AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

โรคติดเชื้อไวรัสซิกา ระบาดหนัก!! เตือนแม่ท้องระวังยุงลาย

โรคติดเชื้อไวรัสซิกา

โรคติดเชื้อไวรัสซิกา ระบาดหนักอีกแล้ว!! โดยรองผู้ว่าฯ ได้ออกมาเปิดเผยว่า ช่วงนี้ยุงชุกชุมจากน้ำขัง ทำให้พบผู้ป่วยติดเชื้อจากยุงลายแล้วกว่า 90,000 ราย เตือนคนท้องควรระวังอย่าให้ยุงกัด

โรคติดเชื้อไวรัสซิกา ระบาดหนัก!! เตือนแม่ท้องระวังยุงลาย

แม่ ๆ หลายคนอาจจะสังเกตเห็นว่าช่วงนี้ยุงลายชุกชุม นั่นเป็นเพราะในช่วงนี้ มีฝนตกทำให้เกิดน้ำขังในบางพื้นที่ จนทำให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลายเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้โรคติดเชื้อที่เกิดจากยุงลายระบาดหนักเช่นกัน โดยเฉพาะ 3 โรคอันตราย ได้แก่ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย ซึ่งในตอนนี้ โรคติดเชื้อไวรัสซิกา ก็ได้ระบาดหนักในกรุงเทพฯ อีกแล้ว ดังที่ นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าฯ กทม. ได้ออกมาเตือนประชาชน ดังข่าวต่อไปนี้

วันที่ 9 ม.ค. ที่ศาลาว่าการกทม. นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยว่า ช่วงนี้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยและบางพื้นที่อาจมีฝนตก ส่งผลให้เกิดแหล่งน้ำขังตามภาชนะต่างๆ ที่อาจทำให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลายซึ่งเป็นพาหะนำโรค โดยเฉพาะโรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย (โรคชิคุนกุนยา)

การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสซิกา เกิดจากยุงลาย

ซึ่งจากสถิติผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก จำนวน 80,650 ราย เป็นผู้ป่วยที่อาศัยในพื้นที่กรุงเทพฯ จำนวน 8,345 ราย พื้นที่ที่มีการระบาด ได้แก่ เขตดินแดง บึงกุ่ม บางนา และเขตลาดพร้าว ผู้ป่วย โรคติดเชื้อไวรัสซิกา จำนวน 573 ราย เป็นผู้ป่วยที่อาศัยในพื้นที่กรุงเทพฯ จำนวน 129 ราย

พื้นที่ที่มีการระบาด ได้แก่ เขตบางกะปิและเขตตลิ่งชัน และผู้ป่วยโรคไข้ปวดข้อยุงลาย จำนวน 2,383 ราย เป็นผู้ป่วยที่อาศัยในพื้นที่กรุงเทพฯ จำนวน 104 ราย พื้นที่ที่มีการระบาด ได้แก่ เขตจอมทอง ประเวศ และเขตธนบุรี

ดังนั้นจึงขอให้ประชาชนเฝ้าระวัง ป้องกัน ดูแลตนเองและบุตรหลาน โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เพื่อให้ปลอดภัยจากทั้ง 3 โรค ที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค โดยป้องกันอย่าให้ยุงกัด ใส่เสื้อผ้าให้มิดชิด ทาครีมหรือพ่นสเปรย์ไล่ยุง จุดยากันยุง ฉีดสเปรย์ฆ่ายุง และทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย

ตามมาตรการ 3 เก็บ ได้แก่ เก็บบ้านให้ปลอดโปร่งไม่ให้ยุงลายอยู่อาศัย เก็บขยะและเศษภาชนะที่อาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และเก็บน้ำโดยปิดฝาให้มิดชิดไม่ให้ยุงลายวางไข่และเปลี่ยนน้ำในจานรองกระถางต้นไม้ แจกันแก้วน้ำบูชาพระ แจกันเลี้ยงพลูด่าง ทุกสัปดาห์

ทั้งนี้หากมีอาการไข้มากกว่า 3 วัน หรือมีผื่นขึ้นที่ใบหน้า แขนขา ตามตัว และมีอาการปวดตามข้อมือข้อเท้าอย่างมากให้ไปพบแพทย์ทันที หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่ศูนย์ไข้เลือดออก กองควบคุมโรคติดต่อ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร โทร. 0 2203 2892-3 ในวันและเวลาราชการ

เนื้อหาข่าวจาก : https://www.khaosod.co.th/breaking-news/news_2064760

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

อ่านต่อ ไวรัสซิการะบาด เตือนคนท้องติดเชื้อ ลูกในท้องเสี่ยงพิการ

ไวรัสซิการะบาด เตือนคนท้องติดเชื้อ ลูกในท้องเสี่ยงพิการ

แม้ว่าโรคติดเชื้อไวรัสซิกาจะมีอาการไม่รุนแรงมากนักในผู้ใหญ่ โดยจะมีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดกล้ามเนื้อ มีไข้ขึ้นสูง มีผื่นแดงจ้ำขึ้นตามตัว เท่านั้น หากได้รับการพยาบาลที่ดี ก็จะไม่อันตราย แต่สำหรับคนท้องนั้น หากติดเชื้อไวรัสซิกา จะอันตรายเป็นอย่างมาก

ทำไมคนท้องต้องระวังการติดเชื้อจากไวรัสซิกา? นั่นเป็นเพราะ ผลกระทบของการเกิดโรคไวรัสซิกานั้น ตรวจพบได้ในทารกในท้องที่กำลังจะเกิดมา หากพ่อหรือแม่เป็นพาหะที่ติดเชื้อแล้ว จะส่งผลให้ลูกที่เกิดมามีอาการผิดปกติ เช่น พิการทางสมอง ศีรษะเล็ก มีพัฒนาการล่าช้า ได้ ดังนั้นในช่วงที่มีการระบาด และในช่วงที่มียุงลายชุกชุม โดยเฉพาะแม่ท้องที่อาศัยอยู่ในเขตจอมทอง ประเวศ และเขตธนบุรี ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ ไม่ควรให้ยุงกัด โดยมีคำแนะนำในการป้องกัน ไวรัสซิการะบาด ดังต่อไปนี้

  1. ไม่ให้ยุงกัด ควรสวมเสื้อผ้ามิดชิดเมื่อต้องอยู่ในบริเวณที่มียุง
  2. หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มียุงลายชุกชุม
  3. ควรทายากันยุง สเปรย์กันยุง หรือ โลชั่นกันยุง เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัด
  4. กำจัดแหล่งเพาะพันธ์ยุงลาย ที่มักอยู่ในบริเวณน้ำนิ่ง โดยใช้หลัก 3 เก็บ ได้แก่ เก็บบ้าน เก็บขยะ และเก็บน้ำ
  5. หากมีอาการไข้ ผื่นคัน ตาแดง ควรรีบพบแพทย์
  6. ควรกางมุ้งในขณะนอนหลับ
  7. หากคู่สามีภรรยาคาดว่าอาจจะติดเชื้อไวรัสซิกา ก็ให้ชะลอการมีบุตรออกไปก่อน
ในช่วงที่มีการระบาดของไวรัสซิกา แนะนำให้แม่ท้องระวังเป็นพิเศษ โดยควรป้องกันไม่ใช้ยุงกัด

ในช่วงที่มีการระบาดนี้ หากทุกคนร่วมมือร่วมใจกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ไม่ทำให้ยุงสามารถแพร่พันธุ์ได้อีก ก็จะสามารถทำให้การระบาดของโรคที่เกิดจากยุงลายลดลงไปได้มาก ดังนั้นเมื่ออ่านบทความนี้จบแล้ว อยากให้ช่วยกันมองซ้าย และมองขวา ว่ารอบ ๆ ตัวเรานี้มีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงหรือไม่ หากมีก็อยากจะขอความร่วมมือให้กำจัดทิ้งกันค่ะ

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

ยาจุดกันยุง 2 ยี่ห้อดัง อย. ประกาศเพิกถอนทะเบียนยา!!!

โรคไข้สมองอักเสบ โรคร้ายที่มาพร้อมยุง

3 วิธีรับมือ “ลูกชักเพราะไข้สูง” อาการชักไม่น่ากลัวเมื่อเข้าใจ

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids