เพิ่งมีลูกคนแรก และอยากรู้เรื่องของการสร้างเสริม พัฒนาการทารกแรกเกิด อย่ารอช้า … ที่นี่มีคำตอบ
ขอแสดงความยินดีกับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ทุกท่านค่ะ ที่ตอนนี้มีน้องตัวเล็ก ๆ มาเติมเต็มครอบครัวสมกับที่ตั้งตารอคอยแล้ว … คงไม่ต้องบอกว่า คุณแม่มีประสบการณ์มากขนาดไหนตอนที่กำลังตั้งครรภ์อยู่นั้น เรียกได้ว่า ใครเข้ามาปรึกษาอะไรคุณแม่สามารถตอบได้หมด แต่เอ … แล้วประสบการณ์เกี่ยวกับทารกแรกเกิดละ? คุณแม่มีกันหรือไม่คะ ถ้าหากคุณแม่ท่านไหนผ่านการเลี้ยงน้องเลี้ยงหลานมาแล้วก็โชคดีไป น่าจะได้ข้อมูล ความรู้ และประสบการณ์ แต่สำหรับคุณแม่ท่านไหนที่ไม่เค้ยไม่เคยเลยละก็ ไม่เป็นไรค่ะ วันนี้ทีมงาน Amarin Baby and Kids ได้เตรียมเรื่องราวนี้มาฝากคุณแม่ ๆ แล้วละค่ะ ว่าแต่จะเป็นอะไรบ้างนั้น ไปอ่านบทความนี้พร้อม ๆ กันเลย
ตลอดเวลาที่เจ้าตัวน้อยอยู่แต่ในท้องของคุณแม่นั้น ลูกน้อยอยู่แต่ในพื้นที่ ๆ จำกัด จึงไม่แปลกค่ะ ที่พอลูกลืมตาดูโลกขึ้นมาถึงเอาแต่ร้องไห้งอแง คุณแม่บางท่านก็ไม่เข้าใจว่า จะร้องทำไม ให้อะไร ๆ ก็ไม่เอา … นั่นเป็นเพราะลูกก็ทำตัวไม่ถูกเหมือนกันค่ะ ดังนั้น ให้โอกาสลูกและตัวเราเองปรับตัวเข้าหากันหนอยนะคะ แล้วคงจะดีและง่ายกว่านี้แน่ ถ้าหากคุณแม่ทำความเข้าใจกับพื้นฐานและธรรมชาติและ พัฒนาการทารกแรกเกิด กันก่อนค่ะ
พัฒนาการทารกแรกเกิด ด้านต่างๆ
ช่วงสัปดาห์แรกของทารกแรกเกิดนั้น เป็นสัปดาห์ที่ทั้งคุณแม่และลูกน้อยต้องปรับตัวเข้าหากันค่ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวของทารกเอง ที่นอกจากจะต้องปรับตัวเรื่องการหายใจแล้ว ยังต้องมี พัฒนาการทารกแรกเกิด ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ค่ะ
- ด้านกล้ามเนื้อมัดมือมัดเท้า ยกตัวอย่างเช่น เวลาที่คุณแม่เอานิ้วไปให้ลูก จะเห็นว่า ลูกน้อยจะกำนิ้วของคุณแม่แน่น ร่วมถึงเวลาเอามือไปเขี่ยที่แก้มลูก ๆ ก็จะพยายามหันหน้าไปแล้วจะดูดทันที พัฒนาการนี้เราเรียกอีกอย่างว่า พัฒนาการของทารกแรกเกิดที่มาพร้อมกับปฏิกิริยาสะท้อนกลับตามธรรมชาติ
- ด้านการสื่อสาร ทารกสื่อสารกับคุณแม่ได้อย่างเดียวคือการร้องไห้ค่ะ หากลูกน้อยร้องไห้แล้วคุณแม่สามารถตอบสนองเสียงร้องได้เร็วเท่าไร ก็จะเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับลูกว่าจะเขายังมีคุณแม่คอยใส่ใจและดูแลอยู่ข้าง ๆ ก็จะทำให้ยิ่งรู้สึกปลอดภัยมากยิ่งขึ้น พอนานเข้าคุณแม่ก็จะเข้าใจเองค่ะว่า เสียงร้องของทารกแต่ละครั้งนั้น มีความต้องการที่ต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น ลูกร้องเสียงสูงแหลมแสดงว่ากำลังเจ็บ เป็นต้น
- ด้านการมองเห็น ทารกแรกเกิดยังมองเห็นได้ไม่ชัดนัก มากสุดก็ได้ในระยะ 8 – 10 นิ้ว หรือช่วงห่างระหว่างสายตาของเด็กทารกกับใบหน้าคุณแม่ในขณะที่อุ้มเท่านั้น และต้องใช้เวลา 4 – 6 เดือนเลยละค่ะ สายตาถึงจะมองเห็นความลึกและสีสันต่าง ๆ ชัดเจน หรือพัฒนาได้อย่างเต็มที่
- ด้านการสัมผัส การสัมผัสลูกน้อยด้วยการนวดเบา ๆ ถือเป็นการช่วยให้ลูกรู้สึกผ่อนคลาย และไม่เครียด อีกทั้งยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์ทางใจระหว่างคุณแม่กับลูก คุณแม่สามารถเริ่มต้นด้วยการนวดทารกอย่างอ่อนโยน พร้อมกับมองตาและร้องเพลงไปด้วย เท่านี้ก็สามารถทำให้ลูกรู้สึกอบอุ่นแล้วละค่ะ
- ด้านการฟัง คุณแม่สามารถกระตุ้นพัฒนาการด้านการฟังของลูกได้ไม่ยากด้วยการ เรียกชื่อลูก พูดคุยและร้องเพลงให้ลูกฟัง ไม่ต้องกลัวเลยนะคะว่าจะร้องไม่เพราะ สำหรับตัวลูกเอง ไม่ว่าคุณแม่จะทำอะไร ร้องเพลงตกคีย์ หรือเนื้อร้องตกหล่น ลูกก็รู้สึกว่า สิ่งที่คุณแม่ทำนั้น เพราะและดีที่สุดในโลกแล้วละค่ะ
10 กิจกรรมเล่นกับลูก ช่วยเสริมสร้าง พัฒนาการทารกแรกเกิด
หากคุณแม่กลัวลูกน้อยของคุณแม่จะเบื่อเพราะวัน ๆ เอาแต่นอนจนกลัวว่าลูกจะไม่มีพัฒนาการที่พอเหมาะสมวัยละก็ … ลอง 10 กิจกรรมเหล่านี้เพื่อเสริมพัฒนาการทารกแรกเกิด ดูค่ะ
- พาลูกเดินเที่ยว การอุ้มลูกเดินเล่นรับแสงแดดอุ่น ๆ ตอนเช้าหรือเดินเล่นตอนเย็น ๆ จะช่วยให้ลูกผ่อนคลาย และอารมณ์ดีได้ตลอดทั้งวัน ลูกจะได้พัฒนาต่าง ๆ รอบด้านเลยละค่ะ แนะนำให้คุณแม่พาลูกไปเดินเล่นตามสวนสาธารณะ หรือสวนใกล้บ้านที่ลูกสามารถสัมผัสได้ถึงธรรมชาติ และได้เห็นพี่ ๆ หรือเด็กคนอื่นเล่น แต่คุณแม่จะต้องหมั่นทำให้กิจกรรมนี้เป็นกิจวัตรประจำวันทุกวันให้ได้นะคะ
- เปิดเพลงให้ลูกฟัง ไม่ว่าจะเป็นเพลงโมสาร์ท เพลงบรรเลง หรือแม้แต่เสียงร้องของคุณแม่เอง ก็จะช่วยกระตุ้นพัฒนาการทางด้านอารมณ์ของลูกให้สงบ มีความสุข ที่สำคัญยังช่วยให้ลูกน้อยนอนหลับได้อย่างสบาย จึงไม่แปลกใจเลยใช่ไหมละคะว่า ทำไมคุณแม่ส่วนใหญ่ถึงเลือกที่จะร้องเพลงกล่อมลูกเพื่อให้ลูกน้อยได้หลับนอน
- จับลูกแต่งตัว จะเห็นได้ว่าคุณแม่ส่วนใหญ่เลือกที่จะจับทารกน้อยแต่งตัวน่ารัก ๆ ถ่ายรูปหรือวิดีโอเก็บเอาไว้ ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีค่ะ ไม่ต้องสนใจว่าใครจะหาว่าเราเห่อลูก การจับลูกแต่งตัวพร้อมกับถ่ายรูปหรือวิดีโอเก็บเอาไว้ นอกจากจะเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างคุณแม่กับลูกน้อยแล้ว ยังมีคุณค่าทางจิตใจอีกด้วย
- พูดคุยกับลูก อยากให้คุณแม่ได้ลองพูดคุยกับลูก หรือเล่านิทานต่าง ๆ ด้วยการใช้น้ำเสียงที่ต่างกัน สิ่งเหล่านี้จะช่วยในเรื่องของพัฒนาการทางด้านการฟังและความจำ ลูกน้อยจะสามารถจำเสียงของคุณแม่ได้ ไม่ว่าคุณแม่จะอยู่ข้าง ๆ หรือไม่ก็ตาม
- เล่นซ่อนแอบ การเล่นซ่อนแอบกับทารกแรกเกิด เป็นเรื่องที่สนุกและเด็ก ๆ ก็ชอบมากที่สุด ให้คุณแม่หาผ้าอ้อมหรือผ้าขนหนูมาปิดหน้าเอาไว้ แล้วแอบอยู่หลังผ้า พร้อมกับชื่อลูกไปด้วยค่ะ แล้วค่อยโผล่จ๊ะเอ๋ออกมา นอกจาก ลูกจะได้จำชื่อของเขาได้ง่ายและไวขึ้นนั้น ยังเป็นการกระตุ้นพัฒนาการทางด้านสายตาให้กับลูกอีกด้วย ที่สำคัญ อย่าลืมนะคะว่า ลูกยังไม่สามารถมองเห็นภาพได้ทั้งหมด ดังนั้น อย่าอยู่ห่างจากลูกจนเกินไป
- เล่นของเล่น การเสริมพัฒนาการให้ลูกวัยแรกเกิดนี้ สามารถใช้ตัวเลือกอื่นช่วยได้นะคะ ไม่ว่าจะเป็นของเล่นจำพวกโมบาย หรือภาพสีสันต่าง ๆ ลูกจะได้มีพัฒนาการทางกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้อย่างเต็มที่
- ให้ลูกได้สัมผัสกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ยกตัวอย่างเช่น มือหรือนิ้วของคุณแม่ ตุ๊กตา หรือผ้าเป็นต้น เพื่อให้ลูกจะได้รับทราบถึงความแตกต่างของวัสถุต่าง ๆ ถึงแม้ว่าลูกอาจจะไม่เข้าใจ แต่อย่างน้อย ลูกก็จะได้การเสริมพัฒนาการด้านการรับรู้ไปได้ในตัว
- แนะนำสิ่งต่าง ๆ รอบตัวที่ไม่เป็นอันตราย อาจจะเป็นผ้า หรือของเล่นชิ้นโปรดของเขา เป็นต้น
- เล่านิทาน การเล่านิทานก่อนนอนทุกคืน นอกจากจะช่วยทำให้ลูกนอนหลับฝันดีแล้ว ยังช่วยกระตุ้นพัฒนาการด้านสมองและการฟัง อีกทั้งยังเป็นการปลูกฝังการอ่านให้กับลูกทางอ้อมได้อีกด้วยนะคะ
- เต้น หรือทำกิจกรรมเข้าจังหวะ จริงอยู่ที่เด็กวัยนี้อาจจะเล็กเกินกว่าที่จะลุกขึ้นมายืนเต้น แต่คุณแม่อย่าลืมนะคะว่า ลูกก็สามารถเต้นด้วยการนอนก็ได้ค่ะ การให้เขาได้ขยับมือ แขนและขา จะช่วยทำให้กล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ แข็งแรงขึ้น
ไม่ยากเลยใช่ไหมละคะ ลองเล่นกับลูกดูนะคะ รับรองว่า ทั้งคุณแม่และลูก จะไม่มีวันเบื่อ เพราะนอกจากจะเป็นเสริม พัฒนาการทารกแรกเกิด แล้ว ยังจะสนุกไปกับเสียงหัวเราะที่จะตามมาอีกด้วยละค่ะ
ขอบคุณที่มา: Momjunction
อ่านต่อเรื่องอื่นที่น่าสนใจ:
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่