AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

หยุดเด็กตื่นมาดูมือถือกลางดึก ภัยเงียบส่งผลอ่อนเพลียที่โรงเรียน

                คุณพ่อคุณแม่ที่ให้ลูกมีโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนตั้งแต่เด็กๆ  ควรมองย้อนกลับมาดูว่าเป็นการหยิบยื่นดาบสองคมให้กับลูกหรือเปล่า  อย่าเพิ่งให้สิทธิ์ลูกครอบครองโทรศัพท์มือถือไว้จนกว่าจะอายุ 13 ปี  เพราะอะไรนั้น  AMARIN Baby & Kids นำข้อมูลมาให้ดูกันค่ะ

นักวิชาการพบว่าเด็ก 1 ใน 5 ที่มีพฤติกรรมติดโซเชียลมีเดียโดยลุกขึ้นมาเปิดมือถือกลางดึกนั้นจะส่งผลให้เกิดอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เวลาไปโรงเรียน

มหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์ พบว่าเด็ก เยาวชน ที่อายุ 12 – 15  ปี   จากจำนวน 1 ใน 3 คน มักจะสะดุ้งตื่นขึ้นมากลางดึกอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 – 2 ครั้ง  เพื่อเช็คข้อมูลข่าวสารในแอปฯ โซเชียลมีเดียต่างๆ และโต้ตอบกับเพื่อนๆ  ทั้งแชทและพูดคุย  ซึ่งเด็กกลุ่มนี้จะมีอาการเพลียและเมื่อยล้าเวลาไปโรงเรียน  งานวิจัยครั้งนี้สำรวจจากเด็กจำนวน 848 คน  จากโรงเรียนทั้งหมดในเวลส์  โดยจัดแบ่งเป็น 2 กลุ่มวัย  คือ 12-13 ปี และ 14-15 ปี ด้วยเงื่อนไขต่อไปนี้

ภาพจาก www.rafi.org.ph

 

กลุ่มนักเรียนอายุ 12 – 13 ปี 412  คน  พบว่า

22%   เป็นเด็กที่มักจะใช้โซเชียลมีเดียทุกคืน
17%   เป็นเด็กที่เข้านอนหลังเที่ยงคืน ทั้งๆ  ที่ต้องตื่นไปโรงเรียนตั้งแต่เช้า
14%   เป็นเด็กที่ใช้โซเชียลมีเดียอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง

กลุ่มนักเรียนอายุ 14 – 15 ปี  436  คน  พบว่า

28%   เป็นเด็กที่ใช้เวลากับโซเชียลมีเดียเป็นเวลานานและเข้านอนหลักเที่ยงคืนเป็นประจำ ทั้งที่วันพรุ่งนี้ต้องไปโรงเรียนแต่เช้า
23%   เป็นเด็กที่สะดุ้งตื่นขึ้นมาตอนกลางคืน  เพื่อติดต่อกับเพื่อนในโลกโซเชียลแทบทุกคืน
15%   เป็นเด็กที่ใช้โซเชียลมีเดียอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยดังกล่าว แสดงความคิดเห็นว่าอาการสะดุ้งตื่นขึ้นมากลางดึกเพื่ออ่านหรือสื่อสารกับเพื่อนทางโซเชียลมีเดียทุกวันนั้น  น่าจะเป็นคำตอบที่ว่าทำไมเด็กๆ ถึงมีอาการอ่อนเพลีย และอยากนอนตอนกลางวัน  ดังนั้นผู้ใหญ่เองควรจะเป็นผู้ห้ามเด็กๆ หยุดพฤติกรรมดังกล่าวเสีย  เพราะมีผลอันตรายต่อการนอนน้อยเสียอีก


อ่านต่อ “หยุดเด็ก
ตื่นมาดูมือถือกลางดึก  ภัยเงียบส่งผลอ่อนเพลียที่โรงเรียน” คลิกหน้า 2

เด็กควรใช้โซเชียลมีเดียได้เมื่อไหร่?

ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองเด็กสากล COPPA ได้กำหนดกับผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียว่าห้ามไม่ให้บริษัทเหล่านี้เก็บข้อมูลส่วนตัวของเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปีหากไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ปกครอง  ดังนั้นโซเชียลเน็ตเวิร์กส่วนมากจึงกำหนดอายุผู้ใช้งานไว้ที่ 13 ปี

ภาพจาก blog.grabon.in

สร้างข้อตกลงกับลูกก่อนใช้โซเชียลมีเดีย

  1. อนุญาตให้ลูกใช้งาน คอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ก แท็บเล็ต หรือโทรศัพท์สมาร์ทโฟน ในพื้นที่ส่วนรวม  เพื่อที่พ่อแม่จะสามารถตรวจเช็คได้ว่าลูกกำลังเข้าใช้งาน Site ใดอยู่
  2. อธิบายให้ลูกฟังว่าแต่ละโซเชียลมีเดีย มีข้อกำหนดและการใช้งานอย่างไร และช่วยลูกตั้งค่าป้องกันข้อมูลส่วนตัวรั่วไหลฃ
  3. บอกลูกเสมอว่าการแสดงความคิดเห็นต่อที่ใดๆ นั้น ต้องปฏิบัติเสมือนขณะพูดคุยกันจริงๆ และทุกคำที่พิมพ์นั้นจะส่งผลกลับมาที่ตัวของลูก พ่อกับแม่และตัวของลูกเองจะต้องรับผิดชอบต่อทุกคำพูดที่ลูกแสดงความคิดเห็น  เพราะฉะนั้นเด็กจะเข้าว่าเขาไม่มีสิทธิ์พูดจาหยาบคายหรือดูถูกเพื่อน
  4. หากใช้คอมพิวเตอร์ร่วมเดียวกับคุณพ่อคุณแม่ อาจจะสร้าง User สำหรับลูกโดยเฉพาะ โดยเป็น User ที่ตั้งค่าป้องกันการเข้าใช้งานเว็บไซต์อันตรายสำหรับเด็กไว้แล้ว (ล็อกไอพีเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมกับเด็ก)
  5. หมั่นตรวจสอบและเช็คว่าลูกแชทและแสดงความคิดเห็นไว้ที่ไหน อย่างไร โดยคุณพ่อคุณแม่ไม่ควรจะบอกลูกว่าคุณไปสอดส่องแอบเช็คการใช้งานของเขา ให้คอยเช็คในลักษณะดูแลอยู่ห่างๆ  และคอยยกเคสตัวอย่างที่ไม่เหมาะสมเพื่อป้องกันไม่ให้ลูกแสดงพฤติกรรมที่น่ารังเกียจในโซเชียลมีเดีย  และหากลูกทำพฤติกรรมดังกล่าวออกไปแล้วคุณพ่อคุณแม่ต้องย้อนกลับมาเริ่มต้นข้อตกลงกันใหม่  ถ้าลูกควบคุมพฤติกรรมของตัวเองไม่ได้  ก็หยุดไม่ให้เขาเล่น  บอกเขาว่า “ลูกคงยังไม่พร้อมที่จะใช้งานเทคโนโลยีนี้” “ไว้ลูกพร้อมแล้วค่อยมาเริ่มต้นกันใหม่”
  6. กำหนดระยะเวลาเล่นต่อวัน และเมื่อถึงเวลาเข้านอนหรือต้องทำการบ้านก็ต้องห้ามเด็ดขาด

จะปฏิเสธไม่ให้ลูกใช้โซเซียลมีเดียเลยได้หรือไม่? นั่นเป็นข้อตกลงภายในครอบครัวของคุณ  แต่หากอนุญาตให้เขาได้ใช้แล้วคุณพ่อคุณแม่ก็มีหน้าที่ต้องดูแลเอาใจใส่เรื่องนี้เป็นพิเศษ  และอย่าลืมสอดแทรกเรื่องกฏหมายเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ปลูกฝังให้ลูกของเราไม่ทำผิดหรือตกเป็นเหยื่อแสดงข้อมูลส่วนตัวให้กับพวกอาชญากรด้วยค่ะ

 

ที่มาจาก :  walesonline, jingro.com