ถ้าอยากช่วยลูกทำการบ้านให้สำเร็จ คุณก็ต้องพยายามหาคำตอบให้ได้ว่าเขามี “นิสัยเกี่ยวกับการทำการบ้าน” ประเภทไหน
– รวดเร็วปานกามนิตหนุ่ม การบ้านเป็นเพียงจุดแวะระหว่างทาง ซึ่งมีจุดหมายปลายทางที่การนั่งจ้องจอทีวีหรือจอคอมพิวเตอร์เท่านั้นเอง ถ้าลูกจัดอยู่ในประเภทนี้ อย่าให้รางวัลสำหรับการทำการบ้านเสร็จเร็วเป็นอันขาด แต่ควรกำหนดระยะเวลาที่เขาจะต้องใช้ในเรื่องเรียน และถ้าเขาทำการบ้านเสร็จก่อนหน้านั้น ก็ให้นั่งอ่านหนังสือทบทวนบทเรียนไปเรื่อยๆจนกว่าจะหมดเวลาที่ตั้งไว้
– ผัดวันประกันพรุ่ง ถึงลูกจะกลับจากโรงเรียนมาถึงบ้านเรียบร้อยแล้ว คุณก็ไม่อาจแงะปากให้เขาเล่าเรื่องที่โรงเรียนได้สักคำ แต่พอถึงเวลาที่ต้องทำการบ้าน เจ้าตัวดีกลับอยากโม้เรื่องชั่วโมงเลข เพื่อนๆ หรือแม้กระทั่งเรื่องภาวะโลกร้อนให้คุณฟัง! ถ้าลูกมักแสดงพฤติกรรมแบบนี้ ก็อาจตีความได้ว่าเขารู้สึกกังวลหรือมีการบ้านเยอะจนไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไรดี คุณต้องช่วยลูกคิดและจดรายการการบ้านทั้งหมดที่เขาต้องทำ ช่วยกันจัดตารางเวลาสำหรับสัปดาห์ต่อไปในคืนวันอาทิตย์และจดสิ่งที่ต้องทำไว้ในตารางนั้น เขาจะได้รู้ว่าวันไหนต้องทำอะไรบ้าง
– ทุกอย่างต้องสมบูรณ์แบบ ไม่ว่าจะเป็นการบ้านอะไร สิ่งที่ลูกทำก็ไม่เคยดีพอ ยาวพอหรือต้องไม่ถูกใจคุณครูอย่างแน่นอน คุณต้องพยายามกำหนดลิมิตเรื่องเวลาที่ใช้ทำการบ้าน และต้องดูให้แน่ว่าการบ้านนั้นคืออะไร จะได้ให้ความมั่นใจแก่ลูกได้ว่าเขาทำถูกต้องและครบถ้วนดีแล้ว
– อยู่ไม่ติดที่ คุณอยากเอากาวติดไว้ที่เก้าอี้ลูกเสียเหลือเกิน เพราะเขานั่งอยู่กับที่ไม่เป็นเลย เดี๋ยวก็เตร่เข้ามาในครัวเพื่อดูว่าอาหารเย็นคืออะไร ไม่ก็ออกไปแซวเพื่อนเล่นของน้องสาวถึงหน้าบ้าน ถ้าลูกคุณเป็นแบบนี้ อย่าให้เขาทำการบ้านในห้องนอนเพราะเป็นสถานที่ที่ทำให้เสียสมาธิง่ายที่สุด เด็กบางคนชอบเปลี่ยนที่ทำการบ้านทุก 15 นาที หรือยอม “พักยก” น้อยครั้งลงถ้าได้นั่งทำการบ้านอยู่ใกล้ๆกับสมาชิกในครอบครัวคนอื่นๆ บางคนก็ไม่ชอบความเงียบและต้องฟังเพลงคลอไปด้วย ถึงจะมีสมาธิทำการบ้านได้สำเร็จ ลองหาวิธีหรือรูปแบบที่เหมาะกับลูกคุณดูนะ
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง