AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ลูกอ้วกบ่อย อาการที่ไม่น่าไว้ใจ

Credit Photo : Google

ลูกอ้วกบ่อย ในเด็กเล็กมักพบว่ามีการอาเจียนเกิดขึ้นได้ ซึ่งการที่เด็กอ้วกอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งปกติแล้วหากเด็กสบายดี กินอิ่ม นอนหลับ จะไม่มีการอาเจียน ดังนั้นหากคุณพ่อคุณแม่พบว่าลูกอาเจียนขึ้นมาบ่อยๆ ควรต้องรีบหาสาเหตุทันที ทีมงาน Amarin Baby & Kids มีสาเหตุที่ ลูกอ้วกบ่อย มาให้ทราบเพื่อจะได้รับมือ และป้องกันได้อย่างถูกต้องค่ะ

 

ลูกอ้วกบ่อย เกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง?

การอาเจียน(vomiting) หรือเรียกกันสั้นๆ ว่า “อ้วก” หากเกิดขึ้นมักมีสาเหตุที่ทำให้อาเจียนออกมาเสมอ จากสาเหตุเล็กน้อย ไปจนถึงสาเหตุหนัก ยิ่งกับเด็กๆ เมื่ออ้วกทีไร คุณแม่มักเป็นกังวลกันอย่างมาก และเพื่อให้สามารถรับมือกับอาการอาเจียนของลูกๆ ก่อนอื่นเราไปหาสาเหตุปัจจัยที่สามารถทำให้ลูกอ้วกกันก่อนค่ะ

1. อาเจียนจากท้องเสีย

การที่ท้องเสียแล้วมีการอาเจียนร่วมด้วย สามารถเกิดขึ้นได้บ่อยคครั้ง ซึ่งสิ่งที่คุณแม่ต้องเฝ้าระวังลูก คือ ลูกมีอาการซึม ปวดหัว มีไข้ร่วมด้วยหรือไม่  แนะนำว่าหากลูกอ้วกพร้อมกับมีท้องเสีย ควรพาลูกไปพบคุณหมอทันที เพราะหากปล่อยไว้จะยิ่งทำให้ร่างกายลูกสูญเสียน้ำ และเกลือแร่อย่างหนักได้ค่ะ

 

2. อาเจียนมีเลือดปน

เวลาที่ลูกอ้วกออกมาแล้วมีเลือดปนมาด้วย ถือว่าอันตรายมาก เพราะอาจเกิดจากกระเพาะอาหารอักเสบ หรือเกิดจากหลอดอาหารอักเสบก็ได้  ซึ่งในกรณีที่ลูกอ้วกแล้วมีเลือดปนออกมาด้วย คุณพ่อคุณแม่ควรต้องรีบพาลูกไปเช็ก อาการกับคุณหมอทันที

 

3. อาเจียนที่มีอาการร่วมต่างๆ

คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตดูว่าถ้าจู่ๆ ลูกอ้วกออกมา แล้วตามมาด้วยการมีไข้ขึ้นสูง ลูกร้องงอแงมาก และถ้าลูกโตพอที่จะสื่อสารรู้เรื่อง มักจะพูดว่าเจ็บหัวๆ (ปวดศีรษะ) บวกกับมีการชักจากไข้สูง  ก็อาจเกิดจากการมีภาวะติดเชื้อในสมอง หรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบ

หรือลูกอ้วกแล้วมีอาการอุจจาระร่วงร่วมด้วย อาจมีการติดเชื้อในลำไส้เกิดขึ้น

หรือลูกอ้วกแล้วมีอาการท้องอืด ลูกไม่ถ่ายอุจจาระ อาจเกิดจากภาวะลำไส้อุดตัน

หรือลูกอ้วกแล้วมีอาการปวดท้องหนัก อาจเกิดจากกระเพาะอาหารอักเสบ หรือท่อน้ำดีอักเสบ

 

อ่านต่อ >> “ลูกอ้วกบ่อย เกิดจากสาเหตุใด” หน้า 2

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

Credit Photo : Shutterstock

 

4. อาเจียนมากและบ่อยครั้ง

บางครั้งการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นกับลูกเล็กๆ มักจะส่งผลให้ร่างกายเสียสมดุล และต่อต้านอาหารที่ทานเข้าไป รวมทั้งยาไม่ว่าจะเป็นยาลดไข้ต่างๆ ทำให้ลูกอาเจียนออกทุกครั้ง หรืออาเจียนระหว่างวันบ่อยๆ คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะจะทำให้ร่างกายลูกขาดน้ำและสารอาหารอย่างรุนแรง จึงแนะนำว่าควรรีบพาลูกไปโรงพยาบาลทันที

 

5. อาเจียนเพราะกินนม กินอาหารอิ่มมากเกินไป

ลูกในวัยทารกที่กินนมแม่ บางครั้งคุณแม่ก็ให้นมลูกกินแต่ละมื้อมากเกินไป(Over Feeding) จนทำให้ลูกอิ่มมาก นมล้นกระเพาะ ก็ส่งผลทำให้ลูกอ๊วกออกมาได้

ส่วนลูกที่อยู่ในวัยเริ่มอาหารเสริมคืออายุ 6 เดือนถึง 1 ขวบโดยประมาณ  ซึ่งคุณแม่อย่าลืมว่าลูกวัยนี้ยังต้องทานนมแม่เป็นอาหารมื้อหลักอยู่ แล้วตามด้วยการป้อนอาหารเสริมให้อย่างน้อย 1-2 มื้อต่อวัน หากคุณแม่ให้ลูกกินข้าว กินนมที่มากเกินความต้องการของร่างกาย คือเกินความจุของกระเพาะอาหารจะรับได้ ก็เป็นสาเหตุทำให้ลูกอ้วกพุ่งได้ หรือเด็กบางคนอาจเป็นกระเพาะคราก หรือหนักสุดคือเกิดภาวะของกรดไหลย้อนก็ได้ด้วยเช่นกันค่ะ

 

Good to know…

ความจุของกระเพาะอาหารทารกหลังคลอดมีขนาดเท่าไร(1)

วันที่ 1 ขนาดเท่ากับลูกแก้ว หรือ ผลเชอรี่ (5-7 ซีซี)

วันที่ 3 ขนาดเท่ากับลูกวอลนัท (22-27 ซีซี)

วันที่ 7 ขนาดเท่ากับผลแอปปริคอต (45-60 ซีซี)

วันที่ 30 ขนาดเท่ากับไข่ไก่ (80-150 ซีซี)

อ่านต่อ >> “8 อาการที่ควรเฝ้าระวังเมื่อลูกอ้วก” หน้า 3

 

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

 8 อาการเฝ้าระวังเมื่อลูกอาเจียน!!

การอาเจียนมากๆ จะทำให้ร่างกายของลูกสูญเสียน้ำเป็นอย่างมาก ซึ่งแนะนำว่าหากลูกอาจเจียนมากจนไม่น่าไว้วางใจ ควรรีบพาส่งโรงพยาบาลทันที เพื่อจะได้ตรวจหาสาเหตุที่ลูกอ้วก และจะได้รักษาให้หายอย่างถูกต้องกับโรคค่ะ  สำหรับอาการที่คุณพ่อคุณแม่ควรเฝ้าระวังเมื่อลูกมีการอาเจียนเกิดขึ้น ดังนี้

  1. ลูกมีอาการซึมลง ไม่เล่น ไม่คุยร่าเริง ร่างกายดูอ่อนเพลีย บางครั้งก็นอนกระสับกระส่าย
  2. ลูกร้องไห้ไม่ค่อยมีน้ำตาออกมา น้ำลายแห้ง
  3. ลูกปัสสาวะออกมาไม่มาก หรือดูที่ผ้าอ้อมลูกไม่มีปัสสาวะเปียกมา 6-8 ชั่วโมง
  4. ลูกมีกระหม่อมหน้าบุ๋มลึก หรือมีกระบอกตาลึก ริมฝีปากแห้ง
  5. ลูกมีการเต้นของหัวใจค่อนข้างเบาและเร็ว
  6. ลูกมีผิวหนังไม่สดใส เหี่ยวย่น แห้งๆ ไป
  7. ลูกมีอาการชัก และซึมลง
  8. ในเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 6 เดือน เมื่อมีการอาเจียนหรือท้องเสียค่อนข้างมาก ควรรีบพาส่งโรงพยาบาลทันที เพราะอาจเกิดอันตรายจากการขาดน้ำ หรือการติดเชื้อรุนแรง(2)

 อ่านต่อ >> “การดูแลรักษา เมื่อลูกอาเจียน” หน้า 4 

 

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

เมื่อลูกอาเจียน ควรดูแลรักษาอย่างไร?

