ข่าวจากเพจ Drama-addict ที่แม่น้องเล็กไปอ่านเจอ เมื่อมีคุณแม่หลายๆ คนฝากเตือนถึงอาหารเสริมตัวหนึ่ง ที่มีการโฆษณาขายในกลุ่มแม่ๆ ที่มีลูกน้อยเป็นโรคสมาธิสั้นว่า อาหารเสริมช่วยสมาธิสั้น รับประทานแล้วหาย ไม่ต้องรับประทานยาจากคุณหมอที่จัดให้ มีคนดังเป็นพรีเซ็นเตอร์
อาหารเสริมช่วยสมาธิสั้น มีจริงหรือ?
ทางเพจออกมาระบุว่า สินค้าโฆษณาเกินจริง เพราะโรคสมาธิสั้น เป็นโรคเกี่ยวกับสารสื่อประสาทในสมองของเด็กที่มีความผิดปกติ ทำให้เด็กมีความจดจ่อ หรือสมาธิน้อยกว่าเด็กทั่วไป อาจแสดงออกด้วยความซน ไม่อยู่นิ่ง หุนหันพลันแล่น ไม่มีสมาธิ การเรียนอาจมีปัญหา ฝากเตือนคุณพ่อ คุณแม่ว่าอย่าหลงเชื่ออาหารเสริมเหล่านี้ ควรไปปรึกษาแพทย์ดีที่สุด
เพราะโรคนี้สามารถรักษาได้ มีทั้งยาที่ช่วยทำให้เด็กมีสมาธิมากขึ้น และคุณพ่อ คุณแม่ก็สามารถปรับวิธีการเรียนการสอนให้ลูกน้อยมีสมาธิมากขึ้นได้ เช่น ตำแหน่งโต๊ะเก้าอี้ในห้องเรียนเล็กๆ น้อยๆ ก็สามารถช่วยลูกน้อยให้มีสมาธิ มีความจดจ่อกับการเรียนมากขึ้น เพียงแค่คุณครู และคุณพ่อ คุณแม่มีความรู้ในโรคสมาธิสั้นอย่างจริงจัง ก็จะทำให้ลูกน้อยมีพัฒนาการที่ดีขึ้นได้ และใช้ชีวิตอยู่ในสังคมอย่างปกติสุข
แต่ถ้าคุณพ่อ คุณแม่ยังหลงเชื่อ และให้ลูกน้อยรับประทานอาหารเสริมแทนการรับประทานยา และไม่เข้ารับการรักษาอย่างถูกต้อง เมื่อลูกน้อยไม่ได้รับการรักษา ก็จะมีแนวโน้มที่จะเป็นคนขี้โมโห หงุดหงิดง่าย และอาจมีปัญหาในการใช้ชีวิตใจสังคมได้
พูดง่ายๆ ก็คือ คุณพ่อ คุณแม่อย่าหลงเชื่อ เพราะสมาธิสั้นไม่ได้รักษากันได้เพียงแค่การรับประทานอาหารเสริม คุณอาจทำร้ายลูกไปทั้งชีวิต และมีส่วนทำให้ชีวิตลูกพังได้นั่นเอง
แม่หลายๆท่านฝากเตือนมา ช่วงนี้มันจะมีคนเอาอาหารเสริมตัวนึง ไปโฆษณาขายตามกลุ่มแม่ๆที่มีลูกเป็นโรคสมาธิสั้น…
Posted by Drama-addict on Thursday, June 22, 2017
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ “ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับโรคสมาธิสั้น” คลิกหน้า 2
ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับโรคสมาธิสั้น
ข้อมูลจากเว็บไซต์ของคณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า โรคสมาธิสั้น เรียกย่อๆ ว่า ADHD (Attention deficit/ hyperactivity disorder) เด็กวัยเรียนทั่วโลก พบว่าเป็นเด็กสมาธิสั้นประมาณ 7% คือในเด็ก 100 คน จะพบเด็กสมาธิสั้น 7 คน หรือถ้ามีเด็กในห้องเรียน 40-50 คน ก็อาจจะมีเด็กสมาธิสั้น 2-3 คน
อาการของเด็กสมาธิสั้น
1.ไม่อยู่นิ่ง ซุนซน เช่น ยุกยิก กระสับกระส่าย มืออยู่ไม่สุข อยู่นิ่งไม่ได้ ขยับตัวตลอดเวลา นั่งไม่ติดที่ ชอบเดินไปมา ชอบวิ่ง ไม่ชอบเดิน ชอบปีนป่าย หรือเล่นผาดโผน เล่นรุนแรง เล่นได้ไม่รู้จักเหนื่อย พูดเก่ง พูดเร็ว พูดไม่หยุด พูดไปได้เรื่อยๆ
2.หุนหันพลันแล่น เช่น รอคอยไม่ได้ คิดอะไรแล้วจะทำทันทีทันใด พูดทะลุกลางปล้อง ตอบก่อนผู้ถามจะถามจบ ถ้าต้องทำอะไรที่ช้าๆ นานๆ จะไม่อยากทำ หรือไม่มีความอดทนพอที่จะทำสิ่งนั้น
3.ไม่มีสมาธิ ทำงานตกหล่น สับเพร่า เหม่อลอย ขี้ลืม ทำของหายบ่อยๆ ทำงานไม่ค่อยเสร็จ วอกแวกง่าย อะไรผ่านก็หันไปมอง ดูเหมือนไม่ได้ฟังเวลามีคนพูดด้วย
สาเหตุของโรคสมาธิสั้น
โรคสมาธิสั้นเกิดจากสมองส่วนหน้า (ควบคุมเรื่องสมาธิ การยับยั้งชั่งใจ การเคลื่อนไหวร่างกาย) ทำงานน้อยกว่าปกติ เพราะสารสื่อประสาทหลั่งออกมาน้อยกว่าปกติ โดยปัจจัยที่ทำให้เกิดความผิดปกตินี้ ได้แก่
1.ปัจจัยทางพันธุกรรม คือ ถ้ามีคุณพ่อ หรือคุณแม่ 1 คน เป็นโรคสมาธิสั้น พบว่าลูกจะเป็นโรคนี้ 57%
2.ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม คุณแม่สูบบุหรี่ หรือใช้สารเสพติดช่วงตั้งครรภ์ น้ำหนักแรกเกิดของลูกน้อยกว่าเกณฑ์ ลูกน้อยได้รับพิษจากสารตะกั่ว
โรคนี้มักพบร่วมกับโรคอื่นๆ ได้แก่ โรคการเรียนรู้บกพร่อง ปัญหาพฤติกรรมดื้อต่อต้าน โรคกล้ามเนื้อกระตุก โรควิตกกังวล
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ “การรักษาโรคสมาธิสั้น” คลิกหน้า 3
การรักษาโรคสมาธิสั้น
คุณพ่อ คุณแม่ และคุณครูมีส่วนร่วมในการช่วยรักษาโรคสมาธิสั้นให้ลูกน้อย ซึ่งโรคนี้สามารถรักษาได้ด้วยาที่มีฤทธิ์กระตุ้นประสาท และการปรับพฤติกรรมให้ลูกน้อย ดังนี้
1.จัดสถานที่ให้เหมาะสม เช่น ไม่ควรนั่งใกล้หน้าต่าง ประตู หรือเพื่อนที่มักชวนคุยเวลาเรียน เพราะจะทำให้วอกแวก ควรนั่งแถวหน้าใกล้กระดาน ใกล้คุณครู ที่บ้านควรปิดโทรทัศน์เวลาทำการบ้าน จัดโต๊ะทำการบ้านในมุมสงบ หรือหันเข้ากำแพง
2.ตั้งกฎกติกา และสื่อสารกับลูกให้ชัดเจน เช่น ทำการบ้านให้เสร็จก่อนจึงจะเล่นได้ หรือถ้าทำการบ้านเสร็จ 10 จะได้ดูการ์ตูน 1 ตอน เป็นต้น
3.แบ่งตอนการทำงานต่างๆ เป็นขั้นย่อยๆ ให้ลูกค่อยๆ ทำ เช่น ทำการบ้าน 10 ข้อแล้วพัก แล้วกลับมาทำต่ออีก 10 ข้อ เป็นต้น
4.ให้สัญญาณเตือน เช่น เรียกชื่อ หรือเรียกให้ลูกเปลี่ยนกิจกรรม เช่น อาจให้ออกมาช่วยคุณครูลบกระดาน หรือแจกสมุด แล้วให้กลับไปนั่งเรียนต่อ ข้อควรระวังต้องไม่แสดงความไม่พอใจ หรือรำคาญในการเตือน
5.ให้รางวัล หรือชมเชย เมื่อลูกน้อยทำงานเสร็จ เพื่อเป็นแรงเสริมให้ลูกประสบความสำเร็จ เช่น ให้สติ๊กเกอร์ติดสมุด เมื่อลูกทำการบ้านเสร็จ หรือพูดชมให้ลูกภูมิใจในตัวเอง เป็นต้น
คุณพ่อ คุณแม่ของลูกน้อยเป็นเด็กสมาธิสั้นหรือไม่นั้น ต้องหมั่นสังเกต อาการนี้อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ถ้าสงสัยว่าลูกน้อยเป็นเด็กสมาธิสั้นหรือไม่ แม่น้องเล็กแนะนำว่าควรพาลูกไปพบแพทย์เพื่อตรวจและรักษาอย่างถูกวิธีค่ะ
ด้วยความรัก และหวังดี เพื่อลูกฉลาด ดี และมีสุข
แม่น้องเล็ก
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง คลิก!!
ลูกไฮเปอร์ กับสมาธิสั้น แตกต่างกันอย่างไร?
เทคนิคดูแลเรื่องเรียน เมื่อลูกสมาธิสั้น
ภัยจากทีวี อย่าปล่อยให้ลูกน้อยเป็นเด็กสมาธิสั้น และออทิสติก
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่