ลูกสอบตก คะแนน ไม่ค่อยดี คุณแม่ก็พยายามทำให้ลูกร่าเริงขึ้น โดยเสนอว่าสอบคราวหน้า เรามาทบทวนบทเรียนด้วยกันเถอะ แต่น้องนาวกลับต่อมน้ำตาแตก และร้องว่า “หนูไม่เก่งอะไรเลยสักอย่าง!”
ธรรมชาติของเด็กบางคนทำให้เขารู้สึกเสียใจและท้อแท้ได้ง่ายกว่าเด็กอื่น แต่พ่อแม่ก็ช่วยถนอมจิตใจลูกได้ โดย
ลูกสอบตก พ่อแม่ต้องเข้าใจและระวังคำพูด
อาจวิจารณ์ด้วยคำพูดเชิงบวก ก่อนและหลังคำวิจารณ์นั้น เพื่อบรรเทาความเสียใจของลูก เช่นพูดว่า “แม่ภูมิใจที่เห็นว่าหนูพยายามทำงานนี้มากแค่ไหน แต่หนูอาจจะยังทำไม่ค่อยถูก… เรามาช่วยกันคิดดีกว่านะ แม่ว่าหนูต้องแก้ให้ดีขึ้นได้แน่ๆ”
ระวังเรื่องการตำหนิหรือล้อเล่น
เด็กหลายคนไม่มีปัญหากับการตำหนิแบบหวังดี ซึ่งทำให้เสียใจไม่มากนัก แต่เด็กที่อ่อนไหวง่ายจะจริงจังกับคำพูดล้อเล่นที่ไม่มีความหมายใดๆนอกจากพูดขำๆ เท่านั้นเอง
ชี้ให้เห็นว่าลูกอาจเข้าใจผิด
สิ่งที่เห็นอาจไม่ใช่การแสดงออกในเชิงลบ อย่างที่ลูกคิดหรือเข้าใจไปเอง เช่นพูดว่า “น้องแซมอาจไม่ได้คุยกับหนูตอนพักกลางวัน เพราะมัวแต่เล่นบอลอยู่ก็ได้นี่จ๊ะ”
อย่าปกป้องลูกมากเกินไป
เพราะเด็กที่อ่อนไหวง่ายก็ต้องเรียนรู้การก้าวผ่านสถานการณ์แย่ๆ ไปให้ได้เหมือนเด็กอื่น จะได้รู้ว่าควรรับมืออย่างไรดี
อ่านเรื่อ่ง “พูดอย่างไร เมื่อลูก “สอบตก” และ “คะแนนน้อย”” คลิกหน้า 2
อยากให้ลูกฉลาด ฝึกอย่างไร?
พ่อแม่ทุกคนต่างก็อยากเลี้ยงลูกให้ฉลาด เรามีคำแนะนำจาก อาร์น ดันแคน เลขาธิการสภาการศึกษาของสหรัฐฯ มาฝาก ซึ่งถ้าหากคุณทำได้หมด เชื่อว่าลูกของคุณจะฉลาดและสมองดีขึ้นเป็นแน่
-
ทำความรู้จักกับครูของลูก
เวลาไปรับลูก อย่าลืมชวนคุณครู พูดคุยเพื่ออัพเดทเรื่องราวที่เกิดขึ้นสม่ำเสมอ จะทำให้คุณรู้จักลูกมากขึ้น และช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน สิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่งก็คือ เจอครูปีละครั้งตอนรับผลสอบ แล้วคุณจะรู้จักลูกตอนอยู่โรงเรียนได้อย่างไร
-
ระวังเรื่องการเสพเทคโนโลยี
แน่ละ เทคโนโลยีช่วยเพิ่มพูนการเรียนรู้ได้ แต่มองอีกแง่ มันก็เป็นผลร้ายได้เช่นเดียวกัน สิ่งที่คุณควรระวังคือ การดูโทรทัศน์มากเกินไป ติดโทรศัพท์มือถือ หรือการเอาแต่เล่นวีดิโอเกมจนลูกไม่ยอมขยับไปไหน ควรจะจำกัดเวลาในการใช้เทคโนโลยีของลูกด้วย
-
ให้เวลากับลูกบ้าง
ไม่ว่าจะยุ่งมากแค่ไหน ก็ควรหาเวลาอยู่กับลูก อย่าลืมไปชมกิจกรรมที่ลูกทำร่วมกับโรงเรียนสม่ำเสมอ เพื่อให้ลูกมีกำลังใจ
-
กินข้าวกันพร้อมหน้า
ไม่จำเป็นต้องกินบนโต๊ะอาหารแบบเป็นทางการก็ได้ คุณอาจจะแค่กินร่วมกันที่หน้าโทรทัศน์ สิ่งสำคัญคือการได้ใช้เวลาร่วมกัน และได้พูดคุยอัพเดทเรื่องราวของลูกนั่นเอง
บทความโดย: กองบรรณาธิการ AMARIN Baby & Kids