AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

“การบ้าน” สิ่งท้าทายลูกน้อยให้รู้จักบริหารเวลา พร้อมวิธีเด็ดคุณแม่รับมือกับโครงงานหรือการบ้านอันน่าปวดหัว

เมื่อลูกเข้าโรงเรียนและเริ่มมีการบ้าน

การบ้าน ทั้งหลาย ทั้งปวง ขึ้นชื่อว่าการบ้านแล้ว ลูกเบื่อ ลูกไม่อยากทำแน่นอน ก่อนอื่นเลย ต้องพยายามลบคำว่า การบ้านออกจากสมองน้อยๆ ให้ได้ เพราะลูกจะตัดสินไปแล้วว่าการบ้านเป็นเรื่องจริงจังและน่าเบื่อหน่าย ลองใช้คำอื่นแทนค่ะ อาจจะเป็น ‘ช่วงเวลาเรียนรู้’ หรืออื่นๆ ที่ทำให้ลูกรู้สึกผ่อนคลาย ไม่หนักหนาจนเกินไป นอกจากนั้น ยังช่วยกำจัดคำแสลงหูพ่อแม่ที่ว่า ‘วันนี้ผมไม่มีการบ้าน ผมไปเล่นนะครับ’ ได้ด้วย เพราะช่วงเวลาเรียนรู้ก็คือช่วงเวลาที่คุณจะให้ลูกได้เรียนอะไรใหม่ๆ แม้ว่าวันนั้นเขาจะไม่มีการบ้านในกระเป๋าก็ตาม

หลังจากตัดคำอันตรายออกไปแล้ว ต่อไป คุณพ่อคุณแม่ต้องวางแผนให้ดี สร้างบทเรียนเรื่อง “เวลา” ให้เป็นระบบ และตรงต่อเวลาในทุกวัน การสอนเรื่องเวลาเป็นสิ่งสำคัญมาก

เปลี่ยนคำว่า “การบ้าน” เปลี่ยนเป็นคำอื่นเช่น ‘ช่วงเวลาเรียนรู้’ หรืออื่นๆ ที่ทำให้ลูกรู้สึกผ่อนคลาย

การบ้านคือการเรียนรู้

ลูกจะทำการบ้านมากมายได้อย่างไรอยู่ที่การรู้จักบริหารเวลา เช่น เมื่อถึงช่วงเวลาเรียนรู้ คุณคุยกับลูกได้ วันนี้มีงานที่ครูให้มาเรียนรู้กี่งาน แต่ละงานมากน้อยแค่ไหน ยากง่ายเพียงใด “เรามาดูกันสิเราจะเรียนรู้วิชาไหนก่อนดี ลูกว่างานนี้เราใช้เวลาเท่าไหร่ดีนะ” วิธีนี้นอกจากการทำ ‘การบ้าน’ แล้ว ลูกยังได้เรียนรู้เรื่องของการจัดการเวลา การแบ่งเวลาให้เหมาะสม ตลอดจนการเรียงลำดับความสำคัญก่อนหลัง

ต่อไปเมื่อลูกจัดการงานที่ต้องเรียนรู้เสร็จแล้ว ยังเรียนรู้ต่อได้ เช่น ลูกทำงานที่ครูให้มาเรียนรู้เสร็จก่อนกำหนด เวลาที่เหลือลูกจะไปทำอะไรก็ได้ ให้ผ่อนคลาย สบายใจ  ถ้าหากคุณทำให้ลูกรับมือกับเวลาได้ การบ้านจะเยอะเท่าไหร่ คราวนี้เขาก็จัดการได้หมดค่ะ

เรามีวิธีเด็ดที่จะช่วยให้คุณแม่รับมือกับโครงงานหรือการบ้านอันน่าปวดหัวของลูกที่ต‰องมาเร่งทำกันตอนวินาทีสุดท้ายกันค่ะ

กำหนดเวลาของช่วงเวลาการเรียนรู้

 

การบ้านลูกไม่ใช่การบ้านแม่!

กฎข้อแรก ต้องจำไว้ว่า นี่ไม่ใช่การบ้านของคุณแม่นะคะ หน้าที่ของเรามีเพียงแค่ช่วยให้เด็กๆ เรียนรู้ถึงวิธีการแก้ปัญหาและคิดรูปแบบของโครงงานด้วยตัวเอง อย่างเช่นถ้าลูกต้องทำเรื่องอวกาศ คุณสามารถช่วยด้วยการจัดหาวัตถุดิบหรืออุปกรณ์ที่ต้องการ และถ้าอุปกรณ์ที่ลูกเลือกดูแล้วไม่ค่อยปลอดภัยนักคุณก็สามารถเสนอแนะทางเลือกอื่นๆ ที่เหมาะสม

แต่ถ้างานยังเหลืออีกบานเบอะ ดูยังไงก็เสร็จไม่ทันกำหนดแน่ ถ้าเป็นแบบนี้คุณคิดว่าสมควรที่คุณจะต้องยื่นมือเข้าไปช่วยหรือไม่คำตอบก็คือ ถ้านี่เป็นเพียงงานชิ้นแรกหรือชิ้นสองที่ลูกต้องนั่งหน้าดำคร่ำเครียดกับโครงงานมาเป็นเวลากว่า 10 ชั่วโมงแล้ว (แต่คุณต้องแน่ใจนะว่าเห็นเธอนั่งทำนานขนาดนี้จริงๆ) ก็น่าจะเข้าไปช่วยได้ สิ่งสำคัญที่ลูกจะได้เรียนรู้ก็คือ เป็นการฝึกทำงานภายใต้ภาวะกดดัน ซึ่งวิธีเหล่านี้จะช่วยให้เด็กเติบโตมากขึ้น

ช่วยลูกจัดสรรเวลาทำการบ้าน

พอเข้าวัยประถม ลูกๆ ก็มีการบ้านที่ต้องทำมากขึ้น จนแม้แต่พ่อแม่ยังต้องปวดหัวไปด้วย ลองมาหาวิธีช่วยลูกจัดตารางทำการบ้าน บริหารเวลาให้เป็นกันดีกว่า

ตารางบริหารเวลาทำการบ้าน
  1. จัดชั่วโมงเรียนรู้

แทนที่จะปล่อยให้เขาคิดเอาเองว่าจะการบ้านตอนไหน (ซึ่งบางทีเจ้าตัวแสบก็แอบเกเรไม่ยอมทำ หรือลืมเสียสนิท) มาช่วยกันจัดตาราง ‘ชั่วโมงเรียนรู้’ ซึ่งควรเป็นช่วงเวลาที่คุณกับลูกคิดว่าเหมาะสม เช่น หลังกลับจากโรงเรียน เมื่อกินของว่างแล้ว หรือหลังอาหารเย็น และทำตามตารางนั้นทุกวัน อย่างตรงต่อเวลา

จัดชั่วโมงทำการบ้าน
  1. จัดสรรเวลา

เมื่อถึงชั่วโมงเรียนรู้ประจำวัน เริ่มวางแผนกับลูกว่า วิชาไหนยากง่ายกว่ากัน จะทำการบ้านวิชาไหนก่อน-หลัง

วางแผนทำการบ้านวิชาไหนก่อน-หลัง
  1. ถ้าวันไหนลูกทำการบ้านเสร็จเร็ว…

ก็ให้เขาใช้เวลาที่เหลือทำกิจกรรมที่ชอบจนกว่าจะหมดชั่วโมงเรียนรู้ ถ้านึกไม่ออก ก็ชวนลูกอ่านหนังสือหรือเล่นเกมต่างๆ ด้วยกันก็ได้

หากยอมปล่อยให้ลูกติดนิสัยผัดวันประกันพรุ่ง พวกเขาอาจคิดว่าคุณจะต้องยื่นมือเข้าช่วยทุกครั้งที่มีปัญหา คราวต่อไปถ้าลูกทำงานไม่เสร็จ ลองปล่อยให้ไปเผชิญปัญหาที่จะเกิดขึ้นที่โรงเรียนในวันรุ่งขึ้นด้วยตัวเองดูบ้าง วิธีนี้น่าจะช่วยให้ลูกจัดการกับโครงงานชิ้นต่อไปได้อย่างเป็นระบบระเบียบมากขึ้นอีกด้วยค่ะ

บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสาร  AMARIN Baby & Kids

ภาพ : womensenews.org, www.bebelu.ro, www.multiplemayhemmamma.com, www.news.com.au, www.sparefoot.com