วิตามินเค เป็นวิตามินสำคัญที่ช่วยในกระบวนการแข็งตัวของเลือด ถ้าขาดวิตามินเค จะทำให้เกิดภาวะมีเลือดออกในเด็กแรกเกิดได้ เช่น ภาวะเลือดออกในสมอง ซึ่งเป็นสาเหตุให้ทารกเสียชีวิต
รู้หรือไม่? ทารกที่ขาด “วิตามินเค” เสี่ยงตายจากโรคเลือดออก
วิตามินเค คืออะไร?
วิตามินเค เป็นวิตามินที่ละลายได้ดีในไขมัน ร่างกายมนุษย์สามารถ สังเคราะห์วิตามินเคได้จากแบคทีเรียภายในลำไส้ และยังได้รับจากการทานอาหารประเภทผักใบสีเขียว เนื้อสัตว์ นม และ ไข่ โดยหน้าที่หลักของวิตามินเค คือ ช่วยในกระบวนการจับตัวของเกล็ดเลือด ซึ่งเป็นกลไกป้องกันการเสียชีวิตจากการสูญเสียเลือด ลดโอกาสเสี่ยงต่อโรคเลือดออก เช่น ภาวะเลือดออกในสมอง ซึ่งเป็นภาวะที่อันตรายถึงชีวิตเช่นกัน
โดยกลุ่มเสี่ยงที่มักจะมีภาวะขาดวิตามินเค ได้แก่ เด็กทารกแรกเกิด ดังนั้นจะมีการฉีดวิตามินเคให้กับทารกแรกเกิดทุกคน
ความต้องการวิตามินเค “จากอาหาร” ของเด็ก
เนื่องจากลำไส้ของเด็กยังเจริญไม่เต็มที่ จึงอาจสร้างวิตามินเคได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน ดังนั้นเด็กทารกแรกเกิด – 18 ปี ควรได้รับวิตามินเคต่อวัน ดังนี้
- ทารกแรกคลอด – 6 เดือนควรได้รับวิตามินเค 2 ไมโครกรัม/วัน
- ทารกอายุ 7- 12 เดือนควรได้รับวิตามินเค 2.5 ไมโครกรัม/วัน
- เด็กอายุ 1- 3 ปีควรได้รับวิตามินเค 30 ไมโครกรัม/วัน
- เด็กอายุ 4 – 8 ปีควรได้รับวิตามินเค 55 ไมโครกรัม/วัน
- อายุ 9 – 13 ปีควรได้รับวิตามินเค 60 ไมโครกรัม/วัน
- วัยรุ่นอายุ 14 – 18 ปีควรได้รับวิตามินเค 75 ไมโครกรัม/วัน
ในเด็กแรกเกิด – 12 เดือน อาหารหลักที่ควรทานคือ นมแม่ แล้วทำไมยังต้องฉีดวิตามินเคให้กับทารกอีก? มาดูเหตุผลกันค่ะ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ ทำไมเด็กแรกเกิดถึงต้องเสริม วิตามินเค?
ทำไมเด็กแรกเกิดถึงต้องเสริม วิตามินเค?
โดยทั่วไปทารกที่ทานนมแม่ ในนมแม่จะมีวิตามินเคเพียงพอกับทารกอยู่แล้ว เพียงแต่ในช่วง 2-4 สัปดาห์หลังคลอด วิตามินเคในนมแม่จะน้อยลง จึงทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อโรคเลือดออก เช่น ภาวะเลือดออกในสมอง ภาวะเลือดออกในกระเพาะอาหาร ซึ่งเป็นภาวะที่อันตรายถึงชีวิต ดังนั้น ในเด็กแรกเกิดในประเทศไทยทุกคน จะได้รับ วิตามินเคขนาด 1 มิลลิกรัม ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ เพื่อป้องกันการเกิดอาการดังกล่าว
และด้วยความเชื่อโบราณ ที่ให้แม่หลังคลอดกินยาดองเหล้า หรือสมุนไพรดองเหล้า เพื่อบำรุงมดลูกหลังคลอดให้เข้าอู่ได้เร็วขึ้นนั้น นอกจากจะทำให้ลูกตนเองตกอยู่ในภาวะเสี่ยงตายจากโรคเลือดออกแล้ว แอลกอฮอลล์ในยาดองยังส่งผลกระทบต่อทารก โดยมีผลต่อสติปัญญาและพัฒนาการได้อีกด้วย เพราะยาที่ใช้ดองเหล้าใส่สมุนไพร ในสมุนไพรบางชนิดจะมีสารต้านวิตามินเค ดังนั้น แม่จึงไม่ควรกินยาดองเหล้าอย่างยิ่ง
จากการศึกษาพบว่า มารดาที่กินอาหารที่มีวิตามินเคสูง หรือเสริมวิตามิน เค น้ำนมจะมีวิตามินเคสูงขึ้นด้วย อาหารที่มี วิตามินเคสูง ที่มารดาควรได้รับ คือ ผักใบเขียว ไข่ ตับ เนื้อสัตว์ เป็นต้น
14 อาหารที่มี วิตามินเค สูง
1. ผักเคล
ราชินีแห่งผักใบเขียว มีรสชาติคล้ายกับคะน้า มีอีกชื่อหนึ่งว่า ผักคะน้าใบหยัก ผักเคลเป็นผักที่ให้ให้ประโยชน์ทางโภชนาการสูง เพราะนอกจากจะอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระแล้ว ยังอัดแน่นไปด้วยธาตุเหล็กในปริมาณมาก ถึงขนาดที่เนื้อสัตว์ยังสู้ไม่ได้เลยทีเดียวเมื่อเปรียบเทียบเป็นจำนวนแคลอรี่ อีกทั้งยังมีปริมาณแคลเซียมสูงกว่านมวัวถึง 3 เท่า และสูงกว่าผักโขมถึง 14 เท่า ทำให้มีความหนาแน่นของมวลกระดูก แถมยังช่วยเพิ่มระดับวิตามินเคในร่างกาย อีกด้วย ซึ่งผักเคลปริมาณครึ่งถ้วย จะมีวิตามินเคอยู่มากถึง 444 ไมโครกรัม
2. ถั่วเหลืองหมัก
ถั่วเหลืองหมักที่ส่วนใหญ่ชาวญี่ปุ่นจะชอบนำมาปรุงอาหารกัน ชื่อที่คุ้นหูกันดีคือ ถั่วเน่า(นัตโตะ) ซึ่งเป็นอาหารที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ ต่อร่างกาย เช่น โปรตีน โปรไบโอติกส์ และวิตามินเค ถั่วเหลืองหมักปริมาณเพียงแค่ 2 ออนซ์ ทำให้ได้รับวิตามินเคอยู่มากถึง 500 ไมโครกรัม
3. ต้นหอม
ต้นหอม เป็นผักที่คนไทยนิยมนำมาปรุงอาหารเพื่อเพิ่มรสชาติ แต่รู้หรือไม่คะ ว่าในต้นหอม ไม่ได้มีดีแค่ความอร่อย แต่ยังมีสารอาหารและสรรพคุณมากมาย ไม่ว่าจะช่วยบรรเทาอาการหวัด ป้องกันโรคโลหิตจาง ช่วยเพิ่มน้ำนมคุณแม่หลังคลอด เป็นต้น นอกจากนี้ในต้นหอมยังมีวิตามินเคอยู่สูง โดยต้นหอมหั่นเป็นท่อนปริมาณครึ่งถ้วย มีวิตามินเคอยู่มากถึง 103 ไมโครกรัม
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ 14 อาหารที่มีวิตามินเคสูง
14 อาหารที่มี วิตามินเค สูง
4. น้ำมันมะกอก
น้ำมันมะกอกส่วนใหญ่หลายคนอาจจะทราบมาจากการนำมาปรุงสลัดผักสดกัน นอกจากจะมีประโยชน์ต่อร่างกายเมื่อนำมาทานแล้ว ยังสามารถนำมาใช้ในวิธีอื่น ๆ ได้อีกด้วย โดยน้ำมันมะกอกปริมาณ 100 กรัม มีวิตามินเคอยู่ 60.2 ไมโครกรัม
อ่านต่อ 5 ประโยชน์ของ “น้ำมันมะกอก” บำรุงผิวแม่ท้องและทารก
5. กะหล่ำปลี
ผักที่มักจะเป็นหนึ่งในเมนูอาหารที่ทุกครอบครัวทาน คือ กะหล่ำปลีนั่นเอง โดยในกะหล่ำปลีปริมาณครึ่งถ้วย มีวิตามินเคอยู่ถึง 82 ไมโครกรัม
6. หน่อไม้ฝรั่ง
หน่อไม้ฝรั่ง เป็นผักที่อุดมไปด้วยสารอาหาร วิตามิน และแร่ธาตุต่าง ๆ นอกจากสารอาหารอื่น ๆ ที่มีมากมายแล้ว ในหน่อไม้ฝรั่งยังจัดเป็นแหล่งของวิตามินเคอีกด้วย หน่อไม้ฝรั่งปริมาณ 100 กรัม มีวิตามินเคอยู่ถึง 50.6 ไมโครกรัม
7. พริกผงและเครื่องเทศเผ็ดร้อน
ผงพริกหรือผงเครื่องเทศที่นำมาปรุงอาหารทำให้เกิดรสชาติเผ็ดร้อนนั้นก็ให้วิตามินเคที่สูงอยู่เช่นกัน โดยผงพริกหรือผงเครื่องเทศปริมาณ 100 กรัม จะให้วิตามินเคถึง 105.7 ไมโครกรัม
8. ลูกพรุนแห้ง
ลูกพรุน มีวิตามินอีที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันการเกิดปฏิกิริยาของออกซิเจนที่ไม่สมบูรณ์ในร่างกาย ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของโลหิต ยืดอายุของเม็ดเลือดแดง ช่วยลดคอเลสเตอรอลในเลือด (LDL) และช่วยลดระดับความดันโลหิต ในพรุนแห้งมีวิตามินเคสูง พรุนแห้งปริมาณครึ่งถ้วย มีวิตามินเคอยู่ถึง 52 ไมโครกรัม
9. ถั่วเหลือง
ถั่วเหลืองเป็นส่วนประกอบสำคัญในการทำอาหารในไทย ไม่ว่าจะเป็นซอสปรุงรสต่าง ๆ ขนม หรือ อาหารทั่วไป ถั่วเหลืองเมื่อนำไปปรุงสุกปริมาณ 1 ถ้วย จะให้วิตามินเค 66.4 ไมโครกรัมเลยทีเดียว
10. กะหล่ำดาว
กะหล่ำดาว อุดมไปด้วยวิตามิน โดยเฉพาะวิตามินซี ที่ช่วยเกี่ยวกับเรื่องภูมิต้านทาน เสริมภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย เสริมสร้างคอลลาเจนให้กับผิวพรรณ ทำให้ผิวเปล่งปลั่งสดใส อีกทั้งยังมีพฤกษเคมีที่ไปยับยั้งสารก่อมะเร็ง และยังอุดมไปด้วยวิตามินเคอีกด้วยค่ะ กะหล่ำดาวปริมาณครึ่งถ้วย มีวิตามินเคอยู่ 78 ไมโครกรัม
11. บลอคโคลี่
อย่างที่ทราบกันดีว่า บลอคโคลี่ เป็นผักที่มีประโยชน์ และอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิด และหนึ่งในวิตามินเหล่านั้นได้รวมถึง วิตามินเค ที่มีสูงเช่นเดียวกัน บลอคโคลี่ปริมาณครึ่งถ้วยมีวิตามินเคอยู่ 46 ไมโครกรัม
12. แตงกวา
นอกจากจะมีสรรพคุณในการบำรุงผิวพรรณแล้ว การรับประทานก็ให้คุณประโยชน์มากมาย เช่นเดียวกัน ในแตงกว่า ถือไดด้ว่าเป็นแหล่งของวิตามินเค แตงกวาปริมาณ 1 ลูกขนาดกลาง มีวิตามินเคอยู่ 49 ไมโครกรัม
13. ใบโหระพา
ใบโหระพา หนึ่งในสมุนไพรไทยที่ส่วนใหญ่เราจะนำมารับประทานแกล้มกับอาหาร ในใบโหระพาแห้งปริมาณ 1 ช้อนโต๊ะ จะมีวิตามินเคอยู่ 36 ไมโครกรัม
14. ผลิตภัณฑ์นม
นอกจากนมแล้วผลิตภัณฑ์จากนมทุกชนิดก็เป็นแหล่งของวิตามินเคเช่นกัน โดยผลิตภัณฑ์นมปริมาณครึ่งถ้วย มีวิตามินเคอยู่ 10 ไมโครกรัม
วิตามินเค สำคัญกับทารกเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเด็กนมแม่ ที่แม่ไม่ทานอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วน ดังนั้น ในช่วงหลังคลอด คุณแม่ควรเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ ไม่ควรทานยาดองเหล้าที่ไม่ทราบว่าใส่สมุนไพรตัวใดไปบ้าง และก็ไม่ควรทานแอลกอฮอลล์ด้วยค่ะ
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
โรคขาดวิตามินเอ เสี่ยงทำลูกตาบอดไม่รู้ตัว
4 เคล็ดลับเก็บน้ำนมแม่ได้นานในตู้เย็น คุณค่าสารอาหารครบ ไม่เหม็นหืน
ตารางวัคซีน ปี 2561 จากสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย มาแล้วเช็กเลย!
ข้อมูลอ้างอิง : ส.ส.ส., haamor.com, healthgossip.co
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่