“วัคซีนเอชพีวี” การลงทุนที่คุ้มค่าสำหรับเด็กหญิง-ชาย ป้องกัน "มะเร็งปากมดลูก" - Amarin Baby & Kids
“วัคซีนเอชพีวี” การลงทุนที่คุ้มค่าสำหรับเด็กหญิง-ชาย ป้องกัน "มะเร็งปากมดลูก"

“วัคซีนเอชพีวี” การลงทุนที่คุ้มค่าสำหรับเด็กหญิง-ชาย ป้องกัน “มะเร็งปากมดลูก”

Alternative Textaccount_circle
event
“วัคซีนเอชพีวี” การลงทุนที่คุ้มค่าสำหรับเด็กหญิง-ชาย ป้องกัน "มะเร็งปากมดลูก"
“วัคซีนเอชพีวี” การลงทุนที่คุ้มค่าสำหรับเด็กหญิง-ชาย ป้องกัน "มะเร็งปากมดลูก"

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า การฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส “เอชพีวี” สามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูกในผู้หญิงได้สูงถึง 70% ของเชื้อที่ก่อมะเร็ง และแนะนำให้ฉีดในเด็กหญิงและชายอายุ 9-13 ปี เนื่องจากเด็กจะสร้างภูมิคุ้มกันได้ดีที่สุด และจากผลการศึกษาวิจัยล่าสุด ภูมิคุ้มกันนั้นจะคงอยู่ยาวนานถึง 8 ปีเลยทีเดียว เรามารู้จักไวรัสเอชพีวีและ “ความร้าย” ของมันกันค่ะ

“ไวรัสเอชพีวี” คืออะไร?

ไวรัสเอชพีวี (HPV: Human Papilloma Virus) มีอยู่ในธรรมชาติมาเป็นพันปีแล้วค่ะ และมีมากกว่า 100 สายพันธุ์! ไวรัสเอชพีวีชอบเกาะติดที่ผิวหนังมนุษย์เรา โดยเฉพาะผิวหนังที่มีความชุ่มชื้น และมีประมาณ 15 สายพันธุ์ที่เป็นชนิดความเสี่ยงสูง ก่อให้เกิดโรคมะเร็งต่างๆ ของอวัยวะสืบพันธุ์ทั้งหญิงและชาย การศึกษาด้านการแพทย์เพิ่งค้นพบเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้ว่า ไวรัสเอชพีวีสายพันธุ์ที่ 16 และ 18 เป็นสาเหตุหลักของมะเร็งปากมดลูกมากกว่า 70% เลยทีเดียวค่ะ แถมยังมีสายพันธุ์ที่ 6 และ 11 ที่ก่อให้เกิดโรคหูดหงอนไก่ทั้งในชายและหญิง ซึ่งเป็นโรคที่ชวนอับอายและก่อความรำคาญถึง 90%

ทำไม “ไวรัสเอชพีวี” ถึงทำให้เป็นโรคมะเร็ง?

โดยปกติแล้วหากคนเราติดเชื้อไวรัสเอชพีวีจะไม่มีอาการใดๆ และร่างกายของเราก็สามารถขจัดเชื้อออกไปเองได้ด้วย แต่ถ้าเราได้รับเชื้ออย่างต่อเนื่อง หรือติดเชื้อเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้เป็นโรคมะเร็งปากมดลูก โรคมะเร็งองคชาติ โรคมะเร็งทวารหนัก โรคมะเร็งช่องปากและคอ รวมถึงโรคหูดหงอนไก่ด้วย

เราติดเชื้อไวรัสเอชพีวีจากที่ไหนได้บ้าง?

ไวรัสนี้จะติดต่อทางการสัมผัสทางผิวหนัง เพศสัมพันธ์จึงเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ติดเชื้อบริเวณปากมดลูก อวัยวะเพศ รวมถึงทวารหนัก แต่เราอาจติดเชื้อเอชพีวีโดยไม่จำเป็นต้องมีเพศสัมพันธ์ก็ได้

“มะเร็งปากมดลูก” ภัยร้ายของผู้หญิงไทย

จากสถิติพบว่าผู้หญิงไทยเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกเฉลี่ยวันละ 14 คน หรือราวปีละกว่า 5,000 คน! และมีผู้ป่วยใหม่เพิ่มปีละกว่า 10,000 คน และยังเป็นมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับ 2 ของผู้หญิงทั่วโลกอีกด้วย

