AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

7 วิธีป้องกันและแก้ปัญหาลูกติดเกม

เตือนพ่อแม่ทั้งหลายที่ปล่อยให้ ลูกติดเกม เล่นเกมบนมือถือ ระวังพลาดเสียเงินเพราะลูกใช้รหัสบัตรเอทีเอ็มซื้อไอเทมเพียงแค่ไม่ถึง 100 บาท แต่ทำเงินแม่เกือบหมดบัญชี

คุณแม่ท่านหนึ่งได้แชร์เรื่องราวผ่าน เฟซบุ๊กเพจ แหม่มโพธิ์ดำ ถึงลูกของตัวเอง ที่ได้ปล่อยให้ลูกเล่นเกมชื่อดังอย่าง ROV โดยลูกได้ใช้รหัสบัตรเอทีเอ็มไปซื้อไอเท็มในเกม ครั้งละ 35-99 บาท รวมตลอด 6 วัน เสียเงินไปเกือบ 20,000 บาท

แม่แชร์เตือน ลูกติดเกม ใช้รหัสบัตร ATM แม่
ซื้อไอเท็ม หมดเกือบ 20,000
บาท

โดยทาง เฟซบุ๊กเพจ แหม่มโพธิ์ดำ ได้ออกมาโพสต์ภาพข้อความที่จะเป็นอุทาหรณ์ให้กับคุณพ่อคุณแม่ทุกท่าน ว่ามีคุณแม่ให้มือถือลูก 11 ขวบ เอาไปเล่นเกม 5 วัน ทำเงินในบัญชีเกือบ 20,000 เหลือแค่ 2 บาท ซึ่งเรื่องราวระบุว่า

“หนูขอปรึกษาเรื่องเกม…ได้ไหมคะ พอดีลูกชายอายุ 11 ขวบ เอามือถือไปเล่นเกมส์ตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม จนถึงวันที่ 16 ตุลาคม อยู่ๆ ยอดเงินในบัญชีหนูก็หายเพราะไปที่ธนาคารบอกว่ามีการโหลด จากกูเกิลแบบนี้ก็มีหรอคะ แล้วหนูจะติดต่อใครหรือทำอะไรได้ไหมคะ ตอนนี้เดือดร้อนจริงๆ ค่ะ และอยากให้พี่เอาเรื่องของหนูไปเป็นอุทาหรณ์ให้ครอบครัวคนอื่นด้วยค่ะ งั้นหนูขอยืนยันนะคะว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องจริงไม่ได้สร้างเรื่องมาให้พี่รำคาญแต่อย่างใดเลย ถ้าพี่อยากตรวจสอบเพราะติดต่อหนูได้ตลอดเวลาค่ะ”

#แม่งานเข้าให้ลูกเล่นมือถือ #ห้าวันROVกดเงินหมดบัญชี #หมดตัวเกือบสองหมื่นปรึกษาขอเงินคืนหนูขอปรึกษาเรื่องเกมROVได้ไหมค…

โพสต์โดย แหม่มโพธิ์ดำ บน 18 ตุลาคม 2017

คุณแม่ส่งหลักฐานมาแล้ว โอ๊ยสงสาร ไอ้หนูมึงก็กดไม่ยั้งเลย 35 บาทกะ 99 บาทเกลี้ยงบัญชี ขอให้หาทางออกได้นะแม่นะ ควีนส่งเรื่องให้สื่อแล้ว 🙁

โพสต์โดย แหม่มโพธิ์ดำ บน 19 ตุลาคม 2017

 

ทั้งนี้ล่าสุด ผู้เป็นแม่ของเด็กชายวัย 11 ขวบ ที่ เปิดเผยว่า ได้นำสมุดเงินฝากเข้าไปติดต่อเพื่อสอบถามเกี่ยวกับการตัดยอดเงินในบัญชี เพราะตนจ่ายเงินเพื่อให้ธนาคารแจ้งเตือนเมื่อมียอดเงินฝากและถอนออกจากบัญชี แต่ระหว่างเกิดเหตุไม่มีข้อความแจ้งเตือนความเคลื่อนไหวของเงินในบัญชี จนกระทั่งตนไม่สามารถถอนเงินจากบัตรเอทีเอ็มได้

อ่านต่อ >> “คำชี้แจงของธนาคาร หลังแม่ถามหา
ความเคลื่อนไหวของเงินในบัญชี” คลิกหน้า 2


ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก เฟซบุ๊กเพจ : แหม่มโพธิ์ดำ

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

คำชี้แจงของธนาคาร

เบื้องต้นธนาคารแจ้งว่าธนาคารจะส่งข้อความแจ้งเตือนเมื่อมียอดเคลื่อนไหวตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไป แต่กรณีที่เกิดขึ้นเป็นการตัดยอดครั้งละ 99 บาท และ 35 บาทต่อครั้ง ระบบจึงไม่ได้ส่งข้อความแจ้งเตือน ซึ่งตนก็ไม่เข้าใจในระบบของธนาคาร เพราะมีการตัดยอดหลายครั้งจนวงเงินสูงถึง 10,000 บาทต่อวัน

โดยผู้เป็นแม่ยังบอกอีกว่า…

ลูกชายพักอาศัยอยู่กับปู่ย่าใน จ.อุบลราชธานี ส่วนตนเองเข้ามาทำงานเป็นพนักงานบริษัทเอกชนในกรุงเทพฯ ซึ่งปกติในช่วงเปิดเทอมลูกชายจะไม่ได้รับอนุญาตให้เล่นเกม แต่ในช่วงปิดเทอมลูกมาขออนุญาต ตนจึงนำโทรศัพท์มือถือเครื่องเก่าที่ไม่ได้ใช้งานแล้วให้ลูกใช้เล่นเกม โดยเป็นโทรศัพท์ในระบบเติมเงิน ซึ่งที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีปัญหาเพราะจะเติมเงินให้ครั้งละ 20 – 50 บาท

อย่างไรก็ดีเจ้าเกม ROV นี้ ถือเป็นเกมแนว MOBA ชื่อดังได้รับความนิยมสูง ทั้งนี้ผู้เป็นแม่ยังคาดว่าลูกชายอาจจะใช้อีเมลของตนที่เป็นข้อมูลค้างอยู่ในเครื่องเก่านำไปกรอกสมัครเล่นเกม เพราะเกมดังกล่าวมีเงื่อนไขให้ผู้เล่นต้องมีอายุเกิน 18 ปีขึ้นไป

แต่ตนก็ยังไม่ทราบชัดว่าข้อมูลบัตรเอทีเอ็มที่ลูกนำไปใช้ซื้อไอเท็มต่างๆ ถูกนำไปเชื่อมโยงกับเกมดังกล่าวได้อย่างไร ขณะนี้กำลังปรึกษาเพื่อนและหน่วยงานต่างๆ ว่าจะมีทางเรียกร้องเงินกลับคืนมาได้บ้างหรือไม่ หากเรียกคืนไม่ได้ก็ต้องการให้กรณีของตนเป็นอุทาหรณ์ให้กับผู้ปกครองอื่นๆ

⇒ Must read : กรมสุขภาพจิต เผย! เด็กไทยติด เกมแนว “MOBA” เสี่ยงป่วยทางจิตเวชร่วมด้วย
⇒ Must read : หยุดก่อนสาย! ลูกติดเกม ส่งผลเสียกับเซลล์สมอง

ทั้งนี้ในการใช้รหัสบัตรเอทีเอ็ม เพื่อซื้อไอเท็มต่างๆ ในเกมสามารถทำได้อย่างง่ายๆ ซึ่งมีสมาชิกลูกเพจแหม่มโพธิ์ดำ ได้เม้นท์อธิบายไว้ดังนี้

ซึ่งเป็นวิธีการชำระเงินผ่านบัตร atm ที่เป็น Visa ทำง่ายๆ เพียงใช้เลขที่สามารถดูบนบัตร ใส่ได้เลย แค่ไปเพิ่มวิธีชำระผ่าน google play store (สำหรับมือถือแอนดรอย) พอเพิ่มได้แล้ว กดเข้าเกมส์ กด ซื้อคูปอง เลือกชำระผ่าน visa ที่เพิ่มไป ก็ซื้อได้เลย

นอกจากนี้ยังมีชาวเน็ตได้แนะนำว่า หากเป็นการซื้อของในเกมที่ผู้ปกครองไม่ยิมยอม สามารถเข้าไปร้องเรียนทางเว็บไซต์ Google play จากนั้นให้เข้าบัญชีที่สมัครเข้าเล่นเกม จากนั้นเข้าไปที่ประวัติการสั่งซื้อ เพื่อตรวจดูว่ามีการหักเงิน ซึ่งตรงจุดนี้สามารถกดรายงานปัญหาเพื่อขอเงินคืน โดยจะมีตัวเลือกต่างๆ อาทิ การซื้อนี้ดำเนินการโดยเพื่อนหรือสมาชิกในครอบครัวโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นต้น

บทสรุปของเรื่องนี้…

อย่างไรก็ตาม จากเรื่องนี้ นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า กรณีนี้อยู่นอกเหนือการให้ความช่วยเหลือของกระทรวงยุติธรรม เพราะแม่เป็นผู้อนุญาตให้เด็กใช้โทรศัพท์ และยอมให้หักเงินจากบัตรเอทีเอ็มหรือบัตรเครดิต เพราะลำพังเด็กไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของแม่ได้หากไม่ได้รับอนุญาต

นอกจากนี้เกมออนไลน์ต่างๆ ยังกำหนดเงื่อนไขในการสมัครเข้าใช้งานว่า ผู้เล่นต้องมีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป กรณีที่เกิดขึ้นขอให้เงิน 20,000 บาท ที่เสียไปจะถูกนำไปใช้เป็นบทเรียนในการสอนลูก ว่าการเล่นเกมของลูกทำให้แม่ต้องเสียเงินเก็บไปถึง 20,000 บาท รวมถึงเป็นบทเรียนในการสอดส่องดูแลลูกไม่ให้มีภาวะเป็นเด็กติดเกมด้วย

อ่านต่อ >> “วิธีป้องกันและแก้ไขปัญหาเมื่อลูกติดเกม” คลิกหน้า 3


ขอบคุณข้อมูลจาก : news.sanook.com

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

ปัญหาลูกติดเกมมือถือ

สำหรับปัญหาลูกติดเกม หรือเด็กติดเกม นั้น รศ.นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ประจำภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้ให้คำตอบ กับคุณพ่อคุณแม่ทุกคนได้คลายข้อสงสัย ทั้งสาเหตุ วิธีป้องกัน และวิธีแก้ไขไว้ดังนี้แล้วค่ะ

ลักษณะของเด็กติดเกม

  1. ไม่สามารถควบคุมตัวเองให้เล่นในเวลาที่กำหนด ทำให้ใช้เวลาในการเล่นนานติดต่อกันหลายๆชั่วโมงหรือเล่นนานขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมไม่กี่ชั่วโมงต่อวัน เพิ่มเป็นหลายชั่วโมงต่อวัน บางคนเล่นข้ามวันข้ามคืน
  2. หากถูกบังคับให้เลิกหรือหยุดเล่นจะต่อต้าน หรือมีปฏิกริยาหงุดหงิดไม่พอใจอย่างรุนแรง บางคนถึงขั้นก้าวร้าว
  3. การเล่นของเด็กมีผลกระทบต่อหน้าที่ความรับผิดชอบของเด็ก เช่น เด็กไม่สนใจการเรียน ไม่สนใจที่จะทำการบ้าน หนีเรียนหรือแอบหนีออกจากบ้านเพื่อจะไปเล่นเกม การเรียนตกลงอย่างมาก ละเลยการเข้าสังคม หรือทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัว
  4. บางรายอาจมีปัญหาพฤติกรรมอื่นๆร่วมด้วย เช่น โกหก ลักขโมย (เพื่อนำเงินไปเล่นเกม) ดื้อต่อต้านแยกตัว เก็บตัว ฯลฯ

สาเหตุของการติดเกม

สาเหตุที่ทำให้เด็กติดเกมมิได้มีเพียงสาเหตุใดสาเหตุหนึ่ง แต่การติดเกมเป็นเพียงผลลัพธ์ของหลายๆปัจจัยที่ผสมผสานและสัมพันธ์กันอยู่ สาเหตุหลักๆ ได้แก่

  1. การเลี้ยงดูในครอบครัว: มักจะพบเด็กติดเกมได้บ่อยในครอบครัวที่เลี้ยงเด็กโดยไม่เคยฝึกให้เด็กมีวินัยในตัวเอง ขาดกฎระเบียบ กติกาในบ้าน ตามใจเด็ก หรือมักจะใจอ่อนไม่ทำโทษเมื่อเด็กกระทำผิด บางครอบครัวมีลักษณะที่สมาชิกในครอบครัวต่างคนต่างอยู่ ไม่มีกิจกรรมที่สนุกสนานให้เด็กทำ หรือไม่มีกิจกรรมที่สมาชิกทุกคนทำร่วมกัน ทำให้เด็กเกิดความเหงา ความเบื่อหน่าย เด็กจึงต้องหากิจกรรมอื่นทำเพื่อให้ตัวเองสนุกซึ่งก็หนีไม่พ้นการเล่นเกม พ่อแม่อาจไม่มีเวลาควบคุมเด็ก หรือมองไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องจำกัดเวลาในการเล่นเกมของเด็กในช่วงแรก พ่อแม่อาจรู้สึกพอใจที่เห็นเด็กเล่นเกมเงียบๆคนเดียวได้โดยไม่มารบกวนตน ทำให้ตนมีเวลาส่วนตัวมากขึ้น พูดง่ายๆคือใช้เกมเสมือนเป็นพี่เลี้ยงดูแลเด็กแทนตน
  2. สังคมที่เปลี่ยนแปลงไป: สังคมยุคไฮเทคที่มีเครื่องมือที่มีพลังในการเร้าความตื่นเต้นให้เกิดขึ้นในตัวเด็กอย่างมหาศาล สังคมวัตถุนิยม สังคมที่ขาดแคลนกิจกรรม หรือสถานที่ที่เด็กจะได้ใช้ประโยชน์หรือเรียนรู้โดยได้รับความสนุกสนานเพลิดเพลินไปด้วย เหล่านี้เป็นแรงผลักดันให้เด็กหันไปใช้การเล่นเกมเป็นทางออก
  3. ปัจจัยในตัวเด็กเอง: เด็กบางกลุ่มอาจมีความเสี่ยงต่อการติดเกมมากกว่าเด็กทั่วไป เช่น เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น (ADHD) เด็กที่มีปัญหาอารมณ์ ซึมเศร้า หรือวิตกกังวล เด็กที่ขาดทักษะทางสังคม เข้ากับเพื่อนไม่ได้ เด็กที่มีปัญหาการเรียน เด็กที่มีความรู้สึกมีคุณค่าในตัวเองต่ำ (low self-esteem) เป็นต้น

⊕ วิธีป้องกันไม่ให้ลูกติดเกม

  1. คุยกับลูกเพื่อกำหนดกติกากันล่วงหน้าก่อนจะซื้อเกม หรืออนุญาตให้เด็กเล่นว่า บอกลูกว่าสามารถเล่นเกมได้ในวันใดบ้าง วันใดเล่นไม่ได้ เล่นได้ครั้งละไม่เกินกี่ชั่วโมง ตั้งแต่เวลาใดถึงเวลาใด ก่อนจะเล่นต้องรับผิดชอบทำอะไรให้เสร็จเรียบร้อยก่อนบ้าง หากลูกไม่รักษากติกา เช่น เล่นเกินเวลา ไม่ทำการบ้านให้เสร็จก่อน ฯลฯ ลูกจะถูกทำโทษอย่างไร (แนะนำให้ใช้วิธีริบเกม หรือตัดสิทธิการเล่นเป็นเวลาระยะหนึ่งหากเด็กไม่ทำตามกติกาที่ตกลง)
  2. วางตำแหน่งคอมพิวเตอร์ เครื่องเล่นเกม หรือมือถือ ในสถานที่ที่เป็นที่โล่ง มีคนเดินผ่านไปผ่านมาบ่อยๆ ไม่ควรตั้งไว้ในห้องนอนหรือห้องที่ปิดมิดชิด เพื่อที่พ่อแม่จะได้ติดตามเฝ้าดูได้ เป็นการป้องกันมิให้เด็กเก็บตัว แอบเล่นคนเดียวในห้อง หรือแอบเล่นทั้งคืน
  3. วางนาฬิกาขนาดใหญ่ไว้หน้าเครื่อง หรือในตำแหน่งที่เด็กสามารถมองเห็นได้ชัดเจน พร้อมกับสอนให้ลูกรู้จักการแบ่งเวลา รู้จักใช้เวลาอย่างเหมาะสม
  4. ให้คำชมกับลูกเมื่อลูกสามารถรักษาเวลาการเล่น ควบคุมตัวเองไม่ให้เล่นเลยเวลาที่กำหนดได้
  5. เอาจริง เด็ดขาดหากลูกไม่รักษากติกา เช่น ริบเกมโดยไม่ใจอ่อน ถอดสายโมเด็มออก ฯลฯ
  6. ส่งเสริมและจัดหากิจกรรมที่สนุกสนานอย่างอื่น (ที่สนุกพอๆกับ/หรือมากกว่าการเล่นเกม) ให้ลูกได้ทำหรือมีกิจกรรมที่ทำร่วมกันในครอบครัว
  7. หลีกเลี่ยงการใช้เกมเป็นเสมือนพี่เลี้ยงเด็ก เพื่อที่พ่อแม่จะได้มีเวลาส่วนตัวไปทำอย่างอื่น

√ วิธีแก้ไขปัญหาลูกติดเกม

  1. หากในบ้านยังไม่มีกฎหรือกติกาการเล่นเกม จำเป็นที่จะต้องพูดคุยกับลูกและให้เด็กเข้ามามีส่วนร่วมในการวางกติกา กำหนดเวลาการเล่น (เหมือนข้อ 1 ในหัวข้อการป้องกัน)
  2. มีเวลาอยู่กับลูกมากขึ้น พาออกนอกบ้านเพื่อไปทำกิจกรรมที่ลูกชอบ (ยกเว้นการไปเล่นเกมนอกบ้าน) อย่าลืมว่าเด็กส่วนหนึ่งติดเกมเพราะความเหงา เบื่อ ไม่มีอะไรสนุกๆ ทำ
  3. รักษาสัมพันธภาพระหว่างกันให้ดี หลีกเลี่ยงการบ่น ตำหนิ ใช้อารมณ์ หรือถ้อยคำรุนแรง แสดงความเห็นใจ และต้องเข้าใจว่าลูกไม่สามารถคุมตัวเอง หรืตัดขาดจากเกมได้จริงๆ
  4. พ่อแม่ควรร่วมมือกันในการแก้ปัญหา โดยใช้กฎเดียวกัน อย่าปัดให้เป็นภาระหรือความรับผิดชอบของใครคนใดคนหนึ่ง
  5. ฟอร์มเครือข่ายพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีลูกติดเกมเหมือนๆ กันหลายๆ ครอบครัว แล้วผลัดกันพาลูกไปทำกิจกรรมหลังเลิกเรียน หรือในวันหยุด เช่น camping, field trip, walk rally ฯลฯ จัดตั้งเป็นกลุ่มย่อยๆ เช่น sport club, adventure club เป็นต้น
  6. ในรายที่ติดมากจริงๆ และลูกมีการต่อต้านรุนแรงที่จะเลิก ในระยะแรกพ่อแม่ควรร่วมเล่นเกมกับลูก (แต่อย่าเผลอติดเอง) ทำความรู้จักกับเกมที่ลูกชอบเล่น หากเห็นว่าเป็นเกมที่ไม่เหมาะสม หรือเกมที่ใช้ความรุนแรง พยายามเบี่ยงเบนให้ลูกมาสนใจเกมอื่นที่พอจะมีส่วนดี ดึงเอาส่วนดีของเกมมาสอนลูก เช่น เกมสร้างเมือง strategic game ต่างๆ เกมที่มีบทบาทสมมุติเพื่อฝึกทักษะทางสังคม เป็นต้น เมื่อสัมพันธภาพกับลูกเริ่มดีขึ้น พ่อแม่จึงค่อย ๆ ดึงลูกให้มาสนใจในกิจกรรมอื่นทีละเล็กทีละน้อย
  7. หากทำทุกวิธีข้างต้นแล้วไม่ได้ผล พ่อแม่ควรพาลูกไปพบจิตแพทย์เด็ก เนื่องจากลูกอาจจะป่วย มีปัญหาสุขภาพจิตก็เป็นได้

อ่านต่อ “บทความดี ๆ น่าสนใจ” คลิก!


ขอบคุณข้อมูลจาก : game.sanook.com