AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

5 เทคนิค สอนลูกรู้ค่าของเงิน

ไม่อยากให้ลูกโตขึ้นเป็นสาวนักช็อป ต้องรีบสอนให้เขารู้ค่าของเงินตั้งแต่ยังเล็ก เพราะลูกกำลังโตขึ้นเรื่อยๆ พวกเขาจะรู้จักเพื่อน รู้จักครู อยากกินขนม เล่าเรื่องที่ประสบพบเจอมาได้เป็นฉากๆ และหนึ่งในนั้นก็คือพวกเขาจะรู้จัก “เงิน” และรู้จักการ “ซื้อ” แบบเราซะแล้ว เคล็ดลับเล็กน้อยให้ลูกรู้จักค่าของเงินจึงไม่ควรถูกมองข้าม เหล่านี้คือ 5 ข้อที่เรายินดีนำเสนอ!

1. พาลูกเดินตลาดขายของเก่า

ตลาดขายของเก่ามักเต็มไปด้วยของเล่นของใช้สำหรับเด็ก เขาสามารถเพลิดเพลินไปกับการเลือกของเล่นหรือหนังสือ ขณะที่เด็กโตก็จะค้นพบว่าเงินค่าขนมที่พ่อแม่ให้มานั้นมีค่ามากกว่าตอนเดินซื้อของในห้าง และเหนือสิ่งอื่นใด ยังเป็นการสอนให้เด็กรู้จักการนำของเก่ากลับมาใช้ประโยชน์ใหม่อีกด้วย

2. ไปธนาคาร

การที่เด็กได้เห็นผู้คนทำธุรกรรมทางการเงินในธนาคารจะช่วยให้เขาเข้าใจว่าเงินคืออะไร เปิดโอกาสให้ลูกมีส่วนร่วมมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เจ้าตัวเล็กวัยอนุบาลก็สามารถยื่นใบเช็คให้พนักงานที่เคาน์เตอร์ได้ และเมื่อลูกโตขึ้นมาหน่อยก็พาเขาไปเปิดบัญชีและสอนให้เขาวางแผนการออมเงินด้วยตัวเอง

3. มอบหมายหน้าที่ให้ลูกเป็นผู้ช่วยเรื่องค่าใช้จ่ายในบ้าน

ขณะที่จอดรถเติมน้ำมัน ลูกจะมองเห็นเพียงคุณเปิดกระเป๋า หยิบบัตรเครดิตออกมา แล้วก็ส่งให้เด็กปั๊มรูด แล้วอย่างนี้คุณยังจะโทษเด็กที่คิดว่าบัตรเครดิตมีเวทย์มนต์อีกหรือ ฉะนั้นหน้าที่ของคุณคือตัดเรื่องความลึกลับทั้งหมดออกไปแล้วให้ลูกมีส่วนร่วมในการจ่ายค่าบัตรเครดิต “วิธีนี้จะช่วยให้เขามองเห็นภาพได้อย่างชัดเจน” ผู้แต่งหนังสือ Rich Dad, Poor Dad อธิบาย ชี้แจงค่าใช้จ่ายทั้งหมดให้เขาดู ย้ำเตือนเขาว่าจ่ายเงินค่าอะไรไปบ้าง

4. พาไปซื้อของที่ตลาดชาวบ้านที่เป็นเกษตรกรจริงๆ

วิธีนี้จะช่วยให้เด็กเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างการทำงานและเงินได้เป็นอย่างดี โดยคุณควรปล่อยให้ลูกมีส่วนร่วมให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการเลือกซื้อผักและส่งเงินให้คนขาย แล้วเขาก็จะได้เห็นกิจกรรมด้านการตลาด นอกจากนี้ยังควรอธิบายให้เขาฟังว่าผักผลไม้ที่เขาเห็นนั้นปลูกโดยชาวไร่ชาวสวน และเงินที่เขาได้รับนี้จะถูกนำไปใช้ในการปลูกผักรุ่นต่อๆ ไป

5. ตั้งเป้าหมายสำหรับการออมเงิน

ถ้าลูกอยากไปเที่ยวดิสนีย์แลนด์ คุณก็ควรกำหนดข้อตกลงระยะยาวกับเขาและเริ่มออมเงินในกระปุกออมสิน วิธีนี้ช่วยให้ครอบครัวทำงานกันเป็นทีม และการออมเงินก็จะกลายเป็นเรื่องสนุก

 

บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง