ทะเลาะกับเพื่อน อีกแล้ว..เมื่อคุณแอบรู้มาว่า ลูกและเพื่อนรักเกิดมีเหตุขัดใจกัน จะปล่อยลูกซึมอย่างนี้ไม่ดีแน่ แม่อย่างเราจะทำอะไรได้บ้างนะ มาดูกัน…
-
รับฟังด้วยความสนใจเต็มที่
แต่ไม่ด่วนสรุปตัดสินแทนลูก มีแต่จะเพิ่มความโกรธความเสียใจให้ลูกอีก วิธีง่ายๆที่จะตอบรับลูกอย่างเข้าใจขณะรับฟังเขาคือพยักหน้า หรือหากจะพูดก็พูดสั้นๆ เช่น “เรื่องนี้คงทำให้ลำบากใจมากใช่ไหมลูก”
-
ถ้าลูกขอความเห็น…
คุณก็แนะนำได้ แต่ถ้าลูกไม่เห็นด้วย อย่ากดดันหรือบังคับให้ลูกคิดตามแบบคุณ จะทำให้ลูกเสียใจมากขึ้นและถ้าเหตุขัดกันนั้นลูกคุณเป็นฝ่ายผิด (ชัดๆ) ช่วยชี้ให้ลูกมองในมุมของเพื่อนดูบ้าง
-
ไม่รีบร้อนเข้ายุ่งเกี่ยว
เตือนตัวเองไว้ว่าห้ามกดโทรศัพท์ถึงเพื่อนลูกหรือพ่อแม่ของเพื่อนลูกคนนั้นเพื่อแก้ปัญหาเชียว เพราะไม่ได้ช่วยอะไรแน่ๆ
-
คุณก็เคย…
รับฟังลูกแล้ว ก็เล่าให้เขาฟังบ้างว่าตอนอายุเท่าเขา คุณก็เคยทะเลาะกับเพื่อนรักนะเรื่องประมาณนี้น่ะ…จะช่วยลูกได้มากทีเดียว
อ่านเรื่อง “4 วิธี ช่วยแก้ปัญหา เมื่อลูกทะเลาะกับเพื่อน” คลิกหน้า 2
ปัญหาลูก ทะเลาะกับเพื่อน มีความสำคัญอย่างไร?
เมื่อลูกทะเลาะกับเพื่อนนั้น เป็นการเรียนรู้ “ความเครียด” แบบใหม่ที่เด็กจะต้องเผชิญ ซึ่งหากปัญหานี้ไม่ได้รับการแก้ไข ก็จะกลายเป็นการทะเลาะกันอย่างไม่สิ้นสุด และทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น เด็กๆ ต้องเผชิญกับภาวะความเครียด และการต่อสู้กัน ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จะต้องช่วยกันหาสาเหตุและช่วยหาข้อยุติให้กับลูก
สาเหตุของ “เด็กทะเลาะกัน” ที่คุณอาจคาดไม่ถึง.. (www.taamkru.com)
นิสัยชอบเอาชนะ
ธรรมชาติของเด็กนั้นการเล่นถือเป็นเรื่องจริงจังมาก และไม่การเล่นแพ้อาจทำให้เด็กนั้นยอมรับไม่ได้ เด็กๆ หลายคนจึงถือเอา “ชัยชนะ” เป็นความสำเร็จ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติของเด็ก และปัจจุบันพ่อแม่บางคนคิดว่าโลกทุกวันนี้เป็นโลกของการแข็งขัน ผู้ชนะจึงจะอยู่รอดได้ จึงผลักดันให้ลูกได้แข่งขันตั้งแต่เล็ก แทนที่จะเล่นด้วยกันเพื่อความสนุกสนาน จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้เด็กเกิดการวิวาทได้
นิสัยไม่ชอบแบ่งปัน
เด็กวัยนี้มักจะรักและหวง รู้สึกเป็นเจ้าของสมบัติส่วนตัวของตัวเองทุกชิ้น การที่เด็กจะแบ่งปันสิ่งที่ตัวเองรักให้กับผู้อื่นนั้นเป็นเรื่องยากมากหากไม่เคยได้รับการฝึกฝน และถ้าเป็นการแบ่งปันในรูปแบบที่ผู้ใหญ่บีบบังคับให้ทำแล้ว เด็กจะรู้สึกว่าการแบ่งปันนั้นเป็นคำสั่ง ซึ่งเขาไม่พึงพอใจและไม่ต้องการ เด็กจะแสดงอารมณ์ต่อต้าน วิธีแก้คือคุณพ่อคุณแม่ต้องให้เวลากับลูก เมื่อพยายามสอนแล้วแต่ลูกยังไม่พร้อม ก็ไม่ควรให้ลูกเล่นรวมกับเด็กคนอื่น เมื่อลูกพร้อมแล้วและตกลงว่าจะใช้พื้นที่สาธารณะได้ จึงค่อยๆ ให้เวลากับลูกได้ปรับตัวกับการแบ่งปัน
พฤติกรรมการชอบโกง
นอกจากพฤติกรรมชอบเอาชนะแล้วเด็กๆ บางคนจะทำทุกวิถีทางเพื่อให้พวกเขาไม่แพ้ จึงเกิดเป็นการโกงเกิดขึ้น พวกเขารู้สึกเจ็บปวดที่ไม่สามารถคว้าชัยชนะมาได้ จึงต้องโกง และจะมีเด็กอีกกลุ่มที่ไม่ชอบการโกงของเพื่อน จึงทำให้เขาต้องต่อสู้และดิ้นรนเพื่อเอาชัยชนะกลับคืนมา อันเป็นจุดเริ่มต้นของการทะเลาะกัน
ปัญหาที่มาจากเพื่อน
ในสังคมนั้น เด็กๆ ได้รับการเลี้ยงดูมาแตกต่างกัน เพื่อนบางคนมีนิสัยชอบแกล้ง ชอบต่อย ชอบหยิกคนอื่น ซึ่งวิธีง่ายๆ คือ คุณพ่อคุณแม่ควรถามลูกบ่อยๆ ว่า “ที่โรงเรียนมีใครชอบแกล้งลูกหรือแกล้งเพื่อนคนอื่นบ้างหรือเปล่า?” เมื่อคุณทราบถึงเด็กที่มีปัญหาแล้ว อาจจะแจ้งบอกครูและหลีกเลี่ยงไม่ให้ลูกเข้าใกล้เด็กคนนั้น โดยไม่ให้ลูกใช้กำลังตัดสินปัญหา บอกให้ลูกเข้าใจว่า “เพื่อนคนนี้เขายังไม่พร้อมเข้าสังคม เรารู้ว่าเขาเล่นรุนแรงก็อย่าไปเข้าใกล้เขา” และหากเขายังไม่หยุดรังแกลูกของคุณก็ควรจะพูดคุยกับคุณครูให้เข้าใจ โดยไม่ให้ลูกรู้สึกว่าพ่อแม่ใช้สิทธิพิเศษไปจัดการ แต่ให้เป็นเรื่องของการพูดคุยก่อนมากกว่า
ปัญหาที่มาจากตัวลูก
เช่นเดียวกันกับข้อที่แล้ว หากลูกของคุณเองเป็นเด็กขี้แกล้ง ชอบแหย่เพื่อน เพราะอยากเล่นกับเพื่อน คุณจะต้องค่อยๆ อธิบายให้ลูกเข้าใจว่า “ไม่มีเพื่อนคนไหนที่ชอบความรุนแรง หากอยากเล่นกับเพื่อนก็ต้องขอเข้าไปเล่นด้วยดีๆ พูดเพราะๆ หากหนูไม่พอใจอะไรก็ให้เฉยๆ จังหวะว่างๆ เราค่อยเข้าไปเล่น ไม่อย่างนั้นเพื่อนก็จะหนีไม่เล่นด้วย”
แต่ในกรณีที่ลูกของเราเป็นเด็กเจ้าอารมณ์ มีอารมณ์แปรปรวนผิดปกติซึ่งอาจจะมาจากความสับสนใจพฤติกรรมการเลี้ยงดู (ซึ่งมักเกิดขึ้นกับครอบครัวใหญ่ ที่มีผู้ใกล้ชิดกับเด็กมากกว่า 2 คน) อาจทำให้เด็กสับสนในกฏกติกาการวางตัว ถ้าลูกขี้วีนมากๆ กรีดร้องจนพ่อแม่เองก็เอาไม่อยู่ ทางจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นของโรงพยาบาลนั้นสามารถช่วยเหลือและให้คำตอบวิธีแก้ไขได้อย่างไม่น่าเชื่อ AMARIN Baby & Kids เป็นกำลังใจให้ทุกครอบครัวผ่านภาวะลูกทะเลาะกับเพื่อน เพื่อผ่านเข้าสู่วัยต่อไปได้อย่างราบรื่นนะคะ
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสาร AMARIN Baby & Kids, www.taamkru.com
ผกา สัตยธรรม. (2550). สุขภาพจิตเด็ก. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. ภูมิ หฤษฐ์. (2547). ปัญหาเมื่อลูกเข้ากับเพื่อนไม่ได้. นิตยสารบันทึกคุณแม่ ปีที่ 10 มิถุนายน. ศรีเรือน แก้วกังวาน. (2549). จิตวิทยาพัฒนาการชีวิตทุกช่วงวัยแนวคิดเชิงทฤษฎี-วัยเด็กตอนกลาง. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
ภาพ: shutterstock