AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ลูกน้อยฆ่าตัวตาย ปัญหาสังคมที่พ่อแม่ต้องรีบแก้ไข

ลูกน้อยฆ่าตัวตาย ไม่อยากเป็นภาระ

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมามีข่าวน่าเศร้าของเด็กหญิงวัย 14 ปี ที่ผูกคอเสียชีวิตภายในบ้านของตัวเอง ซึ่งร่างกายไม่พบร่องรอยการถูกทำร้าย พบชุดนักเรียนแขวนเอาไว้ในตู้เสื้อผ้า ใกล้ๆ กันพบจดหมายเขียนด้วยลายมือลงบนกระดาษสมุด ก่อนที่ ลูกน้อยฆ่าตัวตาย ในจดหมายมีข้อความว่า

“แม่หนูขอโทษ หนูรู้ว่าหนูอยู่ไปก็ไม่มีประโยชน์ เดี๋ยวก็ไม่สบายอีก มันทำให้หนูคิดว่าอยู่ไปก็ทำให้คนในบ้านเหนื่อยอีก หนูอยากจะบอกว่าหนูรักพ่อและแม่นะ ขอบคุณที่ดูแลมา 14 ปี รักพ่อแม่ จากน้องพร”

เครดิตภาพ: กลุ่มคนอาสา กู้ชีพ กู้ภัย Thailand

จากการสอบสวน ญาติเล่าว่า น้องพรเป็นเด็กร่าเริง เป็นที่รักของคนในบ้าน และชุมชน เป็นเด็กเรียนดี แต่มาในระยะหลังมีอาการป่วยบ่อยๆ ซึ่งล่าสุดเพิ่งไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล เมื่อช่วงเช้าเห็นน้องพรตื่นขึ้นมารีดชุดนักเรียน เพื่อที่จะไปเรียนตามปกติ หลังจากที่พ่อแม่ออกไปค้าขาย และญาติไปทำงาน คุณแม่เห็นว่าลูกสาวยังไม่ออกมา จึงย้อนกลับไปดูที่บ้าน คิดว่าป่วย แต่กลับพบว่าน้องพรผูกคอตาย จึงพยายามช่วยลงมาแล้ว แต่สายเกินไป และคิดว่าลูกสาวคงไม่อยากเป็นภาระของครอบครัว เพราะเจ็บป่วยบ่อยๆ

การฆ่าตัวตายในเด็ก

การฆ่าตัวตายสำเร็จเป็นการตั้งใจทำร้ายตัวเองเพื่อให้เสียชีวิต และการพยายามฆ่าตัวตายคือการทำร้ายตัวเองแต่ไม่เสียชีวิต เด็กที่ฆ่าตัวตายไม่สำเร็จจะมีบางอย่างคล้ายกัน แต่ก็มีบางอย่างแตกต่างกัน ความคิดที่จะฆ่าตัวตายจะพบบ่อยในวัยรุ่น จากการสำรวจพบว่ามีเด็กพยายามฆ่าตัวตาย ตั้งแต่อายุ 12-18 ปี ประมาณ 2-8%

สาเหตุของการฆ่าตัวตาย

เด็กและวัยรุ่นชายมีความเสี่ยงมากกว่าผู้หญิง ส่วนใหญ่มักใช้วิธีการยิงตัวตาย หรือแขวนคอ ซึ่งรุนแรงกว่าการกินยา และกระโดดตึกที่มักทำโดยเด็กผู้หญิง สาเหตุที่ทำให้ฆ่าตัวตาย ได้แก่

1.การถูกจับได้ว่าทำผิด หรือการคาดโทษ จึงอยากหนีปัญหาด้วยการฆ่าตัวตาย

2.การถูกดูถูก หรือการเยาะเย้ยจากเพื่อน รู้สึกไร้ค่า ไม่มีความสุขในชีวิต

3.การทะเลาะ หรือการถูกตัดความสัมพันธ์จากคนที่รัก ความรักในวัยรุ่นที่ยังควบคุมความพอดีไม่ได้

4.ความไม่เข้าใจในครอบครัว เนื่องจากไม่เปิดใจคุยกัน ทำให้ขาดความเข้าใจซึ่งกันและกัน

5.มีปัญหาที่โรงเรียน การขาดเรียน เนื่องจากสาเหตุต่างๆ

6.การที่ได้ยิน ได้เห็นคนใกล้ชิด หรือบุคคลที่มีชื่อเสียง หรือตัวละครในโทรทัศน์ฆ่าตัวตายสำเร็จ

7.มีอาการของโรคซึมเศร้า และอยากฆ่าตัวตายโดยไม่มีเหตุกระตุ้น

8.สมาชิกในครอบครัวเป็นโรคจิตเวช มีอาการซึมเศร้า ความประพฤติผิดปกติ ท้อแท้ สิ้นหวัง

เด็กที่มีการฆ่าตัวตายสำเร็จมักจะมีการวางแผนล่วงหน้า เช่น เก็บสะสมยา ทิ้งจดหมายลาตาย ยกสมบัติให้คนอื่น ซึ่งพบว่าครึ่งหนึ่งของเด็กที่ฆ่าตัวตายสำเร็จจะบอกว่าฆ่าตัวตายล่วงหน้า 1 วันก่อนตาย โดยพบในเด็กหญิง 50% และเด็กชาย 25% โดยเคยมีความพยายามฆ่าตัวตายมาก่อน

อ่านต่อ ลักษณะของเด็กที่พยายามฆ่าตัวตาย กับวิธีแก้ปัญหาการฆ่าตัวตาย คลิกหน้า 2

ลักษณะของเด็กที่พยายามฆ่าตัวตาย

เด็กที่พยายามฆ่าตัวตาย ส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ไม่ดี วิธีการที่นิยมใช้คือการกินยาแก้ปวด หรือยาที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ซึ่งพบว่าเด็กเหล่านี้ไม่ใส่ใจว่าจะอยู่หรือตาย เหตุผลที่ทำให้เกิดการพยายามยามฆ่าตัวตายที่พบบ่อยที่สุดคือ ความขัดแย้งกับผู้อื่น เช่น คนในครอบครัว หรือเพื่อน ส่วนเหตุกระตุ้นอื่นๆ ได้แก่ ปัญหาที่โรงเรียน ปัญหาการติดยาเสพติด หารถูกกระทำทารุณ ทำร้ายร่างกาย และล่วงเกินทางเพศ การสูญเสียคนที่รัก ปัญหาสุขภาพ เช่น เป็นโรคร้ายแรง ตั้งครรภ์โดยไม่ตั้งใจ

วิธีแก้ปัญหาการฆ่าตัวตาย

การฆ่าตัวตายไม่ใช่โรคติดต่อ ซึ่งในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาพบว่ามีเด็กฆ่าตัวตายเพิ่มมากขึ้นจนน่าตกใจ สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการหย่าร้างที่เพิ่มสูงขึ้น โดยพบว่าเด็กชายที่ขาดพ่อ จะควบคุมอารมณ์ได้ยาก และควบคุมความก้าวร้าวของตัวเองไม่ได้ เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดการฆ่าตัวตาย และพบในเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง 4-5 เท่า สิ่งที่พ่อแม่ต้องทำคือ ให้ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับลูก ให้โอกาสพูดคุย เพราะพ่อแม่ยุคใหม่ไม่มีเวลาให้ลูก ต่างคนต่างทำงานมากกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ อาจก่อให้เกิดความเสี่ยง การขาดผู้ใหญ่คอยสนับสนุน ดูแลเอาใจใส่ทั้งร่างกาย และจิตใจ อาจทำให้เด็กมีความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายได้ง่าย

เครดิตภาพ: กลุ่มคนอาสา กู้ชีพ กู้ภัย Thailand

การป้องกันการฆ่าตัวตาย สอนลูกให้มีใจที่เข้มแข็ง

ครอบครัวคือ เกราะป้องกันที่ดี ที่จะทำให้ลูกน้อยมีความเข้มแข็งในจิตใจ ควรฝึกฝนลูกน้อยตั้งแต่ยังเล็ก ด้วยการพัฒนาทักษะความสามารถ ให้ปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสังคมให้ได้ พ่อแม่คือคนสำคัญที่จะเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกน้อย ซึ่งความเข้มแข็งในจิตใจประกอบด้วย 4 อย่าง ได้แก่

1.ความรู้สึกที่ดีกับตัวเอง ให้ความรัก ความเข้าใจ ส่งเสริมพัฒนาลูกน้อยตามความถนัด ให้ภูมิใจในตัวเอง

2.สอนให้รู้จักจัดการ และแก้ปัญหาชีวิต เผชิญกับสถานการณ์ที่กดดัน แล้วสามารถดูแลตัวเองได้

3.มีสายสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว โดยการให้ความรัก ความเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน ให้กำลังใจ และไว้วางใจ

4.สอนให้ลูกรู้จักมีจุดมุ่งหมายในชีวิต จะทำให้ลูกรู้สึกว่าชีวิตมีคุณค่า และพยายามประคับประคองชีวิต

เครดิต: ข่าวสด, Panatungthirawit Pan, หนังสือคู่มือเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม

Save

Save