เด็กที่มี ความคิดสร้างสรรค์ มักเป็นเด็กที่ฉลาดและประสบความสำเร็จได้ง่ายในวันข้างหน้า … ซึ่งการกระตุ้นให้ลูกมีความคิดสร้างสรรค์ที่ดีได้นั้นควรเริ่มตั้งแต่ลูกยังเล็กๆ ซึ่งพ่อแม่ต้องคอยสนับสนุน และระมัดระวังในการสอน ที่นอกจากจะไม่กระตุ้นความคิดให้ลูกแล้วยังเป็นการปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ของลูกไปอย่างถาวรได้อีกด้วย
สิ่งที่สกัดกั้นการพัฒนา ความคิดสร้างสรรค์ ของลูก
ความคิดสร้างสรรค์ เป็นทักษะที่มีอยู่ในตัวเราทุกคน ติดตัวมาตั้งแต่เกิดเพื่อรอการบ่มเพาะและดูแลให้งอกงาม แต่น่าเสียดายที่คนจำนวนมากเข้าใจผิดเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ว่าเป็นเรื่องของ “พรสวรรค์” ที่มีอยู่ในคนบางคนเท่านั้น เป็นเรื่องส่วนบุคคล ซึ่งถือเป็นอุปสรรคขวางกั้นการพัฒนา ฝึกฝนความคิดสร้างสรรค์ในเด็กและเยาวชนให้เป็นไปอย่างเต็มประสิทธิภาพ
ความคิดสร้างสรรค์ มีลักษณะสำคัญ 3 ประการ คือ
- เป็นความคิด ประดิษฐ์ หรือการทำที่แปลกใหม่ เป็นผลงานที่ริเริ่มเอง ไม่มีตัวอย่างไว้ให้มีประโยชน์มีคุณค่า
- เป็นความคิดหรือการกระทำที่แก้ปัญหาได้ โดยสามารถมองหาทางเลือกหลายทิศหลายทางในการแก้ปัญหา
- เป็นความคิดริเริ่มที่แสดงออกอย่างมีหลักเกณฑ์ มีความคงทน และสามารถดัดแปลงพัฒนาไปจนถึงจุดที่สมบูรณ์ได้
หลักการที่เกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์
- การใช้สมองซึกขวาเชื่อมโยงกับสมองซีกซ้าย
- การฝึกการคิดนอกกรอบ
- การฝึกการคิดทางบวก
- การฝึกการคิดแบบริเริ่ม คล่องตัว ยืดหยุ่น และละเอียดลออ
การคิดนั้นอาจคิดได้หลายอย่าง จะคิดให้วัฒนะ คือ คิดแล้วทำให้เจริญงอกงามก็ได้ จะคิดให้หายนะ คือ คิดแล้วทำให้พินาศก็ได้ การคิดให้เจริญจึงต้องมีหลักอาศัย หมายความว่า เมื่อคิดเรื่องใด สิ่งใด ต้องตั้งใจให้มั่นคงในความเป็นกลางไม่ปล่อยให้อคติอย่างหนึ่งอย่างใดครอบงำ ให้มีแต่ความจริงใจตามเหตุผลที่ถูกต้องและเป็นธรรม
♥ บทความแนะนำน่าอ่าน : 3 หัวใจหลัก เลี้ยงลูกด้วยธรรมะ เสริมภูมิคุ้มกันตลอดชีวิต
ความคิดสร้างสรรค์กับพัฒนาการตามวัย
พัฒนาการความคิดสร้างสรรค์ในเด็ก
• อายุ 0-2 ปี มีพัฒนาการด้านจินตนาการ อายุ 2 ปี มีความพร้อมที่จะสำรวจสิ่งแวดล้อมรอบตัว
• อายุ 2-4 ปี ตื่นตัวกับสิ่งแปลกใหม่ ใช้จินตนาการกับการเล่น มีความเป็นตัวของตัวเองสูง แต่ช่วงความสนใจสั้น
• อายุ 4-6 ปี สนุกกับการวางแผน สนุกกับการเล่น การทำงาน ชอบเล่นสมมติและทดลองเล่นบทบาทต่าง ๆ โดยใช้จินตนาการ มีความสามารถในการเชื่อมโยงสิ่งต่าง ๆ แม้จะเข้าใจในความสัมพันธ์ระหว่างเหตุและผลได้ไม่ดีนักพัฒนาการความคิดสร้างสรรค์ในเด็กวัยเรียน
• อายุ 6-8 ปี จินตนาการสร้างสรรค์เปลี่ยนไปสู่ความจริงมากขึ้นชอบบรรยายถ่ายทอดความคิดออกมาเป็นคำพูดรักการเรียนรู้และต้องการประสบการณ์ที่ท้าทายและสร้างความสนุกสนาน
• อายุ 8-10 ปี สามารถสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ โดยใช้ความสามารถเฉพาะตัว มีความสามารถในการเรียบเรียงคำถาม ความอยากรู้อยากเห็นเพิ่มพูนมากขึ้น
• อายุ 10-12 ปี ชอบการสำรวจค้นคว้า ชอบการทดลอง มีสมาธิหรือช่วงความสนใจนานขึ้น เด็กผู้หญิงชอบเรียนรู้จากหนังสือและการเล่นสมมติ เด็กผู้ชายชอบเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงช่วงวัยนี้จะมีพัฒนาการด้านศิลปะและดนตรีจุดอ่อนคือเป็นช่วงวัยที่ขาดความมั่นใจในผลงานของตนเอง ความคิดสร้างสรรค์ลดลงบางช่วง เพราะเป็นช่วงที่พยายามปรับตัวเข้ากับกลุ่มเพื่อน เลียนแบบเพื่อน ลดความคิดอิสระ
อ่านต่อ >> “6 สิ่งที่สกัดกั้นการพัฒนา ความคิดสร้างสรรค์ของลูก” คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
สำหรับสิ่งที่จะเป็นตัวการในการปิดกั้นพัฒนาการทางด้านความคิดสร้างสรรค์ของลูก โดย คุณครูวิวรรณ สารกิจปรีชา ผุ้อำนวยการและเจ้าของ ร.ร.อนุบาลกุ๊กไก่ ได้ออกมาชี้แนะเกี่ยวกับสิ่งที่เป็นตัวสกัดกั้น ความคิดสร้างสรรค์ของลูก ดังนี้
1. ของรางวัล
เพราะเมื่อเด็กไม่มีความหวังเรื่องการได้รางวัล เพื่อแลกกับการทำสิ่งใดๆ เด็กๆ ก็จะรู้สึกมีความสุขกับกระบวนการการทำอย่างสร้างสรรค์ได้มากขึ้น ซึ่งแรงจูงใจภายใน (จิตใจ,ความฮึกเหิม) ย่อมนำไปสู่ผลงานที่ดี ประสบความสำเร็จมากกว่า เพราะแรงจูงใจภายนอกจะทำให้เด็กเอาแต่มุ่งหวังผลงานออกมาตามที่คิดว่าจะได้รางวัลมากเกินไป จึงทำให้ความคิดสร้างสรรค์ถูกปิดกั้นโดยอัตโนมัติ แต่ในทางกลับกันแรงจูงใจภายในจะช่วยให้เด็กมีความสุขกับการคิด และการทำงานสิ่งนั้นมากกว่า ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์แบบไม่มีที่สิ้นสุด
2. การประเมิน และแรงกดดัน หรือการถูกจับตามองจากผู้อื่น
ถ้าเด็กๆ รู้ว่าผลงานจะถูกประเมินและให้คะแนนโดยผู้ใหญ่ เด็กๆก็อาจจะใช้ความคิดสร้างสรรค์น้อยลงได้ ทั้งนี้การประเมินผลการกระทำต่างๆ ที่เด็กๆ ต้องใช้ความคิด หากสิ่งนั้นต้องอยู่ภายใต้ แรงกดดันที่จะให้ทำตามผู้อื่น ก็จะนำไปสู่การใช้ความคิดสร้างสรรค์ที่น้อยลง และการถูกมองโดยผู้อื่นในระหว่างทำงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ ก็อาจทำให้ความคิดสร้างสรรค์ของเด็กๆ นั้นลดลงไป ได้เช่นกัน
3. จำกัดทางเลือก
เมื่อลูกสงสัย และอยากทำอะไร พ่อแม่ต้องลองเรียนรู้ร่วมกันกับลูกด้วย ซึ่งจะได้คำตอบ หรือไม่ได้ ค่อยมาคุย และหาทางออกกันใหม่ แต่ทั้งนี้ไม่ควรตัดโอกาสลูกด้วยคำพูดที่ทำให้ขาดความเชื่อมั่น จนลูกไม่กล้าที่จะคิดอย่างสร้างสรรค์ นั่นจะทำให้เด็กไม่ฉลาด และไม่กล้าแสดงออกในที่สุด อาจตั้งเป็นคำถามปลยาเปิดประลองปัญญาเพื่อให้ลูกคิดหลายคำตอบ หรือการตอบกลับเป็นคำถามเพื่อให้ลูกฝึกคิดได้อย่างไม่มีข้อจำกัด สิ่งเหล่านี้เองก็จะช่วยพลังสมองด้านความคิดวิเคราะห์ และสร้างสรรค์ของลูกได้อย่างเต็มที่
