AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

แม่แชร์ประสบการณ์! เมื่อลูกสาวเป็น “โรคเป็นสาวก่อนวัย”

โรคเป็นสาวก่อนวัย

โรคเป็นสาวก่อนวัย เป็นโรคที่ไม่ได้ร้ายแรงอะไร แต่เมื่อเป็นแล้วและไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี ก็อาจจะมีผลต่อส่วนสูงของเด็กไปตลอดชีวิต คือจะโตไปเป็น “ผู้ใหญ่เตี้ย” ได้

แม่แชร์ประสบการณ์! เมื่อลูกสาวเป็น “โรคเป็นสาวก่อนวัย”

เด็กที่อยู่ในวัย 7-10 ขวบขึ้นไป จะเริ่มก้าวเข้าสู่วัยเด็กโตกันแล้ว ร่างกายจะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง เช่น ฟันน้ำนมหลุด มีฟันแท้ขึ้น มีส่วนสูงที่เพิ่มขึ้น  และสำหรับในเด็กผู้หญิงบางคน จะเริ่มมีเต้านมหรือก้อนแข็ง ๆ ขึ้นบริเวณเต้านม หากเกิดกับเด็กในวัย 8 ขวบขึ้นไป ถือว่าเป็นเรื่องปกติที่ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลง แต่หากเกิดก่อน 8 ขวบ ก็อาจจะเป็นเพราะเป็น โรคเป็นสาวก่อนวัย ได้ ตัวแม่พริมาเองก็มีลูกที่อยู่ในวัยนี้เช่นเดียวกัน และได้ทราบมาว่าแม่ ๆ หลายคนกังวลถึงเรื่องนี้กันมาก จึงได้นำประสบการณ์ของ “แม่เบ๊นซ์” ที่ได้แชร์ประสบการณ์ที่ได้สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของลูกสาววัย 8 ขวบ จึงได้ค้นคว้าหาข้อมูล ไปปรึกษาแพทย์ และทำการรักษา โรคเป็นสาวก่อนวัย ไว้อย่างเข้าใจง่ายและละเอียด ในเฟสบุ๊คส่วนตัว Nutchanok Charoenwatcharawit ดังนี้

โพสนี้ขอเป็นสาระ วิชาการ และเล่าประสบการณ์ล้วนๆนะคะ มีประโยชน์มากกับแม่ๆที่มีลูกสาว 👩‍👧  ยาวถึงขั้นยาวมาก ใครอยากได้วิทยาทานมาอ่านกันได้ค่ะ

จากที่เบนซ์พาเทียร่าไปตรวจ โรคเป็นสาวก่อนวัย มีหลายคนอินบ๊อคมาสอบถามเยอะมากเกี่ยวกับโรคนี้เบนซ์เลยตัดสินใจมาโพสเรื่องโรคนี้ จากที่เบนซ์ศึกษามาและคุยกับคุณหมอนะคะ อาจจะไม่ละเอียดมาก ใครที่สงสัยว่าลูกสาวตัวเองเป็น ลองพาตรวจดูค่ะ

❤️❤️เรื่องนี้เบนซ์ขออนุญาตเทียร่าโพสแล้ว เพราะตอนนี้นางเริ่มโตแล้ว และเรื่องนี้คิดว่าควรให้เค้าตัดสินใจว่าจะยอมให้เราเล่าเรื่องของเค้ารึเปล่า ซึ่งนางยอมค่ะ❤️❤️

โรคเป็นสาวก่อนวัย เกิดจากการที่ต่อมใต้สมองหลั่งฮอร์โมนมากระตุ้นรังไข่ให้ผลิตฮอร์โมนเพศหญิงขึ้น หรือรังไข่สร้างฮอร์โมนเพศหญิงขึ้นมาเอง หรือเกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรม (เราน่าจะเป็นสาเหตุด้วย เพราะตัวเราประจำเดือนมาตอนอายุประมาณ 10 ปี)

ซึ่งฮอร์โมนเพศหญิงจะทำให้เด็กเจริญเติบโตเร็วกว่าเด็กปกติ แล้วก็หยุดโตเร็วกว่าเด็กปกติด้วย (เนื่องจากมวลกระดูกเปิดเร็วและปิดเร็วกว่าเด็กปกติ) และยังทำให้เด็กมีหน้าอกขึ้นเร็ว และประจำเดือนมาเร็วกว่าเด็กปกติด้วยค่ะ

วิธีการตรวจ จะตรวจจากการเจริญเติบโตของเด็ก ตรวจมวลกระดูก ระดับฮอร์โมน บางคนอาจจะต้องอัลตราซาวน์ดูรังไข่ หรือ MRI ด้วย
โดยปกติการรักษาเด็กที่เป็นโรคเป็นสาวก่อนวัยจะฉีดยาที่มีฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งฮอร์โมนช่วยชะลอการเป็นสาว ทำให้เด็กกลับมาเจริญเติบโตแบบเด็กปกติ

เป็นหนุ่มเป็นสาวก่อนวัย

อันนี้คือคร่าว ๆ เนอะ เท่าที่ศึกษามาอธิบายแบบง่าย ๆ

ส่วนเทียร่า นูน่าเริ่มสังเกตเห็นเหมือนเริ่มมีหน้าอกมาซักพัก แล้วส่วนสูงก็มากกว่าเพื่อนในห้องพอสมควรด้วย (อายุ 8 ปี 9 เดือน สูง 137 ซม.) เลยให้เบนซ์พาเทียร่าไปตรวจ จากที่รู้เรื่องอาการของโรคคร่าว ๆ มาบ้างก็เริ่มศึกษาละเอียดขึ้น

หลังจากนั้นก็เริ่มหาหมอ ตอนแรกหาหมอโรงพยาบาลเอกชนที่เทียร่าเคยรักษาอยู่ โดยเป็นคุณหมอเฉพาะทางด้านต่อมไร้ท่อเด็ก ไปถึงคุณหมอแจ้งว่าหน้าอกยังขึ้นไม่เยอะ ตรวจมวลกระดูกดู มวลกระดูกของเทียร่าเท่ากับเด็กอายุประมาณ 10 ขวบครึ่ง (ตอนตรวจอายุ 8 ขวบครึ่ง) ซึ่งไวกว่าเด็กปกติ คุณหมอขอรอ 3 เดือนจะขอตรวจฮอร์โมน

แต่ระหว่างที่รอ เบนซ์ก็เริ่มศึกษาลึกขึ้น ปรึกษากับพี่เบิร์ด หาบทความเกี่ยวกับ โรคเป็นสาวก่อนวัย คุยกับพี่ ๆ ที่เป็นหมอที่รู้จัก สุดท้ายได้ตัดสินใจเปลี่ยนโรงพยาบาลไปรักษาที่โรงพยาบาลพระมงกุฎ

เหตุผลหลัก โรงพยาบาลนี้มีแพทย์เฉพาะทางอาจารย์หมอด้านต่อมไร้ท่อเด็กที่พี่ที่สนิทกันรู้จักอยู่ และถ้ารักษาโรงพยาบาลรัฐมันก็จะช่วยเซฟค่าใช้จ่ายได้พอสมควรเลยด้วยค่ะ

วันแรกของการไปหาหมอ ก็พาเทียร่าไปทำบัตรโรงพยาบาลก่อน แล้วก็ไปแผนกกุมารแพทย์เพื่อพบคุณหมอ (กว่าจะได้พบคุณหมอใช้เวลาพอสมควรในการรอเรียกคิวชั่งน้ำหนัก ส่วนสูง) ซึ่งพอคุณหมอก็แจ้งอาการให้คุณหมอทราบ คุณหมอก็เริ่มตรวจเทียร่า คุณหมอแจ้งว่า การเจริญเติบโตหน้าอกของเด็กจะมี 5 ระดับ ซึ่งของเทียร่า ข้างขวาอยู่เกือบระดับ 2 ส่วนข้างซ้ายอยู่ระดับ 1 ถ้าดูจากแค่นี้ มันยังไม่ผิดปกติเท่าไหร่ (แต่โดยปกติถ้าเด็กมีหน้าอกแล้ว ประจำเดือนจะมาภายใน 3 ปี) เด็กที่เป็นโรคนี้ที่ชัดเจนเลยคือ อายุ 8 ปี หน้าอกจะเจริญเติบโตที่ระดับ 3 จึงขอ x-ray มวลกระดูกเชื่อเช็คต่อ ทีนี้พอได้ผลมาคุณหมอก็แจ้งว่า ตอนนี้มวลกระดูกเทียร่าอยู่ที่ 11 ขวบกว่าแล้ว (อายุตอนเข้าพบคุณหมอคือ 8 ปี 10 เดือน) ซึ่งค่อนไปทางเป็นโรคเป็นสาวก่อนวัยแล้ว

