AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

หมอชวนคิดอีกมุม ไม่มีพ่อแม่คนไหนมีความสุขจาก วิธีลงโทษลูก ไม่ว่าแบบไหน

ชวนมองอีกมุม วิธีลงโทษลูก ดุด่า ต่อว่า ตีลูก  แปลว่าพ่อแม่ไม่รักจริงหรือ จิตแพทย์แนะ การลงโทษที่เด็ดขาดไม่ใช่เรื่องผิด เป็นสิ่งที่พ่อแม่กล้าหาญเท่านั้นจะทำได้ สุดท้ายเด็กเข้าใจ พ่อแม่ “รัก” มากกว่า “เกลียด” แนะปรับวิธีปรับพฤติกรรม สร้างความเข้าใจ ไม่ใช่แค่อารมณ์

จากกรณีที่คุณพ่อท่านหนึ่งโพสต์ภาพของลูกชายนั่งดูโมเดลรถที่ถูกทำลายจำนวนมาก พร้อมข้อความระบุว่า “ขออนุญาตครับ รบกวนสมาชิก หากเด็กคนนี้ทำอะไรในกลุ่มเสียหาย ต้องการให้รับผิดชอบทักมาได้เลย และรบกวนสมาชิกทุกคนไม่ต้องส่งอะไรมาให้เด็กคนนี้ทำ หรือ CF ของ ตอนนี้สั่งเลิกเล่นและให้    “ทำลายทิ้งทั้งหมด“  เพราะไม่มีความรับผิดชอบในหน้าที่ของตัวเอง ละเลยการเรียน เงินให้ไปโรงเรียนไม่ยอมซื้อข้าวกิน  อดเพื่อเอาเงินมา CF ของ หมกมุ่นอยู่แต่กับรถทั้งวันทั้งคืน แม้แต่นอนยังต้องถือคันที่ชอบไปนอนด้วยทุกครั้ง มันเกินไป ขออภัยทุกท่านด้วยที่ลูกชายผมทำให้ทุกคนเดือดร้อน”

 

เครดิตภาพจาก www.nationtv.tv

จนทำให้เกิดกระแสดราม่าตีกลับ วิพากษ์วิจารณ์จากชาวเน็ตจำนวนมาก เพราะมองว่าเป็น วิธีลงโทษลูก ที่รุนแรง ทำร้ายจิตใจลูก  และสืบเสาะที่มาที่ไปจึงทราบว่าเด็กคนนี้ไม่ใช่แค่หลงใหลโมเดลรถเท่านั้น   แต่ยังสร้างรายได้ด้วยการรับทำสีโมลเดลรถด้วย  แม้ภายหลังคุณพ่อท่านนี้ได้โพสต์อธิบายถึงการตัดสินใจลงโทษครั้งนี้ว่า

“การสั่งห้ามหรือทำลาย มันคือการห้ามเล่นเฟส ห้ามรับงานคนอื่นมาทำ เพราะอาจทำของเขาเสียหาย ผมไม่ได้ห้ามเขาหรือให้เขาเลิกทำในสิ่งที่รัก “เพียงแต่ให้หยุดก่อน” ซึ่งผมสนับสนุนเขามาตลอด รถที่ซื้อให้รวมๆ เกือบ 1,000 คันแล้วมั้ง คุณคิดว่าผมสนับสนุนหรือไม่

ลูกอยากไปแข่งรถก็พาไป ให้เขาได้ลอง ได้รู้ ได้ทำในสิ่งทีรัก เครื่องไม้เครื่องมือ ก็หาซื้อให้ในการแต่งรถ เพราะเราเห็นถึงความตั้งใจของเขา เพียงแต่เวลานี้เขาตั้งใจเกินไปมาก จนลืมกินข้าว ลืมงานบ้าน เริ่มละเลยการเรียน และที่สำคัญคืออันตรายต่อสุขภาพด้วยการพ่นสี  ซึ่งผมว่ามันยังไม่ถึงเวลาของเขา การหยุดคือการที่เราต้องมาตกลงกันใหม่ ต้องมีการแยกแยะเวลา เวลาทำอะไรต้องปรึกษาพูดคุยกันก่อนดีไหม การโพสต์ของผมคือการขอโทษสมาชิกแทนลูก  และรับผิดชอบให้ถ้าเขาทำอะไรเสียหาย เพราะอยากให้เขายังอยู่ได้และมีที่ยืนในโลกของรถเหล็กโมเดล มีประวัติที่ดี “คนเป็นพ่ออย่างผมผิดมากใช่ไหมครับ”

แต่กระแสความไม่พอใจยังมีอย่างต่อเนื่องหลายเพราะมองว่า การตักเตือนสั่งสอนลูกไม่ใช่เรื่องผิด แต่ วิธีลงโทษลูก ด้วยการทำลายโมเดลรถซึ่งเป็นของรักนั้นทำร้ายจิตใจและอาจส่งผลเสียในอนาคต ทำให้ประเด็นเรื่องการลงโทษลูกเป็นที่ถกเถียงกันในวงกว้างมีทั้งฝ่ายเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย

เครดิตภาพจาก www.nationtv.tv

หมอชวนคิดอีกมุม ไม่มีพ่อแม่คนไหนมีความสุขจากการลงโทษลูก แนะวิธีปรับความเข้าใจ ไม่ใช้อารมณ์ 

เชื่อว่าพ่อแม่ยุคใหม่อาจรู้สึกไม่แน่ใจว่า ถ้าลูกทำผิดควรเลือก วิธีลงโทษลูก แบบไหนดี จะดุว่าหรือตีลูกจะผิดไหม ถ้าทำลูกร้องไห้เสียใจ ความรู้สึกนี้จะฝังใจไปจนโตหรือเปล่า  สิ่งนี้ทำให้หลายบ้านคิดไม่ตก ว่าควรจะตีหรือไม่ดีลูกเมื่อทำผิดดี

ด้านศาสตราจารย์แพทย์หญิง อุมาพร ตรังคสมบัติ เจ้าของเพจ “ปั้นใหม่ โดยอาจารย์หมออุมาพร” ได้โพสต์จดหมายฉบับยาวฝากถึงคุณพ่อคนดังกล่าว พร้อมแสดงทัศนคติได้ฉุกคิดในอีกมุมหนึ่ง ใจความบางส่วนว่า

“สวัสดีค่ะคุณพ่อ ได้อ่านโพสต์ของคุณจากเวปหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ตอนท้ายคุณตั้งคำถามว่า “คนเป็นพ่ออย่างผมผิดมากใช่ไหมครับ?”

คุณไม่ได้ถามอาจารย์ แต่อาจารย์อยากตอบในมุมมองของจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ได้เขียนหนังสือ “สร้างวินัยให้ลูกคุณ” ซึ่งขายมาร่วมแสนเล่มแล้ว และที่สำคัญคือเคยเป็นแม่คนมาก่อน อาจารย์คิดว่าคุณไม่ได้ทำผิดค่ะ

คุณกำลังทำในสิ่งที่พ่อแม่ที่กล้าหาญเท่านั้นที่จะทำได้  เพียงแต่คุณอาจจะต้องปรับเทคนิคสักเล็กน้อย

พ่อแม่ส่วนใหญ่รักลูก แต่เขาไม่กล้าหาญพอที่จะจัดการสร้างวินัยอย่างหนักแน่น เพราะอะไรน่ะหรือ?   

ก็เพราะเขา “กลัวว่าลูกจะไม่รัก”  “กลัวว่าจะเป็นพ่อแม่ที่ไม่ดีพอ”  “กลัวว่าลูกจะมีบาดแผลทางใจ” กลัว กลัว กลัว

ผลลัพธ์ของมันก็คือ เด็กกลายเป็นเหมือนม้าป่าที่ฝึกไม่ได้ มันพยศในแบบที่เป็นอันตราย ทั้งต่อเจ้าของ ผู้ฝึก คนมากมายที่มาเข้าใกล้มัน และที่สำคัญคืออันตรายต่อตัวมันเอง

สังคมเราทุกวันนี้เต็มไปด้วยเด็กที่ขาดวินัย เขาควบคุมตัวเองไม่เป็น เขาสั่งตัวเองว่า “พอแล้ว” “หยุดได้แล้ว” ไม่ได้  เขาทำตามอำเภอใจ ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง ไม่เคารพกฎระเบียบ ปราศจากความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และปราศจากความรับผิดชอบ ทั้งหมดนี้เพียงเพราะพ่อแม่ไม่กล้าหาญพอหรือไม่ก็ล้มเลิกง่ายๆ ในการฝึกวินัยลูก

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

หากเราต้องการให้เขาเติบโตไปดีก็คือ เรียนรู้เรื่อง “ผลลัพธ์ของการกระทำและความรับผิดชอบ” พ่อแม่จะต้องเป็นผู้สอนเรื่องนี้ อย่าคิดว่าเขาจะเรียนรู้เอง หรือโรงเรียนจะสอนเขาแทน หากเราปล่อยไป วันหนึ่งเมื่อเขาโตเป็นผู้ใหญ่ เขาจะเรียนรู้เรื่องนี้จากกฎหมายและกฏเกณฑ์ของสังคม แต่มันจะเป็นการเรียนรู้ที่แสนจะเจ็บปวด ให้เขาร้องไห้วันนี้ เมื่อบทลงโทษยังไม่รุนแรง เมื่อบาดแผลยังไม่ลึกเท่าไหร่ เพราะคนที่ลงโทษเขาคือพ่อแม่ที่รักเขา

อาจารย์ไม่คิดว่าคุณเป็นคนหัวร้อน วิธีการเขียนโพสต์ของคุณบอกว่าคุณเป็นคนมีเหตุผลพอ ไม่ใช่พ่อแม่ที่ขี้โมโหและใช้อำนาจเผด็จการกับลูก อาจารย์เชื่อว่าคุณได้เตือนลูกมาหลายครั้งแล้ว แต่ลูกไม่ฟัง บางครั้งท่าทีของเราอาจไม่หนักแน่นพอจนทำให้ลูกเข้าใจผิดว่าพ่อแม่ไม่เอาจริง และไม่จำเป็นที่จะต้องทำตามคำสั่ง  ความไม่หนักแน่นนี้เองที่มักเป็นสาเหตุทำให้หลายบ้านลงเอยด้วยการต้องทำโทษลูกรุนแรง

เด็กหลายคนก็เป็นเด็กที่ “ยาก” เด็กแบบนี้แม้พ่อแม่ที่อดทนมากที่สุด หรือมีเทคนิคที่ดีที่สุด ก็ยังต้องจนปัญญา (เด็กแบบนี้ทางการแพทย์มีชื่อเรียกโดยเฉพาะเลย คือเป็นโรค oppositional defiant disorder)

ที่สำคัญ “ไม่มีพ่อแม่คนไหนมีความสุขจากการลงโทษลูก”  เพราะเรามีภาพของการลงโทษว่าเป็นการ “ทำร้าย” ดังนั้นแม้การลงโทษนั้นจะมีเหตุผลที่สุด แต่ยังรู้สึกไม่มั่นใจที่จะทำลงไป และหลายครั้ง เราเจ็บปวดเสียยิ่งกว่าลูกอีก …คุณคงเจ็บปวดหัวใจที่ทำแบบนั้นกับลูกที่คุณรัก อาจารย์เชื่อว่าคุณรักและเป็นห่วงเขามาก แต่คุณสุดทางแล้วจริงๆ

อย่าวิตกกังวลว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้จะเป็นบาดแผลทางใจของลูกไปจนวันตาย มันไม่เป็นแบบนั้นหรอกค่ะ พ่อแม่อย่างเราๆน่ะ ไม่สร้างบาดแผลทางใจแบบนั้นหรอก   เพราะการดูแลลูกโดยรวมของเราดีพอ เราให้ความรักความอบอุ่นกับเขามากพอ ประสบการณ์ที่เขามีกับเราเป็นประสบการณ์เชิงบวกมากกว่าเชิงลบ สิ่งแย่ที่สุดที่อาจจะเกิดขึ้นคือ ลูกจำได้ว่าครั้งหนึ่งพ่อโกรธเขามากจนทำลายของเล่นสุดรักของเขา แต่เมื่อเริ่มโตเขาจะสามารถบอกตัวเองได้ว่าที่พ่อทำแบบนี้เพราะพ่อรักเขา โดยทั่วไปแล้วในพัฒนาการปกติ เด็กจะสามารถมองภาพรวมๆของพ่อแม่ได้ ว่ามีทั้งใจดีและดุ มีทั้งรักและโกรธ เด็กจะสามารถประมวลทั้งขาวและดำออกมาเป็นสีเทาได้…”

วิธีลงโทษลูก แบบนี้ไม่ต้องดุตีก็ได้ผล

เพิกเฉยไม่สนใจ วิธีนี้เหมาะกับเด็กเล็กๆวัย 1-2 ขวบ ที่คุณแม่จะอธิบายเหตุผลก็คงไม่เข้าใจ หากลูกงอแง หรือกรี๊ดร้องโวยวายปลอบเท่าไรก็ไม่หยุดคุณแม่ควรปลีกตัวให้ห่างจากเขา เพื่อให้ลูกรู้ว่าใช้วิธีเรียกร้องความสนใจแบบนี้ไม่ได้ ต่อไปลูกจะไม่ทำอีก

Time-out เทคนิคสร้างเวลาสำนึกผิด เหมาะกับเด็กวัยซน 2-4 ขวบ กรณีเล่นซนและเสี่ยงเกิดอันตราย คุณแม่ควรแยกตัวเขาออกมากิจกรรมที่กำลังทำ เพื่อให้อยู่ในมุมสงบ ลูกอาจร้องไห้อยู่ในช่วงแรกอีกพักก็จะสงบลง จากนั้นคุณแม่ค่อยเข้าไปพูดคุยให้เข้าใจ

สอนให้รู้ผลของการกระทำ เมื่อไรที่ลูกดื้อไม่ทำตามกฎกติกาตามที่ตกลงกันไว้ ต้องหัดให้เขากับผลตรงกันข้าม ไม่ได้สิ่งที่ต้องการ เช่นถ้าไม่รีบทำการบ้าน ก็ลดเวลาดูทีวี ถ้าไม่ยอมนั่งคาร์ซีทก็จะไม่ขับรถออกจากบ้าน

สอนด้วยความพูดที่ชัดเจน เด็กสามารถเข้าใจความต้องการของพ่อแม่ง่ายๆ ด้วยคำพูดอย่างตรงไปตรงมา น้ำเสียงราบเรียบ ไม่เจือน้ำเสียงดุด่าหรือใส่อารมณ์ใด ควรสอนด้วยอารมณ์สงบ วิธีนี้จะช่วยให้ลูกเปิดคำสอนมากขึ้น

สอนให้รับผิดชอบความผิดที่ทำ ถ้าลูกดื้อหรือทำผิดอารมณ์ ในช่วงแรกพ่อแม่ย่อมโมโหเป็นธรรมดา แต่ควรตั้งสติ ทำใจให้เย็นลง ไม่ตีหรือต่อว่าด้วยคำรุนแรง  ถ้าลูกโตพอช่วยเหลือตัวเองได้ ให้รับผิดชอบสิ่งที่ผิดพลาด ถ้าลูกทำน้ำหก ลองฝึกเอาผ้ามาเช็ดน้ำที่หกแทน ลูกจะได้เรียนรู้วิธีแก้ไขปัญหาด้วย

มองหาที่มาและแก้ปัญหา พ่อแม่ที่คิดแต่เรื่องจะ ลงโทษลูกอย่างไร มักมองที่พฤติกรรม โดยลืมหาสาเหตุของปัญหา เช่น แทนการตีลูกที่คะแนนไม่ดี อาจต้องมองหาว่าอะไรที่ทำให้ลูกทำไม่ได้ ปัญหาบางอย่างลูกต้องการคนช่วย “แก้ไข” ไม่ใช่ “ลงโทษ”

ใส่ใจและให้ความรักมากขึ้น หลายครั้งปัญหาดื้อปวดหัวของลูก จนต้องตีลูกบ่อยๆ เป็นจากการต้องการความรัก หรือจากการต่อต้านที่ไม่ได้รับความรัก แทนการตีลูก หันมาใส่ใจกับเวลาที่ให้ลูกให้มากขึ้น

แหล่งข้อมูล

www.nationtv.tv today.line.me  เพจปั้นใหม่ โดยอาจารย์หมออุมาพร

บทความน่าสนใจอื่นๆ 

ตีลูกบ่อย ไม่สร้างวินัย แต่คือ การทำร้าย ทำลายอนาคตลูก

 

8 วิธี รับมือลูกดื้อ “เผลอทำผิด” โดยไม่ต้องดุด่า!

 

พ่อแม่รังแกลูก ไม่รู้ตัว “บาป 14 ประการ” ข้อคิดเตือนใจจากท่านว. วชิรเมธี