4. บรรยากาศและสิ่งแวดล้อม
การเปิดโอกาสให้ลูกเรียนรู้ ได้คิด ได้ลองทำ โดยไม่ถูกตีกรอบด้วยคำพูดที่บอกว่า อย่าทำนะ ห้ามนั่น ห้ามโน่น จะช่วยให้ลูกเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ ซึ่งการที่พ่อแม่ส่งเสริมให้ลูกได้ทดลอง ฉีกกรอบ หรือคิดอะไรที่ไม่เหมือนคนอื่น และร่วมเรียนรู้ หาคำตอบกับลูก ลูกก็จะคิดเป็น และสนุกที่จะเปิดสมองหาความรู้สู่การคิดที่สร้างสรรค์อย่างเต็มที่ต่อไป รวมไปถึงการจัดหาสถานที่ที่มากกว่าในห้องเรียน หรือในบ้าน เพื่อให้เด็กมีลักษณะยืดหยุ่นเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมกับกิจกรรมที่จัดไม่ควรยึดติดอยู่กับรูปแบบ ๆ เดียว และในการจัดตกแต่งสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้นั้น ควรมีความแปลกใหม่มีคุณค่า และท้าทายให้นักเรียนได้มีส่วนร่วมแสดงออกอย่างกว้างขวางด้วย เพื่อให้เด็กพร้อมจินตนาการอย่างกว้างไกล
5. กฎเกณฑ์
การที่พ่อแม่เคร่งครัดเรื่องวินัย กดดัน และลงโทษลูก แม้จะเป็นความผิดเล็กๆ น้อยๆ ก็ตาม อาจทำให้ลูกไม่กล้าคิด หรือแสดงความคิดเห็นอะไร เพราะกลัวว่าจะถูกดุ หรือถูกลงโทษ อีกทั้งยังรวมไปถึงบ้านที่วางเฉย ไม่สนใจลูก ลูกจะโตเป็นอนาคตของชาติที่ไม่มั่นใจในตัวเอง จนนำไปสู่การคิด และสร้างสรรค์ได้อย่างไม่เต็มที่ กลายเป็นคนขี้อาย ไม่กล้าเข้าสังคม และคิดไม่เป็นในที่สุด
6. เน้นการเรียน
เพราะความคิดสร้างสรรค์มาจากการที่จะต้องแก้ปัญหา ถ้าไม่สอนให้ลูกมองเห็นปัญหา เด็กก็จะไม่มีวิธีคิดที่จะหาวิธีแก้ อย่างไรก็ดี ความคิดสร้างสรรค์ของลูกจะลดลงเมื่อต้องเข้าสู่รั้วโรงเรียน หรือถูกเข้าคอร์สเการเรียน และฝึกฝนอย่างหนัก จนสมองไม่มีเวลาพักผ่อน และเพราะต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบหลายชั้น สิ่งเหล่านี้ก็เป็นตัวปิดกั้นจินตนาการ หรือความคิดสร้างสรรค์ที่แปลกใหม่ของลูกไปในที่สุด เพราะไม่ได้ออกมาเรียนรู้โลกภายนอกจากห้องเรียน หรือตำราเลย ดังนั้นทางเดียวที่จะทำให้ความสร้างสรรค์ของลูกคงที่ พ่อแม่ต้องช่วยลูก เวลาอยู่ที่บ้าน หรือพาลูกไปเที่ยวเล่นผจญภัยนอกบ้าน พร้อมสอดแทรกวิธีการสอนที่แปลกใหม่ ไม่สอนในแบบที่เคยทำกันมา ก็จะช่วยเปิดสมองลูกให้มีไอเดียดีๆ มีความคอดแปลกใหม่ขึ้นมาได้
ทั้งนี้ยังรวมไปถึงการปล่อยให้ลูก ๆ เบื่อบ้างก็ได้ เพราะเวลาที่ลูกเบื่อ พวกเขาจะสร้างสรรค์ได้อย่างไม่น่าเชื่อ ดร.เทเรซ่า เบลตัน ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเด็กพบว่าการที่พ่อแม่กระตุ้นให้ลูกทำกิจกรรมมากๆ อาจสกัดกั้นจินตนาการของลูกได้
ตัวอย่างจากนักเขียนชื่อดัง มีร่า ซีอัล และศิลปินดัง เกรย์สัน เพอร์รี่ พวกเขาเกิดความคิดดีๆ ได้เวลาที่รู้สึกเบื่อ ซีอัลบอกว่าความเบื่อเป็นตัวกระตุ้นให้เธอเขียนหนังสือได้เป็นอย่างดี ส่วนเพอร์รี่บอกว่าเมื่อเขาเบื่อ เขาจะเกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ขึ้นมา “ยิ่งผมแก่ลง ผมก็ยิ่งรู้ว่าช่วงเวลาที่เบื่อๆ นี่แหละ ทำให้ผมสร้างสรรค์ได้อย่างไม่น่าเชื่อ” เพอร์รี่กล่าว
