ทักษะใหม่ มีเพื่อรองรับในอนาคตอันใกล้เทคโนโลยีจะมีบทบาทกับชีวิตมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่นี้ นวัตกรรมสมัยใหม่ทั้งหมดจะเข้ามามีบทบาทกับระบบงาน ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเรียนรู้ทักษะใหม่ ให้กับเด็กรุ่นปัจจุบันเพื่อจะได้ปรับตัวเข้ากับงานใหม่ๆ ที่จะรองรับพวกเขาในอนาคต
อีก 5 ปีข้างหน้า โลกของการทำงานจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ มาดูกันว่ามี 10 ทักษะ ใดบ้างที่จำเป็นจะต้องปลูกฝังลูกตั้งแต่วันนี้
1 ทักษะ สำคัญสอนความ “มั่นคงทางอารมณ์” กับเด็ก
เนื่องจากเทคโนโลยีจะไปเร็วมาก เมื่อวันนี้เราได้รับข่าวแบบหนึ่ง วันต่อมาอาจจะได้รับข่าวอีกแบบหนึ่ง ซึ่งความเป็นจริงพื้นฐานนั้นควรจะอยู่ในวิจารณญาณของผู้อ่าน ซึ่งหากเราเชื่อไปตามกระแสที่เปลี่ยนแปลงไปทุกวัน จะทำให้ตัดสินใจผิดพลาด เพราะฉะนั้นจึงต้องปลูกฝังให้ลูกมีพื้นฐานองค์ความรู้ให้มากที่สุด เพื่อเป็นฐานให้กับสมองสำหรับใช้ประเมินข้อมูลจำนวนมากที่เขาจะได้รับ
2 เตรียมพร้อม “ภาษาที่สองและสาม”
ข้อมูลข่าวสารจะไม่มาเป็นภาษาไทยเพียงอย่างเดียวแล้ว โดยสากลแม้จะใช้ภาษาอังกฤษ แต่ภาษาอื่นๆ ก็น่าสนใจไม่เหมือนกัน เช่น ภาษาจีน ภาษาฝรั่งเศส ภาษาละติน ซึ่งต้องยอมรับว่าจะให้ลูกเรียนภาษาเดียวต่อไปนั้นไม่ได้แล้ว อย่างน้อยก็ควรจะเรียนภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สองและมีภาษาอื่นๆ เป็นภาษาที่สามหากเป็นไปได้
3 สอนให้ลูก “ขวนขวายหาความรู้” ด้วยตัวเอง
เมื่อลูกโตขึ้นพอจะรู้ความแล้วมีคำถามว่า “พ่อคะ สิ่งนี้มันเกิดขึ้นได้อย่างไรคะ?” แทนที่จะเฉลยบอกไปตรงๆ คุณอาจจะต้องลับสมองให้ลูกลองหาคำตอบได้ด้วยตัวเอง “แล้วลูกคิดว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไรล่ะ” … “หนูคิดว่า…” เด็กๆ ก็จะมีกระบวนการคิด และตั้งสมมติฐานเพื่อหาคำตอบ โดยแรกๆ เขาอาจจะยังไม่รู้ว่าจะไปหาข้อมูลเหล่านี้มาได้จากไหน แต่ยุคของการเซิร์ส (Search) อย่างปัจจุบันนั้นไม่ยากเลย เพียงแต่จะต้องเลือกคีย์เวิร์ด (Keyword) ที่ใกล้เคียงที่สุดเป็น
4 ไม่คิดแทนลูก “ให้ลูกคิดเอง”
ไม่ทึกทักเอาคำตอบมาบอกลูกในทันที เพราะจะทำให้เด็กไม่สามารถวิเคราะห์เองได้เป็น เด็กจะเข้าใจว่าหากเขาไม่เข้าใจหรือมีคำถาม เดี๋ยวคุณพ่อคุณแม่ก็จะมาบอกเขาเอง ซึ่งในอนาคตหากลูกจะต้องทำงานและอยู่ร่วมสังคมกับคนอื่น ก็จะทำให้ลูกไม่สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยตัวเอง
5 “รู้จักเทคโนโลยีใหม่ๆ”
พ่อแม่ต้องเลือกใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ให้เป็น และก่อนจะหยิบยื่นเทคโนโลยีให้กับลูกนั้นจะต้องควบคุมได้ เลือกเทคโนโลยีที่เหมาะกับช่วงวัยของลูก และสอนถึงปัญหาและวิธีการแก้ปัญหาด้วย เพราะหากปิดกั้นทั้งหมด อนาคตเด็กก็จะปรับตัวไม่ทันกับการเลือกใช้อุปกรณ์ต่างๆ แต่หากลูกยังไม่พร้อมทั้งทักษะทางร่างกายและการตัดสินใจพ่อแม่ยังไม่ควรหยิบยื่นให้
อ่านเรื่อง “10 ทักษะใหม่ ที่เด็กไทยควรมีติดตัว เพื่อการอยู่รอดในอนาคต” คลิกหน้า 2
6 อาชีพปัจจุบันจะหายไป “เรียนรู้ทักษะอาชีพใหม่ๆ”
อย่าเพิ่งกำหนดวางเส้นทางอาชีพให้กับลูก หากยังไม่รู้จักอาชีพใหม่ๆ ที่เหมาะสมกับพวกเขา เมื่อคุณพ่อคุณแม่คิดว่าการศึกษาให้กับลูก ในพิจารณาถึงเทรนด์ใหม่ๆ ที่กำลังจะมาด้วย และมองหาความมั่นคงที่กำลังจะเปลี่ยนรูปแบบไป โดยไม่ยึดกับอาชีพเดิมๆ ที่เคยมีอยู่ในอดีต
7 “หาความรู้” จากวิชาที่ไม่ได้สอนในโรงเรียน
ด้วยความที่โลกเปิดกว้างมากขึ้นอย่างปัจจุบันนี้ ตำราหลักในวิชาเรียนอาจจะตามสมัยโลกไม่ทันแล้ว และมีอีกหลากหลายสิ่งที่ต้องไปเรียนรู้นอกห้องเรียน เช่น ทักษะการเข้าสังคม ทักษะการหารายได้ ทักษะการเจรจาต่อรอง ซึ่งเด็กที่กำลังเข้าสู่ระบบงานในปัจจุบันได้หารายได้เป็นตั้งแต่ยังเรียนไม่จบปริญญาตรีแล้วด้วยซ้ำ
8 “ติดตามข่าวสาร” ของเพื่อนบ้าน
งานในอนาคตจะไม่ได้มีอยู่ในประเทศไทยเพียงอย่างเดียว การส่งแรงงานที่มีความรู้ความสามารถไปประเทศเพื่อนบ้านนี้อาจทำให้ลูกของเรามีฐานะรายได้สูงกว่าในยุคเราก็เป็นได้ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องสอนให้เขาติดตามข่าวสารของประเทศรอบๆ ไทยเราเช่นกัน เพื่อที่จะเข้าใจวัฒนธรรมในเบื้องต้น เผื่อเป็นตัวเลือกในการตัดสินใจในอนาคต
9 “เรียนรู้ระบบธุรกิจ”
เด็กที่เริ่มต้นเข้าใจระบบธุรกิจตั้งแต่เล็กๆ จะมีทักษะการค้าขาย หารายได้เป็นพื้นฐาน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่คุณพ่อคุณแม่อย่างเราต้องเข้าใจระบบธุรกิจคร่าวๆ บ้าง ชวนลูกวิเคราะห์ถึงสินค้า การทำการตลาด ซึ่งทำได้ตั้งแต่เด็กๆ ไม่ว่าลูกจะเล่นขายของ เล่นดนตรี ฯลฯ โดยฝึกให้ลูกคิดว่าคนจะชอบและซื้อสิ่งที่เรานำเสนอได้อย่างไร
10 เก็บออมและลงทุน
หลังจากหารายได้เป็นแล้ว เด็กยุคใหม่ต้องรู้จักเก็บออมและลงทุน เพราะเทคโนโลยีจะทำให้โลกเราเปลี่ยนแปลงไปไวมาก รวมถึงสิ่งล่อตาล่อใจด้วย การโฆษณาอาจทำให้ความจำเป็นพื้นฐานของเราอาจจะเปลี่ยนรูปแบบไป แต่พื้นฐานการออมและการลงทุนเพื่อเพิ่มความมั่งคั่งให้กับครอบครัว ลูกเราต้องทำเป็น เรื่องการออมเป็นวินัยอย่างหนึ่ง ถ้าเด็กรู้จักเก็บเงินเป็นตั้งแต่เด็กๆ ในอนาคตก็จะลดความเสี่ยงทางการเงินได้มากขึ้นด้วย
ติดตามเว็บไซต์ AMARIN Baby & Kids ที่มีบทความทักษะใหม่ๆ ของเด็กยุคปัจจุบันมาฝากแฟนๆ ทุกครอบครัวได้ที่ www.facebook.com/AMARINbabyandkids
ที่มา: กองบรรณาธิการ
ภาพ : ShutterStock