บุหรี่ไฟฟ้า เป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับคนที่ชอบสูบบุหรี่ แต่ยังรักสุขภาพ เพราะเชื่อว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีทาร์ หรือยางไม้ที่เกิดจากการเผาไหม้ยาสูบ ซึ่งเป็นตัวการของโรคมะเร็ง การสูดไอน้ำจึงเป็นทางเลือกที่เชื่อว่าอันตรายน้อยกว่า แต่จะเป็นอย่างนั้นจริงหรือ? Amarin Baby & Kids มีคำตอบ
บุหรี่ไฟฟ้า อันตรายกว่าที่คิด
จริงๆ แล้ว ถึงแม้ว่าบุหรี่ไฟฟ้าจะไม่มีทาร์ แต่ก็ยังมีสารเคมีตัวอื่นที่ทำให้เกิดมะเร็งได้ เช่น ฟอร์มาลดีไฮด์ โพรพิลีนไกลคอล ตะกั่วหนัก และสารอื่นๆ เพราะนิโคตินของบุหรี่ไฟฟ้ามีความหนืด ไม่สามารถระเหยเป็นไอได้ จึงต้องเติมสารเคมีรวม 30 ชนิด เพื่อละลายนิโคติน
ควันที่ลอยออกมาจากบุหรี่ไฟฟ้าก็เป็นอันตราย ทำให้คนรอบข้างเกิดการระคายเคืองระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะคนที่เป็นโรคหอบหืด หรือภูมิแพ้
แม้กระทั่งน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าที่มีนิโคติน 0% ยังแน่ใจไม่ได้เลยว่าปลอดภัยจริง เพราะยังมีสารพิษอื่นๆ ที่ทำให้เกิดอันตรายอยู่ ถึงแม้วาต่างประเทศจะมีเอกสารยืนยันว่าบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยกว่าบุหรี่ทั่วไป แต่ก็พบว่ามีผู้คนมากมายที่โต้แย้งกับคำยืนยันนี้ เพราะไม่มีการระบุที่มาที่ไปของคณะผู้เชี่ยวชาญที่ยืนยันได้
จริงอยู่ที่บุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวน แต่ก็ยังมีผลกระทบระยะยาวที่ยังไม่อาจรู้ สิ่งสำคัญคือ ไม่ว่าจะเป็นบุหรี่มวน หรือบุหรี่ไฟฟ้า นั่นคือสารเสพติด เมื่อใช้แล้วเลิกไม่ได้ และนำไปสู่การเป็นนักสูบที่ทั่วโลกกลัว
“หวาน หอม รสอร่อย ดูดแล้วเท่ พิษน้อย ช่วยเลิกบุหรี่”
นี่คือมายาคติโลกสวยของบริษัทบุหรี่ไฟฟ้า ที่ถูกส่งผ่านความเชื่อด้วยการจ้างนักวิจัย ให้ช่วยเผยแพร่ข้อมูลออกไปทั่วโลก แต่สำหรับในประเทศไทย ถือว่าเป็นเทรนด์ใหม่ที่ควรป้องกันก่อนสาย
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เปิดเผยว่า ขณะนี้มีหลายฝ่ายที่เข้าใจ ว่า ควันบุหรี่ไฟฟ้ามีแต่ไอน้ำกับนิโคติน ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย และวัยรุ่นนิยมสูบ เพราะว่ามีควันเยอะดี ขอชี้แจงว่า ความเข้าใจตามที่ผู้ขายกล่าวอ้างไม่ตรงกับข้อเท็จจริง โดยควันไอน้ำจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้า และที่ผู้สูบพ่นออกมาจำนวนมากนั้น นอกจากไอน้ำ และนิโคตินแล้วยังมีสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อร่างกายอีกมากมาย จากการตรวจสอบของกรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่น สารโพรพิลีน ไกลคอล เมนทอล ไซโคลเฮกซานอล ไตรอะซิติน อนุพันธ์เบนซีน ตะกั่ว และสารก่อมะเร็ง เช่น โครเมียม สารหนู และแคดเมียม
ศ.นพ.ประกิต กล่าวอีกว่า ทั้งนี้การวิจัยพบว่าไอระเหยจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้า มีขนาดอนุภาคที่เล็กมากกว่าอนุภาคในควันบุหรี่ธรรมดา ทำให้มีลักษณะเป็นควันละเอียดที่ถูกสูดเข้าสู่ปอดได้ลึกมาก อนุภาคที่เล็กมากนี้ส่วนหนึ่งจะจับกับเนื้อเยื่อปอดไม่สามารถที่จะถูกขับออกมาจากปอดได้ และส่วนหนึ่งจะถูกดูดซึมสู่กระแสเลือดได้อย่างรวดเร็ว โดยแม้ว่าสารก่อมะเร็งที่พบในไอระเหยของบุหรี่ไฟฟ้าจะมีน้อยชนิดกว่าในควันบุหรี่ธรรมดา และเป็นไปได้ว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าจะมีโอกาสเกิดโรคมะเร็งน้อยกว่าการสูบบุหรี่ธรรมดา แต่มีรายงานการวิจัยในหนูที่ให้หายใจเอาไอระเหยจากบุหรี่ไฟฟ้าวันละหนึ่งชั่วโมง สัปดาห์ละ 5 วันเป็นเวลา 4 เดือน พบว่าเยื่อบุหลอดลมและถุงลมปอด มีการหลั่งสารเคมีที่บ่งถึงการได้รับความระคายเคืองของเนื้อเยื่อ และมีการทำลายของเนื้อเยื่อปอด ซึ่งเหมือนกับการเปลี่ยนแปลงระยะแรกของโรคถุงลมปอดพอง ในหนูที่ได้รับควันบุหรี่ธรรมดา (Garcia-Arcos วารสาร Thorax 24 สิงหาคม 2559)
ศ.นพ.ประกิต ล่าวอีกว่า ขณะที่มีรายงานการวิจัยที่แสดงถึงอันตรายของการสูดควันบุหรี่ไฟฟ้าที่มีต่อเซลล์เยื่อบุหลอดเลือด โดยภายหลังการสูดควันไอน้ำบุหรี่ไฟฟ้าเพียง 10 ครั้ง จะสามารถตรวจพบเซลล์เยื่อบุหลอดเลือด ที่ตายและหลุดลอยอยู่ในกระแสเลือดจำนวนมาก (L.Antonie Wiz วารสาร Atherosclerosis 2016) เช่นเดียวกับการตรวจพบในเลือดคนที่สูบบุหรี่ธรรมดา การวัดความยืดหยุ่นของหลอดเลือดก็พบว่าลดลงหลังการสูบบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ล้วนเป็นการเปลี่ยนแปลงที่จะนำไปสู่การเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในระยะยาว การเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อปอดและเซลล์บุหลอดเลือดที่เกิดจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าที่เหมือนกับการตรวจพบในการสูบบุหรี่ธรรมดา ต้องมีการศึกษาติดตามอย่างใกล้ชิดเพราะการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่งจะแพร่หลายเป็นเวลาไม่ถึงสิบปีมานี้เอง
“ผมอยากขอให้ทุกฝ่ายอย่าหลงเชื่อคำโฆษณาที่ว่าบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัย และโดยเฉพาะขอเรียกร้องให้เยาวชนอย่าใช้ตัวเองเป็นเครื่องทดลองอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า โดยอย่าไปสูบบุหรี่ไฟฟ้า เพราะหากเกิดการเสพติดนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าแล้ว จะเลิกสูบยากเช่นเดียวกับการเสพติดบุหรี่ธรรมดาเลยทีเดียว” ศ.นพ.ประกิต กล่าว – ที่มาข่าวจาก : มติชน (8/06/2017)
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่