เด็กสมัยใหม่ใช้สมาร์ทโฟนในการติดสื่อสารผ่านโลกออนไลน์ ทั้งเฟสบุ๊ค ทวิตเตอร์ และแอปพลิเคชันต่างๆ ทำให้หลายครอบครัวมีปัญหาว่าลูกใช้เวลาอยู่บนโลกออนไลน์มากเกินไป จนไม่มีเวลาทำการบ้าน หรือพักผ่อน คุณพ่อ คุณแม่ต้อง สอนลูกใช้โซเชียลเน็ตเวิร์ค อย่างถูกวิธี
พญ.ภัทรวรรณ ขันธ์แก้ว จิตแพทย์ โรงพยาบาลมนารมย์ ระบุว่า การติดต่อผ่านโลกออนไลน์ในสมัยนี้เป็นเรื่องปกติ เพราะสะดวก ประหยัด เพลินเพลิน ทำให้เด็กต้องการการยอมรับ มีคนมากด Like หรือ Comment ได้มีเพื่อนต่างเพศ ต่างวัย ต่างชาติ แต่ถ้าใช้ไปในทางที่ผิดก็อาจจะทำให้เสียหายได้ เพราะมักจะมีมิจฉาชีพแฝงอยู่ อาจจะล่อลวงลูกๆ ได้
“พ่อแม่ควรเรียนรู้การใช้สื่อที่เหมาะสมตามวัยของเด็ก เหมือนวิธีเลือกหนังสือให้ลูกอ่านตามวัย ถ้าบางกรณีเด็กเห็นอะไรที่ไม่เหมาะสมทั้งข้อความหรือรูปภาพแล้วมาถาม ก็ให้สอนและตอบคำถามเท่าที่เด็กวัยนั้นควรจะรู้ และตอบในเชิงวิชาการ มีรูปภาพประกอบชัดเจน หลักการก็เหมือนคู่มือคอยนำทางและให้ทางเลือกแก่เรา ส่วนรายละเอียดและวิธีการในการกระทำยังคงมีความแตกต่างกันไปบ้างเพื่อให้ได้คุณสมบัติที่พ่อแม่ต้องการ แต่เชื่อว่าด้วยความรักความเข้าใจของพ่อแม่ จะสามารถช่วยลูกและเป็นหลักให้ลูกได้เรียนรู้และพัฒนาไปในทางที่ดีได้”
วิธีสอนลูกใช้โซเชียลเน็ตเวิร์คอย่างถูกวิธี
1.พ่อแม่ควรเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกในการใช้สื่อต่างๆ เช่น โทรศัพท์คุยธุระสั้นๆ ไม่คุยนานๆ ให้ลูกรู้ว่าโทรศัพท์สะดวกในการติดต่อ การพูดนานๆ อาจทำให้คนที่มีธุระจำเป็นติดต่อเข้ามาไม่ได้ ใช้เฉพาะจำเป็น
2.มีขอบเขตการใช้งานอย่างพอเหมาะ และชัดเจน พูดกับลูกให้เข้าใจ เช่น ให้เล่นได้ 1 ทุ่ม – 2 ทุ่ม เท่านั้น ถ้าไม่จำเป็นไม่ควรใช้นอกเวลาที่กำหนด ถ้าจำเป็นต้องขออนุญาต หรือคุยกับเพื่อนได้ไม่เกิน 1 ชั่วโมง/วัน
3.กฎเกณฑ์ที่ตั้งขึ้น ขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดูของแต่ละบ้าน ต้องสมเหตุสมผล ชัดเจน ไม่คลุมเครือ พ่อแม่ต้องทำจริง และสม่ำเสมอ เป็นการสร้างวินัยให้กับลูก ไม่ควรปล่อยให้ลูกเติบโตไปโดยไร้ทิศทาง
4.พ่อแม่คอยเป็นห่วงอยู่ห่างๆ ไม่เข้าไปก้าวก่ายชีวิตส่วนตัวของเขา ถ้ามีปัญหาให้ลูกลองแก้ไขปัญหาด้วยตัวเองก่อน และคอยเป็นที่ปรึกษา ลูกจะแยกแยะได้ว่าคนไหนดี ไม่ดี เช่น เพื่อนต้องไม่รบกวนการเรียน
“การใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กในปัจจุบันนั้นเป็นเหมือนดาบสองคม คือมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ดังนั้นพ่อแม่จึงต้องทำความเข้าใจ และจะต้องทำหน้าที่เป็นเหมือนพี่เลี้ยงให้กับลูก โดยสามารถสื่อสารพูดคุยกับลูก เพื่อเด็กจะได้รู้สึกว่ามีโอกาสใช้สื่อ ไม่ได้ถูกห้าม ในขณะเดียวกันก็จะต้องหาทางแนะนำ สอนให้เด็กรู้จักวางแผนว่าจะใช้อย่างไรเพื่อจะไม่ให้เกิดปัญหาหรือรบกวนกิจกรรมอื่นๆ ของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการบ้าน หรือทำงาน”
ชมคลิป “ลูกติดโซเชียล เน็ตเวิร์ค ทำอย่างไรดี?” โดย หน่อย โกสินธ์ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการพัฒนาสมองเด็กและเป็นนักพัฒนาทางด้านจิตวิทยาเด็ก
อ่านต่อ “เคล็ดลับปกป้องลูกให้ปลอดภัยจากโลกออนไลน์” คลิกหน้า 2
เคล็ดลับปกป้องลูกให้ปลอดภัยจากโลกออนไลน์
