เป็นเรื่องน่าตกใจที่อาชญากรรมส่วนใหญ่บนโลกออนไลน์ คนที่ตกเป็นเหยื่อคือเด็กๆ เพราะเกิดจากการใช้อินเทอร์เน็ตที่ไม่ถูกต้อง และสิ่งที่น่าตกใจมากกว่าคือการโพสต์แบบไม่ระมัดระวังของพ่อแม่ที่นำมาซึ่งอันตรายจากสื่อออนไลน์ เรามาเรียนรู้วิธีการใช้ สื่อออนไลน์ ให้ปลอดภัยกันค่ะ
สื่อออนไลน์ ใช้อย่างไรให้ปลอดภัย
1.อย่านัดพบเพื่อนทางออนไลน์
เคยมีข่าวจากหนังสือพิมพ์คมชัดลึกเมื่อหลายปีก่อน ในข่าวระบุว่า พบเด็กหญิงวัย 12 ปี แชทพูดคุยผ่านอินเทอร์เน็ตเพียงแค่ 3 วันก็ขอเป็นแฟน สุดท้ายถูกหลอกพาเข้าม่านรูด จากผลการวิจัยออนไลน์ ระบุว่า เด็กเล็กอายุ 7-11 ขวบ 24% เคยนัดพบคนที่ไม่รู้จักผ่านอินเทอร์เน็ต ซึ่งล่าสุดเด็กในวัยชั้นประถมศึกษา นิยมใช้โปรแกรมหาคู่ ผ่านการพูดคุย หรือเข้าไปในเว็บไซต์ต่างๆ แล้วนัดพบคนแปลกหน้าตามศูนย์การค้า
นอกจากนี้พบว่าเด็กชาย และเด็กหญิงจำนวนมาก ระบุข้อมูลส่วนตัว ได้แก่ ชื่อ นามสกุล อายุ เบอร์โทรศัพท์ และอีเมล พร้อมทั้งส่งรูปที่อยู่ในชุดนักเรียนให้กับคนที่พูดคุยด้วย
นอกจากนี้ องค์กรนานาชาติเอคแพท (ECPAT INTERNATIONAL) ได้ทำการสำรวจการใช้อินเทอร์เน็ตของเด็กไทย 7-11 ขวบ โดยพบว่า เด็กเล็ก 54% เคยพบกับคนที่รู้จักครั้งแรกในอินเทอร์เน็ต 42% ไม่เคยพบ เด็กเล็กส่วนใหญ่จะมีเพื่อนไปด้วย แต่มี 25% ที่ไปโดยลำพัง และมีพ่อแม่เพียง 15% เท่านั้นที่รู้ว่าลูกเคนนัดพบคนแปลกหน้า
ในงานวิจัยยังกล่าวถึงนักล่อลวงเด็ก ที่ใช้วิธีการต่างๆ ซึ่งสามารถสื่อสารกับเด็กได้ง่าย โอกาสที่จะถูกจับมีน้อย โดยการปลอมตัวเป็นเด็ก เพื่อสร้างความวางใจ งานวิจัยยังระบุอีกว่า กลุ่มคนวิปริตที่ชอบมีสัมพันธ์ทางเพศกับเด็ก มักจะโน้มน้าวให้เด็กเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว เพื่อเป็นข้อมูลในการลักพาตัวเด็ก
คุณพ่อ คุณแม่ควรระวัง และสอนลูกน้อยอย่าไว้ใจคนแปลกหน้า หรือนัดพบเพื่อนทางออนไลน์ เพื่อความปลอดภัยของลูกน้อย ชมคลิปเพื่อสอนลูกน้อย
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ “ไม่ใช้ข้อความยั่วยุหรือหยาบคาย” คลิกหน้า 2
2.ไม่ใช้ข้อความยั่วยุหรือหยาบคาย
บนโลกออนไลน์ เราเป็นอะไรก็ได้ที่เราอยากเป็น และเป็นพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นที่มาจากความคิดของตัวเอง บางครั้งอาจมีถ้อยคำในเชิงลบ ไม่เห็นด้วย ถ้อยคำที่แสดงถึงความชิงชัง หยาบคาย จนกลายเป็นคำพิพากษาตัดสินชีวิตใครหนึ่งคน ให้จบชีวิตลงจากข้อความเหล่านั้น ทั้งๆ ที่ไม่มีใครมีสิทธิ์ตัดสินความถูกผิดในชีวิตของคนอื่น ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ไม่ใช่การชกต่อย แต่เป็นการรุมทำร้าย ด้วยการประณามบนโลกออนไลน์
ในปัจจุบันข้อมูลข่าวสารบนโลกออนไลน์ มีทั้งเรื่องจริง และไม่จริง การรับรู้ข้อมูลมาผิดๆ อาจร้ายแรงไม่เท่ากับการตัดสินใจในการแสดงความคิดเห็นลงไป กลายเป็นว่า เรากำลังสร้างสังคมแห่งความเกลียดชัง ตัดสินผู้คนว่าคนนั้นผิด คนนี้ถูก จนในที่สุดเหตุการณ์ที่น่าสะเทือนขวัญก็เกิดขึ้น
กรณีตัวอย่างจากต่างประเทศของเด็กหญิงรีเบคก้า อายุ 12 ขวบ ถูกเพื่อน 15 คนแกล้ง ส่งคำด่ามาไม่หยุดหย่อน จนหนูน้อยสิ้นหวัง หดหู่ ไม่อยากมีชีวิต สุดท้ายก็จบลงด้วยการฆ่าตัวตาย
เมื่อนางแบบชาวเยอรมันคนหนึ่ง อายุ 32 ปี ถูกรุมด่าบนเว็บไซต์ หลังออกทีวี เพียงเพราะเล่นกล้องมากเกินไป จนผู้คนหมั่นไส้ เธอจึงทนต่อการแสดงความคิดเห็นที่รุนแรงไม่ไหว เกิดความกดดัน และสุดท้ายก็ฆ่าตัวตาย
ในประเทศไทยเอง ก็มีหลายครั้งที่กลุ่มนักเลงคีย์บอร์ด ออกมาตัดสินความถูกผิด แสดงความคิดเห็นที่รุนแรง แบบไม่เปิดโอกาสรับฟังข้อเท็จจริง และเลือกที่จะเชื่อ หรือประณามโดยที่ไม่คำนึงถึงคนๆ นั้น เริ่มต้นจากถ้อยคำเล็กๆ เพียงไม่กี่คำ จนบานปลายกลายเป็นโศกนาฏกรรมให้กับชีวิตของคนๆ หนึ่ง
ล่าสุดมีเด็กหญิงคนหนึ่ง โพสต์ข้อความพร้อมภาพเล่นๆ ว่าตัวเองกำลังจะฆ่าตัวตาย เมื่อภาพนั้นถูกแพร่ออกไป หลายคนแสดงความคิดเห็นให้กำลังใจ แต่คนส่วนใหญ่เข้ามาตำหนิ รุมด่า ยุยง และขับไล่ให้ไปตาย ชวนให้ตั้งคำถามว่า อะไรทำให้คนเรา โกรธ เกลียด หรือพิพากษาคนอื่นที่ไม่ได้ทำร้ายเราเลย แต่เราเองกลับเป็นคนที่เข้าไปทำลายชีวิตของคนเหล่านั้น และที่หนักไปกว่านั้น คือ เด็กหญิงเชื่อในถ้อยคำเหล่านั้น จึงเป็นเหตุให้ตัดสินใจฆ่าตัวตายได้โดยง่าย เพราะความเกลียดชังของคนแปลกหน้า
คงไม่สายที่คุณพ่อ คุณแม่ และลูกน้อยจะมาเริ่มกันใหม่ เป็นผู้ใหญ่ที่ดี เป็นพลเมืองในโลกออนไลน์ที่แสดงความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแบบอย่างที่ดีให้กับลูกน้อย หยุดเป็นฆาตกรออนไลน์
ชมคลิปเพื่อสอนลูกน้อย
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ “อย่าโพสต์หรือแชร์เนื้อหาที่ไม่เหมาะสม” คลิกหน้า 3
3.อย่าโพสต์หรือแชร์เนื้อหาที่ไม่เหมาะสม
องค์กรปกป้องสิทธิเด็ก ห่วงคุณพ่อ คุณแม่ในยุคออนไลน์ เรื่องการถ่ายคลิป ถ่ายภาพเด็กๆ แล้วโพสต์แชร์ลงไปบนโลกออนไลน์ เพราะทำให้เกิดความเสี่ยงที่ไม่ปลอดภัยให้กับลูกน้อย เพราะกำลังกลายเป็นดาบสองคม เพิ่มความเสี่ยง จากคลิปวิดีโอที่คุณพ่อ คุณแม่หลายคนคงเคยเห็น
เช่น คุณพ่อแกล้งกินหนอนทอดยั่วยวนให้ลูกน้อยขยะแขยง จนลูกน้อยอาเจียนออกมา หรือคลิปที่คุณแม่เอาตะปูปลอมเสียบนิ้วตัวเอง ดึงเข้าดึงออก เพื่อพิสูจน์ว่าลูกเป็นห่วงตัวเองหรือไม่ หรือคลิปคุณครูให้เด็กนักเรียนกราบที่หน้าเสาธง ฯลฯ พฤติกรรมเหล่านี้ ถือเป็นการทารุณกรรมเด็กโดยตรง เป็นการทำร้ายจิตใจ ทำให้เด็กหวาดกลัว แล้วยิ่งมีการนำคลิปไปเผยแพร่ ยิ่งเป็นการตอกย้ำตราบาปให้เด็ก
คุณพ่อ คุณแม่จึงไม่ควรมองการโพสต์ หรือแชร์คลิปตลกๆ ของลูก เป็นเรื่องขำขัน หรือสนุกสนาน แต่ควรมองถึงจิตใจ และความรู้สึกของลูก อย่าใช้ความเดือดร้อนของลูกมาเป็นเครื่องมือในการผ่อนคลายความเครียด
ธาม เชื้อสถาปณศิริ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อออนไลน์ เผยว่า ไม่ควรโพสต์ชื่อลูก หรือชื่อโรงเรียน
“เดี๋ยวนี้ พ่อแม่มักทำให้ลูกเป็นเหมือนดารา ลูกน่ารักอัพวิดีโอคลิป ซึ่งไม่ควรเลย นอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว ยังละเมิดสิทธิ์เด็กด้วย อันที่จริง เด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี ไม่ควรเข้าเล่นโซเชียลมีเดียด้วยซ้ำ แต่กลายเป็นว่าทุกวันนี้ เด็กโกงอายุ โกงวันเดือนปีเกิด เพื่อสมัครใช้งานสื่อโซเชียลมีเดีย สุดท้ายก็ถูกล่อลวงได้ง่าย”
ข้อห้ามที่คุณพ่อ คุณแม่ควรจำ เพื่อป้องกันอันตรายกับลูกน้อย ได้แก่ ห้ามโพสต์รูปเปลือยของลูก ห้ามเปิดเผยข้อมูลของลูก ห้ามเปิด location ห้ามโพสต์รูปที่อาจทำให้คนเข้าใจผิด ห้ามเผยแพร่ข้อมูลที่ทำให้ลูกอับอาย และ ห้ามโพสต์รูปลูกที่อาจไม่อยากให้คนอื่นเห็นเมื่อโตขึ้น
การโพสต์รูปลูก ยิ่งมิจฉาชีพมีข้อมูลมากเท่าไหร่ ลูกก็จะเสี่ยงภัยเท่านั้น การโพสต์รูปลูกว่าอยู่ที่ไหน ทำอะไร ยิ่งเสี่ยงเป็น 2 เท่า แม้กระทั่งการถ่ายภาพลูกกับของเล่น อาจทำให้มิจฉาชีพรู้วิธีหลอกล่อว่าลูกของเราชอบอะไรเป็นพิเศษ คุณพ่อ คุณแม่จึงควรระมัดระวัง
ชมคลิปเพื่อสอนลูกน้อย
เครดิต: มูลนิธิแพธทูเฮลท์, ไทยรัฐออนไลน์, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส)
อ่านเพิ่มเติม คลิก!!
ภัยออนไลน์ใกล้ตัวลูกน้อย ที่พ่อแม่ต้องระวัง!
อุทาหรณ์! ลูกติดจอรุนแรงระงับอารมณ์ไม่ได้
หรือ….ลูกกำลังถูกคุกคามทางอินเทอร์เน็ต
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
Save