AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

หมอเตือน!! อย่าเป็นพ่อแม่ที่ห่วงลูกมากเกินไปจนน่ารำคาญ

หมอเตือน!! อย่าเป็นพ่อแม่ที่ ห่วงลูกมากเกินไป จนน่ารำคาญ

เมื่อลูกน้อยเริ่มโตขึ้น คุณพ่อ คุณแม่ก็เริ่ม ห่วงลูกมากเกินไป … เวลาที่ลูกจะไปไหนมาไหน บางครั้งก็เกิดปากเสียง ทะเลาะกันรุนแรง เพราะลูกรำคาญที่คุณพ่อคุณแม่คอยโทรตามอยู่บ่อยๆ หรือคอยเช็คว่าลูกอยู่ที่ไหน กับใคร ทำอะไร และเป็นกังวลมาก จนไม่รู้จะหาทางออกกับเรื่องนี้ยังไงดี?

3 วิธีแก้จากหมอ เมื่อพ่อแม่ ห่วงลูกมากเกินไป จนน่ารำคาญ!

สำหรับเรื่อง ห่วงลูกมากเกินไป จนทำให้ลูกรำคาญ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์แผนกจิตเวช โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ได้ให้คำตอบของเรื่องนี้เอาไว้ ดังนี้…

สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกในช่วง 3 ขวบแรก

1. คุณพ่อคุณแม่ลองประเมินตัวเอง แล้วจะรู้ว่าเราสามารถเลี้ยงเขาได้ อย่างมากที่สุดคือช่วง 3 ขวบแรก เขาจะมีสายสัมพันธ์ที่แข็งแรงกับคุณพ่อคุณแม่ ซึ่งเป็นการประกันได้ในระดับหนึ่งว่า ลูกน้อยจะไม่ออกนอกลู่นอกทาง เพราะมีคุณพ่อคุณแม่นั้นอยู่ในใจเสมอ ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ใด

เลี้ยงลูกให้ดีที่สุดในช่วง 10 ขวบแรก

2. การเลี้ยงลูกให้ดีที่สุดในช่วง 10 ขวบแรก จะทำให้ลูกมีฐานความคิดที่ดี และมีความสามารถในการเข้าใจผลลัพธ์ของการกระทำของตัวเอง ก็จะสามารถถอยห่างจากความเสี่ยงต่างๆ เหล่านั้นได้ เมื่อถึงเวลา

Must read >> รู้หรือไม่? แท้จริงแล้ว เรามีเวลาอยู่กับลูก ได้แค่ 10 ปีแรกเท่านั้น!

ลูกจะเริ่มไม่เชื่อฟังเมื่อเข้าสู่วัยเด็กโต

3. ถ้าคุณพ่อคุณแม่เลี้ยงลูกได้ไม่เต็มที่ทั้ง 2 ช่วงวัย ก็อาจจะมีความเสี่ยงในการดูแลตัวเองของลูกน้อยสูงกว่า เพราะโดยทั่วไปแล้ว ลูกน้อยจะเริ่มไม่เชื่อฟังคุณพ่อคุณแม่ เมื่อเข้าสู่วัยเด็กโต และกลายเป็นวัยรุ่น

การพูดเรื่องเดิมซ้ำๆ จึงไม่ควรทำกับเด็กในช่วงวัยนี้ เพราะนอกจากจะไม่ทำให้เกิดประโยชน์แล้ว ยังทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวลดน้อยลงด้วย แล้วคุณพ่อคุณแม่เองจะถูกลูกกล่าวหาว่า “ขี้บ่น” และลูกจะไม่ฟังเราอีกต่อไป

อ่านต่อ “วิธีแสดงให้ลูกรู้ว่าห่วง ด้วยความคาดหวัง” คลิกหน้า 2

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

แสดงให้ลูกรู้ว่าห่วง ด้วยความคาดหวัง

1. บอกความคาดหวังกับลูกน้อย ในเรื่องที่จำเป็นจริงๆ ไม่จำเป็นต้องบอกไปทุกเรื่อง เพราะลูกน้อยจะไม่ยอมฟังสักเรื่องเดียว เช่น คุณพ่อขอให้ลูกเลือกคบเพื่อนที่ดี คุณแม่ขอให้ลูกตั้งใจเรียนหนังสือเพื่ออนาคตของตัวเอง เรื่องเล็กๆ น้อยๆ อื่นๆ ปล่อยไปบ้างก็ได้

2.ในแต่ละเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่เป็นห่วง ต้องเป็นเรื่องอันตรายสูงสุดไว้ก่อน และบอกความคาดหวังนั้นให้ลูกรู้ เช่น คุณแม่บอกให้ลูกรีบกลับบ้าน เพราะกลัวโจรลักพาตัว คุณพ่อบอกให้ลูกระวังเรื่องรับของจากคนแปลกหน้า เรื่องเล็กๆ น้อยๆ อื่นๆ ปล่อยไปบ้างก็ได้

สุดท้าย…เมื่อคุณพ่อคุณแม่ไม่บ่น แต่ใช้วิธีบอกความคาดหวังเฉพาะเรื่องสำคัญ และเรื่องร้ายแรง ลูกน้อยก็จะเข้าใจได้เองว่ามีอันตรายอะไรที่รองลงมารอบตัวบ้างที่คุณพ่อคุณแม่ยังเป็นห่วง ด้วยสายสัมพันธ์ที่ดี และฐานความคิดที่ดี จะทำให้ลูกน้อยคิดหาวิธีใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปลอดภัย

โดย นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์แผนกจิตเวช โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์
ข้อมูลจาก นิตยสาร Amarin Baby & Kids ฉบับประจำเดือนตุลาคม 2559

อ่านเพิ่มเติม คลิก!!

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

Save