Q: การบ้านที่มากเกินไปส่งผลกระทบต่อเด็กๆอย่างไรบ้าง
เด็กๆจะไม่ได้ใช้ชีวิตในแบบที่เหมาะกับวัย และการบ้านส่วนใหญ่ก็มักเป็นประเภท “ใช้เวลา แต่ไม่ค่อยให้อะไรมาก” การเรียนรู้จึงกลายเป็นเรื่องน่าเบื่อมากกว่าประสบการณ์ที่ดีและสร้างสรรค์ การบ้านที่มากเกินไปยังส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ในครอบครัวด้วย เพราะเด็กๆมักไม่มีเวลากินข้าวเย็นแบบพร้อมหน้าพร้อมตากัน และปฏิสัมพันธ์เดียวที่มีกับพ่อแม่ก็หนีไม่พ้นการโต้เถียงเรื่องการบ้านอีกนั่นแหละ
Q: อะไรคือ “สัญญาณ” ที่บ่งบอกว่าลูกอาจมีการบ้านมากเกินไป
เริ่มไม่อยากไปโรงเรียนหรือสติแตกทุกค่ำคืนเพราะการบ้าน นักวิชาการแนะนำว่าเด็กชั้น ป.1 ควรใช้เวลาทำการบ้านคืนละไม่เกิน 10 นาที และเพิ่มขึ้นชั้นละอีกไม่เกิน 10 นาที เพราะเด็กจะเข้าใจเนื้อหาของบทเรียนได้ดีกว่าถ้าใช้เวลาที่มีทำการบ้านแค่ 5 ข้อ ไม่ใช่เร่งทำให้ครบทั้ง 50 ข้อในคืนเดียว
Q: แล้วพ่อแม่จะช่วยลูกได้อย่างไร
อันดับแรกคือคุยกับคุณครู โดยตั้งสมมติฐานว่าครูย่อมอยากให้ลูกศิษย์ได้ในสิ่งที่ดีที่สุด (เหมือนพ่อแม่) เพราะคุณครูมักไม่รู้ว่าการบ้านคือสาเหตุของปัญหา
หากไม่ได้ผล ก็ลองคุยกับคุณครูใหญ่ว่าคุณกังวลเรื่องอะไร คุณครูใหญ่อาจเห็นด้วย และยอมเปลี่ยนนโยบายในทันที หรืออาจจะต้องล่ารายชื่อผู้ปกครองที่เห็นด้วย แล้วทำเรื่องเสนอให้คณะกรรมการโรงเรียนรับไว้พิจารณา ถึงจะไม่ใช่เรื่องง่าย ก็ไม่เสียหายที่จะลองมิใช่หรือ…
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง