คุณพ่อ คุณแม่อาจจะเคยสงสัย ว่าทำไมให้ลูกน้อยรับประทานยาปฏิชีวนะแล้ว ลูกดื้อยา ไม่หายจากโรคที่เป็นอยู่สักที ทำไมหายแล้วกลับมาเป็นอีก ไม่หายขาด แล้วทำไมต้องรับประทานยาปฏิชีวนะให้ครบกำหนด ทั้งๆ ที่ไม่มีอาการป่วยแล้วก็ตาม เรื่องเหล่านี้พ่อแม่อาจจะยังไม่เข้าใจ
โรคใหม่จากเชื้อเก่า
ในปัจจุบันมีโรคใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย คู่ขนานกับพัฒนาการทางเทคโนโลยี เชื้อแบคทีเรียดื้อยา หรือโรคดื้อยา ได้กลายเป็นภัยคุกคามสุขภาพของคนทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทยที่พบว่า คนไทยติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยา 88,000 คนต่อปี และเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยา 38,000 คนต่อปี
นพ.กำธร มาลาธรรม คณะแพทย์ศาสตร์รามาธิบดี ประธานคณะกรรมการควบคุมและป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล อธิบายว่า ปัจจัยจากสิ่งแวดล้อม เช่น โลกร้อน สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป หรือคนทำให้เกิดขึ้น เช่น การรับประทานสัตว์ป่า หรือยุ่งเกี่ยวกับสัตว์ป่า ทำให้ติดโรคมาด้วย ประกอบกับการเดินทางไปมาที่สะดวกขึ้นข้ามซีกโลก ทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายไปทั่วอย่างรวดเร็ว
มีโรคชนิดใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมายทั้งในบ้าน ชุมชน และโรงพยาบาล ซึ่งเชื้อนั้นคือเชื้อแบคทีเรียดื้อยา หรือเชื้อดื้อยาที่มีความรุนแรงมากขึ้น เพราะเชื้อดื้อยาบางชนิดยังไม่มียารักษา และควบคุมยาก เมื่อร่างกายกำจัดเชื้อแบคทีเรียไม่ได้ จึงต้องรับประทานยาปฏิชีวนะที่แรงขึ้น ซึ่งพบเชื้อดื้อยาที่รุนแรงที่ไม่มียารักษาได้แล้ว อาจทำให้มีโอกาสเสียชีวิตได้ 80% เพราะถ้าเชื้อไปอยู่ในที่ที่มีการใช้ยาฆ่าเชื้อมากๆ ก็จะกลายเป็นเชื้อดื้อยารุนแรง
ความเข้าใจผิดเรื่องการใช้ยา
เด็กที่รับประทานยาฆ่าเชื้อบ่อยๆ จะมีเชื้อดื้อยามากกว่า เด็กที่ไม่ค่อยรับประทาน การรับประทานยาฆ่าเชื้อที่ไม่ถูกต้องทำให้เกิดการดื้อยา หลายโรคไม่จำเป็นต้องรักษา คนไทยมักเข้าใจผิดว่าถ้าเกิดอาการอักเสบต้องรับประทานยาฆ่าเชื้อ หรือยาปฏิชีวนะเสมอ และเข้าใจผิดว่ายาแก้อักเสบ กับยาฆ่าเชื้อเป็นตัวเดียวกัน นำไปสู่การรับประทานยาโดยไม่จำเป็น
ความเข้าใจผิดเกิดขึ้นเมื่อลูกน้อยเป็นหวัด ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส และมีอาการเจ็บคอ คุณพ่อ คุณแม่จำนวนไม่น้อยเข้าใจว่าลูกคออักเสบ จึงให้ลูกรับประทานยาฆ่าเชื้อ ซึ่งมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ไม่ได้ฆ่าเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคหวัด ทำให้เกิดการดื้อยาขึ้น
นพ.กำธร มาลาธรรม กล่าวว่า ในโรงพยาบาลก็มีการใช้ยาฆ่าเชื้อกับคนไข้เป็นจำนวนมาก จึงทำให้เกิดเชื้อดื้อยารุนแรง เป็นสาเหตุให้เกิดการติดเชื้อในโรงพยาบาล ต้องรักษาตัวนาน มีค่าใช้จ่ายสูง และมีโอกาสเสี่ยงเสียชีวิตได้มากกว่า
อ่านต่อ “เชื้อดื้อยาในโรงพยาบาล, 7 โรคเสี่ยงดื้อยา และวิธีสู้กับการดื้อยา” คลิกหน้า 2
เชื้อดื้อยาในโรงพยาบาลมาได้อย่างไร?
นพ.กำธร มาลาธรรม ระบุว่า เชื้อดื้อยาพบมากขึ้นในระยะหลัง คือ มีคนไข้มีเชื้อดื้อยาติดตัวมาแล้วจากการรับประทานยาฆ่าเชื้อไม่ถูกต้อง และมากเกินไป เมื่อมารักษาที่โรงพยาบาล ซึ่งอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีการใช้ยาฆ่าเชื้อมาก ทำให้มีโอกาสติดเชื้อรุนแรงมากขึ้น เช่น เมื่อรับประทานยาฆ่าเชื้อมาก่อนแล้วเกิดดื้อยา ต้องรับประทานยาที่แรงขึ้น ทำให้บางครั้งยาที่ใช้ไม่สามารถรักษาให้หายได้ และไม่มียาอื่นมารักษาต่อ จนทำให้มีโอกาสติดเชื้อรุนแรง และเสียชีวิตในที่สุด
อาการดื้อยากับ 7 โรคเสี่ยง
องค์การอนามัยโลกระบุว่า ยาปฏิชีวนะไม่สามารถรักษาโรคได้อีกต่อไป ใน 114 ประเทศทั่วโลก ดร.เคอิจิ ฟุกุดะ (Keiji Fukuda) ผู้ช่วยผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวว่า การติดเชื้อและอันตรายอื่นๆ ที่เคยรักษาได้มานานหลายทศวรรษนั้นสามารถกลับมาฆ่าเราได้อีกครั้ง การดื้อยา ทำให้เกิดโรคต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะแบคทีเรียทั่วไป 7 ชนิด เช่น การติดเชื้อในกระแสเลือด (Sepsis) โรคท้องร่วง (Diarrhea) โรคปอดอักเสบ (Pneumonia) การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ (Urinary tract infections) และโรคหนองใน (Gonorrhoea)
วิธีสู้กับการดื้อยา
1.ใช้ยาปฏิชีวนะเมื่อแพทย์สั่งเท่านั้น
2.ใช้ยาปฏิชีวนะต่อเนื่องถึงแม้อาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม
3.ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะร่วมกับผู้อื่นหรือใช้ยาปฏิชีวนะที่เหลือจากการสั่งยาครั้งก่อน
เครดิต: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, ไทยพับลิก้า