ทีนี้คุณหมอขอนัดตรวจฮอร์โมนต่อ ซึ่งของเทียร่า คุณหมอขอตรวจฮอร์โมนในเลือด จะต้องเข้าแล๊ปรอฟังผล ถ้าตรวจต้องมาอาทิตย์ถัดไปเพราะตรวจเฉพาะวันอังคารเท่านั้น และใช้เวลานานประมาณ 2-3 ชั่วโมง แต่จะลองตรวจเลือดแบบไม่ต้องเข้าแล๊ปก่อนก็ได้ ถ้าโชคดีเจอเลยก็ไม่ต้องมาตรวจแบบเข้าแล๊ป ซึ่งตรวจวันนั้นได้เลย แต่ถ้าไม่เจอต้องเจ็บตัว 2 ทีนะ ตอนเย็นคุณหมอจะโทรมาแจ้งผลเลือด
เราเห็นว่าไหน ๆ ก็มาแล้วเลยให้ตรวจเลือดเลยก่อนแล้วกัน สรุปผลเลือดที่ตรวจออกมา มีฮอร์โมน แต่ยังไม่สามารถฟันธงได้ เลยต้องมาตรวจอึกรอบ

💰 ค่าใช้จ่ายในการหาหมอวันแรก 90 บาท/ ค่า x-ray 800-900 บาท ค่าตรวจเลือดถ้าจำไม่ผิด 200 กว่าบาท ส่วนของครั้งถัดไปนางพยาบาลแจ้งค่าใช้จ่ายเลยว่าอยู่ที่ 5-6 พันบาท

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

อ่านต่อ แม่แชร์ประสบการณ์! เมื่อลูกสาวเป็น “โรคเป็นสาวก่อนวัย”

แม่แชร์ประสบการณ์! เมื่อลูกสาวเป็น “โรคเป็นสาวก่อนวัย”

หาคุณหมอครั้งที่ 2 เพื่อตรวจฮอร์โมน

วันนี้คุณหมอให้งดอาหารหลังเที่ยงคืน แต่ทานน้ำได้ค่ะ ไปถึงทีนี้ไปรอที่ห้องตรวจเลือดเลย ไปถึงเจอเด็กประมาณ 4-5 คนรอตรวจอยู่เหมือนกัน ก็จะมีหลอดที่จะบรรจุเลือดของเด็ก ๆ อยู่ประจำเตียงทุกคน บางคนโดนเจาะหลายหลอดอาจจะต้องอยู่นานแล้วแต่อาการ

ของเทียร่าหลอดแรกที่เจาะจะเป็นเลือดปกติ หลังจากนั้นฉีดฮอร์โมนเข้าไป รออีก 1 ชั่วโมง

หลอดที่สองจะเป็นเลือดหลังจากฉีดฮอร์โมน 1 ชั่วโมง รออีก 1 ชั่วโมง เป็น 2 ชั่วโมง

หลอดที่สามจะเป็นเลือดหลังจากฉีดฮอร์โมนไป 2 ชั่วโมง

เสร็จแล้วนำหลอดเลือดไปส่งแล๊ป เป็นอันเรียบร้อย รอคุณหมอโทรมาแจ้งผลเลือด

💰 ค่าใช้จ่ายรอบ 2 ค่ายาฮอร์โมน 900 ค่าตรวจเลือดเข้าแล๊ปประมาณ 4,500 บาท (ราคาถูกลงเพราะคุณหมองดตรวจแล๊ปบางตัว ที่เจอไปตอนเจาะเลือดคราวที่แล้วออก)

💉💉💉 ผลเลือดออกมาสรุปว่าเป็นโรคสาวก่อนวัย ทีนี้ก็เริ่มทำการรักษา

พบคุณหมอครั้งที่ 3 คุณหมอแจ้งว่าพบฮอร์โมนเพศหญิงของเทียร่าสูงกว่าเด็กปกติค่ะ

โดยปกติค่า LH (ฮอร์โมนลูทิไนซิง) ของเด็กผู้หญิงจะน้อยกว่า 0.3 (หลังจากทำการกระตุ้นฮอร์โมน)

ตรวจเลือดปกติก่อนกระตุ้น ค่า LH ได้ 0.16
หลังกระตุ้น 1 ชั่วโมง ค่า LH ได้ 0.68
หลังกระตุ้น 2 ชั่วโมงค่า LH พุ่งขึ้นเป็น 13 😓😓
แต่ถือว่ายังไม่หนัก เด็กบางคนขึ้นไปถึง 20-30 ก็มี

ภาวะเป็นสาวก่อนวัย

ก็คือต้องทำการรักษา ฉีดยายับยั้งการหลั่งฮอร์โมน ยาตัวนี้ไม่มีผลเสียร้ายแรงอย่างมีสารกระตุ้นมะเร็งหรืออะไรพวกนี้ แต่จะมีผลข้างเคียงบ้างคือ ทำให้กินเก่งขึ้น(อาจจะต้องคุมน้ำหนัก กระดูกบางลงชั่วคราว
สำหรับเด็กที่แพ้ยา จะมีอาการหายใจไม่ออก หายใจติดขัด แต่จะเกิดน้อยมากและเท่าที่รักษามายังไม่เคยเจอเด็กแพ้ยาตัวนี้

ทีนี้ยาจะมีแบบ ฉีดเดือนละครั้ง กับฉีดแบบ 3 เดือนครั้ง เป็นยาเหมือนกัน แต่โดสไม่เท่ากัน และยาแบบฉีด 3 เดือนครั้ง จะไม่ออกฤทธิ์ หรือออกฤทธิ์น้อยกับเด็กอ้วน
ข้อดีของการฉีดยา 3 เดือนครั้งก็คือ ไม่ต้องต้องเสียเวลามาฉีดยาทุกเดือน และค่ายาจะมีราคาถูกกว่า

ของเทียร่าเบนซ์เห็นว่าเทียร่าไม่ได้เป็นเด็กอ้วน น่าจะฉีดแบบ 3 เดือนเข็มได้ คุณหมอก็แนะนำเป็นแบบนี้ เลยตัดสินใจฉีดแบบ 3 เดือนเข็ม
คุณหมอแจ้งว่า
เข็มแรกในช่วง 3 เดือน จะยังไม่เห็นผลในทันที และอาจจะมีผลข้างเคียงสำหรับเด็กบางคนคือคัดเต้านม หรือเลือดออกเหมือนมีประจำเดือน ซึ่งเทียร่าไม่เป็น
เข็มที่สอง ถึงจะเริ่มเห็นผล เช่น เต้านมเล็กลง มวลกระดูกจะเท่าเดิม

ซึ่งจะตรวจอีกทีหลังจากฉีดยาไปแล้ว 2 เข็ม จะตรวจมวลกระดูกและฮอร์โมน ถ้ามวลกระดูกยังโตอยู่และยังมีฮอร์โมนสูงอยู่ อาจจะต้องเปลี่ยนไปฉีดแบบเดือนละเข็ม แต่ถ้ามวลกระดูกคงที่ ฮอร์โมนลดลงก็ฉีดตัวนี้ต่อไป และเทียร่าจะกลับไปเจริญเติบโตแบบเด็กปกติ สูงขึ้นปีละ 4-6 ซม.ค่ะ

ส่วนชื่อยาที่เทียร่าใช้ฉีดชื่อยาดิเฟอเรลีน (ชนิดออกฤทธิ์ 3 เดือน)

💰ค่ายาที่ฉีด 8,500 บาทโดยประมาณ ส่วนยาที่ฉีดแบบเดือนละเข็มจะอยู่ที่ 6500 บาทโดยประมาณ ถ้าเป็นที่โรงพยาบาลเอกชนจะอยู่ที่หมื่นต้นถึงหมื่นกลาง

ส่วนเด็กที่เป็นโรคนี้ก่อนอายุ 8 ปีสามารถใช้สิทธิ์ 30 บาทรักษาได้ค่ะ

ปล. ใครสงสัยอะไรเม้นถามได้นะคะ ถ้าว่างจะรีบมาตอบค่ะ😊
ปล.2 แชร์ได้ไม่หวงข้อมูลจ้า

ทีมงาน Amarin Baby & Kids ขอขอบคุณแม่เบ๊นซ์ Nutchanok Charoenwatcharawit ที่ได้อนุญาตให้แบ่งปันประสบการณ์ โรคเป็นสาวก่อนวัย ของน้องเทียร่ามา ณ ที่นี้ด้วยนะคะ และสำหรับแม่ ๆ ที่สงสัยว่าลูกตนเองอาจจะเข้าข่ายที่จะเป็น โรคเป็นสาวก่อนวัย ก็สามารถเข้าไปปรึกษาแพทย์ เพื่อเข้ารับการรักษาที่ถูกต้องได้ค่ะ

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

กรมอนามัยเผย! กินไขมันมากไป เสี่ยงโรค “เป็นสาวก่อนวัย”

รู้ทันภาวะ “เป็นหนุ่มเป็นสาวก่อนวัย” ก่อนลูกหยุดสูง

กรมอนามัยห่วง! เด็กไทยเตี้ยกว่าเกณฑ์ แนะ 5 วิธีเพิ่มความสูง

ส่งลูก เรียนก่อนเกณฑ์ ต้นเหตุ เด็ก 8 ขวบคิดฆ่าตัวตาย

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids