คุณครูฮาราดะเป็นครูสอนวิชาวิทยาศาสตร์ภาคพลเมืองจากประเทศฮ่องกง เมื่อคุณครูพานักเรียนชั้นประถมไปทัศนศึกษาบริเวณชายหาด เด็กๆ ก็เหยียบโดนขยะหลายชิ้น ทั้งครูและนักเรียนจึงตัดสินใจช่วยกันเก็บขยะไปทิ้ง คุณครูจึงถือโอกาสให้ความรู้กับเด็กๆ เพิ่มเติมเรื่องมลภาวะและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะสิ่งแวดล้อมทางทะเล พบว่าทุกวันนี้มากกว่า 80% ของมหาสมุทรทั่วโลกเต็มไปด้วยขยะพลาสติกเม็ดเล็กๆ ซึ่งขั้นตอนในการเก็บเศษพลาสติกชิ้นเล็กๆ เหล่านี้เป็นขั้นตอนที่ยุ่งยากและสิ้นเปลืองมาก คุณครูและนักเรียนกลุ่มนี้จึงคิดหาวิธีที่ง่ายและประหยัดเพื่อเก็บขยะเหล่านี้
[ted id=2363]
คุณครูให้เด็กๆ ช่วยกันคิดหาวิธีเก็บขยะได้อย่างอิสระ จากนั้นก็นำเอาความคิดที่เจ๋งๆ ของเด็กแต่ละคนมารวมกัน แล้วจึงสร้างเป็นต้นแบบหุ่นยนต์เก็บขยะที่ลอยน้ำได้ ภายหลังคุณครูได้นำรายละเอียดของสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ไปเขียนไว้บนเว็บไซต์ของโรงเรียน โดยหวังว่าจะมีใครที่มีเงินทุนมากพอมาเห็นผลงานชิ้นนี้ แล้วทำให้มันเป็นอุปกรณ์ที่ทันสมัยและใช้ได้จริง
ข้อคิดที่คุณครูได้จากการทำโครงการแรกนี้คือ เมื่อเขาให้นักเรียนเห็นปัญหาตรงๆ นักเรียนก็ไม่ลังเลที่จะช่วยกันระดมความคิดแก้ปัญหาทันที
ต่อมาเด็กๆ ได้เห็นภาพจากอินเตอร์เน็ต เป็นภาพของเด็กผู้ชายตัวเล็กๆ ที่ประเทศบังกลาเทศ กำลังตักน้ำที่ปนเปื้อนไปด้วยน้ำมัน เพื่อนำไปใช้อุปโภคบริโภค นักเรียนประถมจากฮ่องกงกลุ่มนี้จึงรวมตัวกันประดิษฐ์อุปกรณ์วัดระดับน้ำเสีย แล้วส่งไปยังประเทศบังกลาเทศ
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ แทนที่เด็กๆ จะมองเห็นปัญหาอย่างเดียว พวกเขาลงมือแก้ปัญหาด้วย พวกเขาทำมันจากความรู้สึกสงสารและเห็นใจเด็กผู้ชายที่อยู่ในภาพ คุณครูรู้สึกประทับใจมาก จึงเกิดแรงบันดาลใจริเริ่มโครงการใหม่ที่ใหญ่ขึ้น เนื่องจากคุณครูฮาราดะเป็นลูกครึ่งญี่ปุ่นและฝรั่งเศส เหตุระเบิดที่โรงงานนิวเคลียร์ในเมืองฟูกูชิม่า เมื่อปีค.ศ. 2011 จึงเป็นเรื่องที่ครูฮาราดะให้ความสำคัญอย่างมาก คุณครูเดินทางไปวัดค่ามลพิษที่เมืองฟูกูชิม่าเป็นประจำทุกปี แต่ปีนี้คุณครูให้เด็กๆ เข้าร่วมด้วย แต่ไม่ได้ไปที่ฟูกูชิม่าจริงๆ หรอกนะคะ เด็กๆ จะอยู่ที่ศูนย์รับข้อมูลมลพิษที่ฮ่องกงที่เด็กๆ ช่วยกันตั้งขึ้น คุณครูจะรายงานผลค่ามลพิษให้เด็กๆ ฟังอย่างละเอียดทุกวัน จากนั้นเด็กๆ จะช่วยกันคิดว่าจะแก้ปัญหานั้นอย่างไร
ในที่สุดคุณครูก็สามารถระดมทุนเพื่อสร้างศูนย์วิจัยสิ่งแวดล้อมที่ฮ่องกงได้สำเร็จ ที่ศูนย์นี้ทั้งผู้ใหญ่และเด็กจะได้ทำงานร่วมกันเพื่อช่วยแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม เด็กๆ จะได้มีโอกาสทำความฝันให้เป็นจริง ในขณะที่ผู้ใหญ่ก็ได้กลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง
ครูฮาราดะบอกว่าผู้ใหญ่ควรเลิกปิดบังความจริงเรื่องสังคมและสิ่งแวดล้อมจากเด็กๆ ได้แล้ว เด็กๆ จะได้มีโอกาสระดมความคิด แรงกาย และแรงใจช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ คุณครูเน้นย้ำข้อคิดจากอัจฉริยะอย่างไอน์สไตน์ที่บอกว่า “จินตนาการสำคัญกว่าความรู้” เด็กๆ นั้นมีจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ที่สามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ ผู้ใหญ่ควรสนับสนุนละไม่ปิดกั้นความคิดของเด็กๆ ค่ะ
ที่มา: http://www.ted.com/talks/cesar_harada_how_i_teach_kids_to_love_science#t-569578