ภาพหนูน้อยวัยหนึ่งขวบนอนดูดนิ้วคงดูน่ารักเหมือนเทวดาตัวน้อยๆ แต่ ลูกดูดนิ้ว ไปจนถึงวัย 7 ขวบ แล้วก็ยังไม่เลิกคงไม่น่าดูสักเท่าไร ทั้งยังส่งผลต่อโครงสร้างฟันและการพูดอีกด้วย… AMARIN Baby & Kids มีคำแนะนำดีๆ กับวิธีแก้ปัญหาเมื่อ ลูกดูดนิ้ว มาฝากคุณพ่อคุณแม่กันค่ะ
ปัญหาลูกดูดนิ้ว
เด็กๆ มักเริ่มดูดนิ้วราวอายุ 15 สัปดาห์ในครรภ์ แต่เมื่อออกมาพบโลกแล้วจะเริ่มดูดนิ้วเมื่ออายุประมาณ 4 เดือน โดยจะเริ่มสำรวจ เรียนรู้สิ่งต่างๆ ของร่างกายตนเองผ่านสัมผัสต่างๆ รวมทั้งสัมผัสทางปากด้วย ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จะสังเกตได้ว่าเด็กที่เริ่มเอื้อมมือคว้าของได้นั้น จะนำของเข้าปากทันที ซึ่งเป็นกระบวนการเรียนรู้เพื่อทำความรู้จักอวัยวะของร่างกายตนเองนอกจากนั้นยังเป็นการสร้างความสุขเล็กๆ น้อยๆ ให้กับตนเอง โดยเฉพาะในเด็กที่ไม่มีกิจกรรมอื่นให้รู้สึกสนุก หรือมีความสุขไปมากกว่าการดูดนิ้ว ไม่เฉพาะเพียงแต่นิ้วมือเท่านั้น เด็กหลายคนยังเพลินถึงกับดูดนิ้วเท้าด้วยเลยนะคะ
วิธีรับมือเมื่อลูกดูดนิ้ว
- ควรตัดเล็บของน้องหนูให้สั้น ล้างมือลูกให้สะอาดอยู่เสมอ หมั่นสังเกตว่านิ้วมือของลูกมีอาการอักเสบ คัน หรือเป็นแผลจากการดูดนิ้วหรือไม่
- อย่าดุหรือว่าลูกต่อหน้าคนอื่นเวลาที่ลูกดูดนิ้ว เพราะจะทำให้หนูน้อยเกร็ง เครียด และยิ่งทำบ่อยกว่าเดิม ทางที่ดีควรดึงมือออกแล้วเบี่ยงเบนความสนใจ เช่น ชวนไปเล่นของเล่น หรือเล่านิทานให้ฟัง เป็นต้น
- อย่าตรงเข้าไปดุว่าลูกทันที เวลาที่ลูกดูดนิ้ว โดยเฉพาะในเด็กที่ดูดนิ้วเพื่อเรียกร้องความสนใจ เพราะถ้าเด็กจับสังเกตได้ว่าทุกครั้งที่ดูดนิ้ว พ่อแม่จะต้องรีบวิ่งเข้ามาห้ามปรามและดูแล หนูน้อยจะเลิกไม่ได้ ดังนั้นเวลาที่เห็นลูกดูดนิ้ว พ่อแม่อาจรอสักพัก แล้วค่อย ๆ เข้าหาลูก ชวนไปเล่นอย่างอื่นอย่างแนบเนียน ไม่บุ่มบ่าม
- ฝึกให้เด็กหัดใช้มือ หาของเล่นที่ต้องมีการฝึกทักษะมือให้ลูกเล่น เช่น ลูกบอล พอใช้มือมาก ๆ สุดท้ายลูกก็จะลืมเรื่องเอานิ้วเข้าปากไปเอง เป็นการช่วยเบี่ยงเบนพฤติกรรมลูกได้ ไม่นานพฤติกรรมนี้ก็จะหายไปได้ในที่สุด
และสำหรับเด็กโตที่ยังติดดูดนิ้ว ก็มักโดนเพื่อนๆ ที่โรงเรียนล้อ และอาจพยายามซ่อนนิสัยนี้สุดความสามารถ แต่ที่ไม่ยอมเลิกก็เพราะการดูดนิ้วทำให้เด็กๆ รู้สึกสบายใจ เมื่อไรที่ดูดนิ้ว ร่างกายจะหลั่งเอนดอร์ฟินซึ่งเป็นฮอร์โมนชนิดเดียวกับที่ทำให้รู้สึกดีเมื่อได้ออกกำลังกาย และเมื่อทำไปนานๆ ก็จะยิ่งเลิกได้ยาก แม้เด็กๆ จะรู้สึกอายก็ตามที
อย่างที่บอกไว้แต่ต้นว่าการดูดนี้เป็นการสำรวจร่างกายของวัยเบบี๋ ถึงกระนั้นการดูดนิ้วก็ควรเป็นไปอย่างเหมาะสมค่ะ คืออาจจะยอมให้เขาดูดได้บ้าง แต่ไม่ใช่ให้ดูดตลอดจนโต หรือไม่พยายามแก้ไขเมื่อเขาดูดเพราะการที่ลูกติดดูดนิ้วนั้นจะส่งผลเสียตามมา ดังนี้
1. ทำให้โครงสร้างของฟันผิดปกติ ฟันที่ขึ้นอาจมีลักษณะเหยิน ยื่น โดยเฉพาะในเด็กที่ดูดเกินอายุ 4 ปีขึ้นไป
2. ทำให้เกิดความผิดปกติของนิ้วและทำให้เล็บขบ หรือมีความผิดปกติของข้อนิ้วจนต้องพาไปพบแพทย์ เพื่อจะได้ทำการรักษาด้วยการผ่าตัด
3. มีผลทางด้านจิตใจของตัวเอง เพราะจะถูกมองว่าเป็นเด็กไม่รู้จักโต ถูกเพื่อนล้อ ถูกพ่อแม่ดุว่า
4. เด็กๆ จะใช้มือจับสิ่งต่างๆ มากมายเพราะฉะนั้น เมื่อเวลาที่เด็กเอานิ้วเข้าปากอาจจะได้รับสารพิษ หรือเชื้อโรคปนเปื้อนเข้าไปทางปาก
อ่านต่อ >> “วิธีทำให้ลูกเลิกดูดนิ้ว” คลิกหน้า 2
ลูกดูดนิ้ว เลิกได้ไม่ยาก!
แต่ถ้าลูกไม่ยอมเลิกดูดนิ้ว ฟันของเขาก็อาจจะยื่นออกมา หรืออาจมีปัญหาด้านการพูด เราจึงมีวิธีช่วยให้ลูกเลิกนิสัยนี้มาฝากกัน
1. อย่าให้ลูกพยายามเลิกถ้าเขามีเรื่องกังวลใจ
เช่น ช่วงที่พ่อแม่กำลังจะหย่าร้าง หรือเพิ่งย้ายบ้านใหม่ๆ เพราะตอนนั้นเขาคงไม่ค่อยมีกำลังใจจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ทำมาเป็นปีๆ หรอก (เมื่อมีทุกข์สุมใจ ใครจะยอมทิ้งความสุขเล็กๆ ที่ปลายนิ้ว ใช่ไหมล่ะ)
2. “หนูต้องตัดสินใจเลิกเองนะ”
บอกลูกว่าเขาต้องตัดสินใจเลิกด้วยตัวเอง ถึงอย่างไรเขาก็เลิกไม่ได้จนกว่าจะรู้สึกว่าพร้อมแล้ว เพราะฉะนั้นคุณก็มอบอำนาจในการตัดสินใจให้เขาไปซะเลย
3. ขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ
การไม่ปล่อยให้มือและปากของลูกว่าง โดยให้เขาเล่นเกมหรือกินขนม อาจช่วยลดพฤติกรรมนี้ลงได้บ้าง แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาความผิดปกติที่บริเวณปากและใบหน้าจะวางแผนการฝึกอย่างเป็นระบบ เพื่อช่วยให้เขาเลิกนิสัยดูดนิ้วได้จริงๆ
4. อดทนไว้
เด็กวัยนี้มักต้องการเวลาอย่างน้อย 3 เดือนถึงจะหยุดพฤติกรรมนี้ได้อย่างเด็ดขาด คุณพ่อคุณแม่ใจเย็นๆ นะคะ
อ่านต่อบทความน่าสนใจ
ทารกวัย 3 เดือน เริ่ม “ขบ กัด งับ เคี้ยว” เพราะอะไรนะ?
ปัญหาบุคลิกภาพของเด็กพร้อมวิธีรับมือ
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสาร AMARIN Baby & Kids
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่