AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ช่วยลูกปรับตัวเมื่อขึ้นชั้นมัธยมต้น

เพราะนั่นอาจหมายถึงการใช้ชีวิตในโรงเรียนแห่งใหม่ การได้ลิ้มลองอาหารที่ (น่าจะ) อร่อยกว่าอะไรแหยะๆที่เคยรับประทานตอนเรียนชั้นประถม และการมีคุณครูที่เข้มงวดกว่าเดิมหลายเท่า นี่ยังไม่รวมการต้องสร้างสัมพันธภาพกับเพื่อนใหม่ๆ ด้วยนะ

 
การเรียนจบชั้นประถมเป็นเรื่องที่น่ายินดีก็จริง แต่การเลื่อนชั้นไปเรียนมัธยมต้นก็อาจสร้างความกังวลให้ลูกรัก สิ่งที่ลูกคงต้องเจอและสิ่งที่คุณแม่อาจช่วยได้ มีดังนี้

 
– ต้องเรียนหนักขึ้น ลูกของคุณจะต้องใช้เวลาทบทวนบทเรียนมากกว่าเดิมถ้าอยากได้คะแนนดีๆเหมือนตอนเรียนชั้นประถม และอาจต้องทำการบ้านมากขึ้นถึงคืนละ 1 เท่าตัว คุณควรหาบริเวณที่เงียบสงบและมีแสงสว่างเพียงพอให้ลูกวัยมัธยมต้นใช้ทำการบ้าน และพร้อมจะช่วยเหลือเมื่อลูกต้องการคำปรึกษา เพราะลูกมักได้รับการบ้านพร้อมๆกันหลายวิชา และยังต้องวางแผนการทำรายงานอีกหลายชิ้น คุณอาจช่วยลูกจัดระบบการทำงานโดยหาสมุดโน้ตหรือแฟ้มให้ใช้เป็นรายวิชา และหาวิธีจดบันทึกกำหนดวันที่จะต้องส่งงานชิ้นต่างๆ ทุกวันหลังเลิกเรียน ให้ลูกรื้อของในกระเป๋าออกมาดูให้หมด (เด็กวัยมัธยมต้นมักลืมให้พ่อแม่อ่านเอกสารสำคัญๆและจดหมายจากทางโรงเรียน) แล้วช่วยลูกทบทวนว่าต้องทำการบ้านอะไรบ้าง

 
– กิจวัตรแบบใหม่ โรงเรียนแห่งใหม่อาจมีเวลาเข้าเรียนเช้าขึ้นหรือสายขึ้น มีเวลาเรียนที่นานขึ้น และต้องเปลี่ยนห้องเรียนไปเรื่อยๆตลอดทั้งวัน ถ้าลูกรู้สึกกังวลในช่วงแรกๆ ให้เขาลองนึกถึงสิ่งที่เคยดูเหมือนจะยาก แต่กลับกลายเป็นสิ่งที่เขาทำจนชำนาญในตอนนี้ (เช่น การเล่นฟุตบอล หรือการต่อโทรศัพท์ด้วยตัวเอง) คุณอาจบอกลูกด้วยว่าการขึ้นชั้นมัธยมต้นหมายถึงการโตขึ้นกว่าเดิม แล้วให้ลูกมีสิทธิพิเศษเพิ่มขึ้นอีก 2-3 อย่าง ลูกจะได้รู้สึกว่าการเลื่อนชั้นก็มีข้อดีอยู่เหมือนกัน เช่น ให้เข้านอนช้ากว่าเดิมสัก 1 ชั่วโมงในคืนวันศุกร์-เสาร์ หรือให้ใช้โทรศัพท์ได้นานขึ้นอีกหน่อย

 
– ปัญหาการเข้ากลุ่มเพื่อน เด็กวัยมัธยมต้นมักรู้สึกว่าการเข้ากับเพื่อนๆไม่ได้เป็นเรื่องคอขาดบาดตาย ถ้าคุณทนได้ก็ควรยอมให้ลูกทำตัวเหมือนเด็กคนอื่นๆ และทำอะไรเหมือนๆกับเพื่อนในวัยเดียวกัน ถ้าลูกบ่นว่าเป้สีชมพูที่เคยใช้เมื่อปีที่แล้ว (และยังใหม่อยู่เลย) ดูหน่อมแน้มเกินไป คุณก็ควรตัดใจซื้อใบใหม่ให้ หรือยอมให้ลูกเลิกไว้ผมม้าแบบเด็กๆ ถ้าคุณยอมให้ลูกทำอะไรแผลงๆบ้างในตอนนี้ เธอก็จะไม่ค่อยแอบทำอะไรลับหลังคุณเมื่อโตขึ้น เมื่อลูกแสดงท่าทีว่าอยากคุยกับคุณในเรื่องนี้ คุณอาจเล่าให้เธอฟังถึงชีวิตในช่วงมัธยมต้นของตัวคุณเอง ลูกอาจรู้สึกดีขึ้นเมื่อรู้ว่าคุณก็เคยผ่านเรื่องทำนองเดียวกันมาก่อนตอนที่อายุเท่ากัน และยังเอาตัวรอดมาเล่าให้ลูกฟังได้ในวันนี้

 

 

บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง