AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ยาสมาธิสั้น ตัวช่วยให้ลูกเก่ง หรือ แพะรับบาปจากพ่อแม่?

ยาสมาธิสั้น

ซน อยู่ไม่นิ่ง ทำอะไรไม่เสร็จ ทำงานพลาดบ่อย ๆ ขี้ลืม โมโหง่าย อาการของเด็กที่ทำให้พ่อแม่และคุณครูสงสัยว่าอาจเป็นโรคสมาธิสั้น และพาลูกไปพบจิตแพทย์เพื่อขอ ยาสมาธิสั้น โดยหวังจะแก้ปัญหานี้ได้ด้วยยา

ยาสมาธิสั้น ตัวช่วยให้ลูกเก่ง หรือ แพะรับบาปจากพ่อแม่?

ในสังคมที่มีการแข่งขันสูง ทุกวันมีแต่ความเร่งรีบ เทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ทำให้ผู้คนชอบความรวดเร็ว ไม่ชอบการรอคอย การศึกษาในระบบ “แพ้คัดออก” ดั่งเช่นที่ “หมอเดว” รศ.นพ. สุริยะเดว ทรีปาตี กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น อดีตผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เขียนว่า #เมื่อลูกร้องขอเวลาจากแม่ #เมื่อระบบการศึกษาขโมยเวลาแม่ลูก ในบทความ ดังนี้

การศึกษาไทย ในระบบ “แพ้คัดออก” ขโมยเวลาลูก

จะเห็นได้ว่าเด็กจะต้องตื่นแต่เช้าเพื่อทำการบ้านเช้า กลับบ้านเย็นหลังจากเรียนพิเศษ วันเสาร์อาทิตย์ก็ต้องเรียนพิเศษ และทบทวนการเรียน จนเมื่อผลการเรียนแย่ลง ความรับผิดชอบของเด็กมีน้อยลง ครูจึงแนะนำให้ไปพบจิตแพทย์เพื่อขอ ยาสมาธิสั้น การกระทำเหล่านี้ ได้ตราหน้าเด็กคนนี้ไปเรียบร้อยแล้วว่าเป็น “เด็กสมาธิสั้น” จะต้องกินยาเท่านั้น ถึงจะอยู่ร่วมกับคนในสังคมได้ อยากให้ลองมองดูนะคะ ว่าปัญหาที่ทำให้เด็กผลการเรียนแย่ลง ความรับผิดชอบมีน้อยลง เป็นเพราะตัวเด็กเอง หรือเป็นเพราะพ่อแม่และระบบการศึกษา? โดย นพ. ทรงภูมิ เบญญากร จาก คุยกับจิตแพทย์เด็ก ก็ได้อธิบายถึงอาการสมาธิสั้นแท้ และ สมาธิสั้นเทียม เพื่อให้พ่อแม่ได้ดูและแยกอาการที่ลูกเป็น เพื่อให้แก้ปัญหาให้ถูกจุด แทนการใช้ ยาสมาธิสั้น เพื่อแก้ปัญหา ดังนี้

สมาธิสั้นแท้ VS. สมาธิสั้นเทียม

สมาธิสั้นแท้ คือโรคทางสมองชนิดหนึ่ง เมื่อสมองผิดปกติจึงทำให้พฤติกรรมผิดปกติ เนื่องจากสมองส่วนที่ทำหน้าที่ในการควบคุมสมาธิหรือการเรียงลำดับขั้นตอนในการทำงานยังพัฒนาการได้ไม่เต็มที่ ทำให้เด็กมักทำอะไรไม่ได้นาน นั่งกับที่ไม่ได้และทำงานไม่เสร็จ เพราะเหตุใดแพทย์ถึงต้องให้ทาน ยาสมาธิสั้น เนื่องจาก อาการสมาธิสั้นเกิดจากการพัฒนาของสมองส่วนที่ควบคุมสมาธิหรือเรียบเรียงตามลำดับขั้นตอนยังไม่พัฒนาเต็มที่ ทำให้เกิดพฤติกรรมนั่งได้ไม่นาน ซุกซน ยุกยิกหรือทำงานไม่เสร็จ แพทย์จึงต้องให้ยามาช่วยควบคุมอาการนั้น จนกว่าที่สมองจะสามารถพัฒนาได้อย่างเต็มที่ ซึ่งในบางคนอาจจะต้องกินไปจนถึงวัยรุ่น

สมาธิสั้น

สมาธิสั้นเทียม อาการเหมือนกับสมาธิสั้นแท้ทุกประการต่างกันที่ “สาเหตุ” เพราะว่าโรคสมาธิสั้นเทียมมีสาเหตุจากพัฒนาการและสิ่งแวดล้อม “ไม่ใช่จากสมอง” ซึ่งสาเหตุที่สำคัญที่สุดคือสาเหตุทาง “การเลี้ยงดู” และยิ่งในเด็กที่ทำทุกอย่างด้วยความรีบเร่งอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะเด็กที่โตมากับสภาพแวดล้อมในเมือง มีการแข่งขันกับเวลา เมื่อเด็กต้องทำงานแข่งกับเวลาตลอดโดยที่พัฒนาการของเด็กยังไม่พร้อมทำให้ออกมาเป็นอาการทำงานผิดบ่อย ๆ ขี้ลืม เหม่อลอย บ่อยครั้งที่เด็กพบกับความผิดหวังที่ทำไม่ได้ทันเวลาก็จะเป็นปัญหาทางอารมณ์ เช่น หงุดหงิดง่าย เบื่อหน่าย กังวลตามมาด้วย นอกจากการเลี้ยงดูแล้ว สาเหตุอีกอันคือ “เทคโนโลยี” คือโทรศัพท์มือถือ แท๊บเล็ต และอินเตอร์เน็ต ทุกวันนี้เทคโนโลยีทำให้เราไม่รู้จักรอคอย ทำให้เราไม่รู้จักวางแผน และทำให้เรากลายเป็น “สมาธิสั้นเทียม”

จะเห็นได้ว่าการทาน ยาสมาธิสั้น ไม่ได้ช่วยให้เด็กที่เป็นสมาธิสั้นเทียม หายจากโรคนี้ได้ แต่การเลี้ยงดูและการเอาใจใส่ต่างหาก ที่จะทำให้เด็กกลับมามีสมาธิและตั้งใจเรียนมากขึ้น โดยทางกระทรวงสาธารณสุข ก็ได้กล่าวถึงกรณีที่มีพ่อแม่นำยาสมาธิสั้นมาให้ลูกทานเพื่อหวังให้ลูกฉลาดขึ้น ดังนี้

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

อ่านต่อ กระทรวงสาธารณสุขชี้! ยาสมาธิสั้นไม่ช่วยให้ลูกฉลาดขึ้น

กระทรวงสาธารณสุขชี้! ยาสมาธิสั้น ไม่ช่วยให้ลูกฉลาดขึ้น

กรณีที่มีผู้ปกครองบางรายว่านำ “ยาเมทิล เฟนิเดต” (methylphenidate) ซึ่งเป็น ยาที่ใช้รักษาเด็กที่มีปัญหาสมาธิสั้น ไปให้บุตรหลานที่เป็นเด็กปกติกิน เพื่อหวังให้มีสมาธิในการเรียนเพิ่มขึ้นนั้น

พญ. วิมลรัตน์ วันเพ็ญ รองผู้อำนวยการ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้ความรู้เกี่ยวกับยาเมทิลเฟนิเดตว่า เป็นยารักษาโรคสมาธิสั้น ออกฤทธิ์ให้เด็กที่มีพฤติกรรมซน ไม่อยู่นิ่ง วู่วาม หุนหัน มีสมาธิมากขึ้น ยาชนิดนี้ราคาไม่แพง แต่ไม่สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป ส่วนใหญ่จะต้องให้แพทย์สั่งจ่ายเฉพาะที่โรงพยาบาลเท่านั้น

พญ.วิมลรัตน์บอกว่า ยาดังกล่าวนี้จะไปเพิ่ม “สารสื่อประสาท” ในสมองส่วนหน้า เมื่อกินยาแล้ว เด็กจะมีสมาธิกลับมาดีขึ้น แต่ถ้ายาหมดฤทธิ์ก็อาจจะกลับมาไม่อยู่นิ่งเหมือนเดิม การกินยาชนิดนี้ไม่ถือเป็นการรักษาโรคสมาธิสั้น เพียงแต่ยาตัวนี้จะช่วยคุมให้เด็กมีสมาธิมากขึ้น อยู่นิ่งมากขึ้น เมื่อเด็กนิ่งขึ้น หากจะมีการบอกหรือสอนสิ่งอื่นใด จะทำให้เด็กเข้าใจมากขึ้น

โรคสมาธิสั้น

ส่วนการที่มีผู้ปกครองบางรายนำยาชนิดนี้ไปให้เด็กปกติกิน จะมีผลอะไรหรือไม่อย่างไรนั้น พญ.วิมลรัตน์กล่าวว่า เชื่อว่าไม่ได้มีผลอะไรกับเด็กมากนัก เพราะยาชนิดนี้ไม่มีผลข้างเคียง แต่หากเด็กที่กินไม่มีความผิดปกติใดๆ ทางสมอง ก็เท่ากับกินยาไปโดยเปล่าประโยชน์ สิ้นเปลืองเงินโดยใช่เหตุ

“เด็กปกติที่ไม่มีสมาธิในการเรียนรู้ในห้องเรียน มีต้นตอของปัญหาคือ ขาดความตั้งใจ มากกว่าป่วยทางสมอง ฉะนั้น ถ้ากินยาเข้าไปก็อาจจะมีผลต่อสมองบ้าง เช่น เมื่อยาหมดฤทธิ์ก็กลับมาเป็นเด็กที่ไม่มีสมาธิ ตามเดิม แต่ไม่ได้แก้ปัญหาเรื่องความตั้งใจ หรือแก้ที่นิสัยของเด็กคนนั้น” พญ.วิมลรัตน์กล่าว

และหากผู้ปกครองต้องการแก้ปัญหาเด็กปกติที่ไม่มีสมาธิควรจะใช้วิธีการฝึกฝน พูดคุย ทำความเข้าใจ มากกว่าที่จะใช้ยาหรือสารเคมีช่วย ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกจุดมากกว่า

พญ.วิมลรัตน์ ฝากถึงผู้ปกครองทุกคนว่า อย่าทำลายโอกาสบุตรหลานที่เป็นเด็กปกติ เพราะเขามีโอกาสจะพัฒนาตัวเองต่อไปได้ ถ้าพ่อแม่ใส่ใจดูแลมากกว่าที่จะหันไปพึ่งยา แต่หากผู้ปกครองมัวแต่พึ่งสารเคมี เด็กโตขึ้นก็จะกลายเป็นคนที่ไม่มีความอดทน หรือไม่มีความตั้งใจทำอะไรได้ด้วยตัวเอง ซึ่งเท่ากับเป็นการทำร้ายเด็กทางอ้อม

สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ลูก ซน อยู่ไม่นิ่ง ทำอะไรไม่เสร็จ ทำงานพลาดบ่อย ๆ ขี้ลืม โมโหง่าย หรือมีอาการอื่น ๆ ที่เข้าข่ายว่าอาจเป็นโรคสมาธิสั้น โดยไม่ว่าจะเป็นสมาธิสั้นแท้หรือสมาธิสั้นเทียมก็ตาม ควรพาลูกไปพบจิตแพทย์ หากลูกเป็นโรคสมาธิสั้นแท้ การทานยาและการรักษาที่ถูกต้องจะช่วยให้ลูกมีสมาธิที่ดีขึ้นได้ และหากลูกเป็นโรคสมาธิสั้นเทียม การพูดคุยและปรึกษาปัญหาในครอบครัวกับจิตแพทย์ ก็จะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่หาทางออกและมีแนวทางในการเลี้ยงดูลูกให้ถูกต้องต่อไป บางทีคุณพ่อคุณแม่อาจจะทราบถึงเหตุผลที่ลูกซนหรือดื้อจากจิตแพทย์ก็ได้นะคะ

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

ลูกเรียนไม่เก่ง ได้เกรดน้อย ไม่ได้แปลว่า “โง่”

แชร์ประสบการณ์ พาลูกตรวจเช็ก “โรคสมาธิสั้น” พร้อมวิธีแก้

ไม่อยากให้ลูกเป็น “โรคสมาธิสั้น ADHD” หยุดหยิบยื่นสิ่งเหล่านี้

รู้ทันภาวะ “เป็นหนุ่มเป็นสาวก่อนวัย” ก่อนลูกหยุดสูง

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : นพ. ทรงภูมิ เบญญากร “คุยกับจิตแพทย์เด็ก”, สสส.

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids