ทำไมลูกตัวเหลือง? ที่ลูกที่เพิ่งลืมตาดูโลกจะต้องถูกพรากจากอกแม่ไปเพื่อเข้ารับการรักษาเพื่อให้สารเหลืองลดลงนั้นเป็นความผิดของใคร? มาหาคำตอบกันค่ะ
หมอแจง! ทำไมลูกตัวเหลือง? อันตรายจากตัวเหลืองในทารก
เด็กทารกทุกคนจะต้องได้รับการตรวจค่าของสารเหลืองหลังคลอด เมื่อค่าสารเหลืองอยู่ในระดับที่อันตราย ทารกจะต้องได้รับการรักษาอย่างทันที เพื่อไม่ให้สารเหลืองทำลายเนื้อเยื่อสมอง โดยการรักษานี้ สร้างความกังวลใจให้กับคุณพ่อคุณแม่เป็นอย่างมาก คุณพ่อคุณแม่บางคนก็โทษว่าเป็นความผิดของตัวเองที่ทำให้ลูกตัวเหลือง ขอบอกว่าที่ลูกตัวเหลืองนั้น เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุค่ะ และทุกสาเหตุก็เป็นสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้ มาทำความรู้จักกับภาวะตัวเหลืองในเด็กทารกกันค่ะ
ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิดคืออะไร ?
ภาวะตัวเหลือง เกิดจากมีสารสีเหลืองที่เรียกว่า “บิลิรูบิน” ในเลือดสูงกว่าปกติ บิลิรูบินนี้ เกิดจากการสลายตัวของเม็ดเลือดแดง ซึ่งเกิดขึ้นตลอดเวลาในร่างกายของคนปกติ บิลิรูบินในเลือดจะผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่ตับให้อยู่ในรูปที่ละลายน้ำมากขึ้นและถูกกำจัดออกจากร่างกายทางปัสสาวะและอุจจาระ แต่ในเด็กแรกเกิดที่ยังเจริญเติบโตไม่มากพอที่จะกำจัดสารบิลิรูบินและขับออกจากร่างกายทางอุจจาระ และ ปัสสาวะได้ จึงส่งผลให้ผิวหนังและตาขาวของทารกมีสีเหลือง โดยสามารถพบได้ถึง 50% ของเด็กแรกเกิดทั้งหมด
ภาวะตัวเหลืองอันตรายแค่ไหน?
หากภาวะตัวเหลืองในทารกยังไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและทันท่วงที บิลิรูบินจะเข้าไปสะสมอยู่ในเนื้อเยื่อสมองและก่อให้เกิดความผิดปกติทางระบบประสาท อาจเกิดอาการเกร็งหลังแอ่น ชัก มีอาการไข้ และอาจร้องไห้เสียงแหลม หากยังไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอีก ในระยะเวลา 6-12 เดือนต่อมา ทารกจะมีการเคลื่อนไหวผิดปกติของร่างกายและแขนขา การได้ยินและการเคลื่อนไหวของลูกตาผิดปกติ พัฒนาการล่าช้า ระดับสติปัญญาลดลง ถ้าอาการเหล่านี้เกิดขึ้นในทารกแล้วจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้แม้ว่าจะลดระดับของบิลิรูบินจนเข้าสู่ภาวะปกติ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ ทำไมลูกตัวเหลือง? สาเหตุหลักที่ลูกตัวเหลือง
ทำไมลูกตัวเหลือง? สาเหตุหลักที่ลูกตัวเหลือง
เมื่อทราบว่าลูกมีค่าสารเหลืองสูงจนผิดปกติ และคุณหมอได้นัดมาตรวจติดตามผลเป็นระยะ หรือ คุณหมอแนะนำให้เข้าตู้อบเพื่อรักษาสารเหลือง ก็อย่างเพิ่งตกใจ พาลไปโทษว่าเป็นความผิดของตัวเองกันนะคะ มาดูสาเหตุที่ทำให้ลูกตัวเหลืองกันก่อนค่ะ แล้วจะเข้าใจ
-
ภาวะตัวเหลืองธรรมชาติ
ทารกที่อยู่ในครรภ์มารดาจะมีจำนวนของเม็ดเลือดแดงมากกว่าผู้ใหญ่ และมีอายุสั้นกว่าของผู้ใหญ่ เพราะทำหน้าที่รับออกซิเจนผ่านทางสายรกที่ส่งผ่านมาจากเลือดของแม่ เมื่อทารกคลอดจากครรภ์ของแม่จะเริ่มหายใจด้วยปอด เม็ดเลือดแดงชนิดเดิมของทารกจะแตกสลายและเปลี่ยนแปลงไปเป็นสารบิลิรูบินมากกว่าปกติจนเกินกว่าความสามารถในการกำจัดของร่างกาย และเพราะตับของทารกยังทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ ส่งผลให้การกำจัดบิลิรูบินด้วยตับยังไม่สมบูรณ์ ทารกจึงเกิดภาวะตัวเหลืองจากการสะสมของสีบิลิรูบิน ทารกที่มีภาวะตัวเหลืองปกติจะสามารถหายเองได้ในเวลาประมาณ 2 สัปดาห์และไม่ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางสมองของทารก
2. ภาวะตัวเหลืองจากนมแม่
อย่าเพิ่งโทษนมแม่นะคะว่าเป็นตัวการให้ลูกเกิดภาวะตัวเหลือง มีเพียงแค่ 10% ของเด็กที่เลี้ยงด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ที่จะเกิดภาวะนี้ และหากมีอาการตัวเหลืองมาก อาจต้องงดนมแม่ชั่วคราว 24-48 ชม. แล้วจึงกินต่อได้ นอกจากนี้ ยังพบทารกที่มีภาวะตัวเหลืองที่สัมพันธ์กับการดื่มนมแม่ เช่น ทารกได้รับนมแม่น้อยกว่าปกติ น้ำหนักตัวน้อยไม่เป็นไปตามพัฒนาการ พบในทารกที่แม่ขาดประสบการณ์ในการให้นม หรืออาจเกิดจากปัจจัยของตัวทารกเอง เช่น มีภาวะดูดนมยาก ภาวะลิ้นติด เป็นต้น
3. ภาวะตัวเหลืองจากโรค หรือภาวะผิดปกติอื่น ๆ
- เกิดภาวะการบกพร่องเอนไซม์ G6PD ส่งผลทำให้เกิดการสะสมของอนุมูลอิสระซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดการทำลายเม็ดเลือดแดงมากกว่าปกติ
- เกิดจากหมู่เลือดของแม่กับลูกไม่เข้ากัน เช่น แม่ที่มีหมู่เลือด Rh ลบกับลูกหมู่เลือด Rh บวก หรือ แม่ที่มีหมู่เลือดโอกับลูกที่มีหมู่เลือดเอบี มีแนวโน้มความรุนแรงมากขึ้นในลูกคนที่สอง เนื่องจากร่างกายแม่จะสร้างภูมิคุ้มกันต่อหมู่เลือดที่ไม่เข้ากันกับทารก
- รูปร่างเม็ดเลือดผิดปกติแต่กำเนิด
- เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด
- ภาวะท่อหรือทางเดินน้ำดีตีบตันหรือโป่งพอง
จะเห็นได้ว่าสาเหตุที่เกิดภาวะตัวเหลืองในทารกนั้น มักจะเกิดจากสาเหตุธรรมชาติ ที่ไม่มีอันตรายใด ๆ โดยจะมีทารกเพียงไม่กี่ % เท่านั้นที่เกิดภาวะตัวเหลืองจากสาเหตุอื่น ๆ ดังนั้น ควรดูแลลูกน้อยที่มีภาวะตัวเหลืองโดยการคอยสังเกตอาการลูก เช่น สังเกตสีอุจจาระหรือปัสสาวะ สังเกตความผิดปกติอื่น ๆ และเลี้ยงทารกด้วยนมแม่ โดยแนะนำให้ปรึกษาพยาบาลหรือเจ้าหน้าที่จากคลินิกนมแม่ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าลูกได้ทานนมเพียงพอ หากพบสิ่งผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์ค่ะ
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
สีปัสสาวะ สามารถบอกภาวะขาดน้ำได้
หยอดโรต้า ฟรี!! ปี 2562 แม่ๆ อย่าลืมพาลูกไปรับวัคซีน
แจกคัมภีร์ การดูแลลูก ครบทุกช่วงวัย ตั้งแต่ “แรกเกิด – 12 ปี”
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่