AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

พัฒนาการเด็ก 1 เดือน ลูกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง แม่ต้องรู้!

พัฒนาการทารก 1 เดือน ลูกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง?

พัฒนาการเด็ก 1 เดือน ลูกวัยนี้ต้องมีพัฒนาการอะไรบ้าง และพ่อแม่ต้องคอยดูแลเรื่องอะไร หรือมีวิธีการส่งเสริมพัฒนาการเด็ก 1 เดือน อย่างไร ตามมาดูกันเลย

พัฒนาการเด็ก 1 เดือน ลูกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง?

สำหรับทารกวัยแรกเกิดจนถึงอายุ 1 เดือน เป็นช่วงที่คุณพ่อคุณแม่ต้องให้การดูแลเป็นพิเศษ เพราะลูกน้อยจะมีการปรับเปลี่ยนเป็นอย่างมาก จากที่ต้องอยู่ในท้องแม่เป็นเวลานานกว่า 9 เดือน เมื่อออกมาลืมตาดูโลก ทำให้ต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพภายนอกและทำความคุ้นเคยกับโลกใบใหม่ จึงเป็นช่วงเวลาที่คุณพ่อคุณแม่ต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ว่าจะจะมีเรื่องใดบ้าง ตามมาดูกันเลยค่า

พัฒนาการเด็ก 1 เดือน ด้านการเจริญเติบโต

ในช่วง 2-3 วันแรก น้ำหนักตัวของลูกจะลดลงจากตอนแรกเกิด เป็นเพราะในร่างกายลูกมีของเหลวบางส่วน ประมาณ 10% ของน้ำหนักตัวแรกคลอด ที่ต้องถูกกำจัดออกไป แต่หลังจากนี้น้ำหนักตัวลูกจะเริ่มคงที่ และค่อย ๆ เพิ่มขึ้น โดยในช่วงเดือนแรกนี้น้ำหนักตัวลูกจะขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจจะเพิ่มถึง 15-30 กรัมต่อวัน และเมื่อถึงวันครบกำหนดพาลูกไปตรวจ ควรไปอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้คุณหมอช่วยดูว่าน้ำหนักลูกขึ้นตามเกณฑ์ดีไหม

Must read : ระวัง! 4 จุดบอบบางของเบบี๋ที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ

การกิน : ในช่วง 1 เดือนแรก ลูกจะกินนมมากถึงวันละ 12 ครั้ง โดยกินทุก 2-3 ชั่วโมงเลย ซึ่งสัญญาณที่บอกว่าลูกกินนมพอไหมคือ ลูกขับถ่าย ฉี่ มากน้อยแค่ไหน โดยลูกควรต้องฉี่หรือเปลี่ยนผ้าอ้อมที่เปียกวันละ 4-6 ครั้ง

การนอน : นอกจากการกินแล้ว ก็จะใช้เวลาส่วนใหญ่กับการนอน อย่าตกใจหากลูกจะนอนในแต่ละวันถึง 15-16 ชั่วโมง ช่วงนี้ลูกนอนวันละหลายชั่วโมงก็จริง แต่เป็นการนอนหลับแบบ REM Sleep ที่ไม่ได้หลับลึกมาก ทำให้ลูกตื่นง่าย ตื่นบ่อย

Must read : ท่านอนทารก ช่วยลูกฉลาด และพัฒนาการดีจริงหรือ?

Must read : 3 กิจกรรมเล่นกับลูกเสริม พัฒนาการทารก 1 เดือน

 

อ่านต่อ >> “พัฒนาการด้านอื่นๆ พร้อมวิธีส่งเสริมพัฒนาการ” คลิกหน้า 2

 

พัฒนาการสื่อสาร พัฒนาการเด็ก 1 เดือน

ลูกจะสื่อสารได้เพียงแค่ร้องไห้ ซึ่งวิธีส่งเสริมให้ลูกทำได้ วัยนี้สื่อสารความต้องการด้วยการร้อง พ่อแม่ควรตอบสนองความต้องการของลูกอย่างเหมาะสม เช่น เมื่อหิว เปียกแฉะ เจ็บปวด เป็นต้น

และควรอุ้มลูกด้วยความอ่อนโยน การอุ้ม สัมผัส และตอบสนองต่อความต้องการของลูกอย่างเหมาะสม ด้วยความสม่ำเสมอ จะช่วยให้ลูกผ่อนคลาย ส่งเสริมพัฒนาการ และความผูกพันกับผู้เลี้ยงดู หากลูกร้องไห้มาก ไม่ควรเขย่าตัวเพื่อให้หยุดร้องไห้ เพราะอาจเกิดอันตรายรุนแรงต่อสมองและเส้นเลือดในสมองของลูกได้

พัฒนาการเด็ก 1 เดือน  ด้านการเคลื่อนไหว : ในท่านอนคว่ำ ลูกสามารถยกศีรษะ และหันศีรษะไปข้างใดข้างหนึ่งได้

วิธีส่งเสริมพัฒนาการ

  1. จัดลูกน้อยอยู่ในท่านอนคว่ำ แล้วให้คุณพ่อคุณแม่เขย่าของเล่นที่มีเสียงตรงหน้าลูก ในระยะห่างประมาณ 30 ซม. (1 ไม้บรรทัด) เมื่อลูกมองที่ของเล่นแล้วค่อยๆ เคลื่อนของเล่นมาทางด้านซ้าย เพื่อให้ลูกหันศีรษะมองตาม
  2. ค่อยๆ เคลื่อนของเล่นกลับมาอยู่ที่เดิม
  3. ทำซ้ำอีกครั้งโดยเปลี่ยนให้เคลื่อนของเล่นมาทางด้านขวา

Must read : โมบายสีขาว ดำ แดง กระตุ้นสมอง การมอง และสมาธิ ให้ลูกน้อย

ด้านการเข้าใจภาษา : ลูกมีการสะดุ้งหรือเคลื่อนไหว ร่างกายเมื่อได้ยินเสียงพูด ระดับปกติ

วิธีส่งเสริมพัฒนาการ

  1. จัดลูกอยู่ในท่านอนหงาย ให้พ่อแม่เรียกชื่อหรือพูดคุยกับลูกจากด้านข้างทั้งข้างซ้ายและขวา โดยพูดเสียงดังปกติ
  2. หากลูกสะดุ้งหรือขยับตัวเมื่อพ่อแม่พูดคุยเสียงดังปกติ ให้พ่อแม่ยิ้มและสัมผัสตัวลูก
  3. ถ้าลูกไม่มีปฏิกิริยาใดๆ ให้พูดเสียงดังเพิ่มขึ้น โดยจัดท่าให้ลูกอยู่ในท่าเดียวกับข้อ 1 หากลูกสะดุ้ง หรือขยับตัวให้ลดเสียงลงอยู่ในระดับดังปกติ พร้อมกับสัมผัสตัวลูกน้อยไปด้วย

พัฒนาการเด็ก 1 เดือน ด้านการช่วยเหลือตัวเองและสังคม : ลูกจะสามารถมองจ้องหน้าได้นาน 1-2 วินาที

วิธีส่งเสริมพัฒนาการ

  1. จัดลูกอยู่ในท่านอนหงาย หรืออุ้มลูกให้หน้า โดยให้พ่อแม่อยู่ห่างประมาณ 30 ซม. (1 ไม้บรรทัด)
  2. สบตาและทำตาลักษณะต่างๆ เช่น ตาโต กระพริบตา เพื่อให้ลูกสนใจ
  3. พูดคุย ยิ้มเพื่อให้ลูกมองที่ปากแทนสลับกันไป

Must read : นี่คือสายตาของเด็กทารกที่มองเห็นพ่อแม่ในแต่ละเดือน จนถึงอายุ 1 ขวบ

หมายเหตุ : อาจทำขณะอาบน้ำหรือตอนแต่งตัวลูก ตอนอุ้มลูก โดยให้ลูกน้อยหันหน้ามาทางคุณพ่อคุณแม่ แล้วทำหน้าตาหรือส่งเสียง ให้ลูกสนใจ เมื่อลูกมองตาให้พูดคุยและยิ้มด้วย

 

อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากการส่งเสริมทักษะ พัฒนาการเด็ก 1 เดือน ข้างต้น ในช่วงตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 1 เดือนคุณพ่อคุณแม่ควรปล่อยให้ลูกนอนหงายเพื่อให้ลูกสามารถเคลื่อนไหวแขน-ขาได้อย่างอิสระ หมั่นใช้นิ้วสัมผัสฝ่ามือของลูก และไม่ควรใส่ถุงมือตลอดเวลา เพื่อฝึกให้ลูกใช้มือ

ทั้งนี้ตัวคุณแม่ที่กำลังให้นมลูกน้อยด้วยตัวเองก็สามารถกระตุ้นให้ลูกยิ้มมีความสุขได้ด้วยการกอด จั๊กจี้ หรือเล่นกับลูก เพราะเด็กจะชอบอยู่ใกล้ชิดกับคุณ ดังนั้นคุณแม่อาจเล่นกับลูกด้วยการขยับแขนขาของลูกเบาๆ และนวดสัมผัส โอบกอดลูกในระหว่างให้นมหรืออุ้มกล่อมลูก จะทำให้ลูกรู้สึกอบอุ่นเพราะได้รับความรักและสานสายสัมพันธ์ระหว่างแม่ลูกให้แนบแน่นยิ่งขึ้น

สุดท้ายนี้เกณฑ์ของพัฒนาการนี้เป็นเกณฑ์อ้างอิงเบื้องต้นสำหรับเด็กทั่วไปว่าสามารถทำอะไรได้ใน แต่ละช่วงวัย ซึ่งอาจมีทักษะบางอย่างที่เด็กปกติ จำนวนหนึ่งทำได้เร็วหรือช้ากว่าเกณฑ์นี้เล็กน้อย คุณแม่ไม่ต้องกังวลใจไป หากลูกเรามีพัฒนาการไม่เหมือนกับเด็กคนอื่น ๆ เพราะพัฒนาการของเด็กแต่ละคนช้า เร็ว ต่างกันได้ ขอเพียงลูกเป็นเด็กที่แข็งแรง สุขภาพร่างกายสมบูรณ์ อารมณ์ดี สดใส สบายตัวในทุกวัน ๆ เพราะถ้าลูกสบาย งานเลี้ยงลูกก็จะไม่ใช่เรื่องยาก และทางที่ดีคือควรกระตุ้น พัฒนาการทารก 1 เดือน ตามคำแนะนำ ซึ่งหากมีความกังวลเรื่องพัฒนาการของลูกเรื่องใดเรื่องหนึ่ง คุณพ่อคุณแม่ควรปรึกษาแพทย์หรือบุคลากรทางสาธารณสุข

 

อ่านต่อบทความอื่นๆ น่าสนใจ คลิก : 


ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : www.med.nu.ac.ththaichilddevelopment.comwww.khunlook.com

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

Summary
Review Date
Reviewed Item
พัฒนาการเด็ก 1 เดือน
Author Rating
5