“หูดหงอนไก่” ทำลายความมั่นใจ อันตรายต่อเบบี๋แรกเกิด

โรคหูดหงอนไก่เป็นได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง แต่พบในผู้หญิงมากกว่า ปัจจุบันนี้พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมาก แม้จะไม่อันตรายถึงชีวิต แต่บริเวณที่เป็นโรคนั้นเจ็บปวด ไม่น่าดู อาจทำให้คู่รักมีปากเสียงกัน และแม้รักษาหายแล้วก็มีโอกาสเป็นซ้ำสูงมาก นอกจากนี้หากคุณแม่ตั้งครรภ์เป็นหูดหงอนไก่ อาจขัดขวางการคลอด หรือทำให้ทารกเป็นหูดหงอนไก่ที่คอหอย หลอดลม หรือเส้นเสียง อาจมีผลให้ทารกหายใจไม่ออกจนเสียชีวิตได้ แม้การผ่าคลอดจะทำให้เสี่ยงน้อยลงแต่ป้องกันไว้ดีกว่าแก้ใช่ไหมคะ

“วัคซีนเอชพีวี” วิธีป้องกันที่ดีเยี่ยมและคุ้มค่าที่สุด

แม้ปัจจุบันการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่การตรวจนั้นก็เพียงเพื่อ “การรักษาในระยะก่อมะเร็ง” เท่านั้น องค์การอนามัยโลกยืนยันว่าการฉีดวัคซีนจะช่วยป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้รวดเร็วขึ้น และมีประสิทธิภาพสูง ดังนั้นการฉีดวัคซีนร่วมกับการตรวจคัดกรองเป็นประจำจะทำให้ผู้หญิงปลอดภัยจากมะเร็งปากมดลูกมากที่สุด

ปัจจุบันวัคซีนป้องกันไวรัสเอชพีวีมี 2 ชนิด คือ ชนิด 2 สายพันธุ์ ครอบคลุมสายพันธุ์ที่ 16 และ 18 ที่เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก และมะเร็งช่องคลอดในเพศหญิง และชนิด 4 สายพันธุ์ ครอบคลุมสายพันธุ์ที่ 6, 11, 16 และ 18 ช่วงลดความเสี่ยงของมะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด มะเร็งทวารหนัก หูดหงอนไก่ ทั้งในเพศหญิงและเพศชาย

ต้องฉีดกี่เข็ม แล้วผลข้างเคียงล่ะ?

วัคซีนทั้งสองชนิดต้องฉีดทั้งหมด 3 เข็มในผู้ใหญ่ เข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 1-2 เดือน และเข็มที่ 3 ห่างจากเข็มแรก 6 เดือน และแนะนำให้ฉีดในผู้หญิงและผู้ชายอายุ 9-26 ปี

ผลข้างเคียงมีเพียงอาการเล็กน้อย เช่น ปวด บวม แดง บริเวณที่ฉีดยา ซึ่งรักษาตามอาการก็เพียงพอ เช่น กินยาแก้ปวด

ฉีดตั้งแต่เด็ก ได้ผลดีที่สุด

ในเด็กอายุ 9-13 ปี ฉีดวัคซีนเอชพีวีเพียง 2 เข็มก็พอ เนื่องจากร่างกายเด็กกระตุ้นให้สร้างภูมิคุ้มกันได้ดีกว่าผู้ใหญ่ถึง 2 เท่า และยังเป็นวัยที่ยังไม่มีเพศสัมพันธ์ จึงมีโอกาสได้รับเชื้อเอชพีวีน้อยกว่าวัยผู้ใหญ่

จากการติดตามผลการใช้วัคซีนเอชพีวีชนิด 4 สายพันธุ์ในระยะยาว พบว่าตรวจพบภูมิคุ้มกันในเลือดแม้เวลาจะผ่านไปแล้ว 8 ปี กระตุ้นแอนติบอดี้ได้สม่ำเสมอ และปลอดภัยในเด็กด้วย

นอกจากนี้ยังพบว่าถ้าเด็กได้รับวัคซีนขณะอายุ 12-13 ปี จะป้องกันการติดเชื้อได้ดีมาก แต่หากฉีดช้าไปเพียง 2.5 ปี ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นถึง 6 เท่า

ปัจจุบันรัฐบาลประเทศออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา และแคนาดา กำหนดนโยบายให้วัคซีนเอชพีวีเป็นวัคซีนพื้นฐานของเด็กชายและหญิงอายุ 11-12 ปีแล้ว

ทำไมเด็กชาย-ผู้ชายจึงควรฉีด “วัคซีนเอชพีวี”?

เพราะผู้ชายเป็นพาหะของเชื้อไวรัสเอชพีวี หากคุณผู้ชายติดเชื้ออาจไม่มีอาการใดๆ และมักตรวจไม่พบเชื้อ จึงส่งต่อเชื้อไปให้กับหญิงคนรักโดยไม่รู้ตัว การฉีดวัคซีนเอชพีวีชนิด 4 สายพันธุ์ก็จะช่วยลดการแพร่เชื้อไปสู่ผู้หญิง และป้องกันโรคมะเร็งองคชาติ มะเร็งทวารหนัก และหูดหงอนไก่ได้อีกด้วยค่ะ

ไปฉีดวัคซีนได้ที่ไหนบ้าง?

สามารถฉีดได้ตามโรงพยาบาลใหญ่ๆ โรงพยาบาลประจำจังหวัด โรงพยาบาลประจำอำเภอบางแห่ง ราคาจะแตกต่างกันไป ราคาถูกที่สุดคือเข็มละราว 2,000 บาท รวม 3 เข็ม ราว 6,000 บาท แนะนำให้สอบถามรายละเอียดและค่าใช้จ่ายกับทางโรงพยาบาลโดยตรงค่ะ

คำถามอื่นๆ

•  ฉีดวัคซีนเอชพีวีแล้ว ยังต้องตรวจคัดกรองประจำปีอยู่หรือเปล่า?

ยังคงต้องตรวจค่ะ เพราะยังมีโอกาสที่จะเป็นมะเร็งปากมดลูกจากสาเหตุอื่นที่ไม่ใช่เชื้อเอชพีวีสายพันธุ์ 16 และ 18 ที่วัคซีนให้ความคุ้มครอง

•  แม่ท้องฉีดได้ไหม?

ยังไม่มีผลการศึกษาอย่างชัดเจนว่าหากฉีดวัคซีนเอชพีวีแล้วจะส่งผลถึงทารกในครรภ์หรือร่างกายของคุณแม่ตั้งครรภ์หรือไม่ แนะนำให้ปรึกษาสูตินรีแพทย์เจ้าของครรภ์ค่ะ

•  ผู้หญิงที่เคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว สายเกินไปไหมที่จะฉีดวัคซีน?

แม้จะเคยมีเพศสัมพันธ์มาแล้ว การฉีดวัคซีนก็ยังให้ประโยชน์ในการป้องกันมะเร็งปากมดลูก มะเร็งบริเวณอวัยวะเพศ และหูดหงอนไก่ได้อย่างคุ้มค่าค่ะ จากการวิจัยพบว่า ผู้หญิงอายุถึง 45 ปี ที่ได้รับวัคซีนก็ยังมีความคุ้มครองต่อการติดเชื้อเอชพีวีอย่างมีนัยสำคัญ

•  สาวๆ ที่พบว่าผล pap smear ผิดปกติ หรือมีผลการตรวจเชื้อเอชพีวีเป็นบวก หรือแม้แต่ได้รับการรักษาระยะก่อนมะเร็งของปากมดลูกไปแล้ว สามารถฉีดวัคซีนได้หรือไม่?

ฉีดได้และมีประสิทธิภาพเพียงพ่อในการป้องกันการติดเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์อื่นๆ ในวัคซีนนั้นค่ะ มีข้อมูลทางการแพทย์สนับสนุนว่าอาจช่วยป้องกันการกลับเป็นซ้ำของผู้ป่วยที่รับการรักษาระยะก่อนมะเร็งของปากมดลูกไปแล้ว

 

ข้อมูลจาก:

  1. งานแถลงข่าว “เอชพีวี…ไวรัสร้าย อันตรายมากกว่าที่คิด” โดย สมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และสมาคมมะเร็งนรีเวชไทย เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2558 ณ โรงแรมอินเตอร์คอนทิเนนทัล ราชประสงค์
  2. http://haamor.com/th/วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก/

เรียบเรียงโดย: กองบรรณาธิการเว็บไซต์

ภาพ: shutterstock

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up