สำหรับซีอัล ตอนเด็กๆ เธออาศัยอยู่ในหมู่บ้านเล็กๆ เมื่อไม่รู้ว่าจะทำอะไรดี เธอจึงพูดคุยกับคนไปทั่ว ไม่ว่าเด็กหรือคนแก่ และได้ลองทำสิ่งต่างๆ ที่ไม่เคยคิดอยากจะทำ เช่น การหัดทำขนม เธอมักจะจดไดอารี่อยู่เสมอ และเรื่องราวในไดอารี่นี่แหละที่เธอนำมาเป็นข้อมูลที่ใช้ในงานเขียนเมื่อโตขึ้น
นักประสาทวิทยาและผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง ศาสตราจารย์ ซูซาน กรีนฟีล เล่าว่าตอนเด็กๆ ครอบครัวของเธอยากจน และเธอเป็นลูกคนเดียว เธอจึงมีความสุขกับการแต่งเรื่องสมมุติในจินตนาการ วาดรูป และไปห้องสมุด
ดร.เบลตันกล่าวว่าพ่อแม่ยุคใหม่กลัวว่าลูกจะเบื่อ จึงคิดหากิจกรรมต่างๆ ให้ลูกทำตลอดเวลา แต่หารู้ไม่ว่าช่วงเวลาที่เด็กๆ ไม่รู้ว่าจะทำอะไร สมองส่วนความคิดสร้างสรรค์ของเด็กๆ จะทำงาน เพื่อคิดเรื่องสนุกๆ เช่น ประดิษฐ์สิ่งของ หรือวาดรูป
นอกจากนี้ทีมนักวิจัยยังศึกษาเรื่องผลของการดูโทรทัศน์ การใช้คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ และหน้าจอต่างๆ ที่มีต่อเด็ก เพราะสมัยนี้เมื่อเด็กรู้สึกเบื่อ พวกเขาจะหันไปหาหน้าจอต่างๆ ทันที ทำให้การเล่นกลางแจ้งและปฏิสัมพันธ์กับสิ่งรอบตัวลดลง การที่เด็กๆ ไม่มีเวลาที่จะอยู่กับตัวเองเงียบๆ ทำให้ความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการโดนจำกัดอยู่เพียงแค่หน้าจอ
อ่านต่อ >> “วิธีช่วยส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ของลูกน้อย” คลิกหน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อันที่จริงแล้วความคิดสร้างสรรค์เป็นทักษะที่สามารถฝึกฝน ส่งเสริมและพัฒนาได้ในเด็กทุกคน พ่อแม่ถือเป็นบุคคลสำคัญที่จะช่วยพัฒนาทักษะด้านนี้ให้กับลูก โดยการดูแลและสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เพื่อให้ความคิดสร้างสรรค์ของลูกได้รับการพัฒนา ขัดเกลา อย่างสมบูรณ์ ทั้งนี้แนวทางในการสร้างเสริมทักษะความคิดสร้างสรรค์ให้แก่ลูกมีขั้นตอนดังต่อไปนี้
1. ปลูกฝังทัศนคติแห่งการคิดสร้างสรรค์
ทักษะการคิดสร้างสรรค์เป็นทักษะที่มีความเกี่ยวข้อง เชื่อมโยงกับทัศนคติและบุคลิกภาพของบุคคลนั้นๆเป็นอย่างมาก ซึ่งทัศนคติและบุคลิกภาพที่เอื้อต่อการคิดสร้างสรรค์ที่พ่อแม่ควรสร้างให้เกิดกับลูก ได้แก่
- เปิดกว้างทางความคิด
- ทัศนคติเชิงบวกต่อสถานการณ์ต่างๆ
- มีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์
2. กระตุ้นให้คิดสร้างสรรค์
การคิดสร้างมีลักษณะเป็นกระบวนการ เป็นทักษะที่ต้องอาศัยการฝึกฝนให้เกิดความเคยชินจนเป็นนิสัย พ่อแม่จึงจำเป็นต้องกระตุ้นให้ลูกได้ฝึกการคิดสร้างสรรค์อยู่เสมอผ่านเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวัน โดยมีขั้นตอนสำคัญได้แก่
- กำหนดเป้าหมายของการคิด
- แสวงหาแนวคิดใหม่
- ประเมินและคัดเลือกแนวทาง
3. สนับสนุนวัตถุดิบแห่งการคิดสร้างสรรค์
การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์คือ การพยายามแหวกไปจากความเคยชินเดิมๆ เพื่อค้นหาสิ่งใหม่ พ่อแม่จึงเป็นบุคคลสำคัญที่จะนำลูกไปสู่ความแปลกใหม่ ได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้สะสมประสบการณ์ความรู้เพื่อนำวัตถุดิบเหล่านั้นไปต่อยอด สร้างสรรค์สิ่งใหม่ต่อไป ยิ่งมีวัตถุดิบหลากหลายมากเท่าไรก็ยิ่งสร้างสรรค์ต่อยอดได้มากขึ้นไปมากเท่านั้น ตัวอย่างวัตถุดิบในการคิดสร้างสรรค์ที่พ่อแม่ควรจัดเตรียมให้กับลูก เช่น จัดหาหนังสือ ตำรา พจนานุกรม การหาความรู้ทางอินเทอร์เน็ต พาลูกไปทัศนศึกษา ท่องเที่ยวในสถานที่ต่างๆ ให้ลูกได้รู้จักพูดคุยกับคนหลากหลายประเภท จัดหาวัสดุอุปกรณ์การประดิษฐ์ การเล่นของลูกที่ไม่ใช่เป็นของเล่นสำเร็จรูป แต่อาจเป็นของเล่นพื้น ๆ ที่หาได้ในบ้าน หรือของเหลือใช้ต่างๆ เพื่อฝึกให้ลูกได้สร้างสรรค์จินตนาการกับสิ่งที่มีอยู่แทนการซื้อของเล่นสำเร็จรูป
การพัฒนาทักษะการคิดสร้างสรรค์ให้งอกงามแก่ลูกๆ นั้น ไม่ใช่เรื่องยากเนื่องจากเด็กทุกคนมีเมล็ดพันธ์ุนี้อยู่แล้ว พ่อแม่เพียงแต่เป็นผู้สร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมให้เมล็ดพันธุ์ได้เติบใหญ่พร้อมเฝ้ามองการเติบโตของดอกผลแห่งความคิดสร้างสรรค์นั้นที่ได้ดูแลมาเป็นอย่างดี
การให้การสนับสนุนและกำลังใจเด็ก เมื่อเด็กๆ แสดงความสามารถหรือความถนัดต่างๆ เช่น ความสามารถที่จะตั้งคำถามหลายคำถาม มีความจำที่ดี มีทักษะในการเริ่มต้นอ่าน มีทักษะทางด้านศิลปะ หรือความสามารถพิเศษอื่นๆ ผู้ใหญ่ควรสนับสนุนให้เด็กเพิ่มพูนทักษะต่อไป การแสดงความคิดเห็นอย่างจริงใจ และตรงกับความเป็นจริงก็เป็นการให้กำลังใจเด็กเช่นกัน โดยการพูดถึงสิ่งที่เด็กทำอย่างเป็นรูปธรรม ส่งเสริมให้เด็กประเมินผลงานของตนเอง ช่วยเสริมสร้างทักษะต่างๆให้เด็กทางอ้อม เป็นต้น
ที่สำคัญคือต้องทำให้เด็กรู้สึกดีเกี่ยวกับความสามารถของตนเอง และพอใจภูมิใจในผลงานที่ตนทำเสมอ พ่อแม่ควรจัดสิ่งแวดล้อมและกิจกรรมที่เด็กไม่รู้สึกว่ามีคำตอบเพียงคำตอบเดียวสำหรับปัญหาทุกปัญหา แต่ผู้ใหญ่ควรส่งเสริมให้เด็กได้เห็นว่ามีวิธีแก้ปัญหาได้หลายวิธี และสนับสนุนให้เด็กใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหาอยู่เสมอด้วยนะคะ
อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก!
- เคล็ดลับฝึกความคิดสร้างสรรค์ให้เด็ก
- สังเกตตรงไหน ลูกเรามีความคิดสร้างสรรค์หรือเปล่า
- กิจกรรมเพิ่มความคิดสร้างสรรค์
ขอบคุณข้อมูลจาก : childhoodboooc.blogspot.com , www.preschool.or.th , www.manager.co.th , www.womanlearns.com