AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ชมลูกจน….เว่อร์เกินไปหรือเปล่า?

ด้วยความเข้าใจว่าการชมเป็นวิธีหนึ่งที่จะสร้างหรือส่งเสริม self esteem ให้ลูกได้ ซึ่งก็เป็นเรื่องจริง แต่ผู้เชี่ยวชาญก็พบความจริงอีกเช่นกันว่า การชื่นชมลูกมากเกินจริง กลับจะทำให้เกิดปัญหาได้?!

พ่อแม่ยุคใหม่ที่สนใจเรื่องการเลี้ยงลูก คงพอเคยผ่านหูผ่านตากับคำนี้อยู่บ้าง “Self Esteem” ความรู้สึกที่ดีต่อตนเอง รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า สามารถทำอะไรได้ในแบบของฉัน เป็นที่ยอมรับ เป็นสิ่งที่จะทำให้ลูกประสบความสำเร็จในชีวิต และยังเป็นเกราะป้องกันลูกจากปัญหาต่างๆ ทั้งเรื่องเรียน หรือเรื่องเพื่อน ในทางกลับกัน ความรู้สึกว่าตนเองไม่มีคุณค่า ไม่เอาไหน ไม่ได้เรื่อง มักจะนำพาให้เกิดปัญหาต่างๆ ตั้งแต่เรื่องการเรียน เรื่องยาเสพติด การตั้งครรภ์ในวัยเรียน เป็นต้น

“การสร้าง Self Esteem ให้ลูกด้วยการชื่นชมเป็นเรื่องสำคัญที่พ่อแม่พึงกระทำ แต่การชมลูกมากไปแบบเกินจริง นอกจากจะไม่ได้ผลอย่างที่พ่อแม่คิด แล้วยังส่งผลให้เกิดปัญหาได้” คุณหมอ อัลแลน โจเซฟสัน ประธานองค์กร The Family Committee of the American Association of Child and Adolescent Psychiatry อธิบาย

“จากการศึกษาใหม่ๆ ผู้เชี่ยวชาญพบว่า การชื่นชมที่มากและเกินจริง จะทำให้ลูกให้ค่าตัวเขาเองสูงจนเกินจริงไปด้วย กลายเป็นหลงตัวเอง เหยียดหยาม หรือข่มเหงคนอื่น กระทั่งนำไปสู่ปัญหาได้ เช่น การใช้ยาเสพติด หรือมีเพศสัมพันธ์ในช่วงวัยรุ่นได้ ขณะที่เด็กที่มี self esteem ต่ำก็ไม่ได้นำพาไปสู่ปัญหาต่างๆ ดังกล่าวอย่างที่เราเคยเข้าใจกันมาอีกด้วย

“นอกจากนี้ การโอ๋และอวยลูกมากจนเกินจำเป็นจะทำให้ลูกชินกับการเสพคำยกย่องชมเชยจากพ่อแม่ และตัวเองจะรู้สึกดีได้ต้องพึ่งพาอาศัยคำชมเชยที่เกินจริงของพ่อแม่ และเมื่อใดที่เสียงชมเชยลดน้อยถอยไปอาจรู้สึกขาดความมั่นใจ เพราะขาดเสียงชมเชยที่เคยหล่อเลี้ยงจิตใจอยู่จนเคยชิน เช่น เมื่อลูกมีอันต้องห่างจากพ่อแม่มากขึ้น อย่างไปอยู่หอตอนเข้ามหาวิทยาลัย”

จากรายงานวิจัยที่ตีพิมพ์ลงในวารสาร Psychological Science อธิบายผลเสียของการชื่นชมมากและเกินจริงว่า ผู้ใหญ่มักจะให้กำลังใจกับเด็กที่ขาดความมั่นใจด้วยการชมเชยที่มากเกินจริง เช่น เมื่อเด็กวาดรูปได้สวยดี แต่ยังไม่สวยมาก แทนที่จะชมว่า “วาดรูปสวยเหมือนกันนะเนี่ย” กลับกลายเป็นเชียร์ว่า “โอ้โฮ หนูวาดรูปได้สุดยอดเลยลูก”

แม้ผู้ใหญ่จะคิดว่าการชมให้ใหญ่ไว้จะทำให้เด็กรู้สึกดีขึ้น แต่ความเป็นจริงคือ การชื่นชมแบบเกินจริงไป ทำให้เด็กรู้สึกดีตอนที่ได้รับคำชม แต่ด้วยความรู้สึกที่ขาดความมั่นใจในตัวเอง อาจจะทำให้เด็กปฏิเสธความท้าทายที่จะฝึกวาดรูปที่ยากขึ้น เพราะรู้สึกกดดัน กลัวจะทำได้ไม่ดีอย่างที่เคยได้รับคำชม เกรงจะทำในสิ่งที่ยากขึ้นไม่ไหว จึงอยากทำแต่ในสิ่งที่ตนทำได้ และรู้สึกทำได้ดีแล้ว

คุณหมอโจเซฟสันสรุปถึงความรู้สึกถึงคุณค่าและภูมิใจในตัวเองของเด็กว่า “มาจากการที่พ่อแม่ที่ดูแลเอาใจใส่ลูกทั้งด้านร่างกายและจิตใจ มีการจำกัดและยืดหยุ่นขอบเขตของพฤติกรรมให้ลูกรู้ว่าอะไรทำได้-ทำไม่ได้ มากน้อยแค่ไหน จนมีพฤติกรรมที่เหมาะสม และช่วยให้ลูกค่อยๆ สะสมสิ่งที่ทำอะไรด้วยตัวเองได้สำเร็จ

 

บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง