AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

รับมืออย่างไร? เมื่อลูกติด “กลาก เกลื้อน” มาจากโรงเรียน

สุขอนามัยของเด็กนั้นเป็นเรื่องสำคัญ  แม้ว่าเราอาจจะสอนให้รักษาความสะอาด “ล้างมือ ล้างเท้า” ที่บ้านเป็นอย่างดี  แต่เมื่อลูกอกไปเล่นดินเล่นทรายนอกบ้าน  หรือเล่นในพื้นที่ร่วมกันในโรงเรียน  ก็ยังคงเสี่ยงกับโรคภัยที่มาจากการรักษาสุขอนามัยอยู่ดี  วันนี้ AMARIN Baby & Kids พาคุณพ่อคุณแม่มารู้จักกับอีกโรคยอดฮิตที่ทำให้ผิวหนังของลูกนั้นไม่สวยงามกันค่ะ

มารู้จัก “กลาก เกลื้อน” กันเถอะ

โรค กลาก เกลื้อน เป็นโรคเชื้อรายอดนิยมสำหรับเขตเมืองร้อน  พบได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เป็นได้ทั่วตัว ถ้ารักษาไม่ถูกต้องจะไม่หายและไม่ควรซื้อยาทาเชื้อรามาทาเองเพราะจะทำให้เชื้อราดื้อยาและหายช้า

 

โรค กลาก เกลื้อน เกิดขึ้นได้อย่างไร

“กลาก”  เกิดจากเชื้อราที่อยู่ตามพื้นดิน กิ่งไม้ ใบไม้ผุ ขนสัตว์เลี้ยง  เช่น  แมวและสุนัข  ซึ่งติดต่อด้วยการสัมผัส หรือคลุกคลีกับผู้ที่เป็นโรคนั้นโดยใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น  หวี  กรรไกร  กรรไกรตัดเล็บ  ที่โกนหนวด  และอาจติดจากร้านทำผม ร้านเสริมสวยได้อีกด้วย .

กลากขึ้นที่ผิวหนัง  บริเวณที่เป็น ได้แก่ ที่อับชื้น เช่น ก้น รักแร้  ซอกนิ้วมือ   มีลักษณะเป็นผื่นแดงเป็นวงกลม  มีขอบชัดเจน  หากไม่ได้รับการรักษาจะขยายขนาดใหญ่ขึ้นอาจมีสะเก็ดหรือเม็ดพุพอง  มีน้ำเหลืองไหล  หากเป็นที่ศีรษะจะทำให้เส้นผมหัก  แหว่งหายเป็นวงชัดเจน

กลากขึ้นที่เล็บ  จะทำให้เล็บหนา ขรุขระ  เมื่อใช้มีดขูดจะหลุดออกมาเป็นผง  เล็บเหลือง เป็นจุดขาว  พบบ่อยที่นิ้วเท้าที่ติดกันและที่ขาหนีบ

เมื่อสงสัยว่าเป็น ”กลาก”

กลาก หรือ เชื้อรา นั้นสังเกตยาก ควรให้แพทย์ตรวจสัก 1 ครั้งเพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด  แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่พาลูกไปตรวจกับโรงพยาบาลที่ครบวงจร และแจ้งระยะเวลาของอาการอย่างชัดเจน  เพื่อให้แพทย์ขูดผิวหนังบริเวณดังกล่าวไปตรวจสอบด้วยวิธีย้อมสีเชื้อราจึงจะแยกประเทศได้  หรือในกรณีที่ยากต่อการประเมินแพทย์ก็จะนำไปเพาะเชื้อในห้องปฏิบัติการต่อ

วิธีการรักษา “กลาก”

คุณหมอจะให้ยาทาและยากิน  ขึ้นอยู่กับอาการของโรค  ซึ่งจะต้องกินจนกว่าผื่นจะหายและเป็นปกติ ซึ่งหากเป็นเชื้อราที่เล็บอาจจะต้องกินยา 6 – 12 เดือน  หากเป็นรอยเชื้อรากลากบริเวณกว้างที่แผ่นหลัง เป็นนานไม่หายขาด จะต้องกินยาร่วมด้วยกับการทายา

หากลูกเป็นแล้วรักษาหายแล้ว  เพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำ  คุณพ่อคุณแม่ควรช่วยดูแลสุขอนามัย ดังนี้

1.จะต้องรักษาความสะอาดของร่างกาย อาบน้ำวันละ 2 ครั้ง และเช็ดตัวให้แห้ง

  1. ทาแป้งฝุ่นบริเวณข้อพับ
  2. ตากเสื้อผ้าของลูกให้แห้ง ไม่มีกลิ่นอับ
  3. เมื่อไปเล่นข้างนอกบ้านกลับมาให้ล้างเท้า ให้ลูกฟอกสบู่ และมีผ้าเช็ดเท้าสำหรับเช็ดให้แห้ง ไม่ปล่อยให้เท้าเปียกชื้น
  4. ไม่ใส่รองเท้าที่มีกลิ่นอับ ตากถุงเท้าในที่สะอาด ซักเปลี่ยนทุกวัน ไม่ใส่ซ้ำ
  5. อุปกรณ์ตัดเล็บต้องทำความสะอาดทุกครั้งก่อนนั้นไปใช้ มีภาชนะแช่แอลกอฮอล์
  6. เลือกเสื้อผ้าที่ไม่อบ ไม่คับ แขนสั้น และมีสีอ่อน เพื่อให้ลูกสบายผิว

อ่านเรื่อง “รับมืออย่างไร? เมื่อลูกติด “กลาก เกลื้อน” มาจากโรงเรียน” คลิกหน้า 2

“เกลื้อน” เป็นโรคเชือราที่พบบ่อยในผิวหนังบริเวณที่มีต่อมไขมันมาก เช่น หน้า ต้นคอ หน้าอก หลัง เป็นต้น   ลักษณะของผื่นจะเป็นวงเล็กๆ ขนาดตั้งแต่ 1 มิลลิเมตรขึ้นไปรอบรูขุมขน จนเป็นปื้นให่ อาจมีสีซีดจางกว่าผิวหนังบริเวณข้างเคียง มีเศษขุยละเอียด หรือสะเก็ตของผิวหนังที่แห้งขูดออกมาได้

สาเหตุของการเกิดเกลื้อน

  1. ช่วงอายุ โดยเฉพาะลูกวัยรุ่นจะมีโอกาสพบรอยเกลื้อนได้มากกว่าช่วงวัยอื่นเพราะมีฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงได้ง่ายกว่า
  2. พันธุกรรม คนที่มีผิวหนังหลุดลอกง่ายจะมีโอกาสได้รับเชื้อเกลื้อนมากกว่าคนทั่วไป
  3. การอยู่ในที่อบอ้าว มีเหงื่อไหลออกมาก  หากลูกไม่รักษาความสะอาดอาจจะทำให้คัน
  4. หากลูกรับประทานอาหารไม่ครบตามหลักโภชนาการ จะทำให้ร่างกายขาดสารอาหารบางอย่างจนกลไกด้านภูมิคุ้มกันไม่สมบูรณ์
  5. อาจมีสาเหตุมาจากความเครียดและการใช้ยาต้านแบคทีเรียบางชนิดติดต่อกันเป็นเวลานาน

วิธี “ป้องกัน” และ “รักษาเกลื้อน”

  1. หากลูกเป็นเด็กที่เหงื่อออกมากเวลาเล่นกีฬา จำเป็นต้องให้อาบน้ำหลังเล่นกีฬา ซับเหงื่อให้แห้ง และเปลี่ยนชุดใหม่
  2. ดูแลสุขลักษณะอนามัยส่วนบุคคล ได้แก่  เสื้อผ้า  ผ้าเช็ดตัว  หวี  ไม่ใช้ร่วมกับผู้อื่น  และรู้จักทำความสะอาดของใช้ส่วนตัว  นำไปตากแดดบ้าง
  3. หากสงสัยว่าเป็นรอยเกลื้อน ควรพาลูกไปพบแพทย์ผิวหนังและส่งตรวจบริเวณที่เป็น เพื่อจะได้รับยาทาที่เฉพาะกับโรค  ไม่ควรซื้อยามาทาเอง เพราะจะทำให้หายช้า หรือไม่หาย

นอกจากทั้งสองโรคนี้แล้ว  ยังมีโรคผิวหนังที่เกี่ยวข้องกับเด็กและผู้ใหญ่  ซึ่งอาจจะติดต่อไปสู่กันและกันได้  โดยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่

  1. โรคผิวหนังจากเชื้อไวรัส เช่น   โรคสุกใส   โรคงูสวัด   หูด
  2. โรคผิวหนังจากแบคทีเรีย เช่น  แผลผุพอง  คุ่มน้ำใสบนผิวหนัง
  3. โรคผิวหนังจากเชื้อรา เช่น   เชื้อราในร่มผ้า
  4. โรคผิวหนังจากปรสิต เช่น   เหา   หิด

โรค ”กลาก เกลื้อน” นี้มีความคล้ายกันอยู่บ้าง แต่หากรักษาผิดวีธีจะทำให้สูญเสียความสวยงามและก่อให้เกิดความรำคาญ คันเวลาเหงื่อออก  เมื่อหายแล้วสามารถเกิดขึ้นใหม่ซ้ำได้อีก จึงต้องอาศัยการรักษาความสะอาดอย่างมาก และไม่ควซื้อยามารับประทานเอง ควรพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง ป้องกันการลุกลามและแทรกซ้อนทำให้โรคกระจายมากขึ้น และคุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องใส่ใจเรื่องสุขอนามัยของลูกให้มากนะคะ  ด้วยความปรารถนาดีจาก AMARIN Baby & Kids ค่ะ

ที่มาจาก :
เรื่อง “กลาก เกลื้อน : โรคยอดนิยมประจำเมืองร้อน” จากเว็บไซต์หมอชาวบ้าน (https://www.doctor.or.th/article/detail/4670)

เรื่อง “มารู้จักเกลื้อนกันเถอะ!!”  จากหน่วยคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
(http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/dic/knowledge_full.php?id=7)

เรื่อง “โรคติดเชื้อผิวหนังที่พบบ่อยในเด็กและผู้ใหญ่” จาก เว็บไซต์บ้านเมือง (http://www.banmuang.co.th/news/bangkok/48892)