บุหรี่ไฟฟ้า เป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับคนที่ชอบสูบบุหรี่ แต่ยังรักสุขภาพ เพราะเชื่อว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีทาร์ หรือยางไม้ที่เกิดจากการเผาไหม้ยาสูบ ซึ่งเป็นตัวการของโรคมะเร็ง การสูดไอน้ำจึงเป็นทางเลือกที่เชื่อว่าอันตรายน้อยกว่า แต่จะเป็นอย่างนั้นจริงหรือ? Amarin Baby & Kids มีคำตอบ
บุหรี่ไฟฟ้า อันตรายกว่าที่คิด
จริงๆ แล้ว ถึงแม้ว่าบุหรี่ไฟฟ้าจะไม่มีทาร์ แต่ก็ยังมีสารเคมีตัวอื่นที่ทำให้เกิดมะเร็งได้ เช่น ฟอร์มาลดีไฮด์ โพรพิลีนไกลคอล ตะกั่วหนัก และสารอื่นๆ เพราะนิโคตินของบุหรี่ไฟฟ้ามีความหนืด ไม่สามารถระเหยเป็นไอได้ จึงต้องเติมสารเคมีรวม 30 ชนิด เพื่อละลายนิโคติน
ควันที่ลอยออกมาจากบุหรี่ไฟฟ้าก็เป็นอันตราย ทำให้คนรอบข้างเกิดการระคายเคืองระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะคนที่เป็นโรคหอบหืด หรือภูมิแพ้
จริงอยู่ที่บุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวน แต่ก็ยังมีผลกระทบระยะยาวที่ยังไม่อาจรู้ สิ่งสำคัญคือ ไม่ว่าจะเป็นบุหรี่มวน หรือบุหรี่ไฟฟ้า นั่นคือสารเสพติด เมื่อใช้แล้วเลิกไม่ได้ และนำไปสู่การเป็นนักสูบที่ทั่วโลกกลัว
“หวาน หอม รสอร่อย ดูดแล้วเท่ พิษน้อย ช่วยเลิกบุหรี่”
นี่คือมายาคติโลกสวยของบริษัทบุหรี่ไฟฟ้า ที่ถูกส่งผ่านความเชื่อด้วยการจ้างนักวิจัย ให้ช่วยเผยแพร่ข้อมูลออกไปทั่วโลก แต่สำหรับในประเทศไทย ถือว่าเป็นเทรนด์ใหม่ที่ควรป้องกันก่อนสาย
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เปิดเผยว่า ขณะนี้มีหลายฝ่ายที่เข้าใจ ว่า ควันบุหรี่ไฟฟ้ามีแต่ไอน้ำกับนิโคติน ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย และวัยรุ่นนิยมสูบ เพราะว่ามีควันเยอะดี ขอชี้แจงว่า ความเข้าใจตามที่ผู้ขายกล่าวอ้างไม่ตรงกับข้อเท็จจริง โดยควันไอน้ำจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้า และที่ผู้สูบพ่นออกมาจำนวนมากนั้น นอกจากไอน้ำ และนิโคตินแล้วยังมีสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อร่างกายอีกมากมาย จากการตรวจสอบของกรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่น สารโพรพิลีน ไกลคอล เมนทอล ไซโคลเฮกซานอล ไตรอะซิติน อนุพันธ์เบนซีน ตะกั่ว และสารก่อมะเร็ง เช่น โครเมียม สารหนู และแคดเมียม
ศ.นพ.ประกิต กล่าวอีกว่า ทั้งนี้การวิจัยพบว่าไอระเหยจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้า มีขนาดอนุภาคที่เล็กมากกว่าอนุภาคในควันบุหรี่ธรรมดา ทำให้มีลักษณะเป็นควันละเอียดที่ถูกสูดเข้าสู่ปอดได้ลึกมาก อนุภาคที่เล็กมากนี้ส่วนหนึ่งจะจับกับเนื้อเยื่อปอดไม่สามารถที่จะถูกขับออกมาจากปอดได้ และส่วนหนึ่งจะถูกดูดซึมสู่กระแสเลือดได้อย่างรวดเร็ว โดยแม้ว่าสารก่อมะเร็งที่พบในไอระเหยของบุหรี่ไฟฟ้าจะมีน้อยชนิดกว่าในควันบุหรี่ธรรมดา และเป็นไปได้ว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าจะมีโอกาสเกิดโรคมะเร็งน้อยกว่าการสูบบุหรี่ธรรมดา แต่มีรายงานการวิจัยในหนูที่ให้หายใจเอาไอระเหยจากบุหรี่ไฟฟ้าวันละหนึ่งชั่วโมง สัปดาห์ละ 5 วันเป็นเวลา 4 เดือน พบว่าเยื่อบุหลอดลมและถุงลมปอด มีการหลั่งสารเคมีที่บ่งถึงการได้รับความระคายเคืองของเนื้อเยื่อ และมีการทำลายของเนื้อเยื่อปอด ซึ่งเหมือนกับการเปลี่ยนแปลงระยะแรกของโรคถุงลมปอดพอง ในหนูที่ได้รับควันบุหรี่ธรรมดา (Garcia-Arcos วารสาร Thorax 24 สิงหาคม 2559)
ศ.นพ.ประกิต ล่าวอีกว่า ขณะที่มีรายงานการวิจัยที่แสดงถึงอันตรายของการสูดควันบุหรี่ไฟฟ้าที่มีต่อเซลล์เยื่อบุหลอดเลือด โดยภายหลังการสูดควันไอน้ำบุหรี่ไฟฟ้าเพียง 10 ครั้ง จะสามารถตรวจพบเซลล์เยื่อบุหลอดเลือด ที่ตายและหลุดลอยอยู่ในกระแสเลือดจำนวนมาก (L.Antonie Wiz วารสาร Atherosclerosis 2016) เช่นเดียวกับการตรวจพบในเลือดคนที่สูบบุหรี่ธรรมดา การวัดความยืดหยุ่นของหลอดเลือดก็พบว่าลดลงหลังการสูบบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ล้วนเป็นการเปลี่ยนแปลงที่จะนำไปสู่การเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในระยะยาว การเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อปอดและเซลล์บุหลอดเลือดที่เกิดจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าที่เหมือนกับการตรวจพบในการสูบบุหรี่ธรรมดา ต้องมีการศึกษาติดตามอย่างใกล้ชิดเพราะการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่งจะแพร่หลายเป็นเวลาไม่ถึงสิบปีมานี้เอง
“ผมอยากขอให้ทุกฝ่ายอย่าหลงเชื่อคำโฆษณาที่ว่าบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัย และโดยเฉพาะขอเรียกร้องให้เยาวชนอย่าใช้ตัวเองเป็นเครื่องทดลองอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า โดยอย่าไปสูบบุหรี่ไฟฟ้า เพราะหากเกิดการเสพติดนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าแล้ว จะเลิกสูบยากเช่นเดียวกับการเสพติดบุหรี่ธรรมดาเลยทีเดียว” ศ.นพ.ประกิต กล่าว – ที่มาข่าวจาก : มติชน (8/06/2017)
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ “7 ข้อต้องรู้ ทำไมห้ามสูบบุหรี่ไฟฟ้า” คลิกหน้า 2
7 ข้อต้องรู้ ทำไมห้ามสูบบุหรี่ไฟฟ้า
1.ผลกระทบในระยะยาว ซึ่งยังไม่ทราบว่าเป็นอย่างไร แต่มีการทดลองสั้นๆ พบว่ามีผลกระทบต่อหัวใจ หลอดเลือดใหญ่ ไม่ได้แตกต่างกับบุหรี่ธรรมดา
2.สารนิโคติน มีหลักฐานยืนยันมากมาย ว่ามีผลต่อการพัฒนาสมองของเด็ก ทำให้เกิดการพัฒนาที่ไม่สมบูรณ์ และมีความผิดปกติของโครงสร้างสมอง เกิดสมาธิที่ไม่ปกติ
3.ในอเมริกา มีหลักฐานชัดเจนว่า เด็กที่ไม่เคยสูบบุหรี่ แต่ทดลองสูบบุหรี่ไฟฟ้า หลังจากนั้นไม่นาน เขาจะกลายเป็นเด็กที่สูบบุหรี่ธรรมดา ไม่ได้สูบบุหรี่ไฟฟ้า
5.บริษัทผู้ผลิตไม่ได้ผลิตบุหรี่ไฟฟ้ามาเป็นตัวช่วยเลิกบุหรี่ เพราะถ้าปลอดภัยจริง ต้องมีการทดลองที่มีหลักฐานชัดเจน เพื่อขึ้นทะเบียนกับ อย. ได้ และต้องถูกควบคุมมาตรฐานสารที่อยู่ในบุหรี่ว่าควรมีเท่าไหร่
6.บุหรี่ไฟฟ้ามักเติมสารแต่งกลิ่น ทำให้เด็กติด ถ้าบุหรี่ไฟฟ้าช่วยเลิกบุหรี่ได้จริง ก็ไม่ควรเติมสารแต่งกลิ่น
7.บริษัทบุหรี่ข้ามชาติ เข้ามาผลิตบุหรี่ไฟฟ้า และทำการตลาด รวมถึงคัดค้านมาตรการควบคุมบุหรี่มาโดยตลอด ในอนาคตเมื่อบุหรี่ไฟฟ้าแพร่หลาย ก็อาจจะถูกคัดค้านมาตรการควบคุมเช่นเดียวกัน
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ “ทำความรู้จัก สารจากควันบุหรี่ไฟฟ้า” คลิกหน้า 3
ทำความรู้จัก สารจากควันบุหรี่ไฟฟ้า
รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล เปิดเผยข้อมูลเอกสาร THE FACTS on E-Cigarette Use Among Youth and Young Adults ของกระทรวงสาธารณสุขสหรัฐอเมริกา (US Surgeon General : 2016) พบว่า บุหรี่ไฟฟ้า หรือ E-Cigarettes เป็นอุปกรณ์ใหม่ที่จะส่งผ่านสารนิโคตินเข้าสู่ร่างกายแบบละอองฝอย โดยไม่ต้องเผาไหม้ ละอองฝอยที่พ่นออกมามีสารนิโคตินสกัดจากใบยาสูบ ระดับของสารนิโคตินเสี่ยงต่อชีวิตทันที เมื่อผู้ใหญ่รับเข้าไปในระดับ 60 มิลลิกรัม และในเด็กเล็กเพียง 6 มิลลิกรัม
- สาร Propylene glycol
เป็นสารที่ทำให้เกิดละอองฝอย เกิดควันคล้ายควันบุหรี่ แต่เบากว่ามาก อย. รับรองสารนี้เป็นสารที่ใช้ในอาหารเพื่อรสชาติ สีสัน การผลิตยา หรือเวชภัณฑ์เครื่องสำอาง ถ้าสัมผัสสารนี้ในระยะสั้น จะก่อให้เกิดการระคายเคืองระบบทางเดินหายใจ และระคายเคืองตา ถ้าสัมผัสในระยะยาวก็จะทำให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น หอบหืด
- สาร Glycerol / Glycerin
เป็นสารเพิ่มความชื้นที่จะผสมกับสาร Propylene glycol ทำให้ละอองฝอยชุ่มชื้น การได้รับสารเหล่านี้ส่งผลต่อร่างกาย ระบบทางเดินหายใจ ผิวหนัง และตา
- สาร Flavorants หรือสารปรุงแต่ง
มีทั้งหมดเป็นพันชนิด เช่น เมนทอล สตรอเบอร์รี บับเบิ้ลกัม ฯลฯ องค์กรรับรองมาตรฐานการใช้สารนี้จาก สมาคมผู้ผลิตสารแต่งกลิ่นรส (Flavor and Extract Manufacturers Association หรือ FEMA) รับรองให้ทานได้ แต่ไม่รับรองการสูดดม
ด้วยบรรจุภัณฑ์ที่สวยหรู ดึงดูดใจ ทันสมัย มีรสชาติหอม หวาน เมื่อเด็กที่ไม่เคยสูบบุหรี่มาก่อนได้ลิ้มลอง จะนำไปสู่การสูบบุหรี่มวนได้ และบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ช่วยให้เลิกบุหรี่ แต่ช่วยให้เริ่มสูบมากกว่า ซึ่งเด็กๆ ยังขาดความรู้ จึงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมาก ถ้าปล่อยให้ลูกน้อยมีโอกาสสูบบุหรี่ไฟฟ้า
- สาร Nicotine
เป็นสารสำคัญที่สุดที่เป็นอันตรายต่อทุกคน ทั้งผู้สูบ (บุหรี่มือ 1) คนที่อยู่ใกล้ๆ ผู้สูบ (บุหรี่มือ 2) และจากการสัมผัสสิ่งของที่ผู้สูบไปจับต้อง (บุหรี่มือ 3) โดยเฉพาะกับลูกน้อยที่คุณพ่อ หรือคุณแม่เป็นนักสูบ เมื่อแยกออกไปสูบแล้วกลับเข้ามาในบ้าน สารนิโคตินก็ยังติดมาตามเสื้อผ้า หรือลมหายใจ ทำให้ลูกน้อยได้รับสารนิโคตินมาจากพ่อแม่
สารนี้เป็นสารประกอบอัลคาลอยด์ชนิดหนึ่ง ไม่มีสี พบได้ในยาสูบทุกสายพันธุ์ มีฤทธิ์เป็นพิษกับระบบประสาท ถือเป็นยาฆ่าแมลงอย่างหนึ่ง ถ้าได้รับไปจำนวนมาก อาจถึงตายได้ เพราะจะเปลี่ยนจากการกระตุ้นสมอง เป็นการกดสมอง
โดยสรุปแล้วบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้เป็นอันตรายต่อผู้สูบเท่านั้น แต่เป็นอันตรายต่อคนรอบข้างเช่นเดียวกับบุหรี่ธรรมดา ดังนั้นหาก คุณพ่อสูบบุหรี่ไฟฟ้า อาจทำให้ลูกมีปัญหาระบบทางเดินหายใจ มีผลต่อการพัฒนาสมองของเด็ก ซึ่งเป็นการทำร้ายลูก ไม่ต่างจากบุหรี่ธรรมดาค่ะ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ “55 ประเทศ ออกกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ไฟฟ้า” คลิกหน้า 4
55 ประเทศ ออกกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ไฟฟ้า
ผศ.ดร.ลักขนา เติมศิริกุลชัย ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาศักยภาพกำลังคนด้านการควบคุมยาสูบ กล่าวว่า มีประเทศต่างๆ ทั่วโลก 55 ประเทศ ออกกฎหมายห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า โดยประเทศอาเซียนที่ห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า ได้แก่ บรูไน กัมพูชา สิงคโปร์ และไทย
อันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า เนื่องจากเป็นการเสพนิโคติน จะทำให้ไปกระตุ้นสมอง กระตุ้นหัวใจ ทำให้เส้นเลือดหดตัว และยากที่จะควบคุมความเข้มข้นของน้ำยาที่ใช้ เมื่อสูดดมเข้าไปมากๆ อาจเสี่ยงต่อโรคระบบทางเดินหายใจ และระคายเคืองจมูก
1.ห้ามนำเข้า
บุหรี่ไฟฟ้า จัดเป็นสินค้าต้องห้ามนำเข้ามาในประเทศไทย ถ้าฝ่าฝืนระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับ 5 เท่าของสินค้าที่นำเข้ามา หรือทั้งจำทั้งปรับ และจะริบสินค้า สิ่งที่ใช้บรรจุ และพาหนะใดๆ ที่บรรทุก
2.ห้ามขาย และให้บริการ
ถ้าฝ่าฝืนระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
3.ห้ามผลิต หรือขาย หรือสั่งนำเข้า
ถ้าฝ่าฝืนจะมีโทษมากกว่า 2 เท่า ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
เครดิต: ไทยรัฐออนไลน์, วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อ่านเพิ่มเติม คลิก!!
อย่าปล่อยให้บุหรี่เป็นจุดเริ่มต้น “ดับอนาคตลูก”
ควันบุหรี่มือสาม ทำร้ายลูกได้ 20 เท่า!!
อันตรายที่มองไม่เห็น!! ควันบุหรี่ จากพ่อแม่สู่ลูกน้อย เสี่ยงปอดติดเชื้อ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
Save
Save
Save
Save
Save
Save