เว็บไซต์ mashable แนะนำวิธีสอนลูกให้ปลอดภัยจากโลกออนไลน์จากผู้เชี่ยวชาญเอาไว้ดังนี้
- พ่อแม่ต้องรู้จักโซเชียลมีเดีย
Amy Morin นักจิตบำบัดและผู้เชี่ยวชาญด้านครอบครัว แนะนำให้พ่อแม่เรียนรู้โลกโซเชียลมีเดีย ทำความคุ้นเคยกับมัน และดูว่าลูกจะใช้ทำอะไรได้บ้าง เพื่อดูความเสี่ยงถึงอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น
- จำกัดอายุอย่างเหมาะสม
ถ้าคุณพ่อ คุณแม่ยังไม่อนุญาตให้ลูกเล่นโซเชียลมีเดีย ควรจะบอกลูกๆ ด้วยว่าเพราะอะไร แล้วเมื่อไหร่ถึงจะอนุญาตให้ใช้ได้
Mark Lowen ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาครอบครัว กล่าวว่า “เมื่อเด็กๆ รู้สึกว่าพ่อแม่ไม่ยอมให้ใช้ Facebook แน่ๆ พวกเขาก็จะเริ่มสร้าง Account ลับๆ ขึ้นมาโดยไม่บอกให้คุณรู้”
ดังนั้น พ่อแม่ต้องบอกลูกว่าจะเริ่มใช้ได้เมื่อไหร่ เช่น Facebook จะอนุญาตให้ใช้ได้เมื่ออายุครบ 13 ปีขึ้นไป ตามพรบ.คุ้มครองเด็ก COPPA ที่ห้ามไม่ให้บริษัทเหล่านี้เก็บข้อมูลส่วนตัวของเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปีโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ปกครอง
- พูดคุยกับลูกเกี่ยวกับอันตราย และผลกระทบของสื่อออนไลน์
เด็กหลายคน ไม่ตระหนักถึงผลกระทบที่มีพร้อมกับการใช้สื่อออนไลน์ และมีความประมาทในการเข้าถึงได้ง่าย และลืมว่าคนอื่นกำลังดูกิจกรรมออนไลน์ของพวกเขาอยู่
Amy Morin นักจิตบำบัดและผู้เชี่ยวชาญด้านครอบครัว กล่าวว่า “บ่อยครั้งที่พ่อแม่ลืมบอกกับลูกๆ ว่ารูปภาพ Comment และการมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ในโซเชียลมีเดียจะสร้างผลกระทบต่ออนาคตของเด็กๆ ได้อย่างไรบ้าง”
พ่อแม่ควรยกตัวอย่าง สถานการณ์จริงที่ก่อให้เกิดอันตราย เช่น เด็กถูกกลั่นแกล้งบนอินเทอร์เน็ต เพื่อให้เห็นความชัดเจน พูดคุยเกี่ยวกับสัญญาณอันตรายที่อาจทำให้ลูกเดือดร้อนเสียหาย เช่น การโพสต์รูปภาพ การแชร์สถานที่ เป็นต้น
- วางคอมพิวเตอร์ไว้ในพื้นที่ส่วนกลาง
แทนที่จะวางคอมพิวเตอร์ไว้ในห้องนอนลูก ก็เปลี่ยนมาวางไว้ในพื้นที่ส่วนกลางของบ้าน คุณพ่อ คุณแม่สามารถจับตามองลูกได้ ว่าลูกเข้าเว็บไซต์ไหนบ้าง
Amy Morin นักจิตบำบัดและผู้เชี่ยวชาญด้านครอบครัว กล่าวว่า “เด็กจะมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมน้อยลง เพราะพ่อแม่เห็นตลอดเวลา แต่ถ้าเป็นการใช้ผ่านสมาร์ทโฟน อาจต้องตั้งตั้งกฎว่าห้ามเอาเข้าห้องนอน
- ตั้งกฎเกณฑ์ และกฎการใช้
การสร้างกฎเกณฑ์ เป็นการปลูกฝังนิสัยการใช้โซเชียลมีเดียอย่างถูกวิธี เช่น จำกัดเวลาต่อวัน ทั้งพ่อ แม่ และลูก ใช้กฎเกณฑ์เดียวกัน เช่น ลูกเล่น 1 ทุ่ม แม่เล่น 2 ทุ่ม พ่อเล่น 3 ทุ่ม เป็นต้น เพื่อลูกจะไม่รู้สึกว่าตัวเองไม่ได้รับความยุติธรรม ทำไมพ่อแม่เล่นนานได้ แต่ตัวเองทำไม่ได้
Mark Lowen ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาครอบครัว กล่าวว่า “ไม่ควรเข้มงวดเกินไป หาจุดที่อยู่ตรงกลาง ให้ลูกไม่กดดันมาก เพราะต้องแอบเล่นเพื่อไม่ให้พ่อแม่รู้”
- ตรวจสอบการตั้งค่าความเป็นส่วนตัวของลูกๆ อยู่เสมอ
พ่อแม่ต้องคอยตรวจสอบ Privacy setting ในโซเชียลเน็ตเวิร์กต่างๆ ของลูกอยู่เป็นประจำ เนื่องจากแอปพลิเคชั่นเหล่านี้มีการอัปเดตอยู่เสมอๆ ซึ่งอาจทำให้การตั้งค่าต่างๆ ไม่เหมือนเดิม
เครดิต: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส, mashable, thumbsup