ผู้เขียน “The A to Z Guide to Raising Happy, Confident Kids” อธิบาย เด็กๆ จำเป็นต้องเรียนรู้และยอมรับให้ได้ว่า “ฉันเก่งเรื่องนี้ แต่ไม่ถนัดเรื่องโน้น…ถึงอย่างนั้นฉันก็จะพัฒนาตัวเอง แล้วฉันก็สนุกที่ได้ลองพยายามด้วย” จะทำอย่างไร ให้ลูกเรายอมรับสิ่งเหล่านี้ได้ล่ะ
ใส่ใจกับความรู้สึกของลูก แทนที่จะบอกว่า “น้องเจมส์ว่ายน้ำเร็วกว่าหนู” หรือ “หนูวาดรูปสวยกว่าน้องอ๋อม” ลองเปลี่ยนเป็น “วันนี้หนูว่ายน้ำเร็วขึ้นแล้วนะ” หรือ “รูปของหนูสวยจังเลย”
สอนให้ลูกรู้จัก “ขอ” และ “ให้” ความช่วยเหลือ ถ้าแม่หนูไปเรียนสเกต แต่ยังทรงตัวได้ไม่ดีสักที เขาสามารถไปขอร้องเพื่อนที่เล่นเก่งๆ ว่า “ช่วยสอนเราบ้างได้ไหม” โดยไม่ต้องรู้สึกเป็นปมด้อย ตรงกันข้าม ถ้าเขาเล่นสเกตเก่งแล้ว ก็ควรไปช่วยสอนเพื่อนที่เพิ่งหัดเล่นด้วยเหมือนกัน ความเอื้อเฟื้อจากเพื่อนจะช่วยให้เด็กๆ รู้สึกสบายใจกับการเรียนรู้หรือการฝึกหัดมากขึ้น
สอนให้ลูกสนุกกับการเรียนรู้ พูดคุยเรื่องการเรียนหรือกิจกรรมต่างๆ โดยไม่ต้องพาดพิงถึงตำแหน่งหรือการแข่งขัน เอาเถอะน่า…มีคนมากมายที่ชอบเล่นกีฬา แต่จะมีสักกี่คนที่ได้ไปถึงทีมชาติ การแข่งขันเป็นส่วนหนึ่งของความสนุก ไม่ใช่เป้าหมายหลัก
ตั้งเป้าหมาย ถ้าหากลูกเริ่มท้อแท้ อย่าปล่อยให้เขาตัดใจแบบทันที ลองกำหนดเป้าหมายระยะใกล้ เช่น เรียนให้จบคอร์สพื้นฐาน หรือสอบได้ขั้นต้นแล้วจึงค่อยเลิก
การตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนและมีระยะเวลาแน่นอนจะลดความทรมานและสนุกกับกิจกรรมนั้นๆ ได้มากขึ้น (ไม่แน่ เมื่อไปถึงจุดนั้น ลูกอาจจะไม่อยากเลิกเรียนแล้วก็ได้)
บางครั้ง…ก็ต้องปล่อยมันไป กิจกรรมบางอย่างเป็นแค่สิ่งที่ลูกเคย “อยาก” เรียน (เช่น คลาสเปียโนหรือเทควันโด) ขณะที่บางอย่างเป็นสิ่งที่ลูก “ควร” เรียน (เช่น ว่ายน้ำ) สำหรับกิจกรรมแรก ถ้าลูกเกิดเบื่อหรือถึงขีดจำกัดแล้วจริงๆ ก็ควรปล่อยให้เขาได้หยุด หรืออย่างน้อยก็พักสักระยะ จะเป็นการดีทั้งกับตัวลูกและตัวคุณเอง
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง