เด็ก LD หรือ เด็กที่เป็นโรคบกพร่องทางการเรียนรู้ ไม่ใช่เด็กโง่ อีคิวต่ำเสมอไป แล้วถ้าลูกของคุณกลายเป็นเด็ก LD จะมีวีแก้ไข หรือช่วยรักษาลูกได้ยังไง และจะสามารถส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ได้หรือไม่ อย่างไรบ้าง Amarin Baby & Kids มีคำแนะนำดีๆ มาฝากค่ะ
สังเกตสิ!…ลูกของคุณเป็นเด็กที่มีลักษณะอย่างนี้หรือไม่?
พูดคุยกับเขารู้เรื่องทุกอย่าง เข้าใจทุกอย่าง โต้ตอบได้เป็นอย่างดี แก้ปัญหาด้วยการลงมือทำได้ แต่พอให้เขียนหรืออ่านหนังสือ กลับทำไม่ได้เลย เขียนผิดๆ ถูกๆ ไม่เป็นตัวอักษร อ่านหนังสือไม่ออก ทั้งตะกุกตะกัก หรือไม่ก็อ่านข้ามไปเลยเวลาเจอคำที่ยากๆ ถ้าใช่…”อย่าเพิ่งคิดว่าลูกโง่” แท้จริงอาการเหล่านี้เอง หมายถึงลูกกำลังป่วยเป็นโรค LD หรือ มีภาวะบกพร่องในการเรียนรู้ ซึ่งหากลูกเป็น เด็ก LD แล้วจะมีวิธีรับมือ ดูแล หรือรักษาอย่างไร…ตามมาดูวิธีแก้ที่คุณแม่ท่านนี้ได้เขียนแชร์ในกระทู้ของเว็บไซต์พันทิปกันค่ะ แล้วคุณจะรู้ว่ามันไม่ใช่เรื่องยากเลยที่จะช่วยลูก
แม่แชร์..วิธีแก้! เมื่อลูกเป็น เด็ก LD หรือ โรคบกพร่องทางการเรียนรู้
โดยคุณแม่ท่านนี้ได้มาแชร์ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเองและลูก (ลูกเลี้ยง) ที่ป่วยเป็นโรคแอลดี ซึ่งคุณแม่เล่าว่า…
หลายคนอาจจะสงสัยว่าแอลดีนี่มันโรคอะไรกันนะ? มันคืออะไร? วันนี้เลยอยากจะมาอธิบายให้ฟังค่ะ
เริ่มแรก…ถ้าลูกของคุณเป็นเพียงเด็กปกติทั่วไป ที่เขารับรู้ทุกอย่าง แก้ปัญหาเป็น เขาตัดสินใจได้เหมือนกันกับเด็กทั่วๆไป แต่เขามีอาการที่เขียนหยังสือไม่ได้ เขียนหนังสือผิดๆถูกๆ อ่านหนังสือตะกุกตะกัก ไม่สามารถผสมคำได้ อ่านตัวสะกดผิด หรืออ่านหนังสือไม่ออกทั้งๆที่เป็นคำง่ายๆ คำนวณเลขง่ายๆไม่เป็น คิดไม่ออกแม้ว่าคุณจะได้บอกได้สอนเขาแล้วก็ตาม นั่นหมายถึงว่าลูกของคุณเริ่มเข้าข่ายของเด็กที่เป็น “โรคบกพร่องทางการเรียนรู้” หรือ “โรคไม่ถนัดอ่านไม่ถนัดเขียน ไม่ถนัดคำนวณ” นั่นเองค่ะ
ขอเริ่มเกริ่นจากประสบการณ์ของตัวเองก่อน : เราต้องเลี้ยงลูกติดจากสามีค่ะ น้องเรียนชั้นมัธยมต้นแล้วแต่กลับกลายเป็นว่าเราถูกทางโรงเรียนตำหนิว่าลูก (ขออนุญาตเรียกว่าลูกนะคะ เขาเรียกเราว่าแม่ค่ะ) ไม่ค่อยส่งการบ้าน เรียนช้า เขียนหนังสือไม่ได้ ลายมืออ่านไม่ออก อ่านหนังสือไม่ออก เป็นเด็กที่เรียนรั้งท้ายและคิดว่าไม่น่าจะได้ผ่านเกณฑ์ที่จะได้ขึ้นชั้นสูงๆขึ้น เวลาครูสอนก็ขยุกขยิก ชอบพูดแทรกครูตลอดเวลา ตอนแรกๆเราก็ไม่สังเกตอะไร แต่พอเริ่มเปิดเทอม เราตรวจสมุดการบ้านของลูกก็เจอแต่รอยปากกาแดงว่าทำงานไม่เสร็จ มีแต่เครื่องหมายกากบาทผิด ลูกเริ่มส่งงานไม่ตรงเวลาและโกหกเราว่าไม่มีการบ้าน แต่อันที่จริงแล้วเขามาสารภาพทีหลังว่าเขาจดที่ครูให้ทำไม่ทัน เขาไม่สามารถส่งงานที่ครูรับมอบหมายให้ทำภายในเวลาที่กำหนดได้ เขาก็เริ่มออกทะเลไปเรื่อยๆ สุดท้ายตอนช่วงใกล้สอบกลางภาคเขาก็ต้องมานั่งงมทำงานที่เขาทำไม่เสร็จส่งครูก่อนสอบ บางวิชาเขาพอทำได้เขาก็ถูๆไถๆสอบได้ผ่านมีนพอดี บางวิชาก็ตกมีน ทั้งๆที่เราสอนการบ้านเขาทุกวัน ทุกครั้งที่เราสอนเขาให้อ่านหนังสือ เขาก็จะอ่านผิดๆถูกๆ นานไปก็เริ่มชักทนไม่ไหว ในใจเราคิดว่า “อะไรวะ…เด็กโตขนาดนี้แล้วให้อ่านคำง่ายๆทำไมทำไม่ได้” สุดท้ายก็มีลงไม้ลงมือกันบ้าง เจ็บตัวไปก็ใช่น้อย เพราะเราคิดว่าเขาไม่ตั้งใจเรียน อยากจะดูแต่ทีวี อยากจะเล่นแต่เกมส์คอมพิวเตอร์ ลูกโดนเราด่าทุกวัน เราด่าจนเราเครียดแล้วแอบไปร้องไห้คนเดียว เครียดมากจริงๆ สามีก็ตำหนิเราว่าเราไม่รักลูกเค้า ตีลูกเค้าทำไม ตะคอกใส่เด็กทำไม จนสุดท้ายเราเลยปล่อยลูกไปตามยถากรรม จะเรียนก็ช่าง ไม่เรียนก็ช่าง คือ ณ จุดๆนั้นเราปล่อยวางแต่ก็อดห่วงไม่ได้เหมือนกัน
วันหนึ่งเรามีโอกาสได้ปรึกษาผู้ใหญ่และคนรอบๆข้าง บ้างเขาก็ว่าเด็กน่ะท่าจะปัญญาอ่อนบ้าง โง่บ้าง บางคนก็บอกว่าค่อยๆสอน เด็กคงเคยถูกตามใจมาจนเคยตัวเลยเป็นอย่างนี้ จนกระทั่งมีคนหนึ่งเขาเคยไปปรึกษาโรคเครียดที่ ร.พ.จิตเวช เขาก็ทักว่าลูกมีความผิดปกติรึเปล่า? ตอนแรกเราก็ไม่เชื่อนะ ก็เด็กก็ดีๆอยู่ พูดได้ ทำอะไรได้เหมือนเด็กทั่วไปนี่ เพราะต้องไป ร.พ.จิตเวชเราจึงคิดหนัก กลัวลูกจะคิดมาก เพราะคนทั่วๆไปเขาก็คิดว่าคนที่ไปหาจิตแพทย์คือคนบ้า สติฟั่นเฟือน บลาๆๆๆ สุดท้ายก็ทั้งขู่ทั้งปลอบ ลูกยอมไปโรงพยาบาลด้วยความกลัวและวิตกกังวลว่าตัวเขาจะเป็นบ้าอย่างที่เขาพูดๆกัน พอได้ไป ร.พ. แล้วความคิดมันเปลี่ยนไปจริงๆ
ไปโรงพยาบาล : ขั้นตอนแรกคือเด็กจะถูกสอบประวัติ ถามถึงภูมิหลัง อาการที่เป็นอยู่ ลักษณะครอบครัว ชีวิตประจำวัน ต้องพบนักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา พยาบาลผู้เชียวชาญทางด้านจิตวิทยา และจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
ตอนที่พยาบาลสกรีนประวัติทุกคนรวมถึงตัวเด็ก เขาดูไม่แปลกใจกับการที่ลูกเราต้องมาพบแพทย์ในครั้งนี้เลย แต่คุณพยาบาลกลับพูดแนะนำอย่างเข้าอกเข้าใจ ให้คำแนะนำที่ดีในเรื่องของขั้นตอนการเข้ารับบริการ เราประทับใจมากค่ะ (ทั้งๆที่ที่นี่เป็นโรงพยาบาลรัฐของกรมสุขภาพจิตค่ะ) จนกระทั่งเราได้พบจิตแพทย์เฉพาะทางเด็ก คุณหมอซักถามอย่างละเอียดและวินิจฉัยปัญหาที่เกิดให้อย่างกระจ่างค่ะ
สรุปคือลูกเราเขาเป็นโรคแอลดีค่ะ : Learning Disabilities (LD) ซึ่งมีคำอธิบายง่ายๆจากเว็บไซต์และ VDO จาก ร.พ.รามาฯ ดังนี้ค่ะ….
ขอบคุณคลิปวีดีโอจาก : Rama Psychiatrc Departmentโรคแอลดี : Learning Disabilities (LD) หมายถึง ความบกพร่องทางด้านการเรียนรู้ แสดงออกมาในรูปของปัญหาด้านการอ่าน การเขียน การสะกดคำ การคำนวณและเหตุผลเชิงคณิตศาสตร์ เด็ก LD หรือเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ เป็นเด็กที่มีวงจรการทำงานของสมองไม่เป็นไปตามที่ควรจะเป็นเซลล์สมองบางส่วนอยู่ผิดที่ ทำให้มีปัญหาในการเรียน เรียนอ่อนบางวิชา หรือหลายๆ วิชา ทั้งที่สติปัญญาปกติ บางคนมีปัญหาในการอ่านทั้งที่มีสายตาหรือประสาทตาปกติ แต่การแปลภาพในสมองไม่เหมือนคนทั่วไป ทำให้เห็นตัวหนังสือกลับหัวกลับหาง ลอยไป ลอยมา ไม่คงที่ บางครั้งเห็นๆ หยุดๆ มองเห็นตัวหนังสือหายไปเป็นบรรทัด บางครั้งเห็นตัวหนังสือแต่ไม่รู้ความหมาย บางคนมีปัญหาการฟัง ทั้งที่การได้ยินปกติ แต่สมองไม่สามารถแยกแยะเสียงสูง- ต่ำ จึงมักเขียนสะกดผิด และไม่ทราบความหมายของคำ บางคนมีปัญหาเรื่องทิศทาง ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับภาษา ไม่รู้ว่าซ้ายหรือขวา กะระยะทางไม่ถูก ทำให้เดินชนอยู่บ่อยๆ บางคนคำนวณไม่ได้ เพราะไม่เข้าใจสัญลักษณ์ตัวเลข ฯ จากการวิจัยในประเทศไทยพบว่า ปัจจุบันมีเด็กไทย โดยเฉพาะในระดับประถมศึกษาปีที่ 1-2 กว่า 700,000 คน มีความบกพร่องทางการ เรียนรู้ อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ตามวัย ทั้งที่มีระดับสติปัญญา (IQ) ปกติ หรือสูงกว่าปกติได้ในบางคน ซึ่งเป็นอาการของ เด็ก LD
ยอมรับค่ะว่าตอนนั้นช๊อคซีนีม่ามาก เราก็คิดนะ เฮ้ย…มันมีจริงๆเหรอเนี่ย???? คือขั้นต่อๆไปนะเราก็คิดว่าจะทำยังไงดีนะ จิตแพทย์ก็บอกว่าโรคนี้ต้องอยู่บนความเข้าใจของคนรอบข้าง
เด็กที่เป็นแอลดี จะมีความภูมิใจในตนเองต่ำ เพราะเขาคิดว่าเขาเรียนไม่ทันเพื่อน เขาโง่ เขาปัญญาอ่อน บางคนนั้นท้อแท้กับชีวิตมากจนหันหลังให้กับการเรียนเลยก็มีค่ะ แต่ลูกเราไม่ถึงขนาดนั้น เขายังมีความตั้งใจที่จะสู้ต่อไปแต่มีภาวะเครียดและซึมเศร้าผสมอยู่ด้วยค่ะ
step แรกนั้นคุณหมอแนะนำให้เราให้กำลังใจเขา ดูแลเขาอย่างใกล้ชิด ลดความหงุดหงิดลงเมื่อเขาไม่สามารถอ่านหรือเขียนหนังสือได้แต่ให้พูดให้กำลังใจแทน อย่างเช่น ถ้าเขาอ่านหนังสือไม่ได้ก็บอกให้ค่อยๆอ่าน ให้พูดว่าลูกทำได้ หากจะตำหนิก็ควรใช้คำพูดที่ซอฟท์ลง เช่น ลูกทำได้ดีแล้ว พยายามต่อไปนะ เป็นต้น
step สอง ลูกเราต้องเข้าพบนักจิตวิทยาเพื่อทดสอบ IQ แต่ ณ วันเดียวกันเขาทำไม่ได้เนื่องจากเด็กเครียดและซึมเศร้าตลอดเวลา จึงต้องเลื่อนไปทำในครั้งหน้า ครั้งแรกสำหรับการพบจิตแพทย์นั้นยังไม่รักษาด้วยยา แต่ใช้พฤติกรรมบำบัดแทน เราได้รับคำแนะนำจากพยาบาลและได้รับหนังสือมาสามเล่มเกี่ยวกับการเรียนรู้และเข้าใจเด็กที่เป็นโรคนี้ เป็นหนังสือของสถาบันราชานุกูล สามารถดาวน์โหลดได้จากลิ้งก์นี้ค่ะ >> http://www.qlf.or.th/Home/Contents/520
หลังจากนั้นประมาณ 2 สัปดาห์ เราลองทำตามในคลิปและหนังสือ ผลที่ได้ดีขึ้นมากค่ะ ลูกเขียนหนังสือลายมือดีขึ้น อ่านหนังสือได้ดีขึ้น เข้ากับเพื่อนที่โรงเรียนได้ และได้นัดพบจิตแพทย์อีกครั้ง และทำการทดสอบ IQ ตามที่ได้ค้างไว้ ผลออกมาน้องมี IQ ปกติดี ค่อนออกไปทางฉลาดเสียด้วยซ้ำค่ะ แต่ที่คนเป็นแม่อย่างเราๆไม่โอเค นั่นก็คือ…ลูกมีอาการ สมาธิสั้น และมีอาการเศร้าร่วมด้วยค่ะ
ตอนแรกนั้น…จิตแพทย์จะสั่งยาปรับอารมณ์ให้น้อง แต่ดันมาเป็นสมาธิสั้นเสียก่อนเลยต้องทำให้น้องมีสมาธิในการเรียน แล้วค่อยๆมาสอนทีละสเต็ปค่ะ
เหมือนเป็นความโชคดีแต่ก็แอบโชคร้ายเล็กๆ เราลองถามหมอว่า “ลูกจะหายไหมคะ?” แน่นอน…แม่ทุกคนต้องมีคำถามนี้อยู่แล้ว คำตอบก็คือ…
” ไม่หาย…แต่ถ้าอยู่แบบเข้าใจ โรคนี้จะไม่เป็นปัญหากับใครเลย ” แอบเสียใจนะแต่ได้เท่านี้ก็ดีมากแล้ว น้องต้องสู้กับมัน มีความพยายามในการฝึกฝนตัวเองมากขึ้น ส่วนทางคนรอบข้างกับครอบครัวก็ต้องเข้าใจในสิ่งที่เขาเป็น เขาอาจจะช้า อาจจะไม่เก่ง ทุกอย่างมันต้องค่อยๆเป็นค่อยๆไป มันเหมือนทีมเวิร์ค ถ้าล้มเหลวก็ไปทั้งสองฝ่าย ถ้าจะดีก็ดีมากเช่นกัน ไม่ใช่เพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น
แม้ลูกอาจจะไม่เพอร์เฟคอย่างลูกคนอื่น แต่เราเชื่อว่าความรักจะเอาชนะปัญหาที่มีอยู่ ความเข้าใจจะทำให้ลูกกลับมาใช้ชีวิตแบบคนปกติได้อีกครั้งหนึ่งค่ะ
สำหรับใครที่มีเด็กๆที่บ้านเจอปัญหาคล้ายๆเรา แนะนำให้ปรึกษาแพทย์นะคะ อย่าอาย อย่ากลัวที่จะต้องไปโรงพยาบาลค่ะ เรามารู้ก็เกือบจะสายเกินแล้วค่ะ
ยังไงก็ขอให้กระทู้นี้ได้เป็นแนวทางให้กับคุณพ่อคุณแม่หลายๆท่านด้วยค่ะ หากมีโอกาสจะกลับมาแชร์ประสบการณ์การดูแลและเรื่องอื่นๆต่อไปในอนาคตอีกครั้ง ยังไงก็ขอบพระคุณมากค่ะ
ของคุณเรื่องราวจาก สมาชิกผู้ใช้เว็บไซต์พันทิป Butter is better : pantip.com/topic/35548248
สาเหตุของการที่ลูกเป็น เด็ก LD
อย่างไรก็ตามจากการที่คุณแม่เล่ามาแม้จะรักษาให้หายไม่ได้ แต่อย่างที่บอกคือหากอยู่กับลูกอย่างเข้าใจ โรคนี้จะไม่เป็นปัญหากับใครเลย ทั้งนี้สาเหตุของโรค LD มีหลายอย่าง ได้แก่
- พันธุกรรม คาดว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้เด็กมีความบกพร่องทางการเรียนรู้ ทั้งนี้ นักวิจัยบางส่วนโต้แย้งว่าเด็ก LD อาจไม่ได้เกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม แต่เกิดจากการเรียนรู้และเลียนแบบพฤติกรรมของพ่อแม่
- พัฒนาการสมอง บางทฤษฎีกล่าวว่าเด็กที่มีพัฒนาการสมองผิดปกติ เช่น เด็กที่มีน้ำหนักแรกเกิดต่ำกว่ามาตรฐาน คลอดก่อนกำหนด สมองขาดออกซิเจน หรือได้รับอุบัติเหตุที่กระทบกระเทือนสมอง อาจมีแนวโน้มเกิดภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้มากกว่าเด็กทั่วไป
- สิ่งแวดล้อม การสูดดม หรือสัมผัสสารพิษจากสิ่งแวดล้อมเป็นประจำ เช่น สารตะกั่ว รวมถึงโภชนาการที่ไม่ดีตั้งแต่เด็ก อาจส่งผลให้เกิดความพร่องทางการเรียนรู้
และเนื่องจากโรค LD สามารถเกิดรวมกับโรคอื่นๆได้บ่อย เช่น โรคสมาธิสั้น ดังนั้นแพทย์จึงมีบทบาทในการประเมิน วินิจฉัยภาวะต่างๆที่เด็กมี ร่วมถึงให้การรักษาภาวะเหล่านั้น เช่น โรคสมาธิสั้น หากได้รับยาช่วยสมาธิ อาการของโรคก็จะดีขึ้นมาก
การป้องกันความบกพร่องทางการเรียนรู้ หรือไม่ให้ลูก กลายเป็น เด็ก LD
การที่เด็กเป็นโรค LD หรือ มีภาวะความบกพร่องทางการเรียนรู้ อาจป้องกันได้ตั้งแต่ลูกน้อยอยู่ในครรภ์มารดา หากคุณแม่รู้ตัวว่าท้องควรไปฝากครรภ์ให้เร็วที่สุด เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดความผิดปกติระหว่างตั้งครรภ์ นอกจากนั้นการดูแลเอาใจใส่ลูกน้อยอย่างเหมาะสมตั้งแต่ช่วงวัยทารกและวัยเด็กตอนต้น ก็เป็นอีกวิธีที่อาจช่วยส่งเสริมพัฒนาการของเด็กให้สมบูรณ์ และห่างไกลที่ลูกจะกลายเป็น เด็ก LD ได้
อ่านต่อ “บทความดีๆ น่าสนใจ” คลิก!
- พ่อแม่ควรรู้! ถ้าไม่อยากให้ลูกเป็น โรค LD
- พ่อแม่ควรอ่าน! หากไม่อยากให้ ลูกเป็นโรคสมาธิสั้น
- รวม 11 โรค กับวิธีสังเกต ลูกมีปัญหาสุขภาพจิต
- ลูกเรียนไม่เก่ง ได้เกรดน้อย ไม่ได้แปลว่า “โง่”
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : www.pobpad.com