำเร็จทั้งในด้านหน้าที่การงาน และ การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง ซึ่งทั้งสองอย่างนี้มีผลอย่างมากต่อการมีความสุขในชีวิตเมื่อลูกๆของเรานั้นเติบโตขึ้นไปเป็นผู้ใหญ่

หากจะถามว่าแล้วความฉลาดทางอารมณ์คืออะไร คำอธิบายที่ง่ายที่สุดก็น่าจะเป็น ความสามารถของคนเราในการที่จะ รู้ ว่าตัวเอง (รวมไปถึงคนอื่น) กำลังรู้สึกอย่างไร และ สามารถที่จะ “จัดการ” กับความรู้สึกเหล่านั้นได้อย่างเหมาะสมแบบที่คนอื่นๆในสังคมยอมรับได้ และด้วยความสามารถในการรับรู้และจัดการกับอารมณ์นั้นจะเริ่มเกิดขึ้นเมื่อเด็กๆของเราอายุ 3 ขวบโดยประมาณ  คุณพ่อคุณแม่จึงสามารถที่จะส่งเสริมทักษะดังกล่าวได้ตั้งแต่เมื่อลูกกำลังจะเริ่มเข้าโรงเรียนอนุบาล เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ง่ายต่อการเรียนรู้ในเรื่องนี้

พัฒนา eq ลูก ด้วย 10 ทักษะสร้างหลักคิด ที่พ่อแม่ควรรู้

โดย 10 หลักคิดที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้เพื่อที่จะได้นำไปสอนให้ลูกๆเติบโตไปเป็นคนที่มี EQ ดีมีดังต่อไปนี้

1. ความรู้สึกเป็นสิ่งที่ห้ามไม่ได้ แต่ควบคุมได้

กฎข้อแรกของการจัดการอารมณ์ก็คือ เด็กๆควรจะต้องรู้ก่อนว่าความรู้สึกของคนเรานั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเอง ห้ามไม่ได้แต่สิ่งที่เราสามารถห้ามได้คือ การกระทำของเรา เช่น เมื่อมีใครมาเหยียบเท้าของเรา เราก็อาจจะรู้สึก โกรธ หรือ โมโห ซึ่งนั่นเป็นเรื่องปกติ แต่สิ่งที่ลูกต้องเรียนรู้ก็คือว่า เมื่อ โกรธแล้ว โมโหแล้ว เขาควรจะทำอย่างไร เช่น เขาควรจะเดินเข้าไปชกหน้าคนๆนั้น หรือ เขาควรที่จะพูดกับเขาดีๆ หรือ เพียงแค่หายใจเข้าออกลึกๆ แล้วเดินจากไป

ดังนั้นเมื่อลูกของคุณกำลังมีความรู้สึกอะไรบางอย่าง คุณพ่อคุณแม่ก็อาจจะต้องคอยสังเกตว่าการแสดงออกของเขามันเหมาะสมพอควรหรือไม่ ซึ่งถ้าคำตอบคือไม่ ก็ควรจะสอนเขาว่า  พ่อเข้าใจว่าลูกคงโกรธมาก แต่พูดกันดีๆก็ได้ อย่ามาตีพ่อแบบนี้ พ่อไม่ชอบ

2. ในเหตุการณ์เดียวกันคนเราอาจจะรู้สึกไม่เหมือนกัน

เนื่องจากคนเราแต่ละคนนั้น มีความสนใจ หรือ ความคาดหวังในเรื่องต่างๆไม่เท่ากัน เช่น บางคนอาจจะให้ความสำคัญกับเรื่องเรียนมาก เมื่อเรียนได้ไม่ดีก็จะรู้สึกแย่ ขณะที่อีกคนให้ความสนใจกับเรื่องอื่นมากกว่า จึงไม่ได้รู้สึกอะไร ความรู้สึกของแต่ละคนนั้นก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเหมือนกัน และการที่เราจะรู้ได้ว่าใครรู้สึกอย่างไรกับเรื่องที่เกิดขึ้น ก็สามารถทำได้ด้วยการถาม เช่น พ่อรู้ว่าลูกชอบเล่นเตะต่อยกับเพื่อน แต่ลูกลองดูสิว่าเพื่อนร้องไห้ทุกครั้งเลยเวลาที่เล่นแบบนี้  ลูกคิดว่าเค้าน่าจะรู้สึกยังไง

เมื่อเราตั้งคำถามชวนลูกให้คิดถึงความรู้สึกของผู้อื่น นั่นคือจุดเริ่มต้นของการเกิดความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น หรือที่เรียกว่า Empathy และเมื่อเราตั้งคำถามชวนลูกให้คิดถึงความรู้สึกของตัวเอง นั่นก็คือจุดเริ่มต้นของการเกิดความสามารถในการพิจารณาตัวเอง หรือ ที่เรียกว่า self-monitoring

3. การพิจารณาตัวเองคือหัวใจสำคัญของความฉลาดทางอารมณ์

หากเราอยากที่จะ “จัดการ” กับอะไรก็ตามเราก็ต้อง “รู้” เสียก่อนว่าสถานการณ์ตอนนี้ของเรื่องที่เราอยากจะจัดการนั้นเป็นอย่างไร อารมณ์ความรู้สึกของคนเราเองก็เช่นกัน หากเราอยากจะจัดการหรือควบคุมมัน ขั้นแรกเลยคือเราก็ต้อง “รู้” เสียก่อนว่า ตอนนี้เรากำลังรู้สึกอย่างไร นี่เองคือสิ่งที่เรียกว่า self-monitoring ดังนั้นจึงต้องอาศัยการตั้งสติ และ ค่อยๆพิจารณาถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในจิตใจ แน่นอนว่าในเด็กเล็กๆอาจจะเป็นการยากที่เขาจะทบทวนและบอกความรู้สึกของตัวเองได้ คุณพ่อคุณแม่จึงอาจจะต้องช่วยให้ลูก “รู้” อารมณ์ความรู้สึกของตัวเองด้วยการตั้งคำถาม เช่น แม่ว่าตอนนี้หนูน่าจะกำลังโกรธอยู่ใช่ไหมลูก ไหนโกรธใคร โกรธเรื่องอะไรลองบอกแม่ซิ

อ่านต่อ >> “ทักษะสร้างหลักคิดเพื่อพัฒนาอารมณ์ EQ ของลูกน้อย ที่พ่อแม่ควรรู้” คลิกหน้า 2

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

4. ความรู้สึกมีหลายระดับ การจัดการแต่ละระดับอาจจะไม่เหมือนกัน

โดยทั่วไปแล้วหากเป็นเพียงความรู้สึกโกรธ กังวล เศร้า แค่เพียงเล็กน้อย การจัดการแบบง่ายๆ เช่น นับ 1-10 หรือ พยายามมองโลกในแง่ดีอะไรทำนองนี้ก็มักจะเพียงพอที่จะทำให้อารมณ์ของลูกสงบลงได้ แต่หากความรู้สึกที่เกิดขึ้นนั้นมันมาก ท่วมท้น และรุนแรง คุณพ่อคุณแม่จะรับรู้ได้ก็ด้วยการสังเกตการแสดงออกของลูก หรือ การตั้งคำถาม เช่น ที่หนูกลัวโดนคุณครูดุนี่ หนูกลัวแค่ไหนลูก กลัวนิดหน่อย กลัวปานกลาง หรือกลัวมาก

ในกรณีที่ลูกอยู่ในวัยประถม เราอาจจะถามเป็นตัวเลขก็ได้เช่น  สมมุติ เลข 0 คือไม่เศร้าเลย ส่วนเลข 10 คือ เศร้าที่สุดในโลก จาก 0 ถึง 10 ตอนนี้หนูเศร้าประมาณเท่าไหร่ลูก  และหากคำตอบที่ได้คือ กลัวมากมาก หรือ เศร้าแบบ 10 เต็ม 10 สิ่งที่ดีกว่าการสอนให้เขาลองคิดแบบนั้นทำแบบนี้ อาจจะเป็นการปลอบประโลมให้อารมณ์ของเขาสงบลงเสียก่อน ซึ่งจะกล่าวถึงในหัวข้อถัดไป

5. บางครั้งอารมณ์ก็ต้องการเวลาและการปลอบใจ

ในช่วงแรกเราอาจจะทำอะไรกับมันได้ไม่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราประสบเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความรู้สึก โกรธ กลัว หรือ เสียใจแบบสุดขีด เมื่ออารมณ์นั้นกำลังเกิดขึ้นแบบสดๆร้อนๆ ในช่วงแรกลูกอาจต้องการเพียงแค่การปลอบประโลม เช่น การกอด ลูบหัวเบาๆ หรือ คำพูดที่แสดงความเห็นใจ เช่น โถ หนูคงกลัวมากเลยใช่มั้ยเนี่ย ไม่เป็นไร แม่อยู่นี่แล้วลูก แม่อยู่นี่แล้วจนเมื่ออารมณ์ของเขาค่อยๆสงบลง (ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการปลอบของคุณ) หลังจากนั้นก็จะเป็นเวลาที่เหมาะมากที่คุณจะสอนเขาว่า ในคราวต่อไปเขาควรที่จะทำอย่างไรกับทั้งความรู้สึกของตัวเอง และ วิธีจัดการกับปัญหาต่างๆที่เขาจะต้องเจอ

6. ความเชื่อเปลี่ยน ความรู้สึกเปลี่ยน

เพราะความคิด ความเชื่อ หรือ การมองโลกของคนเรานั้น มักจะมีผลต่อความรู้สึก เช่น หากลูกของคุณเชื่อว่าคุณรักน้องของเขามากกว่าตัวเขาเอง หรือ หากลูกของคุณเชื่อว่า ที่คุณครูไม่เลือกเขาให้เป็นตัวเอกของละครเวที เพราะว่าคุณครูไม่ชอบเขา คุณก็คงจะพอเดาได้ว่าเด็กๆที่มีความเชื่อแบบนี้ เขาน่าจะรู้สึกอย่างไร และจากตัวอย่างที่ได้ยกมาข้างต้น คุณก็คงจะพอมองเห็นอีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญ นั่นก็คือขึ้นชื่อว่า ความเชื่อแล้วมันอาจจะเป็นเรื่องจริง หรือ อาจจะไม่จริง หรือ อาจจะจริงแต่ไม่ทั้งหมดก็ได้ และก็บ่อยมากทีเดียวที่เด็กๆของเราจะรู้สึกทุกข์ใจ จากความเชื่อที่มันไม่จริง หรือ จริงแต่ไม่ทั้งหมด จึงทำให้วิธีจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกวิธีหนึ่งที่เป็นที่นิยม ก็คือการชวนลูกให้ทบทวนความเชื่อของตัวเองว่ามันจริงรึเปล่าโดยการตั้งคำถาม เช่น ลูกว่ามีเหตุผลอื่นอีกมั้ยที่ทำให้เพื่อนของลูกเค้าพูดกับลูกแบบนั้น หรือในกรณีที่ความเชื่อของลูกนั้นเป็นเรื่องจริง เช่น เพื่อนของเขาอาจจะไม่ชอบเขาจริงๆ คุณก็ยังสามารถที่จะชวนเขาพูดคุยต่อไปได้ว่า แล้วเขาสามารถที่จะทำอะไรกับเรื่องที่เกิดขึ้นได้บ้าง ซึ่งหากสุดท้ายแล้วมันเป็นเรื่องที่ไม่สามารถแก้ไขหรือทำอะไรได้ คุณก็ยังสามารถที่จะปลอบใจเขา เข้าใจความรู้สึกของเขา หรืออาจจะชวนเขาปรับตัว หรือ ปล่อยวางกับเรื่องเหล่านั้นก็ยังได้

7. อารมณ์ที่รุนแรงอาจเกิดจากการสะสม

โดยทั่วไปแล้ว เมื่อมีเหตุการณ์ อะไรก็ตามมากระทบจิตใจของคนเราจนมีความรู้สึกเกิดขึ้น หากไม่ใช่ความรู้สึกอะไรที่รุนแรงมากนัก คนเราก็มักจะใช้วิธีจัดการแบบง่ายๆที่เราเรียกว่า “เก็บความรู้สึก” หรือถ้าจะเรียกว่า” ก็ทนๆเอา” ก็คงจะประมาณนั้น ซึ่งคนเรานั้นก็จะมีความสามารถในการเก็บอารมณ์ได้ประมาณนึง โดยจะเก็บสะสมเอาไว้ในใจเหมือนเวลาที่เราเก็บน้ำเอาไว้ในเขื่อน

ยกตัวอย่าง เช่น  หากมีคนๆหนึ่งชอบมาพูดจาล้อเลียนเราในทุกๆเรื่อง สีผิวบ้าง น้ำหนักตัวบ้าง เรื่องรสนิยมบ้าง ถึงคำพูดอาจจะดูเหมือนทีเล่นทีจริง แต่บางครั้งก็อาจทำให้เราเกิดความรู้สึก ที่อาจจะเลือกเก็บมันเอาไว้ในใจทุกวันๆ จนเมื่อ “เขื่อนอารมณ์” ใกล้จะเต็มคุณก็อาจจะพบว่าเมื่อได้ยินคำพูดแบบเดิมๆ จากคนเดิมๆ แต่ในคราวนี้ คุณอาจจะทนมันได้น้อยลง และ อาจจะตอบโต้หรือแสดงความรู้สึกออกมาอย่างรุนแรงราวกับภูเขาไฟระเบิดจนทำให้คนรอบข้างงงว่า คุณเป็นอะไร  นั่นก็เป็นเพราะว่า ความรู้สึกที่สะสมมานานนั้น มันพรั่งพรูออกมาโดยมีเรื่องอะไรเล็กๆน้อยๆในวันนี้มาสะกิดนั่นเอง

ดังนั้น เมื่อคุณสังเกตเห็นว่าลูกนั้นมีปฏิกริยารุนแรงอย่างไม่สมเหตุสมผลกับเรื่องอะไรเล็กๆน้อยๆ นอกจากการสอนให้เขาควบคุมความรู้สึก ณ ตอนนั้นแล้ว คุณก็อาจจะต้องคอยมองหาด้วยว่า เขามีเรื่องอื่นๆที่ทำให้ทุกข์ใจค้างอยู๋ในเขื่อนอารมณ์ของเขาบ้างรึเปล่า

อ่านต่อ >> “ทักษะสร้างหลักคิดเพื่อพัฒนาอารมณ์ EQ ของลูกน้อย ที่พ่อแม่ควรรู้” คลิกหน้า 3

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

8. อย่าละเลยอารมณ์ทางบวก

มีคุณพ่อคุณแม่หลายคนเข้าใจผิดว่าการจัดการกับความรู้สึกนั้นเอาไว้สำหรับจัดการอารมณ์ลบๆ เช่น เศร้า โกรธ หรือ กลัว เท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว การชวนลูกให้พิจารณาถึงอารมณ์ความรู้สึกทางบวก เช่น ดีใจ มีความสุข สนุกสนาน ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะมีคนไข้โรคซึมเศร้าหลายคนทีเดียวที่เมื่อจิตแพทย์ถามว่า เคยมีความสุขกับเรื่องอะไรบ้าง ปรากฏว่าเขาเหล่านั้นกลับนึกไม่ออก ส่วนหนึ่งอาจจะเกิดจากว่ากำลังอยู๋ในภาวะซึมเศร้า แต่อีกส่วนหนึ่งมักเกิดจากการที่เราเองอาจไม่ค่อยได้ให้ความสำคัญกับอารมณ์ทางบวกของตัวเองสักเท่าไหร่ เมื่อรู้ดังนี้แล้วเมื่อคุณพ่อคุณแม่เห็นว่าลูกกำลังมีความสุข ก็อาจจะชวนเขาให้พูดคุยถึงมัน เช่น ดูวันนี้ลูกมีความสุขมากเลย ไหนเล่าให้พ่อฟังหน่อยซิว่า ไปทำอะไรสนุกๆมาบ้าง เพราะการได้เล่าเรื่องที่มีความสุข จะทำให้เขาต้องนึกถึงมัน และ เมื่อเขานึกถึงมัน เขาก็จะจำมันได้ในที่สุด

9. ยิ่งมีประสบการณ์ ยิ่งคุมอารมณ์ได้ดี

เนื่องจากบางความรู้สึก เช่น ความวิตกกังวลในวันที่จะต้องออกไปพูดหน้าชั้นนั้น ที่ไม่ว่าจะคิดอย่างไร หรือ จะทำอะไรสุดท้ายแล้วเราก็อาจจะยังคงรู้สึกกังวลเท่าเดิมอยู่ดี ยิ่งเป็นครั้งแรกๆด้วยแล้วล่ะก็แต่เราก็จะพบว่า เมื่อทำกิจกรรมเหล่านั้นไปมากๆเข้า นานๆไปความกังวลก็จะค่อยๆน้อยลง ซึ่งก็เกิดจะเกิดจากการที่เรา “ชำนาญ” หรือ “เคยชิน” กับการทำสิ่งเหล่านั้นนั่นเอง ดังนั้นอีกวิธีหนึ่งในการพัฒนา EQ ของลูก ในเวลาที่เขากำลังเครียดหรือกังวลกับการทำอะไรที่ไม่เคยทำมาก่อนก็อาจจะเป็นแค่เพียงการปลอบเขา และ บอกเขาว่า ทำไปเถอะลูก เดี๋ยวทำบ่อยๆ หนูก็จะกังวลน้อยลงไปเอง

10. ความฉลาดทางอารมณ์ของพ่อแม่ มีผลต่อความฉลาดทางอารมณ์ของลูก

เนื่องจากว่าอารมณ์ของคนเรานั้น สามารถไปกระตุ้นให้คนรอบข้างให้เกิดอารมณ์เดียวกันได้ เช่น คุณคงเคยมีประสบการณ์ที่สมาชิกคนหนึ่งในครอบครัว หัวเราะเป็นบ้าเป็นหลังเพราะมุขตลกฝืดๆในทีวี จนทำให้ทุกคนในบ้านพลอยหัวเราะไปด้วย ด้วยความขบขันที่เห็นคนๆนั้นหัวเราะขนาดนั้น หรือ หากคุณมีเพื่อนร่วมงานคนหนึ่งที่เป็นคนขี้โมโห หงุดหงิดง่าย เห็นอะไรก็ขวางหูขวางตา ไม่พอใจอะไรก็บ่นๆๆๆๆๆๆ อยู่กันไปสักพัก คุณก็อาจจะรู้สึกหงุดหงิดไปกับเขาด้วยว่า “มันจะหงุดหงิดอะไรกันนักกันหนา” จึงสำคัญมากที่นอกจากจะฝึกลูกให้เป็นคนที่มี EQ ดีแล้ว คุณพ่อคุณแม่เองก็ควรที่จะพัฒนาตัวเองให้เป็นคนที่รู้ทันอารมณ์และสามารถจัดการอารมณ์ของตัวเองได้อย่างเหมะสมด้วย

นอกจากจะทำให้บรรยากาศในบ้านอบอุ่นปลอดภัยและเหมาะสมต่อการเติบโตของลูกๆแล้ว พวกเขาจะยังได้เห็น จดจำ และ ลอกเลียนแบบวิธีการ หลัก คิด และ คำพูดต่างๆ ที่คุณพ่อคุณแม่ เอาไว้จัดการกับอารมณ์ของตนเองอีกด้วย เมื่อลูกได้เติบโตขึ้นในบ้านที่มีการจัดการอารมณ์ที่ดี คุณพ่อคุณแม่ก็อาจจะพอวางใจได้ว่า เมื่อถึงวันที่เขาเป็นผู้ใหญ่ ลูกก็น่าจะเป็นแบบอย่างที่ดี และ สามารถถ่ายทอดทักษะดีๆเหล่านี้ต่อไปยังลูกของเขาได้ ดังที่เราเคยทำมานั่นเอง

อ่านต่อ “บทความดีๆ น่าสนใจ” คลิก!


เรื่องโดย : อ.นพ.อัศวิน นาคพงศ์พันธุ์ อาจารย์ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
หรือ คุณหมอตั้มแห่งเพจ “เลี้ยงลูกให้เป็นปกติ”