เจ้าของเรื่อง : เด็กหญิงภัทรานิษฐ์ พุ่มนิล, คุณพ่อเอนก พุ่มนิล
น้องแต๊งค์ต้องฉีดยาวันละ 4 เข็ม หนึ่งปีเท่ากับฉีด 1,460 เข็ม ลมหายใจของน้องขึ้นอยู่กับเข็มฉีดยาพวกนี้ จึงเป็นที่มาของวลี “ลมหายใจที่ปลายเข็ม”
คุณพ่อคุณแม่ทุกคนคงรู้จักโรคเบาหวาน ในครอบครัวส่วนใหญ่มักจะมีญาติผู้ใหญ่หรือคนใกล้ชิดป่วยด้วยโรคนี้อยู่บ้าง แต่รู้หรือไม่ว่าโรคเบาหวานไม่เพียงเป็นโรคยอดฮิตของผู้สูงอายุเท่านั้น ยังมีโอกาสเกิดกับเด็กที่มีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงด้วย ในบทความนี้ทีมงาน AMARIN Baby & Kids มีแง่มุมของโรคเบาหวานในเด็กมาฝากกันค่ะ
เด็กหญิงภัทรานิษฐ์ พุ่มนิล หรือน้องแต๊งค์กิ้ว อายุ 9 ขวบ เด็กหญิงผู้ป่วยด้วยโรคเบาหวานมาปีกว่า คุณพ่อบอกว่าน้องแต๊งค์กิ้วมีชีวิตอยู่ได้ด้วยการฉีดอินซูลินวันละ 4 เข็ม และควบคุมอาหารอย่างเข้มงวด แต่น้องแต๊งค์ยังคงความสดใสของวัยเด็ก และมีกำลังใจในการดำเนินชีวิตเต็มเปี่ยม
“โรคเบาหวานมี 2 ชนิดครับ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่เป็นชนิดที่ 2 ส่วนเด็กมีโอกาสเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 อันเนื่องจากตับอ่อนหยุดผลิตอินซูลินถาวร เมื่อไม่มีอินซูลิน น้ำตาลที่บริโภคเข้าไปจะไม่ถูกนำไปย่อยเป็นพลังงาน ทำให้เกิดการสะสมในปริมาณสูง ขณะเดียวกันเซลล์ที่ต้องการย่อยน้ำตาลก็จะเปลี่ยนไปย่อยไขมันแทน ซึ่งผลที่ได้จากการย่อยไขมันคือคีโตนที่ทำให้เลือดมีสภาวะเป็นกรด ร่างกายจึงต้องเอาน้ำไปขับกรดออกจากเลือด เด็กที่ป่วยโรคนี้จึงได้มีสภาวะขาดน้ำครับ” คุณพ่อเอนก พุ่มนิล ผู้มีลูกสาวป่วยด้วยโรคเบาหวานตั้งแต่อายุได้เพียง 8 ขวบเริ่มต้นบอกเล่าสาเหตุของโรคเบาหวานให้เราฟัง
“อาการแรกเริ่มของน้องแต๊งค์คือน้ำหนักลด แขนเล็กลงมาก เราก็นึกว่าลูกยืดตัว วันที่แต๊งค์อาการหนักคือวันอาทิตย์ที่ 6 กรกฎาคมปี พ.ศ. 2557 เช้านั้นครอบครัวเราไปใส่บาตรกันตามปกติ แต่พอกลับมาที่บ้านน้องนอนไม่มีแรงและหายใจหอบแรงมาก ตอนเที่ยงเลยตัดสินใจพาน้องแต๊งค์ไปหาหมอที่โรงพยาบาลศิริราช แต่เพราะเป็นวันอาทิตย์ซึ่งไม่ค่อยมีหมอเฉพาะทางอยู่ก็เลยตรวจหาสาเหตุไม่เจอ
ระหว่างนั้นน้องแต๊งค์ก็อาการทรุด ชีพจรแผ่วลงเรื่อยๆ จนกระทั่งคุณหมอท่านหนึ่งซึ่งเป็นแพทย์เฉพาะทางด้านโรคเบาหวานในเด็กแวะมาเอาของที่โรงพยาบาลพอดี นางพยาบาลจึงขอให้คุณหมอช่วยดูอาการให้ กว่าจะรู้ว่าน้องแต๊งค์เป็นโรคเบาหวานก็ตอน 5 โมงเย็น ตอนนั้นน้องอยู่ในสภาพขาดน้ำอย่างรุนแรง คุณหมอจึงส่งน้องเข้าห้องฉุกเฉิน น้องแต๊งค์ต้องใช้น้ำเกลือถึง 8 ขวดเพื่อกำจัดความเป็นกรดออกจากกระแสเลือด จากนั้นคุณหมอถึงจะให้อินซูลินเข้าไปรักษาเพื่อลดระดับน้ำตาลให้ต่ำลงได้ ซึ่งน้ำตาลตอนที่น้องแต๊งค์เจาะครั้งแรกสูงกว่าคนปกติถึง 6 เท่า อาการในตอนนั้นถือว่าอันตรายมากครับ”
หลังจากนั้นน้องแต๊งค์กิ้วก็ได้รับการรักษาตามคำแนะนำของคุณหมอ ด้วยการฉีดอินซูลินเข้ากระแสเลือดวันละ 4 เข็ม ยังไม่นับเข็มที่ต้องใช้เจาะเลือดทุกครั้งเพื่อคำนวณปริมาณยาและอาหารให้เหมาะสมกับการทำงานของร่างกาย การรักษาโรคเบาหวานจึงต้องมีวินัยอย่างมากและต้องทนเจ็บตัวไม่น้อยเลย
อ่านเรื่อง “ลมหายใจที่ปลายเข็ม.. เด็กหญิงผู้สู้กับโรคเบาหวาน ฉีดยา 1,460 เข็ม ต่อปี” คลิกหน้า 2
สู้โรคด้วยรักจากครอบครัว
“ช่วงที่ครอบครัวรู้สึกแย่คือวันที่หมอบอกว่าลูกคุณจะต้องฉีดอินซูลินตลอดชีวิต คำว่า ‘ตลอดชีวิต’ ทำให้ผมรู้สึกเหมือนภูเขาถล่มใส่ ตอนนั้นผมงงมากไม่รู้จะเริ่มทำอะไรดี แต่ในที่สุดก็ปรับตัวกับวิธีการรักษาได้ แต่น้องแต๊งค์ก็เริ่มตั้งคำถามกับตัวเอง เขาคุยกับคุณแม่ก่อนนอนว่าทำไมเขาต้องเกิดมาแล้วเป็นโรคนี้ เวลาที่น้องแต๊งค์เจอเด็กๆ ที่ไม่อยากกินข้าว น้องก็จะบอกให้กินเถอะ ตัวพี่อยากกินจะแย่ แต่กินไม่ได้”
แม้จะมีช่วงเวลาที่ท้อแท้กับวิธีการประคองรักษาโรค แต่ครอบครัวก็ให้กำลังใจกันและกันอยู่เสมอ โดยเฉพาะคุณพ่อซึ่งมีอาชีพเป็นช่างศิลป์อยู่แล้ว ได้คิดหาวิธีให้กำลังใจน้องแต๊งค์กิ้วผ่านงานดีไซน์เสื้อยืดลายสวยให้กลายเป็นเสื้อทีมของครอบครัว เป็นการผนึกกำลังเพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าทุกคนจะสู้โรคร้ายไปด้วยกัน
“ผมมานั่งคิดว่าน้องแต๊งค์ต้องฉีดยาวันละ 4 เข็ม หนึ่งปีเท่ากับฉีด 1,460 เข็ม ลมหายใจของเขาขึ้นอยู่กับเข็มฉีดยาพวกนี้ ก็เลยเป็นที่มาของคำว่า “ลมหายใจที่ปลายเข็ม” คุณแม่เองก็รู้สึกว่าคำนี้โดนใจมาก ผมก็เลยดีไซน์ออกมาเป็นลายเสื้อ แล้วก็ถ่ายรูปแต๊งค์ตอนฉีดยามาใส่ไว้ในสัญลักษณ์วงกลมของวันเบาหวานโลก เสื้อตัวนี้ผมไม่ขาย แต่เราทำใส่กันเองในครอบครัว เพราะเราไม่ต้องการปกปิดคนอื่นว่าลูกเราป่วยเป็นโรคอะไร เราบอกทางโรงเรียน เราบอกเพื่อนของน้อง เราบอกคนรอบข้าง เวลาเดินทางไปไหนเมื่อถึงเวลาต้องเจาะเลือดหรือฉีดยาก็จะทำกันตรงนั้นเลย เพราะอยากให้น้องได้ใช้ชีวิตอย่างปกติ ให้เรื่องฉีดยาเจาะเลือดป็นเรื่องปกติที่เขาต้องอยู่กับมันให้ได้ไปตลอดชีวิตโดยไม่รู้สึกเป็นปมด้อย
