สังเกตอย่างไรว่า ลูกเป็นโรคไอกรน?
หากคุณพ่อ คุณแม่ สงสัยว่า ลูกเป็นโรคไอกรน หรือไม่? และมีความกังวลอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 3 ปี ซึ่งยังมีภูมิคุ้มกันไม่เต็มที่ และอาจไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคอย่างครบถ้วน เราจะสังเกตได้อย่างไรว่าลูกน้อยมีอาการของโรคไอกรน
วิธีสังเกตอาการโรคไอกรน
1.ระยะเป็นหวัด
- มีอาการเหมือนโรคหวัดธรรมดาทั่วไป คือ มีไข้ต่ำๆ มีน้ำมูกไหล จาม ไอเล็กน้อย อ่อนเพลีย ตาแดง น้ำตาไหล
- มีอาการไอแห้งที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ประมาณ 1-2 สัปดาห์ หรือ 7-10 วัน

2.ระยะไอรุนแรง
- ไม่มีไข้ (ยกเว้นในรายที่มีโรคปอดอักเสบแทรกซ้อน) แต่มีอาการไอรุนแรง และหลังจากไอสิ้นสุดลงจะมีเสียงลักษณะเฉพาะ (เสียงวู้ป) เกิดขึ้น หรือหลังการไอมีอาเจียนตามมา ประมาณ 1-6 สัปดาห์ หรืออาจนานถึง 10 สัปดาห์ (ส่วนใหญ่ประมาณ 2-4 สัปดาห์) ความถี่ของช่วงที่มีอาการไอและความรุนแรงจะค่อยๆ ลดลงอย่างช้าๆ
- อาการไอจะเกิดขึ้นเป็นพักๆ เด็กจะไอติดต่อกันครั้งละนานๆ จนตัวงอ และหายใจแทบไม่ทัน (ไอติดต่อกันประมาณ 5-10 ครั้ง หรือมากกว่านั้น แล้วหยุดไป แล้วเริ่มไอใหม่เป็นแบบนี้ซ้ำๆ) อาจเกิดขึ้นเพียง 5-10 รอบต่อวัน หรือเกิดขึ้นหลายสิบรอบในเวลาเพียง 1 ชั่วโมง จะมีอาการไอมากในช่วง 2 สัปดาห์แรก และอาการไอมักเกิดขึ้นถี่ขึ้นในตอนกลางคืนหรือเวลาที่ถูกอากาศเย็น ดื่มน้ำเย็นจัด ถูกฝุ่นหรือควันบุหรี่

3.ระยะฟื้นตัว
- รับประทานอาหารได้มากขึ้น น้ำหนักตัวขึ้น และอาการไอค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ (ทั้งความรุนแรงของการไอและจำนวนครั้ง) จนหายสนิท รวมระยะของโรคทั้งหมดถ้าไม่มีโรคแทรกซ้อนใช้เวลาประมาณ 6-10 สัปดาห์
- ถ้ามีโรคแทรกซ้อนเกิดขึ้น เช่น หลอดลมอักเสบหรือปอดอักเสบ ก็อาจทำให้มีอาการไอติดต่อกันนานถึง 3 เดือน จึงเรียกว่า ไอ 3 เดือน หรือ ไอ 100 วัน