แน่นอนว่าหากลูกมีการอ้วกออกมามาก และอ๊วกบ่อยๆ อย่างแรกที่ควรทำคือให้สังเกตดูว่าที่ลูกอาเจียนออกมามีอะไรปนออกมาบ้าง ลูกอาเจียนกี่ครั้ง ลูกมีอาการซึม มีไข้สูง ฯลฯ ร่วมด้วยหรือไม่  จากนั้นให้รีบพาลูกไปหาหมอทันที เพื่อจะได้รับการตรวจวินิจฉัยอย่างทันท่วงที และได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ซึ่งการดูแลรักษาที่เกิดจากการอาเจียน ในเบื้องต้นจะมี ดังนี้

1. ต้องทราบสาเหตุของการอาเจียนก่อน

โดยมากแล้วคุณหมอจะต้องตรวจวินิจฉัยก่อนว่า ลูกอาเจียนเพราะสาเหตุใด เพื่อจะได้ทำการรักษาได้อย่างถูกต้อง เพราะเด็กบางคนอาจอ้วกไม่รุนแรง แต่อีกคนอาจอ้วกอย่างรุนแรง อย่างไรก็ตามการอาเจียนอาจจะทำให้เกิดผลแทรกซ้อนตามมาได้ เช่น ภาวะขาดน้ำ และเสียสมดุลเกลือแร่ หรือที่เรียกว่าอิเลคโทรลัยต์ในร่างกาย ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที

2. หากอาเจียนไม่มาก

หากลูกอาเจียนไม่มาก คุณหมอมักแนะนำให้ทานอาหารอ่อนๆ ที่ย่อยง่ายแต่ทานในปริมาณที่น้อยลงจากเดิม แต่ลูกอาเจียนมากหรือรุนแรง อาจต้องงดอาหาร และให้สารน้ำทางหลอดเลือดหรือให้น้ำเกลือแทน ซึ่งการรักษาจะอยู่ในดูแลจากคุณหมอค่ะ

3. การให้ทานอาหารที่เหมาะสม

ส่วนมากแล้วอาหารที่เหมาะกับลูกที่มีอาการอาเจียน ควรให้ทานเป็นอาหารอ่อน ย่อยง่าย โดยให้ทีละน้อย และให้บ่อยๆ ร่วมกับการให้ดื่มน้ำเกลือแร่ ORS เพื่อทดแทนเกลือแร่ที่ออกมาพร้อมกับอ้วก โดยให้จิบทีละน้อย และบ่อยๆ และให้ยาแก้อาเจียนตามแพทย์สั่ง ควรให้รับประทาน 1/2 ชั่วโมงก่อนมื้ออาหาร

5. หากลูกอาเจียนหนักมาก

กรณีที่ลูกอ้วกหนักๆ แล้วทานอาหารทานน้ำไม่ได้ มีอาการซึม กระหม่อมบุ๋ม ปากแห้งมาก ดวงตาทั้งสองข้างโหลลึก คุณหมอจะพิจจารณาให้การรักษาด้วยการให้น้ำเกลือทางเส้นเลือด(3)

 

การอาเจียนของลูกไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ที่คุณพ่อคุณแม่จะมองข้ามกันนะคะ เพราะการที่ลูกอ้วกมักมาจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ร่างกายเสียสมดุลภายใน ดังนั้นหากพบว่าลูกอ้วก ควรต้องเช็กอาการก่อนเบื้องต้นเพื่อที่เวลาพาลูกไปตรวจกับคุณหมอจะได้แจ้งให้คุณหมอทราบได้ว่าลูกอาเจียนออกมามากน้อยแค่ไหน อาเจียนแล้วมากี่ครั้ง และมีอะไรออกมาพร้อมกับอ้วกบ้าง ทั้งนี้ก็เพื่อจะได้รับการรักษาได้อย่างถูกต้องนั้นเองค่ะ …ด้วยความใส่ใจและห่วงใย

 

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

อ่านต่อบทความเรื่องอื่นที่น่าสนใจคลิก

ไข้ หรือ ตัวร้อน เรื่องที่พ่อแม่ต้องรู้ และดูอาการลูกให้เป็น!!
7 เรื่องควรรู้ ลูกถ่ายเหลว หรือ อาเจียน
วิธีการเช็ดตัวลดไข้ ด้วยน้ำอุ่นผสมมะนาว

 


ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลอ้างอิงจาก
1www.breastfeedingthai.com
2,3อาเจียนในเด็ก. ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ. www.bangkokhealth.com