หลายๆ คนที่รู้ข่าวจะให้กำลังใจว่าขอให้หายนะ ผมก็จะบอกเลยว่า มันไม่หาย เราต้องยอมรับความจริง กรณีที่จะหายได้คือตับอ่อนต้องกลับมาผลิตอินซูลินตามเดิม ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ คุณหมอก็บอกให้เราไม่ต้องคิดมาก การเป็นเบาหวานไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องปิดตัวเองอยู่ในมุมมืด สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ เพียงแต่เปลี่ยนพฤติกรรมการกินเท่านั้นเอง ในโลกนี้ยังมีโรคที่เด็กคนอื่นๆ เป็นและรักษาไม่ได้อีกตั้งมากมาย เด็กเหล่านั้นต้องทรมานมากกว่า แถมยังอยู่ได้แค่บนเตียงในโรงพยาบาล แต่น้องแต๊งค์ยังดำเนินชีวิตได้ตามปกติ ออกกำลังกายก็ยังได้อยู่ เพียงแต่ต้องดูแลสุขภาพมากขึ้นเท่านั้น”
อ่านเรื่อง “ลมหายใจที่ปลายเข็ม.. เด็กหญิงผู้สู้กับโรคเบาหวาน ฉีดยา 1,460 เข็ม ต่อปี” คลิกหน้า 3
พลังคิดบวก จากวิกฤติเป็นโอกาสเพื่อลูกรัก
“ผมคิดว่าวิกฤติบางครั้งก็กลายเป็นโอกาสได้เหมือนกัน อย่างน้อยผมจะไม่มีวันเห็นลูกอ้วนหรือป่วยด้วยโรคอ้วนเด็ดขาด เพราะการกินในแต่ละมื้อของเขาจะถูกกำหนดไว้แล้วว่าต้องสมดุลกับที่ร่างกายจะใช้ และข้อดีอีกอย่างคือ พอน้องแต๊งค์เห็นว่าตัวเองป่วยก็เลยมีความรู้สึกว่าอยากจะเป็นหมอ เพราะความฝันก็ทำให้น้องมีวินัยในการเรียนมากขึ้น ผลการเรียนก็ดีขึ้น แต่ผมก็ไม่รู้ว่ามีข้อจำกัดห้ามเด็กป่วยโรคเบาหวานเรียนหมอหรือเปล่า ก็เลยพูดเผื่อกับน้องแต๊งค์ไว้แล้วว่าเราไม่จำเป็นต้องเป็นหมอก็ได้ จะเป็นเภสัชกรหรือนักโภชนาการก็ช่วยรักษาสุขภาพของคนป่วยได้เหมือนกัน”
“หลังจากนี้น้องแต๊งค์อยากทำอะไรหรือเป็นอะไรผมก็จะสนุบสนุนเต็มที่ แต่สิ่งที่เขาชอบในตอนนี้คือว่ายน้ำ เพราะเขาว่ายน้ำมาตั้งแต่แรกแล้ว ผมคิดว่าก็เป็นการออกกำลังกายที่เหมาะกับคนป่วยโรคเบาหวาน แต่เราก็ต้องคอยดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะการออกกำลังกายคือการดึงน้ำตาลมาใช้ ผมก็ต้องคอยสังเกตอาการว่าน้ำตาลต่ำหรือเปล่า มีอาการวูบหรือเปล่า และจัดอาหารให้พอเหมาะกับกิจกรรมของเขาครับ”
เห็นครอบครัวของน้องแต๊งค์กิ้วใจสู้และมีทัศนคติดีขนาดนี้ ทีมงานเรียลพาเรนติ้งก็ขอชื่นชมและเป็นกำลังใจอีกแรง ให้น้องแต๊งค์ดูแลสุขภาพร่างกายและมุ่งมั่นทำตามความฝันจนได้ทำอาชีพในฝันสมใจนะคะ
เรื่องและภาพ : กองบรรณาธิการนิตยสาร AMARIN Baby & Kids