เข้าโซเชียลมีเดีย เด็กเสียอะไร
หากพูดึงข้อเสีย หรือ ภัยจากโซเชียลมีเดีย ซึ่งไม่เพียงเด็กๆ ต้องบริหารเวลาขณะที่อยู่ในโซเชียลมีเดีย เด็กยังต้องบริหารเวลาเมื่ออยู่นอกโซเชียลมีเดียด้วย เพราะนอกโซเชียลมีเดียลูกยังต้องมีพัฒนาการทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคมที่ยังดำเนินไป มีน้ำต้องอาบ มีข้าวต้องกิน มีงานบ้านควรทำ และที่สำคัญคือมีการละเล่นกลางแจ้งที่เป็นประโยชน์ต่อพัฒนาการกล้ามเนื้อใหญ่ กล้ามเนื้อเล็ก และพัฒนาการด้านภาษา กิจกรรมเหล่านี้ไม่มีในโซเชียลมีเดีย
ภัยจากโซเชียลมีเดีย ของเด็กๆ มีปัญหาใหญ่ที่สุด
คือ “เรื่องการเสียเวลา”
การเสียเวลา นำไปสู่การเสียโอกาสที่จะพัฒนาบุคลิกภาพตามวัย พัฒนาการของบุคลิกภาพแต่ละขั้นตอนมีเวลาวิกฤตกล่าวคือ… เด็กมีเวลาจำกัดเพียงช่วงหนึ่งในการพัฒนาแต่ละประเด็น หากเราพ่อแม่ปล่อยเวลานั้นผ่านเลยเมื่อเขาอายุมากขึ้นจะไม่สามารถพัฒนาได้อีกหรือทำได้ด้วยความยากลำบากอย่างมาก การเสียเวลากับโซเชียลมีเดียจึงเป็นเรื่องสำคัญ เช่น
- พัฒนาการด้านการสร้างความสัมพันธ์กับบุคคล เด็กมีเวลาวิกฤตในพัฒนาการด้านนี้เพียง 2-3 ปีแรกของชีวิตเท่านั้น การมีโอกาสมองสบตาแม่และพ่อ การได้เล่นและแตะเนื้อต้องตัวกับแม่และพ่อ ไปจนถึงการใช้มือและสิบนิ้วน้อยๆสำรวจโลก (มิใช่เพียงใช้นิ้วเขี่ยหน้าจอ) เหล่านี้เป็นรากฐานของชีวิต
ปัจจุบันเราพบเด็กที่ไม่สบตาพ่อแม่หรือไม่สบตาคนมากขึ้น โดยมีประวัติว่าพ่อแม่ยื่นแท็บเล็ตให้เด็กเล่นตั้งแต่ก่อนอายุ 2 ขวบ บางบ้านให้เล่นขณะรับประทานอาหารและบางบ้านให้เล่นบนที่นอนก่อนนอน
- พัฒนาการด้านภาษา ภาษาในที่นี้มิได้หมายถึงภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ แต่หมายถึงภาษาที่ใช้ในการสื่อสารความต้องการในใจ พัฒนาการด้านนี้เกิดจากการเล่นและดีที่สุดคือเกิดจากการเล่นสมมติ หรือบทบาทสมมติ เช่น สมมติกล่องเปล่าเป็นบ้าน สมมติจานเป็นเรือ สมมติตัวเองเป็นพ่อครัวแม่ครัว เป็นครู เป็นหมอ เป็นต้น ภาษาเพื่อการสื่อสารจะเกิดขึ้นระหว่างการเล่นมากที่สุด
แต่บ้านที่ปล่อยให้ลูกดูโทรทัศน์ตั้งแต่ก่อน 2 ขวบ หรือปล่อยให้ลูกใช้เครื่องมือไอทีตั้งแต่ก่อน 3 ขวบมากเกินไป ย่อมเสียเวลาเล่นไม่มากก็น้อย และเราไม่รู้ว่าเสียมากเท่าไรจึงขัดขวางพัฒนาการ ปัจจุบันเราจึงพบเด็กที่ไม่สามารถพูดเพื่อแสดงความต้องการได้มากขึ้น
