เมื่อไรที่เพื่อนพูดขึ้นมาว่า “บ้านป้าเรามีสนามเทนนิสใหญ่สุดๆ” ลูกวัยทวีนที่บ้านของคุณก็จะเกทับทันควันว่า “บ้านลุงเราก็มีสระว่ายน้ำใหญ่มากๆ แถมเลี้ยงหมาตัวเบ้อเริ่มเลยด้วย” ถ้าเพื่อนทำคะแนนกลางภาคได้ดี ลูกก็รีบโต้ว่าเทอมที่แล้วแกได้เกรดดีกว่า เฮ้อ! ทำไมพวกเด็กๆ ถึงชอบข่มกันนักหนอ
เด็กก่อนวัยรุ่นมีนิสัยชอบเปรียบเทียบตนเองกับเพื่อนวัยเดียวกัน คุณหมอแอนดรู การ์ดเนอร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์คลินิกประจำแผนกกุมารแพทย์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์ เมืองคลิฟแลนด์ อธิบายว่า “เด็กวัยนี้ต้องการพิสูจน์ว่าพวกเขาโดดเด่นและแตกต่างจากเด็กคนอื่นๆ เพื่อค้นหาจุดยืนและอัตลักษณ์ของตนเองในสังคม”
หากว่านานๆ ทีลูกของคุณจะลุกขึ้นมาคุยโอ่บ้าง ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร (ขอให้เขาใช้ถ้อยคำสุภาพและพูดเรื่องจริง) แต่ถ้าพ่อหนูแม่หนูชอบอวดหรือวางโตจนเป็นนิสัย คงต้องมานั่งคุยและปรับพฤติกรรมกันใหม่ด้วยการอธิบายเหตุผลดังต่อไปนี้
1. ไม่มีใครเก่ง / ดี / เลิศ ไปเสียทุกอย่าง
ความจริงแล้วลูกไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่ “เก่งที่สุด” ในทุกด้าน และการมีญาติๆ ที่ร่ำรวยไม่ได้ทำให้ใครมีคุณค่ามากขึ้น สิ่งสำคัญที่จะทำให้หนูๆ เป็นที่รักของกลุ่มเพื่อนอยู่ที่การเป็นคนมีน้ำใจและมนุษยสัมพันธ์ต่างหาก
2. เพื่อนที่ดีย่อมต้องยอมให้คนอื่นมีบทเด่นบ้าง
ทุกคนอยากเป็นจุดสนใจในวงสนทนากันทั้งนั้น ถ้าหากเพื่อนยอมนั่งฟังหนูคุยเรื่องวาดรูปประกวด หนูก็ควรเป็นผู้ฟังที่ดีเวลาเพื่อนเมาท์เรื่องการแข่งแชร์บอลด้วย
3. ถ้าลูกไม่มีอะไรให้คุยอวดสักอย่าง ก็ไม่เสียหาย
หากว่าลูกกำลังเรียนร้องเพลง แต่ยังร้องได้ไม่ดีก็ไม่เป็นไร สิ่งสำคัญอยู่ที่ “ความสุขและความสนุก” ในการร้องเพลงต่างหาก ถ้าลูกเข้าใจแนวคิดนี้ได้ จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนวิธีสร้างอัตลักษณ์ด้วยการคุยข่ม มาเป็นความพยายามพัฒนาตนเองอย่างแท้จริง
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง