AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

พ่อแม่สกัดพัฒนาการลูก คุณเป็นแบบไหน?

พ่อแม่ 4 ประเภท พ่อแม่สกัดพัฒนาการลูก ด้วยการเลี้ยงลูกแบบผิดๆ

คุณพ่อ คุณแม่หลายคนมักจะตั้งคำถาม ลูกชายติดเกมทำยังไงดี  ลูกสาวติดมือถือแก้ยังไงดี เด็กบางคนติดเกม ติดมือถือจนเสียการเรียน ตอนที่ซื้อคอมพิวเตอร์ แท็บเลต สมาร์ทโฟนก็รู้อยู่แล้วว่าลูกอาจจะติด มาดู พ่อแม่สกัดพัฒนาการลูก ด้วยกำหนดกฎเกณฑ์ที่สัญญากับลูกเรื่องการเล่น

คุณพ่อ คุณแม่มีการกำหนดกฎเกณฑ์ให้ลูกสัญญาว่าจะเล่นได้ที่ไหน ตอนไหน นานแค่ไหน แต่ทำไมยังเกิดปัญหาลูกติดเกม ติดมือถือ คำตอบก็คือ เพราะคุณแม่ใจดี แม้เห็นว่าลูกไม่ได้ทำตามกฎ เช่น นำเครื่องเล่นเข้าห้องนอนตัวเอง เล่นนอกเวลา และนานกว่ากำหนด ก็ไม่ว่ากล่าวอะไร พอคุณพ่อมาว่ากล่าวตักเตือน คุณแม่ก็บอกว่าลูกยังเด็กอยู่ ปล่อยให้เขาเล่นสนุกไปเถอะ คุณพ่อจึงเลี่ยงที่จะโต้เถียงกับแม่ ปล่อยให้ลูกแหกกฎ จนกลายเป็นเด็กติดเกม ติดมือถือในที่สุด

บางครั้งเมื่อลูกโตขึ้นมา ก็ต้องการความเป็นส่วนตัว คุณพ่อ คุณแม่ก็ไม่ยอมปล่อยให้ลูกอยู่ตามลำพังเลย พยายามคอยแอบฟัง แอบมอง ว่าลูกคุยอยู่กับใคร และมักบ่นว่าลูกติดมือถือ กลัวคนอื่นมาหลอกลวง กลัวคบเพื่อนไม่ดี จึงไม่ปล่อยให้ลูกห่างสายตา ลูกไปไหนมาไหนก็โทรตามตลอด

ลูกจะรู้สึกอึดอัดที่คุณพ่อ คุณแม่ไม่ปล่อยให้ลูกได้มีอิสระบ้าง และอายเพื่อนว่าเป็นลูกแหง่ บางครั้งจึงแอบไปไหนโดยไม่บอก คุณพ่อ คุณแม่ หรือโกหก ทำให้เกิดการมีปากเสียงกันได้

คุณพ่อ คุณแม่ที่ห่างเหินลูก ก็จะตามใจลูก และเลี้ยงลูกด้วยเงินทอง สิ่งของที่ลูกอยากได้ ทำให้วินัยที่ลูกจำเป็นต้องฝึก เช่น การควบคุมค่าใช้จ่าย การซื้อของจำเป็น ก็ทำไม่ได้ เพราะถ้าคุณแม่ไม่ให้ ก็จะไปอ้อนขอคุณพ่อ

Amarin Baby & Kids มีผลสำรวจของพ่อแม่ยุคใหม่ซึ่งกลายเป็น พ่อแม่รังแกฉัน มีเวลาอยู่กับลูกน้อยลง คลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่ “พ่อแม่รังแกฉัน ผลสำรวจค่านิยมยอดฮิตของพ่อแม่ยุคดิจิตอล”

ถ้าต้องแบ่งพ่อแม่เหล่านี้ออกไปเป็นชนิด สามารถแบ่งพ่อแม่ได้ 4 แบบ ได้แก่

พ่อแม่ 4 แบบ

เครดิตภาพ: www.dek-d.com

1.พ่อแม่แบบปล่อยปละละเลย

สำหรับพ่อแม่ที่งานยุ่ง อาจให้ตายาย หรือพี่เลี้ยงดูแล มีกฎบ้าง แต่ไม่ได้ควบคุมกฎนั้นด้วยตัวเอง สอนแบบผ่านๆ ไป เวลาเจอหน้าลูกตามโอกาส เป็นการเลี้ยงลูกที่ไม่อบอุ่น คล้ายพ่อแม่แบบตามใจ ให้วัตถุสิ่งของไม่ได้ขาด แต่ไม่ได้ใกล้ชิดสนิทสนม เมื่อมีปัญหาก็โทษคนเลี้ยง ส่วนตัวเองไม่รับความผิด กลายเป็นปัญหาการทะเลาะกันระหว่างพ่อแม่ต่อหน้าลูก

ลูกจะรู้สึกถูกทอดทิ้ง ขาดความอบอุ่น และรู้สึกขาดแคลนทางวัตถุ ส่งผลเสียต่อพัฒนาการมากที่สุด ไขว่คว้าหาความรักจากคนอื่น ขาดทักษะทางสังคม อาจกลายเป็นคนต่อต้านสังคม และล้มเหลวในการเรียน

2.พ่อแม่แบบตามใจ

มีการตามใจลูกสูง แต่เรียกร้องลูกน้อย ให้ความใกล้ชิดสนิทสนม แต่ไม่ตั้งกฎเกณฑ์ ขาดการควบคุมลูก ให้ลูกได้ทุกอย่าง และไม่คาดหวังในตัวลูก ให้ความเป็นอิสระจนเกินพอดี เห็นลูกทำผิดก็ปล่อยไปเฉยๆ ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ เมื่อลูกลำบากก็เร่งช่วยเหลือ

ทำให้ลูกกลายเป็นเด็กบังเกิดเกล้า เอาแต่ใจตัวเอง ไม่มีวินัย ช่วยเหลือตัวเองไม่เป็น อาจมีพฤติกรรมชอบขโมยของทั้งที่มีพร้อมอยู่แล้ว เพราะรู้สึกว่าหามาได้ง่ายๆ เบื่อกับการมีชีวิตที่ง่ายเกินไป เมื่อโตขึ้นมาจะอดทนต่อกฎเกณฑ์ของสังคมไม่ได้ อยู่โรงเรียนก็จะรำคาญการถูกบังคับ อาจมีปัญหากับครู เพราะเคยถูกเอาใจตั้งแต่ยังเล็ก มักมีความรู้ผิดชอบชั่วดีต่ำ ทำงานร่วมกับคนอื่นไม่ค่อยได้

อ่านต่อ “พ่อแม่แบบบังคับ และแบบกัลยาณมิตร” คลิกหน้า 2

3.พ่อแม่แบบบังคับ

พ่อแม่เผด็จการ เลี้ยงลูกแบบมีการเรียกร้องจากลูกสูง แต่ตามใจลูกน้อย ลูกต้องอยู่ในโอวาทไปจนโต ตั้งกฎเกณฑ์ทุกอย่าง วางกรอบให้ลูก มักตำหนิ และระเบิดอารมณ์ใส่ลูกบ่อยๆ อาจเพราะประสบการณ์ในชีวิตของตัวเองไม่สมหวังจึงมาเคี่ยวเข็ญกับลูก เวลาลูกถามก็ไม่มีคำอธิบาย นอกจากบอกว่า ก็พ่อแม่สั่งให้ทำ เพราะเด็กต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่เท่านั้น ใส่ความคาดหวังกับลูกสูง แต่ไม่ให้ความใกล้ชิดสนิทสนม และขาดการสื่อสารที่ดี

ลูกจะกลายเป็นเด็กขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง ถึงแม้ว่าจะว่านอนสอนง่าย และผลการเรียนสูง แต่ก็ขาดทักษะการเข้าสังคม รู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า จะพูดหรือแย้งใครก็ทำไม่ได้สักอย่าง ไร้แรงจูงใจในการลงมือทำ ขาดความคิดสร้างสรรค์ เพราะต้องทำตามผู้ใหญ่ไปทั้งชีวิต หรือในทางตรงกันข้ามอาจกลายเป็นคนก้าวร้าวไปเลย

4.พ่อแม่แบบกัลยาณมิตร

มีการเรียกร้อง และตอบสนองลูกเท่าๆ กัน มีความผูกพันใกล้ชิด เข้าใจ เข้าถึงจิตใจลูก มีการตามใจลูกอย่างสมเหตุสมผล และสามารถควบคุมลูกได้ ทำให้ลูกเติบโตมาอย่างดี

คุณพ่อ คุณแม่ ต้องสามารถพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้ ให้เกียรติ เคารพกัน มีปัญหาอะไรก็ปรึกษากันช่วยกันหาทางออก ในการเลี้ยงลูกถึงแม้ว่าจะมีความคิดเห็นขัดแย้ง ก็ไม่ควรจะทะเลาะกันต่อหน้าลูก แอบคุยกัน ตกลงกันว่าจะไม่มีใครให้ท้ายลูกลับหลัง ใกล้ชิด ผูกพัน เข้าใจ เข้าถึง ฝึกวินัย สอนให้ลูกคิดเป็น และรู้จักการใช้ชีวิตที่สมดุล โดยคุณพ่อ คุณแม่ทำตัวให้เป็นตัวอย่าง เป็นต้นแบบ

ถ้าลูกอยากเล่นคอมพิวเตอร์ ก็มีข้อตกลงร่วมกัน ถ้าพบว่าลูกไม่ทำตาม ก็ต้องตักเตือน หรือลงโทษตามกติกา ลูกจะไม่กล้าแหกกฎ และมีวินัย รู้จักอดทนอดกลั้น ช่วยงานบ้าน แบ่งเวลาเรียน เวลาเล่น ถ้าลูกต้องการของใช้ที่มีราคาแพง ก็ให้ลูกอธิบายเหตุผล ถึงความจำเป็น แล้วบอกให้ลูกช่วยทำงานบ้านให้พ่อแม่เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนสิ่งที่ต้องการ เป็นวิธีการเลี้ยงลูกแบบฝึกวินัย การช่วยเหลือตัวเอง ช่วยเหลือผู้อื่น และมีเหตุผล นอกจากลูกๆ จะไม่ติดเกมแล้ว ยังโตมาเป็นเด็กเรียนดี มีอาชีพที่ดี และคิดเป็น ทำเป็น มีความสุขอีกด้วย

ขอให้ลองหันมาดูตัวเองว่าคุณเป็นพ่อแม่แบบไหน แล้วพยายามปรับ ฟังกันด้วยสติ มีเป้าหมายร่วมกัน แล้วลูกจะเจริญเติบโตเป็นคนที่แข็งแรงทั้งร่างกาย จิตใจ และสติปัญญา

เครดิต: นิตยสารหมอชาวบ้าน ฉบับที่ 402 (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ), www.dek-d.com

Save

Save