AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ลูกไม่อยากคุยกับพ่อแม่ กับ 8 เหตุผลของเด็กยุคใหม่

เหตุผลของเด็กยุคใหม่ที่ไม่อยากคุยกับพ่อแม่

สมัยนี้พ่อแม่ทำงานนอกบ้านกันหมด และครอบครัวก็เป็นครอบครัวเดี่ยว มีเพียงพ่อ แม่ และลูก ไม่มีผู้ใหญ่คนอื่นในบ้าน บางครอบครัวเริ่มห่างหายจากการพูดคุยกันเมื่อลูกเริ่มเข้าเรียน ทำให้ขาดความเข้าใจ ขาดที่ปรึกษา เรามาดู 8 เหตุผล ลูกไม่อยากคุยกับพ่อแม่ ว่าเพราะอะไรกันค่ะ

ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่าลูกไม่กล้าแสดงออก ลูกไม่ได้มองว่าพ่อแม่เป็นคนแปลกหน้า หรือไม่อยากปรึกษา แต่มีปัจจัยทางสังคมทำให้พ่อ แม่ ลูก ความสัมพันธ์ห่างหาย และทำให้ลูกคิดว่าการพูดให้พ่อแม่เข้าใจ เป็นเรื่องยากเกินไป

1.เกรงใจพ่อแม่ เห็นทำงานมาเหนื่อยๆ

บางครั้งลูกก็อยากเล่าให้ฟังใจจะขาด แต่เห็นพ่อแม่เหนื่อยกลับมาบ้าน ก็กลัวว่าจะไปสร้างความรำคาญ ทำให้โมโห อารมณ์ไม่ดี เมื่อเกรงใจบ่อยๆ เข้า ก็กลายเป็นเลี่ยงที่จะพูดไปโดยปริยาย เมื่อถึงเวลาคุยจริงๆ ก็รู้สึกเขินอาย สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่วางใจว่าลูกสบายดี เลยไม่ชวนคุย ต่างฝ่ายต่างไม่คุยกันโดยไม่รู้ตัว

2.เมื่อพ่อแม่ฟังแล้ว ชอบนำไปเล่าต่อ

พ่อแม่ชอบเอาลูกไปเปรียบเทียบกับลูกคนอื่น ถ้าลูกของตัวเองดีก็จะไปข่มทับคนอื่น แต่ถ้าลูกของตัวเองไม่ดี ก็จะเอามาเปรียบเทียบให้ลูกฟัง สำหรับลูกแล้วกำลังรู้สึกว่าพ่อแม่กำลังแฉความลับของตัวเอง ถ้าได้ยินต่อหน้าคนอื่น ก็จะทำหน้าไม่ถูก คุณพ่อคุณแม่ต้องดูว่าลูกของตัวเองนิสัยอย่างไร ทำให้ลูกปิดปากไม่พูด

3.เจ้ากี้เจ้าการ จู้จี้ขี้บ่น หยุมหยิมกับเรื่องเล็กน้อย

ช่องว่างระหว่างวัย ความสนใจของลูกกับพ่อแม่แตกต่างกัน บางครั้งก็ทำให้พ่อแม่ไม่พอใจ ให้คิดซะว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา การลุกไปทำตามคำสั่งพ่อแม่ช้า ก็จะเหมารวมว่าลูกขี้เกียจ บ่นยาว จนกลายเป็นคนขี้บ่น ลูกก็ไม่เข้าใจว่าทำผิดอะไร ลองถามก่อนว่าลูกว่างไหม ช่วยพ่อแม่ได้รึเปล่า อาจใช้เหตุผลในการกระตุ้น

4.พ่อแม่ฟังไม่จบ แล้วก็จ้องจับผิด

คุณพ่อ คุณแม่หลายคนตั้งใจฟังลูก แต่ก็ฟังไป ถามไป จับผิดไป สอนไป เล่าไปไม่ถึงไหนก็ถูกขัด “อ้าว แล้วเราไปทำแบบนั้นทำไมล่ะ” “นี่ลูกแย่เองรึเปล่า” คำถามเหล่านี้ควรถามเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม รดฟังลูกพูดจนจบก่อน เพราะลูกอาจจะคิดว่า “นี่เรายังพูดไม่ทันจบเลย เราผิดตลอด นี่ก็สอนอย่างเดียว เลิกพูดดีกว่า”

อ่านต่อ “อีก 4 เหตุผล พร้อมเทคนิคทำให้ลูกชอบพูดคุยกับพ่อแม่” คลิกหน้า 2

5.ถึงแม้พ่อแม่จะฟัง แต่ก็รู้สึกว่าไม่ได้ตั้งใจฟังเราเลย

บางครั้งคุณพ่อ คุณแม่อาจไม่ใส่ใจคำพูดของลูก ฟังให้มันจบๆ ผ่านๆ ไป แต่ลูกกำลังรู้สึกอยากเล่ามากๆ ตื่นเต้นมากๆ อยากให้ใครสักคนรับฟัง แต่พ่อแม่ก็ไม่สนใจฟังอย่างตั้งใจ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ปฏิเสธ การพูดกันก็จะน้อยลง การที่คนที่ลูกรักมากที่สุด ไม่รับฟัง ยิ่งจะทำให้กำลังใจของลูกลดลง ไม่อยากให้พ่อแม่ฟังอีก

6.บางครั้งพ่อแม่ชอบถาม เหมือนจับผิด

เมื่อพ่อแม่เริ่มตั้งคำถามที่ดูเหมือนจะจับผิด ลูกจะตั้งด่านกำแพงระแวงพ่อแม่ และมีความรู้สึกว่าทำไมพ่อแม่ต้องจับผิดตัวเองด้วย จริงๆ พ่อแม่อาจจะแค่เป็นห่วง และอยากคุยกับลูกบ้าง

7.เมื่อให้ลูกแสดงความคิดเห็น ก็ไม่ยอมฟัง

พ่อแม่ชอบเสนอให้ลูกแสดงความคิดเห็น แต่เมื่อลูกพูดออกไป ก็ปัดความเห็นลูกทิ้ง ทำให้ลูกคิดว่าคิดอะไรออกไปก็ไม่ดีสักอย่าง ขี้เกียจเสนอแล้ว ไม่พูดดีกว่า พ่อแม่ควรให้เหตุผลว่าทำไมความคิดของลูกถึงไม่ผ่าน แล้วลองให้ลูกคิดใหม่อีกครั้ง อย่าไปให้ลูกรำคาญพ่อแม่ที่ไม่ฟังตัวเอง จนกลายเป็นการไม่เข้าใจกัน

8.พ่อแม่มักเข้ามาพูดกับลูกผิดจังหวะ

บางครั้งลูกกำลังง่วนอยู่กับการทำการบ้าน มึนงงกับการเรียน หรือกำลังทำงานประดิษฐ์ชิ้นเอกที่ต้องใช้สมาธิ แต่พ่อแม่ก็เข้ามาขัดจังหวะ ในเวลาที่ลูกกำลังยุ่งๆ เมื่อลูกมีอาการหน้าตึงใส่ทันที แทนที่บรรยากาศการพูดคุยจะสบาย ไม่กดดัน กลับกลายเป็นการจบลงด้วยการทะเลาะ และต่างฝ่ายต่างก็ต้องเลิกพูดคุย

เทคนิคทำให้ลูกชอบพูดคุยกับพ่อแม่

1.คิดว่าลูกของเราเป็นผู้ใหญ่คนหนึ่ง เปิดใจ ฟังลูก และไม่คิดว่าเขาคือเด็ก ให้คิดว่าเขาคือผู้ใหญ่เหมือนเรา

2.ใกล้ชิดลูกแต่ไม่วุ่นวาย เจ้ากี้เจ้าการ บีบบังคับ คอยดูแลอยู่ห่างๆ อย่างห่วงๆ เมื่อมีปัญหาก็พร้อมคุย

3.อย่าสั่งสอน อบรม ดุว่า โวยวาย ทั้งที่ยังฟังไม่จบ ฟังให้ชัด ฟังให้หมด อดทนฟังจนจบ ก่อนที่จะสอนลูก

เครดิต: dek-d, oknation