และเมื่อแสดงความต้องการด้วยคำพูดไม่ได้เสียแล้วก็จะแสดงออกด้วยอาการอื่นมากขึ้น เช่น ร้องไห้ไม่หยุด กรี๊ดเสียงดัง ตีหัวตัวเอง ตีคนอื่น นอนดิ้นพราดๆถีบแขนขา พูดอะไรก็ไม่ฟัง ไปจนถึงอยู่นิ่งไม่ได้ เป็นต้น
เด็กโตมีความจำเป็นต้องเล่นในสนามและเล่นอิสระพอสมควร เพราะจะช่วยพัฒนากระบวนการคิดเชื่อมโยงและคิดวิเคราะห์ อย่างเป็นระบบและเป็นองค์รวม ดังที่ Jean Piaget (1896-1980) ได้อธิบายไว้อย่างละเอียดที่สุด การปล่อยเด็กเข้าสู่โซเชียลมีเดียในแต่ละวันมากเกินไปแล้วทำให้การเล่นในชีวิตจริงน้อยเกินไปจะขัดขวางทักษะการคิดวิเคราะห์อย่างแน่นอน
อย่างไรก็ดี การละเล่นทุกชนิด เด็กได้ฝึกทักษะการแก้ปัญหาเป็นองค์รวม ถึงขั้นตอนนี้พ่อแม่ควรสรุปได้ว่าโซเชียลมีเดียเป็นเรื่องสำคัญ ช่วยพัฒนาทักษะไอทีซึ่งเป็น 1 ใน 3 ทักษะสำคัญของทักษะศตวรรษที่ 21 แต่ทำให้เสียเวลา
ซึ่งเวลาที่เสียนั้นไม่เพียงกระทบพัฒนาการบุคลิกภาพ แต่กระทบความสามารถในการพัฒนาทักษะเรียนรู้ และทักษะชีวิตซึ่งเป็นอีก 2 ใน 3 ทักษะศตวรรษที่ 21 ด้วย
ทักษะเรียนรู้ ได้แก่ 1.ความสามารถในการคิดวิพากษ์ 2.สื่อสารความคิด 3.ทำงานเป็นทีม 4.มีความคิดสร้างสรรค์ ทักษะชีวิต ได้แก่ 1.ความสามารถในการกำหนดเป้าหมาย 2.วางแผน 3.ตัดสินใจ 4.ลงมือทำ 5.รับผิดรับชอบการกระทำ 6.มีความยืดหยุ่น
ทักษะเรียนรู้และทักษะชีวิตไม่พัฒนาเท่าไรนักในโซเชียลมีเดีย แต่จะพัฒนาได้ดีกว่า มากกว่า และเร็วกว่าในการเล่นจริงๆ ทำงานจริงๆ และมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ การพูดจากันจริงๆ ด้วยการเห็นสีหน้าและท่าทาง
เพราะมนุษย์สื่อสารกันด้วยอวจนะภาษาหรือภาษาท่าทางมากกว่าภาษาพูดอยู่แล้ว หลายครั้งที่เราสื่อสารด้วยการมองหน้ามองมือ และด้วยการทำนายว่าคู่สนทนาคิดอะไร ทักษะสื่อสารด้านอวจนะภาษาไม่สามารถฝึกได้ในโซเชียลมีเดีย
แม้ว่าจะมีอิโมติคอน หรือคำอุทานอื่นใดในโซเชียลมีเดีย ก็เป็นอวจนะภาษาอย่างหยาบ ไม่มีความละเอียดอ่อนมากพอที่จะเข้าใจคู่สนทนาได้ถูกต้องเท่าการพบหน้ากัน นอกจากควรระวังเรื่องการเสียเวลามากเกินไปในโซเชียลมีเดียแล้วจึงมาถึงเรื่องเนื้อหา พ่อแม่ควรระวังอะไรเมื่อลูกเข้าโซเชียลมีเดีย
อ่านต่อ >> “ภัยจากโซเชียลมีเดีย สำหรับเด็กในวัย 0-8 ปี มีอะไรบ้าง” คลิกหน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่